“…ด้วยเหตุผลดังกล่าว การนำที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนไปให้บริษัท อนันดาฯ ใช้เป็นทางเข้า-ออก เพื่อประโยชน์แก่กิจการของบริษัท อนันดาฯ จึงไม่ใช่เป็นการนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน และไม่ใช่กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการของ รฟม. …”
......................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 18/2558 ลว. 23 ก.พ.2558 และเลขที่ 69/2558 ลว. 16 ก.ค.2558
และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ.4 เลขที่ 48/2559 ลว. 22 มิ.ย.2559 ฉบับแก้ไข และเลขที่ 129/2560 ลว.17 พ.ย.2560 ที่ออกให้แก่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด (เดิมบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด) เพื่อดำเนิน 'โครงการแอชตัน อโศก' โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือ
เนื่องจากศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นำที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 ขนาดกว้าง 13 เมตร ที่ได้มาจากการเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนฯ
ไปอนุญาตให้บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี เพื่อประโยชน์ของที่ดิน 3 แปลงของบริษัทฯ โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดินเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศก
อันเป็นประโยชน์แก่กิจการของบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เท่านั้น ซึ่งมิใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ รฟม. และวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน การอนุญาตของ รฟม. เช่นว่านี้ จึงมิอาจกระทำได้
ดังนั้น การที่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด นำใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่าน เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557 ไปใช้ประกอบกับที่ดินทั้ง 3 แปลงของบริษัทฯ ในการยื่นแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศก ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
จนนำมาสู่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้อำนวยการสำนักการโยธา) ออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างฯ และใบรับแจ้งการก่อสร้างฯ รวม 4 ฉบับ ให้แก่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศกฯ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น (อ่านประกอบ : เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู‘แอชตัน อโศก’)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้วินิจฉัยกรณี ‘การอนุญาตให้เอกชนให้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ’ รายบริษัท อนันดาฯ เป็นเรื่องเสร็จที่ 237/2563 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
@ขอหารือ‘กฤษฎีกา’ ปมอนุญาต‘อนันดา’ใช้ที่ดินเวนคืนฯ
ที่มาข้อหารือ
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้มีหนังสือ ที่ รฟม 014/3148 ลงวันที่ 21 พ.ย.2562 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า
รฟม. ได้อนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ (รายบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด) ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบกรณีการอนุญาตดังกล่าว
และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องการอนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า - ออกโครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ สู่ถนนสาธารณะ
สตง. จึงขอให้ รฟม. หารือการดำเนินการดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า กรณีที่ รฟม. ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ถูกเวนคืนจนสมประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้ว หาก รฟม. อนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ และรับค่าตอบแทนเป็นอาคารจอดรถยนต์พร้อมพื้นที่ใช้สอยจะสามารถกระทำได้หรือไม่ อย่างไร
และถือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ของ รฟม. และอยู่ในขอบเขตวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตห้วยขวาง เขตดินแดง เขตราชเทวี เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตปทุมวัน เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางรัก เขตสาทร และเขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2539 หรือไม่ อย่างไร รวมทั้งถือเป็นกรณีการให้สิทธิใดๆ ตามนัยมาตรา 75 (6) แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 หรือไม่ อย่างไร
