"...ผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) จึงชอบที่จะเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุดังกล่าว และไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาท กล่าวคือ ภายในวันที่ 30 ม.ค.2542 แต่โดยที่วันดังกล่าวซึ่งเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันเสาร์และเป็นวันหยุดทำการ ผู้คัดค้านจึงอาจยื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้ภายในวันที่ 1 ก.พ.2542 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้น..."
...............................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 107/2552, 2038/2551, 1379/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366-368/2557 ระหว่าง กระทรวงคมนาคม ผู้ร้องที่ 1 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้ร้องที่ 2 กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้านคดี
โดยศาลปกครองกลางพิพากษาให้ ‘เพิกถอน’ คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.2551 ทั้งหมด และ 'เพิกถอน' คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 ลงวันที่ 15 ต.ค.2551 ทั้งหมด
และมีคำสั่ง 'ปฏิเสธไม่รับบังคับ' ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.2551
กับให้คำสั่งศาลที่ให้ ‘งด’ การบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 ไว้ในระหว่างพิจารณาคดีใหม่ มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
เนื่องจากศาลฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2541 จึงมีสิทธิที่จะเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้อย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 30 ม.ค.2546 แต่ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547
จึงพ้นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไป 1 ปี 9 เดือนเศษ สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านจึงขาดอายุความตามกฎหมาย นั้น (อ่านประกอบ : พลิกคดีโฮปเวลล์(1) 'ศาล ปค.'วินิจฉัย 2 ปม-ตีตก 7 ข้ออ้าง ก่อนเพิกถอนคำชี้ขาด'อนุญาโตฯ')
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการวินิจฉัยคดีโฮปเวลล์ของศาลปกครองกลางดังกล่าว มีตุลาการเสียงข้างน้อย 1 ราย คือ น.ส.ดนู วิจาระนันท์ ตุลาการในศาลปกครองกลาง ไม่เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของตุลาการเสียงข้างมากในองค์คณะ ในประเด็นเกี่ยวกับ ‘อายุความ’ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
@ยก 4 เหตุผล ชี้‘คดีโฮปเวลล์’ต้องยื่นเสนอข้อพิพาทฯภายใน 1 ปี
ความเห็นแย้ง คดีหมายเลขดำที่ 107/2552, 2038/2551 ,1379/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366-368/2557
ข้าพเจ้า นางสาววรดนู วิจาระนันท์ ตุลาการศาลปกครองกลาง ตุลาการเสียงข้างน้อย ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของตุลาการเสียงข้างมากในองค์คณะ ประเด็นเกี่ยวกับ ‘อายุความ’ การเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ที่วินิจฉัยว่า
การที่ผู้คัดค้านยื่นเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 และการที่ผู้ร้องทั้งสอง (กระทรวงคมนาคม และรฟท.) ยื่นข้อเรียกร้องแย้ง เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2548 ต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำสั่งให้แยกข้อเรียกร้องแย้งดังกล่าวออกเป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550
เป็นการยื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อพ้นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2551 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง ปัญหาบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความหรือระยะเวลาในการใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการที่นำมาใช้แก่ข้อพิพาทในคดีนี้
เห็นว่า โดยที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ซึ่งมีผลใช้บังคับในขณะทำสัญญาสัมปทานพิพาท ตลอดจนสัญญาอนุญาโตตุลาการ บัญญัติไว้แต่เพียงว่า คู่พิพาทอาจตกลงกันกำหนดระยะเวลาหรืออายุความการเสนอข้อพิพาทให้สั้นกว่าอายุความการฟ้องคดีต่อศาลก็ได้
ส่วน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ซึ่งมีผลใช้บังคับ ในขณะที่ผู้ร้องทั้งสองบอกเลิกสัญญากับผู้คัดค้าน ก็ไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติมาตราใด ที่บัญญัติเรื่องระยะเวลาหรืออายุความการยื่นข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการไว้ โดยบัญญัติแต่ระยะเวลาการคัดค้านคำชี้ขาดและการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเท่านั้น
ซึ่งระยะเวลาดังกล่าว เป็นขั้นตอนภายหลังที่กระบวนการชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเสร็จสิ้นแล้ว โดยมิใช่การกำหนดอายุความหรือระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต่อคณะอนุญาโตตุลาการ
ทั้งนี้ แม้การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดข้อพิพาท จะเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกโดยวิธีการอื่นนอกจากการพ้องคดีต่อศาล โดยมิได้เป็นการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายตุลาการก็ตาม
