‘บ.โฮปเวลล์’ ตั้งโต๊ะแถลงขอความเป็นธรรม-ทวงภาครัฐชดใช้ 2.7 หมื่นล้าน ยืนยันไม่ใช่เรื่องการจ่าย ‘ค่าโง่’ แต่เป็นชดใช้ ‘ค่าตอบแทน-เงินลงทุน’ ที่บริษัทฯจ่ายไปแล้ว มั่นใจ ‘คดีไม่ขาดอายุความ’ หลังศาลปกครองสูงสุดสั่งรับคดีไว้พิจารณาใหม่
......................................
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดแถลงข่าว ‘โฮปเวลล์ทวงคืนความเป็นธรรม’ โดยเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด โดยให้คืนเงินตอบแทน เงินลงทุน หนังสือค้ำประกันฯและค่าธรรมเนียมโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพฯ ให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
นายคอลลิน เวียร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุตอนหนึ่งว่า นับตั้งแต่เดือน มี.ค.2562 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่า คำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และรฟท.คืนเงินให้กับบริษัท บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงิน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7.5% ต่อปี เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และให้กระทรวงคมนาคม และรฟท. ชดใช้ค่าเสียหายภายใน 180 วัน
แต่จนปัจจุบัน กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ไม่เคารพคำตัดสินใจของศาลปกครองสูงสุด และไม่มีการชดใช้ค่าเสียหายให้กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้ปัจจุบันหนี้และดอกเบี้ยที่ภาครัฐต้องชดใช้คืนแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เพิ่มขึ้นเป็น 2.7 หมื่นล้านบาทแล้ว
“ถ้ากระทรวงคมนาคม และรฟท. ได้มีชดใช้เงินให้กับบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่มีคำตัดสินออกมา ยอดเงินชดใช้จะอยู่ที่ 11,888 ล้านบาท แต่วันนี้หนี้นั้นได้พอกขึ้นมาเป็น 2.7 หมื่นล้านบาท จากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมา” นายคอลลิน กล่าว
@ชี้‘ภาครัฐ’ไม่เคารพคำตัดสินของศาลฯ กระทบความเชื่อมั่นฯ
นายคอลลิน กล่าวต่อว่า การที่กระทรวงคมนาคม และรฟท. ไม่ชดใช้เงินให้แก่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามคำสั่งคณะอนุญาโตตุลาการและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เป็นสิ่งที่บริษัทฯยอมรับไม่ได้ และหากหน่วยงานของรัฐไม่เคารพกฎหมาย ไม่เคารพคำตัดสินของศาลฯ และไม่เคารพคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย เพราะไม่สามารถพึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายได้
นายคอลลิน ยังย้ำว่า การลงทุนในโครงการโฮปเวลล์นั้น เป็นโครงการที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ต้องจ่ายลงทุนไปก่อนทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล โดยที่บริษัทฯยังไม่ได้อะไรจากรัฐบาลไทยเลย พร้อมทั้งยืนยันว่า การเข้ามาลงทุนของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด นั้น ไม่ได้เป็นการสมคบคิดมาโกงรัฐบาลไทย และเงินที่บริษัทฯจะได้รับคืนมาตามคำตัดสินของศาลฯนั้น บริษัทฯมีภาระต้องนำไปชำระคืนเจ้าหนี้ด้วย ซึ่งเป็นเงินหลายพันล้านบาท
นอกจากนี้ ในเอกสารแถลงข่าวที่บริษัทฯแจกให้กับสื่อมวลชนได้อ้างคำพูดนายคอลลิน ว่า นับจากรัฐบาลไทย โดยกระทรวงคมนาคมและ รฟท. ได้บอกเลิกสัญญาเมื่อปี 2541 และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะอนุญาโตตุลาการ โดยขอให้คณะอนุญาโตตุลาการ มีคำวินิจฉัยให้คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายคือ รฟท. และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัดคืนสู่สถานะเดิม พร้อมกับคืนเงินตอบแทน และเงินลงทุนที่ได้ลงทุนไปแล้ว
ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดตามที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ร้องขอ เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2551 แต่กระทรวงคมนาคม และ รฟท. มิได้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และนับจากบัดนั้น กระทั่งทุกวันนี้ ทั้งกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ยังมิได้ดำเนินการใดๆ ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งที่เป็นคำวินิจฉัยที่เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน ซึ่งลงนามร่วมกันตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.2533
ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ยังแสดงท่าทีที่จะไม่ปฏิบัติ ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอย่างชัดเจน โดยการพยายามใช้กลไกทางกฎหมาย ประวิงการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และไม่เคารพคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ได้วางบรรทัดฐานการวินิจฉัยคดีในลักษณะเดียวกันมามากกว่า 50 คดี รวมถึงความพยายามทำให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโมฆะหรือสิ้นสภาพ
“ความพยายามของกระทรวงคมนาคม และ รฟท. มุ่งหวังเพียงเพื่อจะไม่ต้องคืนเงินให้แก่โฮปเวลล์ฯ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อภาพลักษณ์การลงทุนของประเทศไทย ต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศไทยของนักลงทุนนานาชาติ รวมทั้งไม่คำนึงถึงเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความซื่อสัตย์สุจริตในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่พึงต้องให้ความเคารพและปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างเคร่งครัด โดยปราศจากข้อยกเว้นหรือข้ออ้างใดๆ” เอกสารข่าวอ้างคำพูดนายเวียร์ ระบุ
นายเวียร์ ระบุด้วยว่า หากหน่วยงานภาครัฐไม่เคารพในคำพิพากษา ในที่สุดคำพิพากษาถึงที่สุดของทุกศาลจะไร้ความหมาย และเป็นข้ออ้างสำหรับคนไม่สุจริตในการรื้อฟื้นให้มีการพิจารณาคดีใหม่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด กระทั่งก่อให้เกิดความระส่ำระสายในกระบวนการยุติธรรม แล้วการปกครองบ้านเมืองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจะดำเนินต่อไปได้อย่างไร
@ยันการจดทะเบียนจัดตั้ง ‘บ.โฮปเวลล์’ ชอบด้วยกฎหมาย
ด้าน นายสุภัทร ติระชูศักดิ์ ฝ่ายกฎหมายบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับความไม่เป็นธรรมจากการปฏิบัติของภาครัฐ เช่น กรณีบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อปี 2533 และมีหนังสือยอมรับการจัดตั้งบริษัทฯ จาก รฟท. แต่ในปี 2564 บริษัทฯกลับถูกภาครัฐร้องเพิกถอนการจดทะเบียน โดยภาครัฐอ้างว่าการจัดตั้ง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในปี 2533 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“การจัดตั้ง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มีการเซ็นสัญญา มีการรับเงินตามสัญญากันไปเรียบร้อย แต่พอมาถึงปี 2564 ภาครัฐกลับบอกว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีตัวตน ต้องถูกเพิกถอนเป็นโมฆะ นี่คือความไม่เป็นธรรมที่ภาครัฐพยายามกล่าวอ้าง แต่กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้รับจดทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีหนังสือยืนยันกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า จดทะเบียนโดยชอบแล้ว
แต่ภาครัฐก็ยังไม่หยุด ยังไปฟ้องศาลปกครอง โดยขอให้ศาลฯสั่งเพิกถอนคำสั่งนายทะเบียน ซึ่งศาลปกครองก็มีคำสั่งว่า นายทะเบียนรับจดทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยชอบแล้ว และเราเองก็มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าการจดทะเบียน บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นไปโดยชอบ และรฟท.ก็ยืนยันว่าการจดทะเบียนครั้งนั้นถูกต้อง แต่พอมาถึงปี 2564 กระทรวงคมนาคมและ รฟท.กลับลืมว่าได้ทำอะไรไว้” นายสุภัทร กล่าว
