"...ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ย่อมต้องพิจารณาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจากพยานหลักฐานที่ปรากฎในสำนวนคดี แล้วใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานต่างๆเหล่านั้น เพื่อปรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเข้ากับข้อกฎหมายและตีความปัญหาข้อกฎหมายอันนำมาสู่การพิพากษาคดี แม้ในที่สุดผลของคดีอาจแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นดุลพินิจขององค์คณะตุลาการศาลปกครองในการพิจารณาพิพากษาคดี..."
..........................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 107/2552, 2038/2551, 1379/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366-368/2557 ระหว่าง กระทรวงคมนาคม ผู้ร้องที่ 1 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้ร้องที่ 2 กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้านคดี
โดยศาลปกครองกลางพิพากษาให้ ‘เพิกถอน’ คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.2551 ทั้งหมด และ 'เพิกถอน' คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 ลงวันที่ 15 ต.ค.2551 ทั้งหมด
และมีคำสั่ง 'ปฏิเสธไม่รับบังคับ' ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.2551
กับให้คำสั่งศาลที่ให้ ‘งด’ การบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 ไว้ในระหว่างพิจารณาคดีใหม่ มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
เนื่องจากศาลฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2541 จึงมีสิทธิที่จะเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้อย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 30 ม.ค.2546 แต่ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547
จึงพ้นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไป 1 ปี 9 เดือนเศษ สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านจึงขาดอายุความตามกฎหมาย นั้น (อ่านประกอบ : รัฐชนะคดีโฮปเวลล์! ‘ศาล ปค.’เพิกถอนคำชี้ขาด‘อนุญาโตฯ’สั่ง‘คมนาคม-รฟท.’ชดใช้ 2.7 หมื่นล.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอเสนอรายละเอียดคำวินิจฉัยของ ‘ศาลปกครองกลาง’ ซึ่งศาลฯได้มีคำวินิจฉัยใน ‘คดีโฮปเวลล์’ ใน 2 ประเด็นหลัก รวมทั้งมีคำวินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวกับ ‘ข้ออ้าง’ ของบริษัท โฮปเวลล์ ใน 7 เรื่อง ก่อนที่ศาลฯจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีโฮปเวลล์ ดังนี้
@เพิกถอนคำชี้ขาด‘อนุญาโตฯ’ เหตุยื่นข้อเสนอพิพาทฯเกิน 5 ปี
คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 2 ประเด็น คือ
ประเด็นแรก ศาลต้องเพิกถอนหรือปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.2551 หรือไม่
ประเด็นที่สอง ศาลต้องเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 ลงวันที่ 15 ต.ค.2561 หรือไม่
ประเด็นแรก ศาลต้องเพิกถอนหรือปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.2551 หรือไม่
โดยการวินิจฉัยในประเด็นนี้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยก่อนว่า ผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) ยื่นเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่อาจเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการหรือไม่
เห็นว่า เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฎว่า ผู้ร้องทั้งสอง (กระทรวงคมนาคมและ รฟท.) ได้ทำสัญญาลงวันที่ 9 พ.ย.2533 กับผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) ตามสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร (โครงการโฮปเวลล์) และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
โดยผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) ตกลงก่อสร้างระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับที่เรียกเก็บค่าผ่านทาง (Toll Fees)รวมทั้งล้อเลื่อน อุปกรณ์และระบบสนับสนุนที่เกี่ยวข้องเหนือทางรถไฟที่มีอยู่เดิม สัมปทานนี้มีกำหนดระยะเวลา 30 ปี นับแต่วันที่สัญญามีผลบังคับนับตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค.2534 โครงการมีมูลค่ารวมประมาณ 80,000 ล้านบาท
แต่ภายหลังจากการลงนามในสัญญาสัมปทานพิพาทและสัญญาสัมปทานมีผลบังคับ ผู้ร้องทั้งสอง (กระทรวงคมนาคมและ รฟท.) เห็นว่า การก่อสร้างงานตามสัญญามีความล่าช้าเป็นอย่างมาก ไม่อาจแล้วเสร็จได้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา จึงได้มีหนังสือถึงผู้คัดค้าน แจ้งบอกเลิกสัญญาสัมปทานพิพาทและห้ามมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องใดๆในพื้นที่โครงการ
ผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2541 จึงถือว่าการบอกเลิกสัญญามีผลแล้ว และผู้คัดค้านรู้ว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับสัญญานี้ เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2541 ตามนัยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 60/2548 ประชุมใหญ่