โดยมีข้อเท็จจริงประกอบประเด็นหารือ ดังนี้
1.รฟม ได้เวนคืนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 2345 เลขที่ดิน 2160 ต.คลองเตยเหนือ อ.วัฒนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท จตุรัก จำกัด เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สถานีสุขุมวิท) ตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2538
และพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2539 เป็นเหตุให้ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนของบริษัท จตุรักฯ ไม่มีทางเข้า-ออก สู่ถนนอโศกมนตรี
บริษัท จตุรักฯ จึงฟ้องคดีต่อศาล โดยมีคำขอให้ รฟม. เปิดทางเข้า-ออก สู่ถนนอโศกมนตรี ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ รฟม. เปิดทางเข้า-ออก ที่ดินให้แก่บริษัท จตุรักฯ กว้าง 6.40 เมตร เพื่อให้ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนของบริษัท จตุรักฯ มีทางเข้า-ออก สู่ถนนอโศกมนตรี เท่ากับความกว้างของทางเข้า-ออก เดิม
ต่อมา บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด ได้ซื้อที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 2345 เลขที่ดิน 2160 เนื้อที่ 294.6 ตารางวา จากบริษัท จตุรักฯ และซื้อที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 6663 เลขที่ดิน 2120 เนื้อที่ 414 ตารางวา และโฉนดที่ดินเลขที่ 9186 เลขที่ดิน 2122 เนื้อที่ 441 ตารางวา จากนายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร ซึ่งเป็นที่ดินติดกันทั้ง 3 แปลง
เพื่อก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ซึ่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 กำหนดให้ต้องมีทางเข้า-ออก จากอาคารสู่ถนนสาธารณะกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร
บริษัท อนันดาฯ จึงขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. โดยขอย้ายตำแหน่งทางเข้า-ออก จากตำแหน่งเดิมที่อยู่บริเวณลานจอดรถสถานีสุขุมวิท ด้านติดปล่องระบายอากาศ ขนาดความกว้าง 6.40 เมตร ไปอยู่บริเวณด้านติดสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และขอขยายความกว้างเพิ่มอีก 6.60 เมตร รวมเป็นความกว้าง 13 เมตร
ซึ่งบริษัท อนันดาฯ จะจ่ายค่าตอบแทนในวงเงิน 97,671,709.45 บาท โดยการก่สร้างอาคารจอดรถพร้อมพื้นที่ใช้สอย ขนาด 9 ชั้น ให้แก่ รฟม. ซึ่งวงเงินดังกล่าว รวมค่าตอบแทน ค่าหลักประกันค่าเสียหาย ค่าขาดรายได้ เช่น รายได้จากค่าจอดรถ รายได้ระหว่างและภายหลังการก่อสร้าง เนื่องจากการปิดพื้นที่การใช้งานลานจอดรถสถานีสุขุมวิทของ รฟม. มีกำหนดระยะเวลา 30 เดือน ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ
รฟม. ได้พิจารณาคำขอของบริษัท อนันดาฯ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาเป็นลำดับ โดยการพิจารณาในขณะนั้นมีความเห็นว่าการอนุญาตให้ผ่านที่ดินของ รฟม.เป็นทางเข้า-ออก สู่ถนนสาธารณะนั้น
รฟม. มิได้ส่งมอบที่ดินให้แก่ผู้ได้รับอนุญาต ไม่มีลักษณะเป็นการเช่า หรือเป็นการให้สิทธิในทำนองเดียวกันกับการเช่า จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 75 (6) แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543
อีกทั้งยังเป็นการให้สิทธิตามข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2547 ข้อ 13 (1) (1.4) และข้อ 16 และประกาศการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นทางผ่าน ลงวันที่ 26 ก.ย.2556 ข้อ 7 (7.3) และข้อ 11
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2557 รฟม. และบริษัท อนันดาฯ จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง เรื่อง การใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออก และการปรับปรุงพื้นที่ โดยสรุปสาระสำคัญได้ว่า รฟม. อนุญาตให้ย้ายตำแหน่งทางเข้า-ออก และขยายทางเข้า-ออก จากเดิม 6.40 เมตร เป็น 13 เมตร
เพื่อใช้เป็นทางเข้า-ออกของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 2345 เลขที่ดิน 2160 โฉนดที่ดินเลขที่ 6663 เลขที่ดิน 2120 และโฉนดที่ดินเลขที่ 9146เลขที่ดิน 2122 จำนวน 3 แปลง ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท อนันดาฯ ออกสู่ถนนอโศกมนตรี โดยมีค่าทดแทนการใช้พื้นที่รวมเป็นจำนวนเงิน 97,671,709.45 บาท
