"....เมื่อคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 (คดีโฮปเวลล์) จึงถือได้ว่าคดีนี้ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564 ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่กระทบต่อคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว..."
....................
สืบเนื่องกรณีที่เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2564 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา ในคดีหมายเลขดำที่ 107/2552 ,2038/2551 ,1397/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366-368/2557 หรือคดีโฮปเวลล์ ที่มีกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้ร้อง
เนื่องจากศาลฯเห็นว่า ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 (คดีโฮปเวลล์) ถึงที่สุดแล้ว ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564 ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่กระทบต่อคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว
ศาลฯ ยังเห็นว่า คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ดังกล่าว ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลฯจะรับไว้พิจารณาคดีใหม่
เพราะศาลปกครองไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด หรือมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้น เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 เป็นต้น (อ่านประกอบ : คดีถึงที่สุดแล้ว-ไม่มีหลักฐานใหม่! ศาล ปค.ไม่รับคำร้องรื้อคดี 'โฮปเวลล์' ซ้ำ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปประเด็นข้อพิจารณาและเหตุผลของศาลปกครองกลาง กรณีที่มีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ ที่ 5/2564 ลงวันที่ 17 มี.ค.2564 ซึ่งมีผลผูกพันกับทุกองค์กรก็ตาม ดังนี้
@ที่มาการยื่นคำร้องขอพิจารณาคดี‘โฮปเวลล์’ใหม่
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. และ 16 มิ.ย.2564 กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ในฐานะผู้ร้อง ได้มีหนังสือขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่และของดการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 (คดีโฮปเวลล์) เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2562
โดยอ้างว่าการที่ศาลปกครองสูงสุด ให้เริ่มนับระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการในคดีโฮปเวลล์ ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.2544 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการนั้น เป็นหลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองสูงสุด ‘ยกขึ้นกล่าวอ้างเอง’ โดยมิได้ระบุ ‘เหตุผลแห่งคำวินิจฉัย’ ไว้ในคำพิพากษา
ซึ่งกระทรวงคมนาคม และรฟท. เห็นว่า หลักเกณฑ์การเริ่มนับ ‘ระยะเวลา’ หรือ ‘อายุความ’ การฟ้องคดีปกครองนั้น ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ‘รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี’ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
แต่ปรากฏว่าศาลปกครองสูงสุด กลับหยิบยกเอามติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดี ซึ่งไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย มาวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ของกฎหมาย
และแม้ว่าศาลปกครองจะมีอำนาจใช้ดุลพินิจพิจารณาพิพากษาก็ตาม แต่ไม่อาจใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ ขัดต่อหลักกฎหมายและนิติธรรมได้ กรณีนี้จึงถือเป็นข้อบกพร่องที่สำคัญในกระบวนการพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม
ประกอบกับ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2564 ลงวันที่ 17 มี.ค.2564 (เรื่องพิจารณาที่ ต.59/2563) ว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ขณะที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลผูกพันต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด
กระทรวงคมนาคม และ รฟท. จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) (3) และ (4)
@ศาลปกครองกลางกำหนดแนวพิจารณา 3 ประเด็น
ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางได้กำหนดประเด็นการพิจารณาเป็น 3 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นที่ 1 ผู้ร้องทั้งสอง (กระทรวงคมนาคม และ รฟท.) ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่
ประเด็นที่ 2 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 ลงวันที่ 17 มี.ค.2564 มีผลผูกพันคดีที่ผู้ร้องทั้งสอง ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีนี้ใหม่หรือไม่
ประเด็นที่ 3 คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้ร้องทั้งสอง อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ เพียงใด
@ยื่นคำร้องตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
สำหรับประเด็นที่ 1 ผู้ร้องทั้งสอง (กระทรวงคมนาคม และ รฟท.) ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่
ศาลฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มาตรา 75 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ บัญญัติว่า การยื่นคำขอให้พิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งใหม่ ต้องกระทำภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นได้รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุ ซึ่งอาจขอให้พิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งใหม่ได้ แต่ไม่เกิน 5 ปีนับแต่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาด
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2562 ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 (คดีโฮปเวลล์) และผู้ร้องได้ยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 ลงวันที่ 17 มี.ค.2564 ซึ่งได้รับแจ้งผลเมื่อวันที่ 26 มี.ค.2564
ดังนั้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ในวันที่ 14 มิ.ย. และ 16 มิ.ย.2564 จึงเป็นเป็นการยื่นคำขอภายในระยะเวลาตามมาตรา 75 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ
@คำวินิจฉัยศาลรธน.ไม่มีผลผูกพันคดีที่ถึงที่สุดแล้ว
ประเด็นที่ 2 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 ลงวันที่ 17 มี.ค.2564 มีผลผูกพันคดีที่ผู้ร้องทั้งสอง ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีนี้ใหม่หรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มาตรา 211 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ
และตามมาตรา 212 วรรคสาม บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบต่อคพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด เว้นแต่ในคดีอาญาให้ถือว่าผู้ซึ่งเคยถูกศาลพิพากษาว่ากระทำความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยมาตรา 5 นั้น เป็นผู้ไม่เคยกระทำความผิดดังกล่าว...