ทั้งยังถือว่าวันดังกล่าว (30 ม.ค.2541) เป็นวันที่ผู้คัดค้านสามารถบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ และเป็นวันเริ่มนับอายุความตามมาตรา 193/12 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพวณิชย์ อีกทั้งผู้คัดค้านอาจนำข้อพิพาทนั้นเสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เพื่อชี้ขาดได้ตามวิธีการระงับข้อพิพาทที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานฯ
ทั้งนี้ การเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการนั้น กฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการไม่ได้มีบทบัญญัติกำหนดระยะเวลาหรืออายุความการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการไว้
คงมีเพียงมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ที่ใช้บังคับขณะทำสัญญาอนุญาโตตุลาการ กำหนดให้คู่พิพาทอาจตกลงกันกำหนดระยะเวลาหรืออายุความการเสนอข้อพิพาท ให้สั้นกว่าอายุความการฟ้องคดีต่อศาลก็ได้
แต่การฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าว มีผลเป็นการตัดสิทธิที่จะเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเท่านั้น หามีผลเป็นการตัดสิทธิฟ้องคดีตามข้อพิพาทนั้นต่อศาลไม่
จากบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการต้องยื่นภายในอายุความตามกฎหมาย คู่สัญญาอนุญาโตตุลาการอาจกำหนดให้ต้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในกำหนดเวลาที่สั้นกว่าอายุความตามกฎหมายได้
แต่ไม่อาจกำหนดในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการตกลงให้คู่สัญญามีสิทธิเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อพ้นกำหนดอายุความตามกฎหมาย ซึ่งขณะนั้นอายุความข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
แต่ต่อมาได้มีการตรา พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 ต.ค.2542 โดยให้มีการจัดตั้งศาลปกครองและให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
ตามนัยมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และได้บัญญัติระยะเวลาการยื่นฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองไว้โดยให้ยื่นฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี
ทั้งนี้ ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติและไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดให้ยกเว้นมูลคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ จึงต้องใช้บังคับทันที
ฉะนั้น เมื่อสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานครที่พิพาท ลงวันที่ 9 พ.ย.2533 ระหว่างผู้ร้องทั้งสอง (กระทรวงคมนาคมและ รฟท.) กับผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) ซึ่งเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สัญญา
และสัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
การเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต่อคณะอนุญาโตตุลาการ จึงต้องเสนอก่อนที่คดียังไม่พ้นกำหนดระยะเวลายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า ผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาพิพาทในวันที่ 30 ม.ค.2541 ผู้คัดค้านจึงต้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในวันที่ 30 ม.ค.2542 แต่ผู้คัดค้านก็ไม่ได้เสนอข้อพิพาทดังกล่าวแต่อย่างใด
และในระหว่างนั้นได้มีการตรา พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.2545 และให้ยกเลิก พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 โดยให้ศาลที่มีเขตอำนาจ พิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการเป็นศาลที่มีเขตอำนาจตาม พ.ร.บ.นี้ ตามนัยมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว
เมื่อ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มิได้บัญญัติเรื่องกำหนดเวลาในการเสนอข้อพิพาทไว้ ระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต่อคณะอนุญาโตตุลาการ จึงต้องเป็นไปตามระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านนำข้อพิพาทตามสัญญาสัมปทาน ลงวันที่ 9 พ.ย.2533 มายื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 จึงเกินกว่ากำหนดระยะเวลา 1 ปี ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการพิจารณาข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ของคณะอนุญาโตตุลาการ ได้มีการตรา พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2551 ขึ้นใช้บังคับ และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2551
โดยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และบัญญัติให้การฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ต้องยื่นฟ้องภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี
และโดยที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ เมื่อไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีผลใช้บังคับกับการฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองทุกคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในทันที
ทำให้ระยะเวลาฟ้องคดีในคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 เปลี่ยนเป็นต้องยื่นฟ้องคดีภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี
อันเป็นกรณีที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้ โดยไม่อาจนำอายุความ 10 ปีตามมาตรา 193/30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้ ข้ออ้างของผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์) ที่ว่าคดีนี้ ต้องใช้อายุความตามหลักกฎหมายทั่วไปนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้
โดยที่การตีความปัญหาข้อกฎหมายและการปรับใช้ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการนับระยะเวลาในคดีนี้ มีมาตรา 51แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2551 บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว
และเมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของการแก้ไขระยะเวลา การฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวที่มุ่งหมาย เพื่อให้แก้ปัญหาในกรณีที่เดิมทั้งสัญญาทางแพ่งและสัญญาทางปกครองมีอายุความ 10 ปี
แต่ต่อมาหากมีการตีความสัญญา โดยศาลปกครองหรือคณะกรรมการวินิจฉัยชีขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าเป็นสัญญาทางปกครอง ระยะเวลาฟ้องคดีจะลดลงเหลือเพียง 1 ปี ทำให้เกิดผลกระทบต่อหน่วยงานของรัฐที่ได้ทำสัญญาในกิจกรรมที่หลากหลายตั้งแต่กิจกรรมขนาดเล็กจนถึงโครงการขนาดใหญ่ เช่น สัญญาสัมปทาน ฯลฯ
แต่การแยกว่าสัญญาใดเป็นสัญญาทางปกครอง เป็นหลักเกณฑ์ใหม่ และยังเป็นที่ถกเถียงเพื่อหาความหมายที่เหมาะสมจึงสมควรแก้ไขระยะเวลาฟ้องคดีให้ยาวขึ้น ตามที่ปรากฏในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในกรณีเช่นนี้ จึงไม่อาจใช้วิธีการนับระยะเวลาตามระเบียบอื่นหรือแนวทางการตีความปัญหาข้อกฎหมายเพื่อวินิจฉัยคดีเป็นอย่างอื่นได้
เมื่อกรณีที่กฎหมายเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีสัญญาทางปกครองเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ ทำให้ระยะเวลาการยื่นข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทตามสัญญาสัมปทาน ลงวันที่ 9 พ.ย.2533 ระหว่างผู้ร้องทั้งสองกับผู้คัดค้าน ขยายเป็นภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามกฎหมายดังกล่าว
ซึ่งที่ผ่านมาศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยวางบรรทัดฐานเกี่ยวกับการนับระยะเวลายื่นข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการว่าต้องยื่นภายในกำหนดระยะเวลา 5 ปี ในกรณีเช่นนี้ไว้ โดยเทียบเคียงตามนัยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดง ที่ อ.792/2562
ดังนั้น การที่ผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) ได้รับหนังสือของผู้ร้องทั้งสอง (กระทรวงคมนาคมและ รฟท.) ที่บอกเลิกสัญญาสัมปทานพิพาท เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2541 แล้ว ผู้คัดค้านมีสิทธิที่จะยื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้อย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 30 ม.ค.2546
การที่ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 จึงเป็นการยื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อพ้นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ
ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในระหว่างที่คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาข้อพิพาทนี้ สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านจึงขาดอายุความแล้ว ตามมาตรา 193/9 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่า การที่ผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้อง โดยการยื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในระยะเวลา 5 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้าน จึงเป็นอันขาดอายุความ
และโดยที่ปัญหาเรื่องอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นบทบัญญัติอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามนัยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.133/2560 ในการพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดี ศาลปกครองสามารถยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาหรือมีคำสั่งได้ ตามข้อ 92 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543
ฉะนั้น การที่ผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) ยื่นเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ โดยคณะอนุญาโตตุลาการรับข้อพิพาทที่ผู้คัดค้านยื่น เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี
ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกคร่อง พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2551 ไว้พิจารณา และต่อมาได้มีคำชี้ขาดในข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.2552
การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้น ศาลปกครองจึงมีอำนาจเพิกถอนและปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวได้ ตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) และมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
@เพิกถอนคำชี้ขาด‘หมายเลขแดงที่ 70/2551’เหตุคดีขาดอายุความ
