2 อาจารย์ ‘นิติศาสตร์’ ธรรมศาสตร์ เปิดผลวิจัยพบ 5 ปมปัญหา หลัง 'ศาลปกครองสูงสุด' สั่งรื้อคดี ‘โฮปเวลล์’ พิจารณาใหม่ ขณะที่ ‘ศ.ดร.สุรพล’ฟันธงคำพิพากษาไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม ระบุการนับอายุความต้องนับตั้งแต่วันเปิดศาลฯ
..................................
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่องานวิจัย เรื่อง “การตรวจสอบการกระทำของฝ่ายตุลาการโดยศาลรัฐธรรมนูญและผลที่ตามมา : ศึกษากรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 และคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 81-84/2565 (ประชุมใหญ่)” โดยมี รศ.อานนท์ มาเม้า และนายสุรศักดิ์ บุญญานุกูลกิจ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้นำเสนองานวิจัยฯ
ทั้งนี้ หลังจากผู้วิจัยได้นำเสนอผลสรุปงานวิจัยฯแล้ว ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าววิพากษ์งานวิจัยฯดังกล่าว โดยระบุตอนหนึ่งว่า คดีโฮปเวลล์ไม่มีอะไรมากเลย โดยเมื่อปี 2541 กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไปบอกเลิกสัญญาโฮปเวลล์ ทางบริษัท โฮปเวลล์ฯ จึงไปยื่นคำร้องให้ตั้งคณะอนุญาโตตุลาการว่า การบอกเลิกสัญญาไม่ชอบ
ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการตัดสินว่า การบอกเลิกสัญญาของกระทรวงคมนาคม และรฟท. ไม่ชอบ และให้คืนเงินที่บริษัท โฮปเวลล์ฯ ลงทุนไปแล้วพร้อมดอกเบี้ย สัญญาจะได้เลิกกัน ไม่ใช่เรื่องเสียค่าปรับ แต่กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ไม่ทำตาม บริษัท โฮปเวลล์ฯ จึงยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้บังคับตามคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหากคณะอนุญาโตตุลาการไม่ได้ทำผิดวิธีการ ไม่ได้รับสินบน ไม่ตีความกฎหมายผิด ศาลฯจะไม่เข้าไปแทรกแซงดุลพินิจ
หลังจากกระทรวงคมนาคม และรฟท. แพ้คดีแล้ว กระทรวงคมนาคม และรฟท. สู้คดีต่อ โดยคราวนี้ได้หยิบยกประเด็นเรื่องอายุความขึ้นมาต่อสู้ว่า บริษัท โฮปเวลล์ไปฟ้องคดีในปี 2547 แต่การบอกเลิกสัญญาเกิดขึ้นในปี 2541 เกินระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่รู้เหตุแห่งคดี แต่ศาลปกครองบอกว่า การเริ่มนับอายุการฟ้องคดีให้เริ่มนับตั้งแต่วันเปิดศาลปกครอง ซึ่งก็ตรงไปมา เพราะเมื่อศาลปกครองยังไม่เปิดทำการ ก็ฟ้องคดีไม่ได้ จึงนับอายุความไม่ได้
แต่ต่อมาเกิดกรณีว่ากระทรวงคมนาคม และรฟท. ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยสงสัยว่าฐานที่ศาลปกครองใช้เป็นหลักในการวินิจฉัยคดีว่า อายุความที่ให้เริ่มนับตั้งแต่วันเปิดศาลฯน่าจะผิด และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เรื่อง การนับระยะเวลาการนับคดี ซึ่งให้นับตั้งแต่วันเปิดศาล ขัดต่อกฎหมาย กระทรวงคมนาคม และ รฟท. จึงไปขอให้ศาลปกครองรับคดีไว้พิจารณาโดยอ้างเหตุดังกล่าว
@เชื่อการตัดสินคดี ‘โฮปเวลล์’ ไม่แตกต่างจากเดิม
ศ.ดร.สุรพล กล่าวต่อว่า แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคดีโฮปเวลล์ไว้พิจารณาใหม่ แต่ตนเชื่อว่าผลแห่งคดีจะไม่แตกต่างไปจากเดิม เนื่องจากคดีนี้เป็นเรื่องการขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้บังคับตามคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งสืบคดีมาหมดแล้ว และหากกระบวนการวินิจฉัยชอบแล้ว องค์คณะตุลาการศาลปกครองคงวินิจฉัยอะไรได้ไม่มาก มีเพียงเรื่องเดียวที่ต้องถกเถียงกัน คือ เรื่องการนับระยะเวลาการเริ่มอายุความ 5 ปี
