"...สตง. ได้สรุปผลการตรวจสอบกรณีนี้เป็นทางการแล้ว พบว่า มีการกระทำฝ่าฝืนระเบียบกฎหมายของคณะกรรมการบริหาร รฟม.ในขณะนั้น พร้อมส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการคดีอาญากับคณะกรรมการบริหาร รฟม. และผู้เกี่ยวข้อง พร้อมแจ้งประธานกรรมการ รฟม.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะผู้กำกับดูแล เพื่อดำเนินการทางวินัยกับคณะกรรมการฯ ตามนัยพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดทางวินัยของข้าราชการซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานที่มิใช่ส่วนราชการ พ.ศ. 2534 รวมถึงให้มีการดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 86.99 ล้านบาทด้วย ..."
กรณี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อนุญาตให้สิทธิแก่ บริษัท อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เพื่อเป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษของโครงการ Asoke (โครงการ Ashton Asoke) โดยไม่ขออนุญาตต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยติดตามนำเสนอข่าวเชิงลึกมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้
ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวสำคัญเกิดขึ้น เมื่อสำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวใน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า สตง. ได้สรุปผลการตรวจสอบกรณีนี้เป็นทางการแล้ว พบว่า มีการกระทำฝ่าฝืนระเบียบกฎหมายของคณะกรรมการบริหาร รฟม.ในขณะนั้น พร้อมส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการคดีอาญากับคณะกรรมการบริหาร รฟม. และผู้เกี่ยวข้อง พร้อมแจ้งประธานกรรมการ รฟม.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะผู้กำกับดูแล เพื่อดำเนินการทางวินัยกับคณะกรรมการฯ ตามนัยพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดทางวินัยของข้าราชการซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานที่มิใช่ส่วนราชการ พ.ศ. 2534 รวมถึงให้มีการดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 86.99 ล้านบาทด้วย
ในรายงานผลการตรวจสอบ สตง. ระบุว่า การที่คณะกรรมการ รฟม. (ในขณะนั้น) มีมติอนุญาตให้บริษัทเอกชนไช้ประโยชน์ในพื้นที่ของหน่วยงานบริเวณลานจอดรถสถานีสุขุมวิท เป็นทางเข้า - ออก สู่ถนนอโศกมนตรี โดยอนุญาตให้ย้ายตำแหน่งทางเข้า - ออก จากเดิมบริเวณด้านติดปล่องระบายอากาศไปเป็นบริเวณด้านติดสยามสมาคมในพระบรมราชปถัมภ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่หน่วยงานใช้เป็นลานจอดรถสำหรับให้บริการประชาชนที่มาใช้บริการ โดยขยายทางเข้า - ออก จากเดิมกว้าง 6.40 เมตร เป็น 13 เมตร ทำให้พื้นที่ลานจอดรถลดลงและการอนุญาตโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดยังเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ที่ดินของหน่วยงาน
เนื่องจากพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ต้องขยายความกว้างเพิ่มขึ้นอีก 6.60 เมตร และมีความยาว 37 เมตร คิดเป็น เนื้อที่ 61.05 ตารางวา และประชาชนไม่อาจใช้ประโยชน์บนพื้นที่ดังกล่าวได้ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ดินตลอดระยะเวลาที่โครงการอาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษตั้งอยู่ ทั้งการปิดลานจอดรถในระหว่างการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษเป็นระยะเวลา 30 เดือน ยังทำให้ประชาชนผู้มาใช้บริการไม่สามารถใช้พื้นที่ลานจอดรถในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้ และการอนุญาตให้บริษัทเอกชน ใช้ประโยชน์ในที่ดินของหน่วยงานเป็นทางเข้า - ออก เพื่อก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ ไม่ใช่กิจการและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ของหน่วยงาน ทั้งยังเป็นการอนุญาตให้เอกชนได้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์
การกระทำดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2538 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2539 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางชื่อ เขตห้วยขวาง เขตดินแดง เขตราชเทวี เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตปทุมวัน เขตสัมพันธวงศ์เขตบางรัก เขตสาทร และ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2539
โดยมีเจตนาช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ประกอบมาตรา 3 และมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำโดยจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหาย เป็นจำนวนเงิน 86.99 ล้านบาท ตามนัยมาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา 85 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561