แต่เมื่อการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอายุความหรือ ระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการไว้โดยเฉพาะ อีกทั้งข้อสัญญาก็ไม่ได้กำหนดอายุความหรือระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทไว้ด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ การเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ จึงต้องนำอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องหรือการฟ้องคดีต่อศาลที่มีผลใช้บังคับในขณะเสนอข้อพิพาท มาใช้บังคับกับอายุความหรือระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการโดยเทียบเคียงด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้น เมื่อข้อพิพาทที่เสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และแม้ในขณะเกิดข้อพิพาทอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องจะเป็นอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติให้มีกำหนด 10 ปี
หากจะเสนอข้อพิพาทในระหว่างที่อายุความทั่วไปดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ผู้ร้องทั้งสอง (กระทรวงคมนาคม และรฟท.) และผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) ย่อมสามารถที่จะยื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้ภายในอายุความ 10 ปีดังกล่าวได้
แต่หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะยื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการนั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ได้มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.2542 ซึ่งบัญญัติให้
การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) จะต้องยื่นฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี และไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี โดยไม่ปรากฎว่ามีบทเฉพาะกาลกำหนดยกเว้นให้อายุความในการฟ้องคดีหรือการใช้สิทธิเรียกร้องคงเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในขณะทำสัญญาหรือในขณะเกิดข้อพิพาทที่มีอายุความ 10 ปี
ด้วยเหตุนี้ นับแต่วันที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับ และเมื่อข้อพิพาทนั้นเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
ดังนั้น อายุความหรือระยะเวลาในการใช้สิทธิเรียกร้อง เพื่อเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ จึงต้องเป็นไป โดยเทียบเคียงตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งใช้บังคับในขณะยื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ที่บัญญัติให้ การยื่นฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองให้ยื่นฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี
ทั้งนี้ แม้ในขณะเกิดข้อพิพาทจะยังไม่ขาดอายุความ 10 ปี ซึ่งเป็นอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่หากไม่ปรากฏว่า ได้มีการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ก่อนที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับ
ย่อมมีผลทำให้อายุความในการใช้สิทธิเรียกร้อง เพื่อเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เป็นอันขาดอายุความตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติเกี่ยวกับอายุความในมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน
ประการที่สอง คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า สัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของผู้ร้องที่ 2 (รฟท.) ลงวันที่ 9 พ.ย.2533 ระหว่าง ผู้ร้องทั้งสอง กับผู้คัดค้าน เป็นสัญญาที่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาพิพาทระหว่างผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้าน
จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามบทนิยามของมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
โดยในขณะที่ผู้ร้องทั้งสองได้มีหนังสือที่ คค 0208.3/841 ลงวันที่ 27 ม.ค.2541 ถึงผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) แจ้งบอกเลิกสัญญาสัมปทานลงวันที่ 9 พ.ย.2533 และห้ามมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องใดๆในพื้นที่โครงการ ซึ่งผู้คัดค้านได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2541
จึงถือว่าวันที่ 27 ม.ค.2541 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องทั้งสองมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาสัมปทาน และถือว่าวันที่ 30 ม.ค.2541 ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านได้รับหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญา เป็นวันที่ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้าน แล้วแต่กรณี รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการอันเนื่องมาจากการเลิกสัญญาสัมปทานดังกล่าว
โดยในขณะนั้น ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านชอบที่จะยื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้ภายในอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้อง ซึ่งเป็นอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติให้มีกำหนด 10 ปี
แต่อย่างไรก็ดี โดยที่ข้อเท็จจริงปรากฎว่า ในระหว่างที่อายุความการใช้สิทธิเรียกร้องยังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในบทบัญญัติมาตราดังกล่าวนั้น ไม่ปรากฎว่าผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านได้ยื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ
จนกระทั่งต่อมาภายหลัง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับแล้ว ในวันที่ 11 ต.ค.2542 ผู้คัดค้านจึงได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 ส่วนผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นข้อเรียกร้องแย้ง เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2548 ต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำสั่งให้แยกข้อเรียกร้องแย้งดังกล่าวออกเป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550