“ในความเห็นของผม หลักการนับอายุความในคดีต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ฟ้องได้ มีโอกาสฟ้อง และมีเงื่อนไขการฟ้องครบ และเวลาพูดถึงเรื่องอายุความ เราก็พูดถึงวันที่เปิดศาลกันทั้งนั้น ไม่ได้ใช้อายุความ 2 ปี ตั้งแต่เกิดเหตุ หรือ 1 ปีนับตั้งแต่รู้เรื่องนั้นตามหลักทั่วไป แต่การนับอายุความที่บอกว่า 1 ปี หรือ 2 ปี นั้น จะเริ่มเมื่อศาลเปิดทำการ และพร้อมให้ฟ้องคดี ซึ่งผมคิดว่าเรื่องการนับอายุความการฟ้องคดี เป็นการตีความข้อกฎหมาย
แต่เมื่อมติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการศาลปกครองสูงสุด เรื่อง การนับระยะเวลาการฟ้องคดีในคดีนี้ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ใช้ไม่ได้ ต้องทำลายมติอันนั้น เพราะเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่นั่นไม่ได้ทำให้หลักการนับอายุความที่บอกว่า ให้นับอายุความตั้งแต่วันที่เปิดศาลทำการนั้น หายไป มีเพียงมติของที่ประชุมใหญ่ของตุลาการฯเท่านั้นที่หายไป
เพราะฉะนั้น เมื่อคดี (โฮปเวลล์) เข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองอีกครึ่ง ก็จะเหลือประเด็นข้อกฎหมายข้อเดียวที่ต้องพิจารณา และอาจจะไม่ต้องสืบอะไรใหม่ด้วยซ้ำ คือ ต้องนับอายุความเมื่อไหร่ ถ้าไม่มีมติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุดกำหนดไว้ และเมื่อเนื้อหาอื่นๆไม่ได้เปลี่ยนไป ผลของคดีจึงไม่แตกต่างออกไป อีกทั้งที่ผ่านมาศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาไปแล้ว 18 คดี
ซึ่งทั้ง 18 คดี มีมติว่าอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่เริ่มเปิดศาล ไม่ได้เริ่มนับตั้งแต่วันที่รู้ก่อนศาลเปิด หรือวันที่เกิดเหตุก่อนศาลเปิด ดังนั้น ถ้าคดีนี้ (โฮปเวลล์) ศาลปกครองสูงสุดตัดสินต่างออกไป โดยบอกว่าให้ระยะเวลานับใหม่ ซึ่งผมไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะมติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการฯ ที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่ชอบนั้น เป็นเพราะไม่ได้ถูกนำไปส่งสภาผู้แทนราษฎร และประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ไม่ใช่ไม่ชอบ เพราะเนื้อหาไม่ชอบ
ผมจึงคิดว่าผลแห่งคดีไม่น่าจะมีความแตกต่างไปจากเดิม เพราะถ้าต่างไป คดีศาลปกครองสูงสุดตัดสินไปแล้ว 18 คดี คู่ความสามารถร้องขอให้ศาลฯพิจารณาใหม่ทั้งหมด และศาลต้องรับด้วย รวมทั้งต้องเปลี่ยนแปลงผลคำตัดสินของทั้ง 18 คดีด้วย ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญมาก เพราะมันกระทบต่อหลักความมั่นคง แน่นอนของนิติฐานะที่มาจากคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้ว” ศ.ดร.สุรพล กล่าว
@ห่วงรื้อคดีใหม่แบบ ‘แปลกประหลาด’ กระทบเชื่อมั่นต่างชาติ