ประเด็นที่สอง ศาลต้องเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 ลงวันที่ 15 ต.ค.2551 หรือไม่
เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ผู้ร้องทั้งสอง (กระทรวงคมนาคม และรฟท.) ได้ยื่นคำคัดค้านคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2548 และยื่นข้อเรียกร้องแย้งขอให้คณะอนุญาโตตุลาการ มีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 59,581,788.15 บาท (59.58 ล้านบาท) พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5% ต่อปีของต้นเงินฯ เพราะเหตุว่าผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) ก่อสร้างโครงการตามสัญญาสัมปทานไม่แล้วเสร็จ อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาพิพาท
คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาข้อเรียกร้องแย้งของผู้ร้องทั้งสอง (กระทรวงคมนาคม และรฟท.) แล้วมีคำสั่งให้แยกเป็นคดีใหม่ เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 หลังจากนั้นในวันที่ 15 ต.ค.2551 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่าผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) มิได้ปฏิบัติผิดสัญญาสัมปทาน
และผู้ร้องทั้งสองบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในสัญญาเกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญา ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าเสียหาย จึงวินิจฉัยชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาทดังกล่าว
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เห็นว่า ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 เป็นกรณีที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่า ผู้คัดค้านปฏิบัติผิดสัญญาสัมปทานพิพาท เนื่องจากก่อสร้างโครงการตามสัญญาสัมปทานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ข้อพิพาทนี้จึงมีมูลเหตุมาจากสัญญาสัมปทาน ลงวันที่ 9 พ.ย.2533
เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่า ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานที่เป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาพิพาทจากผู้ร้องทั้งสอง (กระทรวงคมนาคม และรฟท.) ในวันที่ 30 ม.ค.2541
เมื่อนับระยะเวลาตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2551 เช่นเดียวกับในประเด็นที่หนึ่งที่วินิจฉัยมาแล้ว
จึงต้องเริ่มนับระยะเวลาที่ผู้ร้องทั้งสอง รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.2541 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องทั้งสองมีหนังสือบอกเลิกสัญญาพิพาท ซึ่งครบกำหนด 5 ปี ในวันที่ 27 ม.ค.2546
การที่ผู้ร้องทั้งสอง (กระทรวงคมนาคม และ รฟท.) ยื่นข้อเรียกร้องแย้งต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2548 จึงเป็นการยื่นข้อเรียกร้องแย้งเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2551
และเมื่อคณะอนุญาโตตุลาการรับข้อเรียกร้องแย้งของผู้ร้องทั้งสองไว้พิจารณาแล้ว ต่อมาได้มีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 ลงวันที่ 15 ต.ค.2551
การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้น ศาลปกครองจึงมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวได้ ตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
@ศาลฯวินิจฉัยข้ออ้าง‘บ.โฮปเวลล์’ 7 ประเด็น ไม่อาจรับฟังได้
ทั้งนี้ ในการวินิจฉัยคดีนี้ ศาลปกครองกลางได้มีการวินิจฉัย ‘ข้ออ้าง’ ของผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์) ใน 7 ประเด็นสำคัญ โดยศาลฯวินิจฉัยว่าข้ออ้างของบริษัท โฮปเวลล์ทั้ง 7 ประเด็น ‘ไม่อาจรับฟังได้’ ประกอบด้วย
ข้ออ้างที่ 1 กรณีที่ผู้คัดค้านอ้างว่า ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี มิได้นำมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 มาอ้างอิงในการพิจารณาตัดสินคดีนี้ แต่ศาลปกครองสูงสุดได้ใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัย และตีความข้อกฎหมายในเรื่องอายุความการฟ้องคดีไว้อย่างชัดเจน นั้น
เมื่อพิเคราะห์มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดข้างต้นที่ผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) กล่าวอ้างมา ประกอบกับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 81-83/2565 ประชุมใหญ่ แล้ว
เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวที่วินิจฉัยเรื่องการนับอายุความการฟ้องคดีต่อศาลปกครองกรณีข้อพิพาท เกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการนั้น มีความสอดคล้องและเป็นไปตามมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาฟ้องคดี ซึ่งตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 81-83/2565 ประชุมใหญ่ ได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดเจนว่า
แม้ว่าคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวจะไม่ได้ระบุถึงมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวโดยตรง แต่ก็เริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการตามที่กำหนดในมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าว