นายสุภัทร กล่าวต่อว่า ในการลงทุนโครงการโฮปเวลล์นั้น บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่เคยได้อะไรจากภาครัฐเลย ดังนั้น เมื่อสัญญาเลิกกันก็ต้องกลับคืนกลับสู่สถานะเดิม ภาครัฐเคยรับอะไรไว้ก็ต้องคืนให้กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เช่น เงินค่าตอบแทนตามสัญญารายปีรวม 2,850 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงเงินค่าก่อสร้างที่ลงไปแล้ว 9,000 ล้านบาท เป็นต้น และเมื่อบริษัทฯไม่เคยรับอะไรจากภาครัฐเลย บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินใดๆให้กับภาครัฐ
“เราไม่ได้ไปโกงรัฐบาล เงินทุกอย่างที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นเงินลงทุนของ บริษัท โฮปเวลล์ 100% สิ่งที่เราฟ้อง คือ ขอเงินคืน ให้เงินที่รัฐบาลรับไว้กลับคืนสถานะเดิม ที่บอกกันว่า ค่าโง่ๆ เป็นเงินของโฮปเวลล์ 100% ไม่มีค่าเสียหายเลย ในขณะที่ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เกิดจากการกระทำของรัฐที่ไม่จ่ายเงิน คือ ดอกเบี้ย ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่ภาครัฐไม่จ่ายเงิน จึงไม่ใช่ค่าโง่” นายสุภัทร กล่าว
และย้ำว่า “ที่เรามาแถลงในวันนี้ เพราะปัจจุบันความเป็นธรรมที่เราได้รับเหมือนจะลดหายไปเรื่อยๆ และเรายังถูกรังแกเพิ่ม เราเงียบมาตลอด แต่วันนี้เราทนไม่ได้แล้ว ความเป็นธรรมที่เราเคยได้รับมันหายไป เราต้องมาทวง อีกทั้งสิ่งที่โฮปเวลล์ทำ ไม่ใช่การเรียกร้องค่าโง่ แต่เราเรียกร้องเงินของเราคืน โดยเราจะดำเนินการทุกอย่าง เพื่อปกป้องสิทธิ์ของโฮปเวลล์ที่สมควรจะได้รับคืนมาทั้งหมดด้วยวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย”
@จ่อฟ้องที่ผู้เกี่ยวข้อง เหตุทำให้ ‘บ.โฮปเวลล์’ ไม่ได้การชดใช้เงิน
นายสุภัทร ระบุว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะดำเนินการฟ้องร้องคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้อง เช่น นักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ,ศาลอาญาคดีทุจริตฯ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ ทำให้บริษัทฯไม่ได้รับการชดใช้เงินตามคำพิพากษาของศาลฯ และทำให้ประชาชนต้องรับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นวันละ 2.4 ล้านบาท
นายสุภัทร กล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคดีโฮปเวลล์ไว้พิจารณาใหม่ เนื่องจากมีหลักฐานใหม่ คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 ที่วินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างจัดทำคำชี้แจงและจะจัดส่งให้ศาลปกครองชั้นต้นภายในกลางเดือน ก.ค.2565 หลังจากก่อนหน้านี้บริษัทฯได้ขอขยายเวลาออกไป
นายสุภัทร มั่นใจว่า กรณีที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ นั้น บริษัทฯมั่นใจการฟ้องคดีโฮปเวลล์ไม่ขาดอายุความ พร้อมทั้งระบุว่า แม้ว่าขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคดีโฮปเวลล์ไว้พิจารณา ซึ่งทำให้คำพิพากษาของศาลปกครองเมื่อปี 2562 ไม่มีผลบังคับใช้ แต่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อปี 2551 ยังมีผลใช้บังคับอยู่
“เราเชื่อมั่นในหลักกฎหมายว่า เราเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำ และเราสมควรได้รับความเป็นธรรม เพราะเราขอคืนเงินของเราเอง โดยข้อกฎหมายที่เถียงกันตอนนี้ เป็นเรื่องอายุความ ซึ่งมีประเด็นว่า การขอคืนเงินอยู่ในอายุความทั่วไปหรือไม่ หรือไม่มีอายุความเลย เพราะตามกฎหมายแพ่งการใช้สิทธิติดตามเอาคืน ไม่มีอายุความ ส่วนกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคดีไว้พิจารณาใหม่เกี่ยวกับอายุความนั้น เรามั่นใจว่าคดีไม่ขาดอายุความ
