‘คมนาคม-รถไฟ’ ดาหน้าโต้ ‘โฮปเวลล์’ ชี้กระบวนการโครงการยุคนั้นผิดปกติจริง อ้างข้อกฎหมายเปลี่ยนไปแล้วตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เผยการใช้สิทธิ์ทางกฎหมายเป็นไปตาม ม.75 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 21 มิถุนายน 2565 แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับกรณีโฮปเวลล์ ในช่วงปี 2562 โดยองค์กรฝ่ายบริหาร รวมทั้งคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ทำการตรวจสอบโครงการโดยละเอียดปรากฏว่า มีความผิดปกติ ในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอโครงการ ขั้นตอนการทำสัญญา ขั้นตอนการบริหารสัญญา ขั้นตอนการ บอกเลิกสัญญา รวมถึงขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ เป็นต้น
ดังนั้น หากกระทรวงคมนาคม และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยมิได้ใช้สิทธิตาม กระบวนการของกฎหมาย ก็ย่อมถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่รักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและ ประชาชน ในกรณีที่กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ร้องขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่
ทั้งนี้ ถือเป็นการใช้สิทธิตาม มาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 อันเนื่องมาจากเหตุที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2564 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2564ว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครอง สูงสุด ครั้งที่ 18/2545เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย
อย่างไรก็ตาม กรณีเช่นนี้จึงถือได้ว่ามีข้อกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ อันทำให้ผลแห่งคำพิพากษาของศาล ปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขดำที่อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่อ.221-223/2562ขัดกับ กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น จากเหตุที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่ากรทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ได้ดำเนินการในกรณีโฮปเวลล์โดยเป็นไปตาม บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม รวมทั้งยึดมั่นประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ ทั้งนี้ เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย แล้ว