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ข้อความที่เขียนอยู่ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวนั้น ก็คือข้อความตามมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 นั่นเอง
แม้มิได้อ้างถึงขนาดว่า เป็นมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดครั้งที่เท่าใด ประชุมเมื่อวันที่ เดือน ปี หรือเวลาใด แต่การอ้างข้อความเช่นว่านั้น ย่อมต้องถือว่าเป็นการอ้างมติที่ประชุมใหญ่ลาการในศาลปกครองสูงสุดครั้งดังกล่าวมาใช้ในการพิจารณาคดีแล้ว ข้ออ้างของผู้คัดค้านในข้อนี้ จึงไม่อาจรับฟังได้
ข้ออ้างที่ 2 กรณีที่ผู้คัดค้านอ้างว่า การบอกเลิกสัญญาของผู้ร้องทั้งสองดำเนินการโดยไม่ชอบและสัญญาทางปกครองพิพาทได้สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.2543 คู่สัญญาจะต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391
การติดตามและเอาทรัพย์สินของผู้คัดค้านคืนจากผู้ร้องทั้งสอง (กระทรวงคมนาคม และรฟท.) ในคดีนี้ จึงไม่มีอายุความ และมิได้อยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 51 เพราะผู้คัดค้านเพียงใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินคืนจากผู้ร้องทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 เท่านั้น
เห็นว่า ปัญหาว่าผู้ร้องทั้งสองบอกเลิกสัญญาโดยชอบด้วยกฎหมายและข้อสัญญาหรือไม่ มิใช่ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ ซึ่งมีว่าผู้คัดค้านยื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดแล้วหรือไม่
และเมื่อเริ่มคำนวณนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.2541 ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการจะครบกำหนด 5 ปี ในวันที่ 30 ม.ค.2546 ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว
จึงไม่อาจเริ่มนับระยะเวลาในวันที่ 23 มิ.ย.2543 ที่ผู้คัดค้านมีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งผู้คัดค้านถือว่าสัญญาสัมปทานพิพาทได้เลิกกันโดยปริยายในวันดังกล่าวเป็นวันเริ่มนับกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีดังที่ผู้คัดด้านกล่าวอ้าง ข้ออ้างของผู้คัดค้าน จึงไม่อาจรับฟังได้
ส่วนในเรื่องการฟ้องคดีที่จะใช้สิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินได้ตามมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องเป็นกรณีที่ทรัพย์ที่จะติดตามเอาคืนเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้าน แต่ถูกบุคคลอื่นยึดถือครอบครองไว้โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย
แต่สำหรับคดีนี้เป็นการยื่นคำร้องต่อศาล เป็นคดีที่มีประเด็นพิพาทระหว่างผู้ร้องทั้งสองกับผู้คัดค้าน โดยมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในเรื่องการนับระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานอันเป็นสัญญาทางปกครองต่อคณะอนุญโตตุลาการ หาใช่คดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ถูกบุคคลอื่นยึดถือครอบครองไว้โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย
จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินคืนตามมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้ออ้างของผู้คัดค้านในข้อนี้จึงไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน
ข้ออ้างที่ 3 กรณีที่ผู้คัดค้านอ้างว่า การยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้ร้องทั้งสอง เพื่อเปลี่ยนแปลงดุลพินิจขององค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด เป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 188 วรรคสอง และมาตรา 211 วรรคสี่ นั้น
เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 188 วรรคสอง บัญญัติว่า ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง
และมาตรา 211 วรรคสี่ บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว มิได้เป็นการห้ามมิให้ผู้ร้องทั้งสอง (กระทรวงคมนาคม และรฟท.) ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562
นำผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564มาใช้เป็นข้ออ้างในการขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (4) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
และในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ย่อมต้องพิจารณาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจากพยานหลักฐานที่ปรากฎในสำนวนคดี แล้วใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานต่างๆเหล่านั้น เพื่อปรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเข้ากับข้อกฎหมายและตีความปัญหาข้อกฎหมายอันนำมาสู่การพิพากษาคดี
แม้ในที่สุดผลของคดีอาจแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นดุลพินิจขององค์คณะตุลาการศาลปกครองในการพิจารณาพิพากษาคดี ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรมตามที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติให้การรับรองและคุ้มครองไว้
อีกทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของศาลต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว
การยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้ร้องทั้งสองและการพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ของศาล จึงมิได้เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง ข้ออ้างของผู้คัดค้าน จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังได้
ข้ออ้างที่ 4 กรณีที่ผู้คัดค้านอ้างว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564 ในส่วนคำวินิจฉัยมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 ว่า เป็นระเบียบและเป็นการออกระเบียบที่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ทำให้ข้อกฎหมายที่ศาลปกครองสูงสุดใช้ในการทำคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ นั้น
เห็นว่า ข้ออ้างของผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นการโต้แย้งคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 81-83/2565 ประชุมใหญ่ ที่วินิจฉัยว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษา โดยเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตามแนวทางที่กำหนดโดยมติที่ประชุมใหญ่ แล้วต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
จึงเป็นกรณีที่ข้อกฎหมายที่ศาลปกครองสูงสุดใช้ในการทำคำพิพากษา หรือคำสั่งเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวเป็นที่สุดแล้วตามมาตรา 73 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ข้ออ้างของผู้คัดค้านข้อนี้ จึงฟังไม่ขึ้น
ข้ออ้างที่ 5 กรณีที่ผู้คัดค้านอ้างว่า การนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564 มาเป็นเหตุยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ของผู้ร้องทั้งสองขัดกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคสาม นั้น
เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 212 วรรคสาม บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบต่อคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว เว้นแต่ในคดีอาญา...
เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีความหมายว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าบทบัญญัติใดของกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่มีผลทำให้คำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้ว ซึ่งทำขึ้นโดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายนั้น เป็นคำพิพากษาที่ใช้บังคับมิได้หรือต้องสิ้นผลบังคับผูกพันลงเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว มิได้มีผลเป็นการห้ามมิให้คู่กรณีในคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 นำผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาใช้เป็นข้ออ้าง
ในการขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (4) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามนัยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 81-83/2565 ประชุมใหญ่
การที่ผู้ร้องทั้งสอง (กระทรวงคมนาคม และรฟท.) ยื่นคำขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ ลงวันที่ 14 มิ.ย.2564 และลงวันที่ 16 มิ.ย.2564 ย่อมสามารถกระทำได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว มิได้เป็นการต้องห้าม
ทั้งนี้ เพราะบทบัญญัติมาตรา 212 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญข้างต้น ไม่ใช่บทบัญญัติที่ห้ามไม่ให้ผู้ร้องทั้งสองขอพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ จึงมิใช่เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง ข้ออ้างของผู้คัดค้านในข้อนี้ จึงไม่อาจรับฟังได้
ข้ออ้างที่ 6 กรณีที่ผู้คัดค้านอ้างว่า หากศาลปกครองนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564 มาเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำชี้ขาด และไม่เป็นการส่งเสริมในกระบวนการอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นเครื่องมืออันมีประสิทธิภาพในทางธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย นั้น
เห็นว่า แม้จะเป็นความจริงว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว มิได้มีผลทำให้คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ผู้คัดค้านอ้างถึงสิ้นผลบังคับลง แต่การที่ผู้ร้องทั้งสองนำผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว มาใช้เป็นข้ออ้างในการขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีนี้ใหม่
ละเมื่อศาลปกครองได้พิจารณาคดีนี้ใหม่แล้วเห็นว่า ผู้คัดค้านรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.2541 แต่กลับละเลยเพิกเฉยปล่อยให้ระยะเวลาล่วงพ้นไปนาน 6 ปี 9 เดือนเศษ ผู้คัดค้านเพิ่งมายื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547
จึงพ้นกำหนดระยะเวลา 5 ปี ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2551 ไปนานเป็นระยะเวลา 1 ปี 9 เดือนเศษ
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่า การที่ผู้คัดค้านยื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว มีสาเหตุมาจากการดำเนินการของผู้คัดค้านเองที่เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการล่าช้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