ซึ่ง รฟม.จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะรับคำทดแทนเป็นเงินหรือเป็นการก่อสร้างอาคารจอดรถพร้อมพื้นที่ใช้สอยให้ รฟม.ตามความเหมาะสมแทนการชำระเงินเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด และ รฟม. ได้ออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557 ให้แก่บริษัท อนันดาฯ เรียบร้อยแล้ว
และต่อมา รพม. ได้มีหนังสือที่ รฟม 012/936 ลงวันที่ 25 เม.ย.2559 แจ้งบริษัท อนันดาฯ เรื่องการรับชำระค่าทดแทนตามบันทึกข้อตกลง เรื่อง การใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออก และการปรับปรุงพื้นที่ โดยให้บริษัท อนันดาฯ ก่อสร้างอาคารจอดรถพร้อมพื้นที่ใช้สอย มูลค่าไม่ต่ำกว่า 97,671,709.45 บาท
@ปี 60 ‘ป.ป.ช.-สตง.’สั่ง‘รฟม.’แจงข้อเท็จจริงกรณีอนุญาตฯ
2.สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือให้ รฟม. ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการอนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออก
รฟม. จึงมีหนังสือ ที่ รฟม 012/2094 ลงวันที่ 4 ส.ค.2660 แจ้งให้บริษัท อนันดาฯ ชะลอการก่อสร้างอาคารจอดรถพร้อมพื้นที่ใช้สอยบริเวณสถานีสุขุมวิทไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับทราบผลการพิจารณาของสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งต่อมา รฟม. ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสำนักงาน ป.ป.ช. และ สตง. แล้ว
อีกทั้ง รฟม. ยังได้ทบทวนการดำเนินการอนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออก โดยมีความเห็นว่า การอนุญาตตามบันทึกข้อตกลง เรื่อง การใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออก และการปรับปรุงพื้นที่ มีลักษณะเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านเข้า-ออกสู่สาธารณะ จึงเป็นไปตามแนวทางการวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 404/2548
และเมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่าที่ดินที่ รฟม. ได้มีการอนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ใช้เป็นทางผ่านสู่ถนนสาธารณะ เนื้อที่ 61.05 ตารางวา มีมูลค่า 24,420,000 บาท
รฟม.จึงต้องดำเนินการตามมาตรา 75 (6) แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 ซึ่งปัจจุบัน รฟม. ได้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทั้งนี้ สตง. ได้มีหนังสือ ลับ ที่ ตผ 0019/509 ลงวันที่ 15 ต.ค.2562 ขอให้ รฟม. หารือเรื่องการอนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษสู่ถนนสาธารณะต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
@เปิดหารือ 3 ประเด็น กรณีอนุญาต‘เอกชน’ใช้ที่ดินเวนคืนฯ
ดังนั้น รฟม. จึงได้ขอหารือมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการเกี่ยวกับการอนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เป็นทางเข้า - ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ สู่ถนนสาธารณะในประเด็นที่เกี่ยวข้อง 3 ประเด็น ดังนี้
(1) กรณีที่ รฟม. ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ถูกเวนคืนจนสมประโยชน์ ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้ว หาก รฟม. อนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษและรับค่าตอบแทนเป็นอาคารจอดรถยนต์พร้อมพื้นที่ใช้สอยจะสามารถกระทำได้หรือไม่ อย่างไร
(2) การอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ถือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ของ รฟม. และอยู่ในขอบเขตวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักรฯ และ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักรฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2539 หรือไม่ อย่างไร
(3) การอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ถือเป็นการให้สิทธิใดๆ ตามนัยมาตรา 75 (6) แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 หรือไม่ อย่างไร
@ชี้ให้เอกชนในที่ดิน‘รฟม.’เป็น‘ทางเข้า-ออก’ขัดพ.ร.ฎ.เวนคืนฯ
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยมีผู้แทน รฟม. และผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฎข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า
เดิมก่อนที่จะทำบันทึกข้อตกลง เรื่อง การใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออก และการปรับปรุงพื้นที่ ระหว่าง รฟม. กับ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปมันท์ ทู จำกัด ลงวันที่ 26 มิ.ย.2557
