เผยปี 60 ‘ป.ป.ช.-สตง.’ เคยทักท้วง ‘รฟม.’ กรณีการอนุญาต ‘อนันดาฯ’ ใช้ที่ดินเวนคืนฯเป็นทางเข้า-ออก โครงการแอชตัน อโศก’ แล้ว แต่ไม่ยอมฟัง สุดท้าย ‘คอนโดหรู’ ถูก ‘ศาลปกครองสูงสุด’ สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯ ขณะที่คำวินิจฉัย ‘กฤษฎีกา’ ปี 63 ชี้นำที่ดินเวนคืนไปทำ ‘ทางเข้า-ออก’ ของตึกเอกชน ถือว่าขัดต่อวัตถุประสงค์ พ.ร.ฎ.เวนคืนฯ
.......................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อส.67/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อส.188/2566 ให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 18/2558 ลงวันที่ 23 ก.พ.2558 และเลขที่ 69/2558 ลงวันที่ 16 ก.ค.2558
และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ.4 เลขที่ 48/2559 ลงวันที่ 22 มิ.ย.2559 ฉบับแก้ไข และเลขที่ 129/2560 ลงวันที่ 17 พ.ย.2560 ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) กับ ซี อินเวสเม้นท์ ไฟว์ ไพรเวท ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท มิตซุย ฟูโดซังฯ เพื่อดำเนินโครงการแอชตัน อโศก โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือดังกล่าว
เนื่องจากศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นำที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 ขนาดกว้าง 13 เมตร ที่ได้มาจากการเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางชื่อ เขตราซเทวี เขตห้วยขวาง เขตคลองเตย เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2538 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ไปอนุญาตให้บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสุขุมวิท 21 หรือถนนอโศกมนตรี เพื่อประโยชน์ของที่ดิน 3 แปลงของบริษัทฯ โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดินเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศก อันเป็นประโยชน์แก่กิจการของบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศกฯ เท่านั้น ซึ่งมิใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ รฟม. และวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน การอนุญาตของ รฟม. จึงมิอาจกระทำได้
ดังนั้น การที่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด นำใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่าน เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557 ไปใช้ประกอบกับที่ดินทั้ง 3 แปลงของบริษัทฯ ในการยื่นแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษในโครงการแอชตัน อโศก ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
จนนำมาสู่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้อำนวยการสำนักการโยธา) ออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างฯ และใบรับแจ้งการก่อสร้างฯ รวม 4 ฉบับ ให้แก่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศกฯ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น (อ่านประกอบ : เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู‘แอชตัน อโศก’)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อปี 2560 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยทำหนังสือถึง รฟม. เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีที่ รฟม. อนุญาตให้ บริษัท อนันดาฯ ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออก กระทั่งในวันที่ 4 ส.ค.2560 รฟม.ได้แจ้งให้บริษัท อนันดาฯ ชะลอการก่อสร้างอาคารจอดรถฯในบริเวณสถานีสุขุมวิทเอาไว้ก่อน
แต่ต่อมา รฟม.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสำนักงาน ป.ป.ช. และ สตง. ซึ่งหลังจากชี้แจงข้อเท็จจริงฯแล้ว รฟม.อนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออกสู่ทางสาธารณะของโครงการแอชตัน อโศก เนื่องจากเห็นว่าการอนุญาตดังกล่าว เป็นไปตามแนวทางคำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 404/2548 และเสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
อย่างไรก็ตาม สตง.ได้ทำหนังสือลับที่ ตผ 0019/509 ลงวันที่ 15 ต.ค.2562 ขอให้ รฟม.หารือเรื่องการอนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้าออกโครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษสู่ถนนสาธารณะ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผลปรากฏว่าในปี 2563 คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้มีคำวินิจฉัยออกมาว่า การนำที่ดินที่ได้จากการเวนคืนฯไปใช้นอกเหนือวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนนั้น ไม่สามารถกระทำได้
“ตามวัตถุประสงค์หลักของบันทึกข้อตกลง เรื่อง การใช้ที่ดินของเป็นทางเข้า-ออก และการปรับปรุงพื้นที่ ระหว่าง รฟม. กับบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด (ปัจจุบัน คือ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด) ลงวันที่ 26 มิ.ย.2557 ซึ่งให้สิทธิแก่บริษัท อนันดาฯ ที่จะใช้พื้นที่ที่เป็นบริเวณจอดรถทั้งหมดเป็นอาคารสำนักงาน สำนักงานขาย และติดตั้งป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษของบริษัท อนันดาฯ เป็นเวลา 30 เดือน
รวมทั้งยังอนุญาตให้ย้ายทางเข้า-ออก จากด้านติดปล่องระบายอากาศ ไปอยู่ด้านสยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับขยายความกว้างทางดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก 6.60 เมตร พร้อมทั้งอนุญาตให้ใช้ทางเข้า-ออก ดังกล่าว ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดดังกล่าว เป็นที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักรฯ พ.ศ.2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2539
การดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นไปเพื่อที่จะให้บริษัท อนันดาฯ สามารถก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ และประกอบธุรกิจอาคารชุดดังกล่าวได้ มิใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ รฟม. และประชาชนในอันที่จะใช้ประโยชน์บนพื้นที่ดังกล่าวตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน ส่วนผลประโยชน์ที่ รฟม. ได้รับเป็นเพียงการตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ซึ่งมิใช่วัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้ง รฟม. หรือวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน” คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เรื่องเสร็จที่ 237/2563 ระบุ
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2566 ที่ผ่านมา นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ให้สัมภาษณ์สื่อกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯโครงการแอชตัน อโศก ว่า ที่ดินที่ รฟม. ได้มาจากการเวนคืนเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการและบริการรถไฟฟ้านั้น ในกรณีมีการอนุญาตให้เอกชนหรือประชาชนใช้ประโยชน์เป็นทางเข้า-ออก จะอยู่ภายใต้การสงวนสิทธิ์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตามความจำเป็นของ รฟม. ดังนั้น จึงไม่ใช่ทางสาธารณะ
ส่วนกรณีที่เอกชนนำใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน รฟม. ไปใช้ประกอบการขออนุญาตก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) นั้น เป็นเรื่องที่เอกชนต้องสอบถามและหาทางแก้ปัญหากับ กทม.