ส่งผลทำให้ผู้คัดค้านต้องเสียประโยชน์ในการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลติดตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยไม่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบใดๆ ต่อกระบวนการระงับข้อพิพาท โดยวิธีอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) อันเป็นวิธีระงับข้อพิพาทที่ได้รับการยอมรับในนานาอารยประเทศ รวมทั้งประเทศไทยและในระดับสากล
อีกทั้ง เมื่อคำพิพากษาศาลปกครองคดีนี้ถึงที่สุด ย่อมเป็นไปตามหลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ และเป็นบรรทัดฐานให้กับอนุญาโตตุลาการนำไปเป็นแนวทางหรือกรณีศึกษา อันเป็นประโยชน์ทางวิชาการกฎหมาย เพื่อเป็นการส่งเสริม พัฒนา และยกระดับในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทในคดีสัมปทานระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน
รวมทั้งคดีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองของอนุญาโตตุลาการไทยได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย ข้ออ้างของผู้คัดค้านในข้อนี้ จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังได้
ข้ออ้างที่ 7 กรณีที่ผู้คัดค้านอ้างว่า ผู้ร้องทั้งสองใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและกระทำการเกินสมควร เพื่อประวิงการปฏิบัติตามคำขี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด นั้น
เห็นว่า มาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต ฉะนั้น การที่บุคคลใดใช้สิทธิหรือชำระหนี้โดยไม่สุจริตกฎหมาย ย่อมไม่ให้ความคุ้มครอง แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่อบุคคลใดใช้สิทธิโดยสุจริตแล้ว กฎหมายย่อมให้ความคุ้มครองการกระทำดังกล่าวให้มีผลทางกฎหมายโดยสมบูรณ์
การที่ผู้ร้องทั้งสอง (กระทรวงคมนาคม และ รฟท.) ใช้สิทธิทางศาลโดยการนำผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564 มาใช้เป็นข้ออ้างในการใช้สิทธิยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่ และศาลมีคำสั่งรับคำขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ของผู้ร้องทั้งสองไว้พิจารณา
จึงไม่อาจถือได้ว่าการกระทำของผู้ร้องทั้งสองดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะเป็นกรณีที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้ความคุ้มครองให้กระทำได้โดยชอบ ข้ออ้างของผู้คัดค้านในข้อนี้ จึงไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน
อนึ่ง สำหรับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.2551 นั้น คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาด ได้แก่
1.ให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ร่วมกันคืนเงินค่าตอบแทนที่ บริษัท โฮปเวลล์ฯ ชำระให้แก่กระทรวงคมนาคม และ รฟท. จำนวน 2,850 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีของเงินต้นดังกล่าว ให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ฯ
2.ให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ร่วมกันคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ หมายเลข 10/34/51881 ให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ฯ และให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ร่วมกันคืนเงินค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกัน 38.75 ล้านบาท ให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ฯ พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีของเงินต้นดังกล่าว
3.ให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ร่วมกันใช้เงินในการก่อสร้างโครงการ จำนวน 9,000 ล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีของเงินต้น 9,000 ล้านบาท ให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ฯ
ส่วนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 ลงวันที่ 15 ต.ค.2551 เป็นข้อพิพาทที่แยกมาจากข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 มาเป็นคดีใหม่ โดยมีกระทรวงคมนาคม และ รฟท. เป็นผู้ร้อง นั้น
คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่าผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ฯ) มิได้ปฏิบัติผิดสัญญาสัมปทาน และผู้ร้องทั้งสอง (กระทรวงคมนาคม และรฟท.) บอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในสัญญาเกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญา ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าเสียหาย
ขณะที่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 ลงวันที่ 21 มี.ค.2562 นั้น ศาลฯพิพากษาให้กระทรวงคมนาคม และรฟท. ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยให้ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัท โฮปเวลล์ฯ เป็นเงิน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
เหล่านี้เป็นรายละเอียดของคำวินิจฉัยของ ‘ศาลปกครองกลาง’ ในคดีโฮปเวลล์ล่าสุด และยังต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อคดีโฮปเวลล์เข้าสู่การพิจารณาในชั้น ‘ศาลปกครองสูงสุด’ แล้ว ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาอย่างไร?