รฟม. ได้นำที่ดินบริเวณที่ได้มาจากการเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางชื่อ เขตราชเทวี เขตห้วยขวางเขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางชื่อ เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2539
ไปใช้เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สถานีสุขุมวิท) โดยการก่อสร้างสถานีรถฟฟ้า ปล่องระบายอากาศ และจัดพื้นที่สำหรับใช้เป็นที่จอดรถให้แก่ผู้ใช้บริการ และพื้นที่บางส่วนด้านติดปล่องระบายอากาศได้จัดเป็นทางเข้า-ออก ขนาดความกว้าง 6.40 เมตร สำหรับแปลงที่ดินด้านหลังตามคำพิพากษาฎีกาที่ 9888/2553
ต่อมาภายหลังจากที่ รฟม. ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับบริษัท อนันดาฯ แล้ว ได้ใช้พื้นที่บริเวณนี้ที่ได้มาจากการเวนคืน โดยเฉพาะบริเวณที่จัดไว้สำหรับเป็นที่จอดรถและทางเข้า-ออก สำหรับแปลงที่ดินด้านหลัง โดยให้บริษัท อนันดาฯใช้ประโยชน์เป็นอาคารสำนักงาน สำนักงานขาย และติดตั้งป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการ
และได้ย้ายตำแหน่งทางเข้า-ออก จากเดิมที่อยู่บริเวณลานจอดรถสถานีสุขุมวิทด้านติดปล่องระบายอากาศ ไปอยู่บริเวณด้านติดสยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีขนาดความกว้าง 13 เมตร และอนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ใช้เป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ และประกอบการขออนุญาตหรือยื่นแจ้งการก่อสร้างอาคารโดยไม่ต้องขออนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
@ที่ดินที่ได้มาจาก‘พ.ร.ฎ.เวนคืนฯ’ต้องใช้ตามวัตถุประสงค์เวนคืน
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เห็นว่า ข้อหารือของ รฟม. กรณีนี้เป็นประเด็นเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักรฯ พ.ศ.2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักรฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2539
ประเด็นที่หนึ่ง การอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ถือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ของ รฟม. และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักรฯ พ.ศ.2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักรฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2539 หรือไม่
เห็นว่า เมื่อ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนดังกล่าวได้ตราขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ปรากฏตามคำปรารภของ พ.ร.ฎ.นี้ ว่า เพื่อสร้างทางพิเศษ ตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรก โดยการตรา พ.ร.ฎ.นี้ เป็นการกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจและเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน
รวมทั้งให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่เวนคืนในการตกลงซื้อขายตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ซึ่งที่ดินที่ได้มาจากการซื้อขายในระหว่างที่ พ.ร.บ.นี้ยังมีผลใช้บังคับอยู่ ย่อมถือว่าเป็นการได้ที่ดินมาโดยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามนัยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.422/2558 และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.44/2559
ดังนั้น การใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.ดังกล่าว จึงต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน กล่าวคือ เพื่อสร้างทางพิเศษตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรก
แม้ต่อมาที่ดินดังกล่าวจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม. โดยผลของมาตรา 88 แห่ง พ.ร.ฎ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 เนื่องจากมีการโอนเงินและทรัพย์สินที่เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร ซึ่งเดิมเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มาให้องค์การรถไฟฟ้ามหานคร และ รฟม. ตามลำดับก็ตาม
ดังนั้น เมื่อ รฟม. ได้รับโอนที่ดินดังกล่าวมาจากองค์การรถไฟฟ้ามหานคร จึงมีพันธะที่จะต้องใช้ที่ดินนั้น เพื่อประโยชน์สำหรับการดำเนินกิจการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรกตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย
และเมื่อมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 ได้กำหนดนิยามคำว่า “กิจการรถไฟฟ้า” ว่าหมายถึง การจัดสร้าง ขยาย บูรณะ ปรับปรุง ช่อมแซม และบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า การเดินรถไฟฟ้า การจัดให้มีสถานที่จอดรถ การให้บริการ การอำนวยความสะดวกและการดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าว
การใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าว จึงต้องเป็นไปเพื่อการจัดสร้าง ขยาย บูรณะ ปรับปรุง ช่อมแซม และบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า การเดินรถไฟฟ้า การจัดให้มีสถานที่จอดรถ การให้บริการ การอำนวยความสะดวก และการดำเนินกิจการอื่น ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครเท่านั้น
กรณีที่ดินที่เป็นปัญหาตามข้อหารือนี้ รฟม. ได้จัดทำเป็นทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า สถานีรถไฟฟ้า ปล่องระบายอากาศ และจัดพื้นที่สำหรับเป็นที่จอดรถให้แก่ผู้ใช้บริการโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล แต่ต่อมาได้นำพื้นที่บางส่วนไปอนุญาตให้เอกชนใช้เป็นทางเข้า-ออก เพื่อประกอบการขออนุญาตหรือยื่นแจ้งการก่อสร้างตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และเพื่อประโยชน์ของผู้พักอาศัยโครงการก่อสร้างอาคารชุดของเอกชนดังกล่าว
โดยประชาชนที่ประสงค์จะมาจอดรถ ณ บริเวณดังกล่าว ไม่อาจใช้พื้นที่ที่เป็นทางเข้า-ออก นั้น เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถได้อีกต่อไป ดังปรากฏตามวัตถุประสงค์หลักของบันทึกข้อตกลง เรื่อง การใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออก และการปรับปรุงพื้นที่ ระหว่าง รฟม. กับบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด ลงวันที่ 26 มิ.ย.2557
ซึ่งให้สิทธิแก่บริษัท อนันดาฯ ที่จะใช้พื้นที่ที่เป็นบริเวณจอดรถทั้งหมด เป็นอาคารสำนักงาน สำนักงานขาย และติดตั้งป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างพักอาศัย ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษของบริษัท อนันดาฯ เป็นเวลา 30 เดือน รวมทั้งยังอนุญาตให้ย้ายทางเข้า-ออก จากด้านติดปล่องระบายอากาศ ไปอยู่ด้านสยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับขยายความกว้างทางดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก 6.60 เมตร พร้อมทั้งอนุญาตให้ใช้ทางเข้า-ออก ดังกล่าว
ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดดังกล่าว เป็นที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักรฯ พ.ศ.2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักรฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2539
การดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นไปเพื่อที่จะให้บริษัท อนันดาฯ สามารถก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษและประกอบธุรกิจอาคารชุดดังกล่าวได้ มิใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ รฟม. และประชาชนในอันที่จะใช้ประโยชน์บนพื้นที่ดังกล่าวตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน
ส่วนผลประโยชน์ที่ รฟม. ได้รับเป็นเพียงการตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ซึ่งมิใช่วัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้ง รฟม.หรือวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน
สำหรับข้ออ้างที่ว่า รฟม. ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ถูกเวนคืนนั้น จนสมประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนแล้วนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เห็นว่า การจะอ้างว่าได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินจนสมประโยชน์ได้นั้น ต้องปรากฎว่าได้ใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน จนหมดความจำเป็น ไม่ต้องใช้เพื่อการนั้นอีก
เช่น รฟม. เลิกเดินรถไฟฟ้าสายดังกล่าว หรือหมดความจำเป็นจะต้องมีทางเข้า-ออก เพื่อโดยสารรถไฟฟ้า หรือเลิกใช้รถยนต์ในการเดินทางแล้ว ดังนั้น ตราบใดที่กิจกรรมดังกล่าวยังคงมีอยู่ จะอ้างว่าได้ใช้จนสมประโยชน์แล้วมิได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าว การนำที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนไปให้บริษัท อนันดาฯ ใช้เป็นทางเข้า-ออก เพื่อประโยชน์แก่กิจการของบริษัท อนันดาฯ จึงไม่ใช่เป็นการนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน และไม่ใช่กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการของ รฟม.