เมื่อมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งมีผลใช้บังคับในขณะยื่นเสนอข้อพิพาทนั้น บัญญัติให้ต้องยื่นฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี และไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี
ผู้คัดค้านจึงต้องเสนอข้อพิพาทและผู้ร้องทั้งสองจะต้องเสนอข้อเรียกร้องแย้งต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ภายในกำหนดเวลาการฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง คือ ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ โดยเทียบเคียงบทบัญญัติมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
เมื่อวินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า ผู้ร้องทั้งสองได้มีหนังสือ ที่ คค 0208.3/841 ลงวันที่ 27 ม.ค.2541 ถึงผู้คัดค้าน แจ้งบอกเลิกสัญญาสัมปทานฯ และห้ามมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ ในพื้นที่โครงการ ซึ่งผู้คัดค้านได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2541 โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้คัดค้านรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการอันเนื่องมาจากการบอกเลิกสัญญาสัมปทานของผู้ร้องทั้งสอง
ผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) จึงชอบที่จะเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุดังกล่าว และไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาท กล่าวคือ ภายในวันที่ 30 ม.ค.2542
แต่โดยที่วันดังกล่าวซึ่งเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันเสาร์และเป็นวันหยุดทำการ ผู้คัดค้านจึงอาจยื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้ภายในวันที่ 1 ก.พ.2542 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ดังนั้น การที่ผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) นำข้อพิพาทตามสัญญาสัมปทานฯ มายื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 จึงเป็นการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อพ้นกำหนดเวลา 1 ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทแล้ว
สำหรับการยื่นข้อเรียกร้องแย้งของผู้ร้องทั้งสอง เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2548 ต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำสั่งให้แยกข้อเรียกร้องแย้งดังกล่าวออกเป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 นั้น
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ผู้ร้องทั้งสองได้มีหนังสือ ที่ คค 0208.3/841 ลงวันที่ 27 ม.ค.2541 ถึงผู้คัดค้าน แจ้งบอกเลิกสัญญาสัมปทานฯ กับผู้คัดค้าน โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้ร้องทั้งสองรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายหลังการบอกเลิกสัญญาสัมปทานกับผู้คัดค้าน
ผู้ร้องทั้งสองจึงชอบที่จะเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุดังกล่าว และไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาท กล่าวคือ ภายในวันที่ 27 ม.ค.2542
ดังนั้น การที่ผู้ร้องทั้งสอง (กระทรวงคมนาคม และรฟท.) นำข้อพิพาทตามสัญญาสัมปทานฯ มายื่นข้อเรียกร้องแย้งต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2548 และต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำสั่งให้แยกข้อเรียกร้องแย้งดังกล่าวออกเป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 นั้น
จึงเป็นการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทแล้ว ทั้งนี้ ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งใช้บังคับในขณะยื่นเสนอข้อพิพาท
ประการที่สาม สำหรับประเด็นที่ว่า ในขณะที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับในวันที่ 11 พ.ค.2542 ศาลปกครองยังไม่เปิดทำการและยังไม่อาจฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้นั้น โดยที่ปัญหาคดีนี้ ไม่ใช่เรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต่อศาลปกครอง
แต่เป็นเรื่องระยะเวลาการใช้สิทธิเรียกร้อง เพื่อเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เพราะเหตุว่า พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาท ไม่ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องนำอายุความตามกฎหมายเกี่ยวกับการฟ้องคดีมาใช้โดยเทียบเคียง
และเมื่อในขณะเกิดข้อพิพาทนั้น มาตรา 193/30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติให้อายุความทั่วไป คือ 10 ปี ซึ่งผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านย่อมสามารถยื่นเสนอข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยได้โดยไม่มีข้อขัดข้องแม้ศาลปกครองยังไม่เปิดทำการ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้าน ได้ยื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในอายุความ 10 ปี ดังกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อต่อมามาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 บัญญัติให้การฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองจะต้องยื่นฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี และไม่เกิน 10ปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี
เมื่อข้อพิพาทในคดีนี้ เป็นเรื่องระยะเวลาการใช้สิทธิเรียกร้องในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ประกอบกับปัญหาว่าในขณะนั้นศาลปกครองยังไม่เปิดทำการและยังไม่อาจใช้สิทธิฟ้องคดีได้ กับปัญหาเรื่องระยะเวลาการใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเป็นคนละเรื่องกัน