นายภคพงศ์ ยังระบุว่า กรณี รฟม.อนุญาตใช้ทางเข้าออกนั้น เกิดจากเดิม รฟม. มีการเวนคืนที่ดิน บริเวณแนวถนนอโศก เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน แต่เวนคืนเฉพาะที่ดินด้านหน้าติดถนน ทำให้ที่ดินด้านในไม่มีทางออกถนนหรือกลายเป็นที่ดินตาบอด ดังนั้น รฟม.จึงดำเนินการเยียวยาผู้ถูกเวนคืน โดยเปิดเป็นทางจำเป็นให้เข้าออกกว้าง 6.40 เมตร ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน ต่อมาเจ้าของมีการขายที่ดิน ซึ่งต้องให้สิทธิ์ทางจำเป็นกับผู้ซื้อไปด้วยเพื่อใช้เป็นทางเข้าออก
อย่างไรก็ตาม ต่อมาในช่วงปี 2557 บริษัท อนันดาฯ ได้เสนอมาที่ รฟม. เพื่อขอขยายถนนทางเข้า-ออก จากความกว้าง 6.40 เมตร เป็น 13 เมตร ซึ่งรฟม.ในขณะนั้น ได้อนุญาตไป
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า จากกรณีที่ รฟม. อนุญาตให้ บริษัท อนันดาฯ ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เพื่อเป็นทางเข้า-ออก โครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรือโครงการแอชตัน อโศก โดยไม่เสนอให้ ครม.เห็นชอบก่อน นั้น เมื่อปี 2565 สตง.ได้ส่งผลการสอบสวนในเรื่องดังกล่าวไปให้ ป.ป.ช. เพื่อให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีอาญากับผู้บริหาร รฟม. และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งแจ้งให้ รมว.คมนาคม ดำเนินการทางวินัยกับผู้เกี่ยวข้อง และให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 86.99 ล้านบาท (อ่านประกอบ : ผลสอบลับ สตง.ส่ง ป.ป.ช.ฟันบอร์ด รฟม.เอื้อคอนโดหรูอโศก-สั่งชดใช้ค่าเสียหายด้วย 86.99 ล.)
อ่านประกอบ :
กทม.ชี้ไม่ต้องทุบ 'แอชตัน อโศก' เตรียมสั่ง'อนันดา' แก้ใบอนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้อง
ไม่จำเป็นต้องรื้อคอนโดหรู! ANAN วาง 3 แนวทางแก้ปัญหา‘แอชตัน อโศก’-เจรจาภาครัฐหาทางออก
เบรกแอชตันคือชัยชนะชุมชน จี้โยธาฯ ตีความ กม. ต้องรัดกุม
กทม.นัดแถลงปมแอชตัน อโศก 3 ส.ค. 66 รฟม.โต้ทำเอกชนเสียหาย
ความเห็นแย้งคดีแอชตันอโศก(จบ) เหตุผล'หนึ่งเดียว'ตุลาการเสียงข้างน้อย ชี้3ปมยกฟ้อง
ความเห็นแย้งคดีแอชตันอโศก (1) 'ตุลาการเสียงข้างน้อย’ชี้ใช้ที่ดิน‘รฟม.’เป็น'ทางเข้า-ออก'ได้
เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู‘แอชตัน อโศก’
ผลสอบลับ สตง.ส่ง ป.ป.ช.ฟันบอร์ด รฟม.เอื้อคอนโดหรูอโศก-สั่งชดใช้ค่าเสียหายด้วย 86.99 ล.
โยนรฟม.แจงเอง!บมจ.อนันดาฯยันทำถูกต้องปมสตง.สอบใช้ปย.ที่ดินเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
สตง.สอบพบ รฟม. ให้สิทธิเอกชนใช้ปย.ที่ดินทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอความเห็นชอบ 'ครม.'
เมื่อแอชตัน คอนโด 50 ชั้น อโศก เสร็จแล้ว แต่โอนไม่ได้