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 นั้น เป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ขั้นตอนการออกระเบียบของศาลปกครองดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
แต่เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำขององค์คณะตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ที่นำกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง ตามมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมาใช้ในคดีพิพาทระหว่างผู้ร้องทั้งสอง กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด นั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเป็นการกระทำทางตุลาการ
อันแสดงให้เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่มีผลผูกพันศาลในคดีนี้
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญฯ เห็นว่า แม้มาตรา 211 วรรคสี่ จะบัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐก็ตาม
แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่กระทบต่อคำพิพากษาศาลอื่นอันถึงที่สุดแล้ว แม้กฎหมายที่ศาลอื่นใช้เป็นหลักจะถูกวินิจฉัยในภายหลังว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีผลต่อคำพิพากษาของศาลอื่นที่มีไปก่อนหน้านั้นจนถึงที่สุดแล้ว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงมีผลเฉพาะคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอื่นเท่านั้น
ดังนั้น ตามมาตรา 212 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญฯ เมื่อคดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 (คดีโฮปเวลล์) จึงถือได้ว่าคดีนี้ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564
ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่กระทบต่อคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว ตามมาตรา 212 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญฯ
ประกอบกับ เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 ลงวันที่ 17 มี.ค.2564 เป็นเพียงการชี้ขาดสถานะทางกฎหมายขอมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองเท่านั้น
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ที่ศาลปกครองสูงสุดใช้ในการวินิจฉัยตีความประเด็นเกี่ยวกับระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทของผู้คัดค้านต่ออนุญาโตตุลาการในคดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 (คดีโฮปเวลล์)
ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 ลงวันที่ 17 มี.ค.2564 จึงไม่มีผลผูกพันคดีที่ผู้ร้องทั้งสองขอให้พิจารณาคดีใหม่ และไม่มีผลผูกพันต่อคำวินิจฉัยในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 (คดีโฮปเวลล์) แต่อย่างใด
@ไม่มีหลักฐานใหม่-ศาลไม่รับคำร้องขอพิจารณาคดีซ้ำ
ประเด็นที่ 3 คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้ร้องทั้งสอง อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ เพียงใด
ศาลฯแยกการพิจารณาเป็น 3 ประเด็น ได้แก่
1.ประเด็นการฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นที่ยุติแล้วนั้น เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานใหม่ หมายความว่า กรณีที่มีพยานหลักฐานอันอาจสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของคู่กรณี ซึ่งไม่ได้ถูกนำเสนอต่อศาลในระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง แต่ปรากฏต่อศาลภายหลังมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดแล้ว โดยคู่กรณีไม่ทราบถึงความมีอยู่ของพยานหลักฐานนั้น
และเป็นพยานหลักฐานที่เป็นข้อเท็จจริง ‘ที่มีอยู่ก่อน’ ศาลศาลปกครองพิพากษาหรือมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดในคดี แต่คู่กรณีหรือศาลไม่ทราบถึงความมีอยู่ของหลักฐานนั้น ที่จะนำเข้าสู่สำนวนคดี
เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 ลงวันที่ 17 มี.ค.2564 มีขึ้นภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 (คดีโฮปเวลล์) แล้ว จึงถือไม่ได้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานใหม่แต่อย่างใด
ส่วนที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่า ศาลปกครองสูงสุดรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดจากคำอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน (บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด) ฉบับลงวันที่ 11 เม.ย.2557 ที่อ้างว่า ศาลปกครองสูงสุดเริ่มนับระยะเวลาหรืออายุความการฟ้องคดี ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.2544 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการนั้น
ศาลเห็นว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยให้เริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดี ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.2544 เป็นการใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยคดีของศาล และเป็นการตีความกฎหมายของศาล มิใช่เป็นการนำข้อเท็จจริงที่ได้จากคำอุทธรณ์ของผู้คัดค้านมาปรับกับข้อกฎหมายแต่อย่างใด