ดังนั้น กรณีจึงไม่อาจอ้างเหตุที่ศาลปกครองยังไม่เปิดทำการในขณะเกิดข้อพิพาท และในขณะที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับ
มาเป็นเหตุอ้างที่จะไม่ต้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งมีผลใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาท
ประการที่สี่ สำหรับปัญหาว่า กรณีจะนำบทบัญญัติมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2551ที่มีผลใช้บังคับในวันที่ 28 ก.พ.2551
ที่บัญญัติให้การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) หรือคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง จะต้องยื่นฟ้องภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี และไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี มาใช้บังคับโดยทันทีในขณะที่คณะอนุญาโตตุลาการจะวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทได้หรือไม่ นั้น
เห็นว่า กฎหมายวิธีสบัญญัติเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องกระบวนพิจารณาความ เพื่อจะบังคับให้เป็นไปตามสิทธิและหน้าที่ของบุคคล เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 เป็นต้น ส่วนกฎหมายสารบัญญัติ เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ของบุคคล
นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาความหมายของอายุความและระยะเวลาการฟ้องคดีแล้ว เห็นได้ว่า อายุความ มีความหมายเป็นทั้งระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ใช้สิทธิเรียกร้อง และระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาล เช่น อายุความการใช้สิทธิเรียกร้องดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองเฉพาะที่มีความหมายเป็นอายุความ ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
ส่วนระยะเวลาการฟ้องคดี นั้น แม้บทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง จะปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 อันมีลักษณะเป็นกฎหมายวิธีพิจารณาความและเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติโดยรูปแบบ โดยมิได้บัญญัติเรื่องระยะเวลาดังกล่าวเป็นกฎหมายอีกฉบับ แยกต่างหากออกจากกันดังเช่นการบัญญัติเรื่องอายุความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม
แต่อย่างไรก็ดี โดยที่ระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองอาจแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี คือ
กรณีที่หนึ่ง ระยะเวลาการฟ้องคดีที่เป็นเรื่องวิธีพิจารณาความอันเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ ได้แก่ ระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งในกรณีนี้ หากไม่นำคดีมาฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี ย่อมสิ้นไปซึ่งสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาล
และกรณีที่สอง ระยะเวลาการฟ้องคดีที่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้อันมีลักษณะเป็นอายุความ ได้แก่ระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน
ซึ่งในกรณีประการหลังนี้ หากไม่ใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ย่อมมิได้สิ้นไปเฉพาะสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลเท่านั้น แต่จะหมายความรวมถึงการระงับสิ้นไปซึ่งสิทธิเรียกร้องด้วย
ด้วยเหตุนี้ หากระยะเวลาการฟ้องคดีดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มีความหมายเป็นอายุความด้วยแล้ว กรณีจึงมิใช่กฎหมายวิธีสบัญญัติที่จะต้องนำมาใช้บังคับโดยทันทีในขณะที่มีการพิจารณาพิพากษา แต่ต้องใช้บังคับในขณะที่มีข้อพิพาท หรืออย่างช้าที่สุดในขณะใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องคดีต่อศาล
ทั้งนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะยื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง จาก 1 ปี เป็น 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี และไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี ซึ่งนำมาใช้บังคับกับการยื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการด้วยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ดังนั้น กรณีจึงไม่อาจนำมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2551
ที่บัญญัติให้การฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต้องยื่นฟ้องภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีและไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี มาใช้บังคับแก่กรณีระยะเวลาการยื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ได้
ตุลาการเสียงข้างน้อยจึงเห็นว่า การที่ผู้คัดค้านยื่นเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 และการที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นข้อเรียกร้องแย้งเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2548 ต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำสั่งให้แยกข้อเรียกร้องแย้งดังกล่าวออกเป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550
จึงเป็นการยื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งใช้บังคับในขณะยื่นเสนอข้อพิพาท
ทั้งหมดนี้เป็น ‘ความเห็นแย้ง’ ของ ‘ตุลาการเสียงข้างน้อย’ ที่ไม่เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของตุลาการเสียงข้างมากในองค์คณะ ในประเด็นเกี่ยวกับ ‘อายุความ’ โดย ‘ตุลาการเสียงข้างน้อย’ มีความเห็นว่า อายุความในการยื่นเสนอข้อพิพาทฯใน ‘คดีโฮปเวลล์’ ต่อคณะอนุญาโตตุลาการนั้น บริษัท โฮปเวลล์ฯ จะต้องยื่นเสนอข้อพิพาทภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาท หรือภายในวันที่ 27 ม.ค.2542!