อ่านประกอบ :
รัฐชนะคดีโฮปเวลล์! ‘ศาล ปค.’เพิกถอนคำชี้ขาด‘อนุญาโตฯ’สั่ง‘คมนาคม-รฟท.’ชดใช้ 2.7 หมื่นล.
‘ศาลปกครองกลาง’นัดชี้ขาด คำขอ‘ก.คมนาคม-รฟท.’รื้อคดี‘โฮปเวลล์’ใหม่
โฮปเวลล์ฟ้อง 5 ตุลาการศาลรธน.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบวินิจฉัยปมคืนค่าสัมปทาน-ก่อสร้างหมื่นล.
‘โฮปเวลล์’ฟ้อง‘ผู้ว่าฯรฟท.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ยื้อจ่าย2.7หมื่นล.-‘นิรุฒ’ย้ำปกป้องปย.ชาติ
เปิด 5 ปมปัญหา หลัง'ศาลปค.'รื้อคดี'โฮปเวลล์'ใหม่-'ศ.ดร.สุรพล'ฟันธงคำพิพากษาไม่เปลี่ยน
ซักค้าน โฮปเวลล์ เป็นไปตามกฎหมาย คมนาคม-ร.ฟ.ท. ชี้กระบวนการโครงการผิดปกติ
ไม่ใช่ค่าโง่! 'บ.โฮปเวลล์'ตั้งโต๊ะแถลงทวงรัฐชดใช้ 2.7 หมื่นล.-มั่นใจคดีไม่ขาดอายุความ
‘ศาลปค.สูงสุด’สั่ง‘ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา’ คดี‘รฟท.’ร้องเพิกถอนจดทะเบียน‘บ.โฮปเวลล์’
นัดอ่านคำสั่ง ‘ศาลปค.สูงสุด’ คดี ‘รฟท.’ อุทธรณ์กรณี ‘ไม่รับฟ้อง’ เพิกถอน ‘บ.โฮปเวลล์’
‘ศาลปค.’ สั่งงดบังคับคดีจ่าย ‘ค่าโง่โฮปเวลล์’ 2.6 หมื่นล้าน ระหว่างการพิจารณาคดีใหม่
'ศาลปกครองสูงสุด' สั่งรับคดี 'โฮปเวลล์' ไว้พิจารณาใหม่-นับหนึ่งค่าโง่ 2.6 หมื่นล้าน
‘ศาลปค.สูงสุด’ นัดชี้ขาด 4 มี.ค.นี้ กรณี ‘รฟท.-คมนาคม’ ขอพิจารณาคดี ‘โฮปเวลล์’ ใหม่
‘บ.โฮปเวลล์’ โต้ ‘พีระพันธุ์’ แบบ 'คำต่อคำ' คดีค่าโง่ 2.6 หมื่นล.-ชี้ก้าวล่วงอำนาจศาลฯ
เปิด 2 เหตุผลศาล ปค.! ไฉนใช้คำวินิจฉัยศาล รธน. รื้อ 'คดีโฮปเวลล์' ไม่ได้
คดีถึงที่สุดแล้ว-ไม่มีหลักฐานใหม่! ศาล ปค.ไม่รับคำร้องรื้อคดี 'โฮปเวลล์' ซ้ำ