เรามั่นใจว่าเราฟ้องภายในอายุความ เพราะการบอกเลิกสัญญาในปี 2541 รัฐดำเนินการโดยไม่ชอบ เนื่องจากการเลิกสัญญานั้น มีขั้นตอนต่างๆที่ต้องทำ แต่เมื่อภาครัฐไม่ทำอะไรเลย อายุความจึงไม่เดิน และไม่เพียงเท่านั้น หลังจากรัฐบอกเลิกสัญญาแล้ว ยังเจรจากันไปจนถึงปี 2543 เมื่อเจรจายุติลง เราถึงจะมีใช้สิทธิ์ไปยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการได้ ดังนั้น เมื่อเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการในปี 2547 ดดีจึงยังไม่หมดอายุความ 5 ปี
ที่สำคัญหลังจากภาครัฐได้บอกเลิกสัญญากับเราในปี 2541 แล้ว ในปี 2542 มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า ให้คดีปกครอง ต้องไปศาลปกครองเท่านั้น ดังนั้น เมื่อการเจรจาข้อพิพาทยุติลงในปี 2543 ทุกอย่างจึงอยู่ในช่วงสุญญากาศ เราก็ไปไหนไม่ได้ จะไปฟ้องศาลฯอื่นก็ไม่ได้ เพราะวิธีพิจารณาคดีปกครองฯห้ามไว้” นายสุภัทร กล่าว
เมื่อถามว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มั่นใจว่าชนะคดีในการพิจารณาเรื่อง ‘อายุความ’ ในชั้นการพิจารณาของศาลปกครองครั้งที่ 2 หรือไม่ นายสุภัทร กล่าวว่า “เรามั่นใจในข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงของเรา เพราะเป็นเรื่องจริง ส่วนที่เขาโต้แย้ง (คมนาคม และ รฟท.) มาก็มีเรื่องเดียว คือ เรื่องอายุความ อย่างไรก็ดี ถ้าศาลปกครองบอกว่าคดีขาดอายุความ เราก็แพ้หมดเลย เพราะถือว่าเป็นการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไปเลย แต่เราจะมาดูว่าการใช้สิทธิ์ติดตามเอาเงินของเราคืนมายังทำได้หรือไม่ แต่การพิจารณาคดีของศาลปกครองน่าจะใช้เวลาหลายปี”
นายวัฒนชัย คุ้มสิน วิศวกรโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพฯ (โฮปเวลล์) ระบุว่า โครงการโฮปเวลล์มีปัญหาและอุปสรรคในการก่อสร้างอย่างมาก ซึ่งปัญหาที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การก่อสร้างโครงการฯไม่เป็นไปตามแผน คือ บริษัทฯไม่ได้รับการส่งมอบพื้นที่จาก รฟท. และแบบก่อสร้างที่บริษัทฯส่งไปให้ รฟท. อนุมัตินั้น รฟท.มีการอนุมัติแบบก่อสร้างล่าช้ามาก เช่น การก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งผ่านไป 3 ปี รฟท.ยังไม่อนุมัติแบบก่อสร้าง
“แนวเส้นทางก่อสร้างโครงการฯมีผู้บุกรุกอาศัยอยู่ แต่เมื่อเรามีหน้าที่ทำการก่อสร้าง เราจำเป็นต้องได้พื้นที่ ถ้าเราไม่มีที่ ก็ไม่มีทางที่การก่อสร้างจะเกิดขึ้นได้” นายวัฒนชัย กล่าว
อ่านประกอบ :
‘ศาลปค.สูงสุด’สั่ง‘ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา’ คดี‘รฟท.’ร้องเพิกถอนจดทะเบียน‘บ.โฮปเวลล์’
นัดอ่านคำสั่ง ‘ศาลปค.สูงสุด’ คดี ‘รฟท.’ อุทธรณ์กรณี ‘ไม่รับฟ้อง’ เพิกถอน ‘บ.โฮปเวลล์’
‘ศาลปค.’ สั่งงดบังคับคดีจ่าย ‘ค่าโง่โฮปเวลล์’ 2.6 หมื่นล้าน ระหว่างการพิจารณาคดีใหม่
'ศาลปกครองสูงสุด' สั่งรับคดี 'โฮปเวลล์' ไว้พิจารณาใหม่-นับหนึ่งค่าโง่ 2.6 หมื่นล้าน
‘ศาลปค.สูงสุด’ นัดชี้ขาด 4 มี.ค.นี้ กรณี ‘รฟท.-คมนาคม’ ขอพิจารณาคดี ‘โฮปเวลล์’ ใหม่
‘บ.โฮปเวลล์’ โต้ ‘พีระพันธุ์’ แบบ 'คำต่อคำ' คดีค่าโง่ 2.6 หมื่นล.-ชี้ก้าวล่วงอำนาจศาลฯ
เปิด 2 เหตุผลศาล ปค.! ไฉนใช้คำวินิจฉัยศาล รธน. รื้อ 'คดีโฮปเวลล์' ไม่ได้
คดีถึงที่สุดแล้ว-ไม่มีหลักฐานใหม่! ศาล ปค.ไม่รับคำร้องรื้อคดี 'โฮปเวลล์' ซ้ำ
ดอกเบี้ยพุ่ง 1.45 หมื่นล.! เอกชนทวงรัฐจ่ายค่าเสียหายคดีโฮปเวลล์
สหภาพฯรถไฟ ร้องเลขาศาลฯ เร่งยื่นคำร้องรื้อคดีโฮปเวลล์ เข้าที่ประชุมใหญ่ศาลปค.สูงสุด
2 ปี ยื้อจ่าย 2.5 หมื่นล.! เปิดข้อต่อสู้ ‘รัฐ-บ.โฮปเวลล์’ ก่อนศาลฯยกคำร้องชะลอชดใช้
คดีถึงที่สุดแล้ว! ศาลปค.ยกคำร้อง ‘คมนาคม-รฟท.’ ขอชะลอจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 2.5 หมื่นล.
รื้อคดีกันขนานใหญ่ ? นักกม.ตั้ง 5 ข้อสังเกตคำวินิจฉัยศาล รธน. 'คดีโฮปเวลล์'
ไม่รับคำร้องคดีโฮปเวลล์! เปิดคำวินิจฉัยศาล รธน.กรณี ‘การนับอายุความ’ไม่ชอบ