ศ.ดร.สุรพล ระบุด้วยว่า เมื่อศาลปกครองสุงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคดีโฮปเวลล์ไว้พิจารณาใหม่ แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้วผลแห่งคดีจะไม่เปลี่ยนไปจากเดิม แต่การที่คดีที่ถึงที่สุดแล้ว ต้องกลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีใหม่ โดยเฉพาะการรื้อฟื้นคดีมาพิจารณาใหม่เป็นการรื้อคดีบนความแปลกประหลาด ย่อมจะส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนและทำการค้าในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“คนเขาชนะคดี คดีที่ถึงที่สุดแล้ว เข้าสู่กระบวนการบังคับแล้ว แต่อยู่ๆคดีที่ถึงที่สุดแล้วนั้น ถูกรื้อฟื้นมาพิจารณาใหม่ได้ มันจะกระทบต่อหลักความมั่นคงของสิทธิทางกฎหมายเยอะมาก และถ้าเกิดได้เรื่องหนึ่ง เรื่องอื่นๆก็เกิดขึ้นตามมาได้อีก ซึ่งก็หมายความว่า ต่อไปอำนาจศาลไทย ไม่ว่าจะเป็นศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม ถ้าจบในชั้นฎีกาแล้ว แล้วมีกระบวนการใหม่ ที่ทำให้สิ่งที่จบไปแล้ว กลับมาทำได้อีกนั้น
มีข้อที่ต้องพิจารณาให้ดี คือ ประเทศไทย ได้รับความนิยมจากต่างประเทศในการมาลงทุนทำธุรกิจ มาติดต่อค้าขายมากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เพราะศาลในประเทศไทยได้รับการยอมรับมาตลอด เนื่องจาเมื่อตัดสินคดีแล้ว มันจบจริงๆ จบแล้วคือจบ จบแล้วบังคับได้จริง แตกต่างจากหลายประเทศที่ไม่เป็นอย่างนั้น คือ ฟ้องศาลไม่ได้ ศาลไม่บังคับคดีให้ หรือเมื่อศาลตัดสินแล้วไม่มีกระบวนการบังคับ แต่ในประเทศไทยทำเรื่องนี้ดีมาโดยตลอด
จึงทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุน ความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจกับบริษัทไทยกับคนไทย ความเชื่อมั่นในการเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนของภูมิภาคเกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว ผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องดูกัน เพราะเมื่อไหร่ที่สถานะของความมั่นคงแห่งคำพิพากษา หรือเรื่องที่ถึงที่สุดแล้วในการบวนการตุลาการ มันกลับมารื้อฟื้นใหม่ได้ บนความแปลกประหลาดใจของคนต่างชาติ รวมทั้งพวกเราคนได้ด้วย จะมีผลกระทบอย่างยิ่ง” ศ.ดร.สุรพล กล่าว
ด้าน นายธวัช ดำสอาด ทนายความและหุ้นส่วน บริษัท Tilleke & Gibbins Ltd. กล่าวว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคดีโฮปเวลล์ไว้พิจารณาใหม่ ตนเห็นว่าผลแห่งคดีจะไม่เปลี่ยนไป เพราะในคดีที่เป็นการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้น ศาลผู้พิจารณาคดีมีข้อจำกัดอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถลงไปวินิจฉัยเนื้อหาของคดีไม่ได้ หากกระบวนการชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี
ส่วนเรื่องประเด็นอายุความการฟ้องคดี 5 ปี นั้น ตนมองไม่เห็นว่า ศาลปกครองกลางองค์คณะใหม่จะมองเรื่องนี้ต่างไปจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้อย่างไร
"เคยมีการพิจารณาคดีใหม่ กรณีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านมาแล้ว โดยยกข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยเคยมีคำตัดสินในคดีอาญามาใช้พิจารณาคดี ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้ จะไปกระทบต่อความเชื่อมั่น โดยในทางนิติศาสตร์เป็นเรื่องความมั่นคงของนิติฐานะของคำพิพากษา แต่ในทางธุรกิจ เศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างประเทศ มันกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมากว่า
คำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้ว โดยศาลปกครองสูงสุดหรือศาลฎีกา ถ้าถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปได้ นักลงทุนคิดหนักที่จะมาลงทุนตรงนี้ และการทำทุกอย่างมีต้นทุน ผมเข้าใจว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา แล้วศาลปกครองปกครองสูงสุดสั่งรับคดีไว้พิจารณาคดีใหม่ ผู้ที่มีส่วนในการดำเนินการในส่วนนี้ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐก็ดีใจว่าได้ช่วยปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ เงินของแผ่นดิน ตกน้ำไม้ไหล ตกไฟไม่ไหม้ เราพูดกันอย่างนี้