อ่านประกอบ :
พลิกคดีโฮปเวลล์(1) 'ศาล ปค.'วินิจฉัย 2 ปม-ตีตก 7 ข้ออ้าง ก่อนเพิกถอนคำชี้ขาด'อนุญาโตฯ'
รัฐชนะคดีโฮปเวลล์! ‘ศาล ปค.’เพิกถอนคำชี้ขาด‘อนุญาโตฯ’สั่ง‘คมนาคม-รฟท.’ชดใช้ 2.7 หมื่นล.
‘ศาลปกครองกลาง’นัดชี้ขาด คำขอ‘ก.คมนาคม-รฟท.’รื้อคดี‘โฮปเวลล์’ใหม่
โฮปเวลล์ฟ้อง 5 ตุลาการศาลรธน.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบวินิจฉัยปมคืนค่าสัมปทาน-ก่อสร้างหมื่นล.
‘โฮปเวลล์’ฟ้อง‘ผู้ว่าฯรฟท.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ยื้อจ่าย2.7หมื่นล.-‘นิรุฒ’ย้ำปกป้องปย.ชาติ
เปิด 5 ปมปัญหา หลัง'ศาลปค.'รื้อคดี'โฮปเวลล์'ใหม่-'ศ.ดร.สุรพล'ฟันธงคำพิพากษาไม่เปลี่ยน
ซักค้าน โฮปเวลล์ เป็นไปตามกฎหมาย คมนาคม-ร.ฟ.ท. ชี้กระบวนการโครงการผิดปกติ
ไม่ใช่ค่าโง่! 'บ.โฮปเวลล์'ตั้งโต๊ะแถลงทวงรัฐชดใช้ 2.7 หมื่นล.-มั่นใจคดีไม่ขาดอายุความ
‘ศาลปค.สูงสุด’สั่ง‘ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา’ คดี‘รฟท.’ร้องเพิกถอนจดทะเบียน‘บ.โฮปเวลล์’
นัดอ่านคำสั่ง ‘ศาลปค.สูงสุด’ คดี ‘รฟท.’ อุทธรณ์กรณี ‘ไม่รับฟ้อง’ เพิกถอน ‘บ.โฮปเวลล์’
‘ศาลปค.’ สั่งงดบังคับคดีจ่าย ‘ค่าโง่โฮปเวลล์’ 2.6 หมื่นล้าน ระหว่างการพิจารณาคดีใหม่
'ศาลปกครองสูงสุด' สั่งรับคดี 'โฮปเวลล์' ไว้พิจารณาใหม่-นับหนึ่งค่าโง่ 2.6 หมื่นล้าน
‘ศาลปค.สูงสุด’ นัดชี้ขาด 4 มี.ค.นี้ กรณี ‘รฟท.-คมนาคม’ ขอพิจารณาคดี ‘โฮปเวลล์’ ใหม่
‘บ.โฮปเวลล์’ โต้ ‘พีระพันธุ์’ แบบ 'คำต่อคำ' คดีค่าโง่ 2.6 หมื่นล.-ชี้ก้าวล่วงอำนาจศาลฯ
เปิด 2 เหตุผลศาล ปค.! ไฉนใช้คำวินิจฉัยศาล รธน. รื้อ 'คดีโฮปเวลล์' ไม่ได้
คดีถึงที่สุดแล้ว-ไม่มีหลักฐานใหม่! ศาล ปค.ไม่รับคำร้องรื้อคดี 'โฮปเวลล์' ซ้ำ