ปัจจุบัน กรณีนี้ รฟม. ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมกรรสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดให้กระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานที่กำหนดดูแล ทราบแล้ว รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยร้ายแรงด้วย
ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า สตง. ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ตผ 0017/2625 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2560 แจ้งข้อปัญหาทางกฎหมาย กรณี รฟม. อนุญาตให้สิทธิแก่ บริษัท อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เพื่อเป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษของโครงการ Asoke (โครงการ Ashton Asoke) โดยไม่ขออนุญาตต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)
สตง.ระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่า รฟม. อนุญาตให้สิทธิแก่ บริษัท อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.ดังกล่าว โดยมีค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงิน 97,671,707.45 บาท พร้อมอ้างการให้สิทธิตามข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ ของ รฟม. พ.ศ. 2547 ข้อ 13 (1) (1.4) และ 16 และประกาศ รฟม. ลงวันที่ 26 กันยายน 2556 เรื่อง กำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน ข้อ 7 (7.3) และ 11 ซึ่งโดยหลักการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่จะเวนคืนฯ ได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการเวนคืน ประกอบกับ พระราชบัญญัติ รฟม. พ.ศ. 2543 มาตรา 75 (6) กำหนดกรณีการให้สิทธิใดๆ ในอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน
ดังนั้น การที่ รฟม. อ้างการให้สิทธิตามข้อบังคับและประกาศดังกล่าวจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินและพระราชบัญญัติเป็นสำคัญ การที่ รฟม. ให้สิทธิแก่บริษัท อนันดาฯ ใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นทางเข้า-ออก และใช้พื้นที่ลานจอดรถเป็นอาคารสำนักงานขายชั่วคราวย่อมทำให้ รฟม. และประชาชนไม่อาจใช้ประโยชน์บนพื้นที่ดังกล่าวตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ดินได้ ทั้งยังเป็นการให้สิทธิเพื่อให้บริษัท อนันดาฯ ได้รับประโยชน์จากการใช้พื้นที่เชิงธุรกิจ และจากการตรวจสอบไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า รฟม. ได้ดำเนินการขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตามกฎหมายแต่อย่างใด
สำหรับข้อมูล โครงการ ASHTON ASOKE (แอชตัน อโศก) นั้น ก่อสร้างเสร็จไปเมื่อ 30 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา เป็นคอนโดมิเนียมขนาด 783 ยูนิต 50 ชั้น ใกล้รถไฟฟ้ามหานครสถานีสุขุมวิท หนึ่งในหลายโครงการของ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทเครือเดียวกับ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ที่ออกให้แก่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เจ้าของโครงการคอนโดหรู 'แอชตัน อโศก' อาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ ความสูง 50 ชั้น มีห้องพักอาศัย 783 ห้อง ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ในขณะที่บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ผู้บริหารโครงการและผู้ถือหุ้นบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
ส่วนรายละเอียดอื่นๆ หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติม จะรีบนำมาเสนอต่อไป
อ่านประกอบ :
- พลิกปูมอาณาจักร'อนันดาฯ' บ.ย่อย 76 แห่ง ทุน 3.2 หมื่นล. ก่อนศาลฯสั่งคดี'แอชตัน อโศก'
- ชี้เป้าโยธา กทม.- รฟม.! 'ศรีสุวรรณ' ตามเอาผิด ขรก.อนุญาตสร้างคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’
- 'ศาลปกครอง' สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’ 50 ชั้น-'อนันดาฯ'ยื่นอุทธรณ์
- เมื่อแอชตัน คอนโด 50 ชั้น อโศก เสร็จแล้ว แต่โอนไม่ได้
- แนะชงครม.แก้ปัญหาแอชตันคอนโด! ต่อตระกูล ยันผู้ว่าฯรฟม.ไม่มีอำนาจให้สิทธิ์ทำทางเข้า-ออก
- สตง.สอบพบ รฟม. ให้สิทธิเอกชนใช้ปย.ที่ดินทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอความเห็นชอบ 'ครม.'
- ปูดผู้บริหารฯอุบเงียบผลสอบ! เผยเบื้องหลัง รฟม.ให้สิทธิบ.ใช้ที่ทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
- โยนรฟม.แจงเอง!บมจ.อนันดาฯยันทำถูกต้องปมสตง.สอบใช้ปย.ที่ดินเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
- เปิด 3 เหตุผล! ‘ซีอีโออนันดาฯ’ แจงลูกบ้านยื่นอุทธรณ์คดีคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’