จึงไม่ถือว่าศาลปกครองฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด หรือมีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติแล้วนั้น เปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ ตามาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ
2.ประเด็นกรณีมีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนการพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่ยุติธรรม
ซึ่งผู้ร้องทั้งสองอ้างว่า ศาลปกครองสูงสุดให้เริ่มนับระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.2544 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ เป็นหลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองยกขึ้นกล่าวอ้างเอง โดยมิได้ระบุเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งขัดกับหลักเกณฑ์ตามมาตรา 51 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ นั้น
ศาลฯเห็นว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวพร้อมกับเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ แล้ว เพียงแต่ไม่ใช่การให้เหตุผลตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้ร้องทั้งสอง หรือตามที่ผู้ร้องเข้าใจ
จึงมิใช่เป็นกรณีที่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดไม่มีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยตามมาตรา 69 วรรคหนึ่ง (5) แห่งพร.บ.ดังกล่าว แต่อย่างใด
ส่วนที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดหยิบยกมติที่ประชุมใหญ่ฯ ซึ่งไม่มีสถานะทางกฎหมายมาวินิจฉัย และให้เริ่มนับระยะเวลาการฟ้องตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.2544 ทำให้ผลของคดีไม่ยุติธรรมนั้น
เห็นว่า เมื่อการทำคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 (คดีโฮปเวลล์) มิได้มีข้อบกพร่องในการกระบวนการพิจารณาของศาลในเรื่องการตรวจคำฟ้อง การแสวงหาข้อเท็จจริง การรับฟังพยานหลักฐาน การสรุปสำนวนของตุลาการเจ้าของสำนวน ตลอดจนการนั่งพิจารณาคดี และการพิพากษาคดีของศาล
ในขณะที่การการกำหนดเริ่มนับระยะเวลาฟ้องคดี ตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มี.ค.2544 ซึ่งมีลักษณะเป็นการขยายระยะเวลาการฟ้องออกไป เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมนั้น ไม่ได้หยิบยกเอามติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองมาอ้างอิงแต่อย่างใด
จึงไม่ถือเป็นข้อบกพร่องสำคัญในการพิจารณาที่ทำให้ผลของคดีไม่ยุติธรรมแต่อย่างใด ข้ออ้างของผู้ร้องทั้งสองจึงไม่อาจรับฟังได้
3.ประเด็นข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้น เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งขัดกับกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะนั้น
ศาลเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2564 ลงวันที่ 17 มี.ค.2564 เป็นเพียงการชี้ขาดสถานะทางกฎหมายของมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 เท่านั้น จึงไม่อาจทำให้คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่จัดทำขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใด ถูกเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ
เหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงบางช่วงบางตอน ในการพิจารณาของศาลปกครองกลาง กรณีที่คำสั่งไม่รับคำร้องขอรื้อคดี 'โฮปเวลล์' อีกครั้ง
อ่านประกอบ :
คดีถึงที่สุดแล้ว-ไม่มีหลักฐานใหม่! ศาล ปค.ไม่รับคำร้องรื้อคดี 'โฮปเวลล์' ซ้ำ
ดอกเบี้ยพุ่ง 1.45 หมื่นล.! เอกชนทวงรัฐจ่ายค่าเสียหายคดีโฮปเวลล์
สหภาพฯรถไฟ ร้องเลขาศาลฯ เร่งยื่นคำร้องรื้อคดีโฮปเวลล์ เข้าที่ประชุมใหญ่ศาลปค.สูงสุด
2 ปี ยื้อจ่าย 2.5 หมื่นล.! เปิดข้อต่อสู้ ‘รัฐ-บ.โฮปเวลล์’ ก่อนศาลฯยกคำร้องชะลอชดใช้
คดีถึงที่สุดแล้ว! ศาลปค.ยกคำร้อง ‘คมนาคม-รฟท.’ ขอชะลอจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 2.5 หมื่นล.
รื้อคดีกันขนานใหญ่ ? นักกม.ตั้ง 5 ข้อสังเกตคำวินิจฉัยศาล รธน. 'คดีโฮปเวลล์'
ไม่รับคำร้องคดีโฮปเวลล์! เปิดคำวินิจฉัยศาล รธน.กรณี ‘การนับอายุความ’ไม่ชอบ
'วิษณุ-พีระพันธุ์'เชื่อสัญญาณบวก ลุ้นสู้คดีโฮปเวลล์
สบช่องรื้อคดีค่าโง่โฮปเวลล์! ‘คมนาคม-รฟท. ยื่นศาล ปค. ให้นับอายุความใหม่
ศาล รธน.ข้างมากชี้มติที่ประชุมศาล ปค.สูงสุดนับอายุความค่าโง่โฮปเวลล์ขัดรัฐธรรมนูญ
ศาล รธน.นัด 17 มี.ค.วินิจฉัยปมนับอายุความคดีค่าโง่โฮปเวลล์ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
‘สุเทพ’ลุยฟ้องหมิ่นประมาท‘สุทิน-เพื่อไทย’ปมอภิปรายเรื่องโฮปเวลล์
ภท.ควงผู้ว่า ร.ฟ.ท.-คมนาคมแจงอายุความคดีค่าโง่โฮปเวลล์ ยันยังไม่หมดอายุความ
ฟังจากปาก‘วิษณุ’อายุความค่าโง่โฮปเวลล์หมดเมื่อไหร่-เสียดอกเบี้ยวันละ 2 ล.?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/