แต่อยากให้ลองคิดว่า ถ้าต่อไป ศาลปกครองกลางหรือศาลปกครองสูงสุดตัดสินตามเดิม ต้นทุนไม่เท่าเดิม ต้นเงินที่เป็นหมื่นล้าน บวกกับดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี หรือปีละ 750 ล้าน เป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่การรื้อคดีใหม่ แต่เป็นการเพิ่มทุนทรัพย์พิพาทหรือเงินตามคำพิพากษาที่ต้องจ่ายให้กับผู้ฟ้องคดีที่เพิ่มขึ้น" นายธวัช กล่าว
@‘2 นักวิชาการ’ เผยผลวิจัย 5 ปม กรณีรื้อคดีโฮปเวลล์
ทั้งนี้ ในการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะฯ ครั้งนี้ รศ.อานนท์ และนายสุรศักดิ์ ในฐานะคณะผู้วิจัยฯ ได้นำเสนอผลวิจัย เรื่อง “การตรวจสอบการกระทำของฝ่ายตุลาการโดยศาลรัฐธรรมนูญและผลที่ตามมา : ศึกษากรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 และคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 81-84/2565 (ประชุมใหญ่)” สรุปได้ดังนี้
คดีโฮปเวลล์ภาคแรกจบลง โดยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด อ.221-223/2562 ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาตตุลาการ แต่หลังจากนั้น คดีโฮปเวลล์เข้าสู่ภาค 2 คือ มีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 เกี่ยวกับระยะเวลาในการฟ้องคดีปกครองชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ที่ 5/2564 ตัดสินว่า มติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันพุธที่ 27 พ.ย.2545 เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีทางปกครอง นั้น ศาลรัฐธรรมนูญมองว่าเป็นการออกระเบียบ เพราะไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 5 และมาตรา 6 คือ ไม่มีการนำระเบียบไปผ่านกลไกของสภาผู้แทนราษฎร
ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงมองว่า มติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการฯดังกล่าว มีฐานะเป็นระเบียบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ในประเด็นมาตรา 3 วรรค 2 หรือเรื่องนิติธรรม และมาตรา 197 วรรค 4 เรื่อง บทบาทอำนาจหน้าที่ของศาลปกครองที่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกไปแล้ว กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นคู่ความในคดีโฮปเวลล์ภาคแรก นำประเด็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว มาประกอบในคำร้องเพื่อขอศาลปกครองเปิดกระบวนการพิจารณาใหม่ โดยได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2564 ขณะที่คำร้องดังกล่าว ได้อ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาเป็นมูลเหตุในการขอให้ศาลปกครองรับคดีไว้พิจารณาใหม่
อย่างไรก็ดี ศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาใหม่ ทางกระทรวงคมนาคม และรฟท.จึงยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด และต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำตัดสินเป็นคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 81-84/2565 (ประชุมใหญ่) โดยกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นว่าให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำให้พิจารณาคดีใหม่
จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ผู้วิจัยเห็นว่า เป็นประเด็นใหญ่ และเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการกระทำของฝ่ายตุลาการโดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อให้เกิดผลที่ตามมา คือ ทำให้เกิดการเปิดกระบวนพิจารณาใหม่ โดยผู้วิจัยได้พิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว พบประเด็นปัญหาของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำสั่งศาลปกครองสูงสุด รวม 5 ประเด็น ดังนี้
1.ปัญหาผู้ที่จะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ได้หรือไม่
รัฐธรรมนูญมาตรา 213 บัญญัติให้บุคคลถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องตามช่องทางที่กำหนดไว้ แต่ปรากฏว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 ที่มีกระทรวงคมนาคม และ รฟท. เป็นผู้ใช้สิทธิยื่นคำร้องตามบทบัญญัติดังกล่าว นั้น มีประเด็นปัญหาว่า กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จะอยู่ในข่ายของการมีสถานะเป็นบุคคลที่จะยื่นคำร้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้หรือไม่ อย่างไร
โดยผู้วิจัยเห็นว่า ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ทรงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ คือ บุคคล ซึ่งหมายรวมถึงนิติบุคคล ในขณะที่รัฐ องค์กรของรัฐ หรือองค์กรที่เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐนั้น มีหน้าที่ที่ต้องผูกพันต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ดี แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 ไม่ได้มีการพูดถึงว่ากระทรวงคมนาคม และรฟท. เป็นผู้ทรงสิทธิฯหรือไม่ แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญยอมรับให้กระทรวงคมนาคม และรฟท. เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 213 จึงกลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญยอมรับโดยนัยว่า นิติบุคคลมหาชน กับองค์กรของรัฐนั้น กลายเป็นผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่สอดคล้องหลักการพื้นฐานเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน
2.ปัญหาลักษณะแห่งการกระทำที่จะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 213
ปัญหานี้ แยกได้เป็น 2 ประเด็นย่อย คือ 1.ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำที่เป็น ‘วัตถุแห่งคดี’ และผลในการละเมิดสิทธิของผู้ร้อง เนื่องจากปราศจากคำอธิบายในความเชื่อมโยงระหว่างการกระทำและผล อันเป็นเหตุให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ 2.ปัญหาการกระทำของฝ่ายตุลาการในฐานะ ‘วัตถุแห่งคดี’ ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถตรวจสอบการกระทำของตุลาการได้มากน้อยเพียงใด
ผู้วิจัยเห็นว่า คดีละเมิดโดยทั่วไปนั้น ข้อที่สำคัญที่สุด คือ ศาลฯจะต้องพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล ซึ่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 46 วรรค 2 กำหนดเงื่อนไขในการยื่นคำร้องไว้ชัดเจนว่า ผู้ร้องต้องระบุถึงการกระทำที่กล่าวอ้างว่า เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของตนโดยตรง ให้ชัดเจน ว่าเป็นการกระทำใด และละเมิดสิทธิและเสรีภาพของตนอย่างไร
