'ศาลปกครองสูงสุด' มีคำสั่งยืน ‘ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา’ คดี ‘รฟท.’ ฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียน ‘บ.โฮปเวลล์’ เหตุยื่นฟ้องคดีเกินเวลา 90 วัน-ไม่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
.....................................
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ในคดีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้เพิกถอนการรับจดทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากศาลฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การยื่นฟ้องคดีเป็นเวลาเกินกว่า 90 วัน แห่งการฟ้องคดีมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ.2542
ประกอบกับการฟ้องคดีนี้ ไม่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมโดยหากจะเป็นประโยชน์ก็มีแก่เฉพาะผู้ฟ้องคดีเอง อีกทั้งไม่มีเหตุจำเป็นอื่นใดที่ทำให้ต้องฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว ตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ.2542 และเมื่อคำวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาข้อกล่าวอ้างอื่นของผู้ฟ้องคดีอีกค่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยในผล จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น
“เมื่อปรากฏตามคำฟ้องว่า สืบเนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้ทำสัญญากับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้ลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร โดยบริษัทดังกล่าวได้รับสัมปทานเดินรถระบบรถไฟชุมชน และทางด่วนยกระดับสำหรับรถยนต์ ต่อมาได้เกิดข้อพิพาทกันจนมีการนำเรื่องเข้าสู่การขี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และมีการนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองจนศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาขี้ขาดคดีถึงที่สุดแล้ว ตามคดีหมายเลขแดงที่ อ. 221-223/2562
ต่อมา ผู้ฟ้องคดีตรวจพบว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทให้แก่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย)จำกัด เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2533 ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามข้อ 28 (1) และข้อ 29 ของระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง ว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท พ.ศ.2531 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น
เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2533 อนุมัติตามเงื่อนไขที่บริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด เสนอเพียง 2 ข้อเท่านั้น คือ ให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน และให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาเรื่องการขอยกเว้นการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม
อีกทั้งเป็นการอนุมัติให้แก่บริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง) จำกัด มิได้เป็นการอนุมัติให้แก่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นคนละนิติบุคคลแต่อย่างใด บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้นเป็นของคนต่างด้าว และมีคนต่างด้าวถือหุ้นตั้งแต่กึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ถือหุ้นอยู่ในความหมายเป็นคนต่างด้าวตามข้อ 3 ของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ดังกล่าว
จึงต้องห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนนิติบุคคลต่างด้าวที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบการขนส่งทางบก ตามบัญชี ข. หมวด 5 (1) ท้ายประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ดังกล่าว ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 28 (1) และข้อ 29 ของระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท พ.ศ.2531 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น
และได้มีหนังสือที่ รฟ 1/2604/2562 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ถึงผู้ถูกฟ้องคดี และหนังสือที่ รฟ1/2565/2562 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ถึงอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทให้แก่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2533
แต่ได้รับการปฏิเสธจากผู้ถูกฟ้องคดีตามหนังสือที่ พณ 1805/2904 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2562 ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 โดยมีคำขอปรากฏตามท้ายคำฟ้อง
จากคำฟ้องเห็นได้ว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเห็นว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งอยู่ในความหมายเป็นคนต่างด้าว ไม่อาจจดทะเบียนนิติบุคคลต่างด้าวที่มีวัตถุประสงค์ในบัญชีท้ายประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2515 ได้ การรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทให้แก่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ของผู้ถูกฟ้องคดี จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ซึ่งหากมีการเพิกถอนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทดังกล่าวแล้ว อาจมีผลทำให้สัญญาสัมปทานการลงทุนก่อสร้างรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานครที่ผู้ฟ้องคดีได้ทำไว้กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตกเป็นโมฆะและมีผลทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ต้องถูกผูกพันตามผลการชี้ขาดของคณะอนุญโตตุลาการ และตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวได้
โดยผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ ด้วยการเพิกถอนการรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด แต่ได้รับการปฏิเสธจากผู้ถูกฟ้องคดีเช่นนี้
ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่มีสิทธิฟ้องคดีนี้แล้ว ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
โดยที่ตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี เป็นการฟ้องในข้อหาคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งผู้ฟ้องคดีจะต้องนำคดีมาฟ้องภายในเก้าสิบ (90) วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนดเก้าสิบวันนับ
แต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้รับหนังสือขี้แจงจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ไม่มีเหตุผล ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
แต่เมื่อนับแต่วันที่พ้นกำหนดเก้าสิบ (90) วัน นับแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 อันเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือร้องขอต่อผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่เพิกถอนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลให้แก่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และได้รับหนังสือลงวันที่ 9 ธันวาคม 2562 ชี้แจงจากผู้ถูกฟ้องคดีแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผลจนถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2563 อันเป็นวันยื่นฟ้องคดีนี้ เป็นเวลาเกินกว่าเก้าสิบวันแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 49 ดังกล่าวแล้ว
ประกอบกับการฟ้องคดีนี้ไม่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมโดยหากจะเป็นประโยชน์ก็มีแก่เฉพาะผู้ฟ้องคดีเอง อีกทั้งไม่มีเหตุจำเป็นอื่นใดที่ทำให้ต้องฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และเมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องพิจารณาข้อกล่าวอ้างอื่นของผู้ฟ้องคดีอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยในผล จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น” คำสั่งศาลปกครองสูงสุด คำร้องที่ คร.357/2563 คำสั่งที่ คร.59/2565 ระบุ
ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองครองชั้นต้นคำสั่งไม่รับคำฟ้องในคดีนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเนื่องจากศาลฯ เห็นว่า คดนี้ีผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีนี้ เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการรับจดทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย.2533 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ซึ่งไม่มีผลเป็นการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหาย อันเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีต้องเข้าทำสัญญาสัมปทานกับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด
เนื่องจากผู้ฟ้องคดี (รฟท.) สามารถหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในข้อพิพาทที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการหรือศาลปกครองได้อยู่ก่อนแล้ว ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) จึงไม่อาจอ้างได้ว่าการรับจดทะเบียนดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ต้องถูกบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 65/2551 และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 ที่ให้ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่ศาลได้มีคำพิพากษาและคดีถึงที่สุดไปแล้ว
แม้ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ได้มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดี (นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร) และมีหนังสือถึงอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย.2533 ซึ่งเป็นวันรับจดทะเบียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
และผู้ถูกฟ้องคดี โดยอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีหนังสือแจ้งปฏิเสธคำขอของผู้ฟ้องคดี ก็ไม่มีผลทำให้ผู้ฟ้องคดี (รฟท.) ต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการรับจดทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แต่อย่างใด
จากนั้นผู้ฟ้องคดี (รฟท.) จึงอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
อ่านประกอบ :
นัดอ่านคำสั่ง ‘ศาลปค.สูงสุด’ คดี ‘รฟท.’ อุทธรณ์กรณี ‘ไม่รับฟ้อง’ เพิกถอน ‘บ.โฮปเวลล์’
‘ศาลปค.’ สั่งงดบังคับคดีจ่าย ‘ค่าโง่โฮปเวลล์’ 2.6 หมื่นล้าน ระหว่างการพิจารณาคดีใหม่
'ศาลปกครองสูงสุด' สั่งรับคดี 'โฮปเวลล์' ไว้พิจารณาใหม่-นับหนึ่งค่าโง่ 2.6 หมื่นล้าน
‘ศาลปค.สูงสุด’ นัดชี้ขาด 4 มี.ค.นี้ กรณี ‘รฟท.-คมนาคม’ ขอพิจารณาคดี ‘โฮปเวลล์’ ใหม่
‘บ.โฮปเวลล์’ โต้ ‘พีระพันธุ์’ แบบ 'คำต่อคำ' คดีค่าโง่ 2.6 หมื่นล.-ชี้ก้าวล่วงอำนาจศาลฯ
เปิด 2 เหตุผลศาล ปค.! ไฉนใช้คำวินิจฉัยศาล รธน. รื้อ 'คดีโฮปเวลล์' ไม่ได้
คดีถึงที่สุดแล้ว-ไม่มีหลักฐานใหม่! ศาล ปค.ไม่รับคำร้องรื้อคดี 'โฮปเวลล์' ซ้ำ
ดอกเบี้ยพุ่ง 1.45 หมื่นล.! เอกชนทวงรัฐจ่ายค่าเสียหายคดีโฮปเวลล์
สหภาพฯรถไฟ ร้องเลขาศาลฯ เร่งยื่นคำร้องรื้อคดีโฮปเวลล์ เข้าที่ประชุมใหญ่ศาลปค.สูงสุด
2 ปี ยื้อจ่าย 2.5 หมื่นล.! เปิดข้อต่อสู้ ‘รัฐ-บ.โฮปเวลล์’ ก่อนศาลฯยกคำร้องชะลอชดใช้
คดีถึงที่สุดแล้ว! ศาลปค.ยกคำร้อง ‘คมนาคม-รฟท.’ ขอชะลอจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 2.5 หมื่นล.
รื้อคดีกันขนานใหญ่ ? นักกม.ตั้ง 5 ข้อสังเกตคำวินิจฉัยศาล รธน. 'คดีโฮปเวลล์'
ไม่รับคำร้องคดีโฮปเวลล์! เปิดคำวินิจฉัยศาล รธน.กรณี ‘การนับอายุความ’ไม่ชอบ