@อ้างคำวินิจฉัย‘กฤษฎีกา’ปี 48 ไม่ได้ เหตุตีความคนละประเด็น
อนึ่ง กรณีที่ รฟม. อ้างถึงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 3) ในเรื่องเสร็จที่ 404/2548 นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เห็นว่า การให้ความเห็นดังกล่าว เป็นการให้ความเห็นตามมาตรา 75 (6) แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 ว่า
การกำหนดมูลค่าของการให้เช่าหรือให้สิทธิใดๆ ในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีมูลค่าเกินสิบล้านบาท ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน จึงจะดำเนินการได้นั้นกำหนดอย่างไร มิใช่การให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามข้อหารือนี้ จึงไม่อาจใช้เป็นแนวการให้ความเห็นในประเด็นนี้ได้
ประเด็นที่สอง การอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ถือเป็นการให้สิทธิใดๆ ตามนัยมาตรา 75 (6) แห่ง พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 หรือไม่ อย่างไร
เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นที่หนึ่งแล้วว่า การอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า- ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ในกรณีดังกล่าว เป็นการนำที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนไปใช้นอกเหนือวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน และไม่สามารถกระทำได้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้อีก
เหล่านี้เป็นคำวินิจฉัยของ ‘คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1)’ เมื่อปี 2563 ที่วินิจฉัยกรณีที่ รฟม.อนุญาตให้ บริษัท อนันดาฯ ใช้ที่ดิน รฟม. ที่ได้มาจากการเวนคืน เป็นทางเข้า-ออกของโครงการ ‘แอชตัน อโศก’ ว่า เป็นกรณีไม่สามารถกระทำได้ และได้ส่งคำวินิจฉัยดังกล่าวไปให้ รฟม. แต่ไม่ปรากฏว่า รฟม. ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อสาธารณะแต่อย่างใด
กระทั่งในอีกประมาณ 3 ปีต่อมา ศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมตุลาการเสียงข้างในศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำวินิจฉัยไปในทิศทางเดียวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา และพิพากษาให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างฯและใบรับแจ้งการก่อสร้างฯ รวม 4 ฉบับ ที่ กทม.ออกให้กับโครงการ ‘แอชตัน อโศก’
อ่านประกอบ :
เมิน‘ป.ป.ช.-สตง.’ท้วง! รฟม.อุ้ม‘อนันดาฯ’ใช้ที่ดินเวนคืนฯ ก่อน‘แอชตันอโศก’โดนถอนใบอนุญาต
กทม.ชี้ไม่ต้องทุบ 'แอชตัน อโศก' เตรียมสั่ง'อนันดา' แก้ใบอนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้อง
ไม่จำเป็นต้องรื้อคอนโดหรู! ANAN วาง 3 แนวทางแก้ปัญหา‘แอชตัน อโศก’-เจรจาภาครัฐหาทางออก
เบรกแอชตันคือชัยชนะชุมชน จี้โยธาฯ ตีความ กม. ต้องรัดกุม
กทม.นัดแถลงปมแอชตัน อโศก 3 ส.ค. 66 รฟม.โต้ทำเอกชนเสียหาย
ความเห็นแย้งคดีแอชตันอโศก(จบ) เหตุผล'หนึ่งเดียว'ตุลาการเสียงข้างน้อย ชี้3ปมยกฟ้อง
ความเห็นแย้งคดีแอชตันอโศก (1) 'ตุลาการเสียงข้างน้อย’ชี้ใช้ที่ดิน‘รฟม.’เป็น'ทางเข้า-ออก'ได้
เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู‘แอชตัน อโศก’
ผลสอบลับ สตง.ส่ง ป.ป.ช.ฟันบอร์ด รฟม.เอื้อคอนโดหรูอโศก-สั่งชดใช้ค่าเสียหายด้วย 86.99 ล.
โยนรฟม.แจงเอง!บมจ.อนันดาฯยันทำถูกต้องปมสตง.สอบใช้ปย.ที่ดินเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
สตง.สอบพบ รฟม. ให้สิทธิเอกชนใช้ปย.ที่ดินทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอความเห็นชอบ 'ครม.'
เมื่อแอชตัน คอนโด 50 ชั้น อโศก เสร็จแล้ว แต่โอนไม่ได้