แต่ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 กลับไม่ปรากฏว่า มีคำวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดโดยตรงหรือส่งผลโดยตรงต่อความเสียหายของผู้ร้อง อย่างไร
นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังพบปัญหาและเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นทางกฎหมาย คือ ในกรณีที่เป็นการกระทำอื่นของฝ่ายตุลาการ ซึ่งไม่ใช่การพิจารณาพิพากษาคดี และไม่เข้าข้อยกเว้นตาม แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ นั้น ศาลรัฐธรรมนูญอาจยอมรับให้เป็นวัตถุแห่งคดีได้ ซึ่งในคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยอมรับให้ ระเบียบที่ออกโดยองค์กรตุลาการ และออกโดยอาศัยตามอำนาจกฎหมาย เป็นวัตถุแห่งคดี
อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้เหตุผลอย่างชัดเจนว่า เหตุใดระเบียบที่ออกโดยองค์กรตุลาการ จึงสามารถเป็นวัตถุแห่งคดีได้ และเหตุใดมติของที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เรื่อง แนวทางการวินิจฉัยการเริ่มต้นนับระยะเวลาฟ้องคดีก่อนที่ศาลปกครองจะเปิดทำการ จึงถูกพิจารณาว่าเป็นระเบียบไปได้อย่างไร ทั้งๆที่ต้นเรื่องของเรื่องนี้ มาจากปัญหาการ ‘ตีความ’ ตัวบทของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ เกี่ยวกับการนับอายุความ
อันสะท้อนให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้แบ่งแยกว่า การใช้การตีความกฎหมาย และการตราหรือออกระเบียบที่เป็นการสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ มีความแตกต่างกันอย่างไร และในคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ บอกเพียงว่า เป็นการตราระเบียบ ซึ่งเป็นการสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ และให้เหตุผลอย่างคลุมเครือระหว่างการ ‘ตีความ’กฎหมาย และการ ‘สร้าง’ กฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ที่เป็นกฎหรือระเบียบว่า มีแตกต่างกันอย่างไร
จึงทำให้เกิดปัญหาว่า จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อมติของที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุดกรณีอื่นๆได้ จากคำวินิจฉัยที่ความคลุมเครือของศาลรัฐธรรมนูญ
3.ปัญหาการพิจารณาถึงรัฐธรรมนูญในฐานะมาตรวัดการกระทำนั้น ว่าขัดหรือแย้ง
ผู้วิจัยพบว่า ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวแต่เพียงว่า มติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุด (ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันพุธที่ 27 พ.ย.2545) ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา 197 วรรค 4 โดยไม่ได้อธิบายให้เห็นถึงเหตุผลอย่างละเอียดที่เกี่ยวข้องกับหลักนิติธรรมที่อยู่ในมาตรา 3 วรรค 2 ทั้งๆที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุถึงมาตราดังกล่าว และไม่ได้ระบุเหตุผลโดยละเอียดว่า เกี่ยวกับข้องกับการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 197 วรรค 4 อย่างไร
ที่สำคัญศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้เหตุผลว่า มาตรวัดดังกล่าวเกี่ยวข้องอย่างไรกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองแก่ผู้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 213
4.ปัญหาการพิจารณาว่า เข้าเงื่อนไขในการพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ในศาลปกครองหรือไม่ อย่างไร
การที่ศาลปกครองสูงสุด (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 81-84/2565) เห็นว่า กรณีที่มติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุด (ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545) ได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นข้อกฎหมายใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ซึ่งทำให้ผลของคำพิพากษาขัดกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น จึงเข้าเงื่อนไขขอพิจารณาคดีใหม่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 75 นั้น
ผู้วิจัยเห็นประเด็นว่า บทบัญญัติในมาตรา 49-51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระยะเวลาการฟ้องคดี นั้น ไม่ได้ถูกกระทบหรือเปลี่ยนแปลงไป โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 แต่อย่างใด ดังนั้น เรื่องนี้จะถือว่าเข้าเงื่อนไขของการพิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่
นอกจากนี้ ในการรื้อคดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วมาพิจารณาคดีใหม่ ก็ควรได้รับการวินิจฉัยอย่างหมดจด แต่กลับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 81-84/2565 กลับรวบความแต่เพียงว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นข้อกฎหมายใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ซึ่งทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผู้วิจัยเห็นว่า การที่คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับองค์ประกอบของเงื่อนไขการขอพิจารณาคดีใหม่ เป็นเรื่องที่อันตราย
เพราะข้อยกเว้นอันเป็นเหตุให้มีการรื้อคดีพิจารณาใหม่ ซึ่งจะต้องถูกพิจารณาอย่างละเอียดลออนั้น กลับถูกมองข้ามไป ทำให้คู่ความเกิดข้อสงสัยว่าจะนำไปสู่การประวิงเวลาในคดีหรือไม่ เนื่องจากสิ่งที่ศาลฯตัดสินไว้ถูกยืดขยายเวลาออกไปอีก และคำพิพากษาที่ตัดสินที่จบไปแล้วไม่ได้รับการเคารพ
“เราเห็นว่ามาตรา 49-51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ไม่ได้ถูกกระทบกระเทือนโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีการเปลี่ยน ไม่มีการยกเลิก ไม่มีการแก้ไขเพราะการนับระยะเวลาการฟ้องคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.221-223/2562 หรือคดีโฮปเวลล์ภาคแรก เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจทางตุลาการในการพิจารณาพิพากษา โดยอาศัยกรอบของบทบัญญัติดังกล่าวในการตีความ
และแม้มติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 ซึ่งเป็นมติเกี่ยวกับการรับระยะเวลา และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.221-223/2562 หรือคดีโฮปเวลล์ภาคแรก ไม่ได้อ้างมติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการฯดังกล่าวเลย เพียงแต่มีการเดินตามแนวของมติที่ประชุมใหญ่ฯเท่านั้น อีกทั้งมติของที่ประชุมใหญ่ฯดังกล่าว ไม่ใช่ข้อกฎหมายหรือบทบัญญัติตามกฎหมายที่ศาลปกครองใช้เป็นฐาน
เมื่อตัว พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 49-51 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญใดๆเลย เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จึงไม่น่าจะเข้าเงื่อนไขในการขอเปิดกระบวนพิจารณาคดีใหม่เสียด้วยซ้ำ และสิ่งที่ผู้วิจัยอยากให้พิจารณาในการพิจารณาคำขอพิจารณาคดีใหม่ ควรจะพิจารณาเป็นเปรอะๆไป และต้องพิจารณาอย่างละเอียด” รศ.อานนท์ กล่าว
5.ปัญหาผลแห่งคดีภายหลังการพิจารณาใหม่
ผู้วิจัยเห็นประเด็นว่า แม้ว่าศาลปกครองจะรับคดีไว้พิจารณาใหม่ โดยให้เหตุผลว่าเข้าเงื่อนไขในการพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ ศาลปกครองจะต้องมาพิจารณาว่า จะต้องพิจารณาเนื้อหาแห่งคดีอีกชั้นหรือไม่ และเพียงใด รวมทั้งผลแห่งคดีจะเปลี่ยนแปลงไป จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2564 หรือไม่ ในขณะที่การรับคำขอคดีดังกล่าวไว้พิจารณาใหม่นั้น ต้องไม่ใช่การเปลี่ยน ‘ธง’ โดยอัตโนมัติ เพราะมีเพียงเรื่องการนับระยะเวลาการฟ้องคดีเท่านั้นที่มีปัญหา
ทั้งนี้ ผู้วิจัยเห็นว่า การนับระยะเวลาการฟ้องคดีทางปกครอง ซึ่งกำหนดให้นับตั้งแต่วันที่ศาลเปิดทำการ เป็นเรื่องการตีความกฎหมาย และต่อให้ไม่มีมติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุด องค์กรตุลาการก็สามารถตีความการนับระยะเวลาการฟ้องคดีได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว
“คดีโฮปเวลล์ภาค 2 ในอนาคต ผู้วิจัยเห็นว่า ตัวคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีโฮปเวลล์ภาคแรก ไม่ได้ไม่ได้ถูกกระทบจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีผลย้อนหลังไปถึงคำวินิจฉัยที่ถึงที่สุดแล้ว และศาลรัฐธรรมเองก็ไม่ได้แตะในตัวคำพิพากษาศาลปกครองในการตัดสินคดี ส่วนคดีอื่นๆ หากจะให้นับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ ก็ย่อมเป็นดุลพินิจของศาลปกครองที่จะตีความได้ และไม่ต้องไปอ้างมติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการฯด้วยซ้ำ เนื่องจากมติดังกล่าวมีข้อบกพร่อง” รศ.อานนท์ ย้ำ
อ่านประกอบ :
ซักค้าน โฮปเวลล์ เป็นไปตามกฎหมาย คมนาคม-ร.ฟ.ท. ชี้กระบวนการโครงการผิดปกติ
ไม่ใช่ค่าโง่! 'บ.โฮปเวลล์'ตั้งโต๊ะแถลงทวงรัฐชดใช้ 2.7 หมื่นล.-มั่นใจคดีไม่ขาดอายุความ
‘ศาลปค.สูงสุด’สั่ง‘ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา’ คดี‘รฟท.’ร้องเพิกถอนจดทะเบียน‘บ.โฮปเวลล์’
นัดอ่านคำสั่ง ‘ศาลปค.สูงสุด’ คดี ‘รฟท.’ อุทธรณ์กรณี ‘ไม่รับฟ้อง’ เพิกถอน ‘บ.โฮปเวลล์’
‘ศาลปค.’ สั่งงดบังคับคดีจ่าย ‘ค่าโง่โฮปเวลล์’ 2.6 หมื่นล้าน ระหว่างการพิจารณาคดีใหม่
'ศาลปกครองสูงสุด' สั่งรับคดี 'โฮปเวลล์' ไว้พิจารณาใหม่-นับหนึ่งค่าโง่ 2.6 หมื่นล้าน
‘ศาลปค.สูงสุด’ นัดชี้ขาด 4 มี.ค.นี้ กรณี ‘รฟท.-คมนาคม’ ขอพิจารณาคดี ‘โฮปเวลล์’ ใหม่
‘บ.โฮปเวลล์’ โต้ ‘พีระพันธุ์’ แบบ 'คำต่อคำ' คดีค่าโง่ 2.6 หมื่นล.-ชี้ก้าวล่วงอำนาจศาลฯ
เปิด 2 เหตุผลศาล ปค.! ไฉนใช้คำวินิจฉัยศาล รธน. รื้อ 'คดีโฮปเวลล์' ไม่ได้
คดีถึงที่สุดแล้ว-ไม่มีหลักฐานใหม่! ศาล ปค.ไม่รับคำร้องรื้อคดี 'โฮปเวลล์' ซ้ำ
ดอกเบี้ยพุ่ง 1.45 หมื่นล.! เอกชนทวงรัฐจ่ายค่าเสียหายคดีโฮปเวลล์
สหภาพฯรถไฟ ร้องเลขาศาลฯ เร่งยื่นคำร้องรื้อคดีโฮปเวลล์ เข้าที่ประชุมใหญ่ศาลปค.สูงสุด
2 ปี ยื้อจ่าย 2.5 หมื่นล.! เปิดข้อต่อสู้ ‘รัฐ-บ.โฮปเวลล์’ ก่อนศาลฯยกคำร้องชะลอชดใช้
คดีถึงที่สุดแล้ว! ศาลปค.ยกคำร้อง ‘คมนาคม-รฟท.’ ขอชะลอจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 2.5 หมื่นล.
รื้อคดีกันขนานใหญ่ ? นักกม.ตั้ง 5 ข้อสังเกตคำวินิจฉัยศาล รธน. 'คดีโฮปเวลล์'
ไม่รับคำร้องคดีโฮปเวลล์! เปิดคำวินิจฉัยศาล รธน.กรณี ‘การนับอายุความ’ไม่ชอบ