‘บ.โฮปเวลล์’ ยื่นฟ้อง ‘ผู้ว่าฯรฟท.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ต่อ ‘ศาลอาญาคดีทุจริตฯ’ ผิดมาตรา 157 ยื้อชดใช้ 2.7 หมื่นล้าน ขณะที่ ‘นิรุฒ’ ย้ำปกป้องประโยชน์ชาติ
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นจำเลยที่ 1 ,พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นจำเลยที่ 2 และนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นจำเลยที่ 3 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
โดยบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ฟ้องว่า นายนิรุฒ มีเจตนาพิเศษ เพื่อทำให้บริษัทฯไม่สามารถจะบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 221-223/2562 ที่ให้ รฟท.และกระทรวงคมนาคม ชดใช้ค่าเสียหายกรณี รฟท.บอกเลิกสัญญาโครงการโฮปเวลล์เป็นเงินทั้งสิ้น 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7.5% ต่อปี หรือปัจจุบันคิดเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยรวมแล้วกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ขณะที่ พล.อ.วิทวัส ในฐานะอดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายสมศักดิ์ ในฐานะอดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน มีเจตนาพิเศษร่วมกันกับนายนิรุฒ เพื่อให้บริษัทฯได้รับความเสียหาย โดยเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีเพิ่มมากขึ้น จากการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยเพิกถอนคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ 221-223/2562 ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เช่นกัน
“…โจทก์ (บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด) ขอกราบเรียนศาลที่เคารพโดยสรุปว่า จำเลยที่ 1 (นายนิรุฒ) เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 (16) จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรมตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง และมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 33 และมาตรา 34 ซึ่งในกรณีนี้รวมถึงการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ 221-223/2562
แต่จำเลยที่ 1 กลับได้ยื่นคำร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน อ้างว่าถูกกระทำละเมิดและขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานกระทำการแทนการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐไม่มีสิทธิดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 โดยจำเลยที่ 1 มีเจตนาพิเศษเพื่อทำให้โจทก์ยังไม่สามารถจะบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองที่ 221-223/2562 ได้จนถึงบัดนี้ ทำให้โจทก็ได้รับความเสียหายต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีเพิ่มขึ้นทุกวัน
การกระทำอันไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.การรถไฟ พ.ศ.2494 ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนาพิเศษอย่างแจ้งชัดและขัดต่อสามัญสำนึก การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 แล้ว
จำเลยที่ 2 (พล.อ.วิทวัส) และจำเลยที่ 3 (นายสมศักดิ์) ต่างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 3 วรรคสอง และมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 มาตรา 22 และมาตรา 23
แต่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกันรับคำร้องจากจำเลยที่ 1 ซึ่งได้ยื่นมาโดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 213 และร่วมกันมีมติส่งคำร้องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ยิ่งกว่านั้น ในการดำเนินการดังกล่าว ยังเป็นกระทำการที่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินมาตรา 22 ซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อให้ประชาชนผู้ถูกกระทำละเมิดใช้สิทธินี้เท่านั้น เพื่อร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้เสนอเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งไม่รวมถึงการรถไฟแห่งประเทศไทยและกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเพราะมีช่องทางอื่นโดยเสนอผ่านทางคณะรัฐมนตรี
อีกทั้งคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ยังขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 และ 47 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2561 มาตรา 37 อีกด้วย
จึงเป็นผลทำให้โจทก์ยังไม่สามารถบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองที่ 221-223/2562 จนถึงปัจจุบัน มีผลทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายทั้งเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่ม
จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 มีเจตนาพิเศษร่วมกันกับจำเลยที่ 1 กระทำดังกล่าว เพื่อให้โจทก์ไม่สามารถจะบังคับคดีได้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีเพิ่มมากขึ้น การกระทำของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 แล้ว
อย่างไรก็ตาม โจทก์ขอเรียนต่อศาลที่เคารพว่า ตามศักดิ์ของกฎหมายแล้ว พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีศักดิ์ของกฎหมายสูงกว่าพระราชบัญญัติโดยทั่วไป เหตุเพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม จักต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในเรื่องนั้นๆ อย่างเคร่งครัดโดยจะกระทำการตีความ หรือวินิจฉัยให้ผิดไปจากเจตนารมณ์ หรือบทบัญญัติของกฎหมายนั้นๆ มิได้
การที่จำเลยที่ 2 และ ที่ 3 ได้กระทำความผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นอย่างชัดแจ้ง จึงถือเป็นเจตนาพิเศษที่มิสามารถจะปฏิเสธใดๆได้
การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องในประเด็นขอให้เพิกถอนคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไม่รับคำร้องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำทางตุลาการ
เท่ากับว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 188 วรรคสี่ ประกอบกับรัฐธรรมนูญมาตรา 212 วรรค 3 ซึ่งเมื่อจำเลยทั้งสามมีเจตนาพิเศษเพื่อทำให้ โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่ไม่สามารถบังคับคดีได้ ทำให้ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกวัน
การกระทำของจำเลยทั้งสาม จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 โดยแจ้งชัด แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับคำร้องในประเด็นนี้ไว้พิจารณาก็ตามความผิดของจำเลยทั้งสามได้สำเร็จลงแล้วตั้งแต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีมติร่วมกันส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวนี้
การกระทำความผิดการรถไฟแห่งประเทศไทย และได้นำเงินเข้ามาลงทุน เนื่องจากเชื่อมั่นในระบบความยุติธรรมของประเทศไทยว่า โจทก์ ในฐานะนักลงทุนต่างชาติจะได้รับความคุ้มครองไว้ซึ่งเสถียรภาพของการลงทุน ซึ่งเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น โจทก์ก็ได้ดำเนินการไปตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างถูกต้องทุกประการ ซึ่งทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย และกระทรวงคมนาคม ก็มีโอกาสได้เข้าต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งในชั้นอนุญาโตตุลาการ หรือชั้นของศาลปกครองสูงสุด จนกระทั่งศาลปกครองได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดปรากฎโดยทั่วไปแล้ว
จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย และกระทรวงคมนาคมจึงต้องมีหน้าที่โดยชัดแจ้งตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองอันถึงที่สุดแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ตรวจการแผ่นดินต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างเคร่งครัด
แต่จำเลยทั้ง 3 กลับร่วมกระทำการที่ผิดกฎหมายและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการทำลายหลักการความเป็นที่สุดของคำพิพากษา (Res judicata) ซึ่งเป็นหลักการที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่กระบวนการยุติธรรมในทางกฎหมายโดยมีเจตนาพิเศษในการก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงเป็นผลทำให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้วต้องถูกละเมิดโดยไม่ใยดีต่อหลักนิติธรรม ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อนในราชอาณาจักรไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานภาพของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีสถานภาพเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในฐานะที่เป็นองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ที่มีหน้าที่จะต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดให้เป็นไปตามบทบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่กลับมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกระทำผิดต่อบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเสียเอง สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับโทษเป็นสองเท่าของบุคคลธรรมดา หากศาลนี้มีคำพิพากษาว่าได้มีการกระทำความผิดตามฟ้อง
อนึ่ง ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์มิได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพราะประสงค์จะดำเนินคดีเอง และมีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางตามหลักนิติธรรมอย่างยิ่งควรมิควรแล้วแต่จะโปรด” คำฟ้องของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2566 ระบุ
ด้าน นายนิรุฒ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งมาจากศาลอาญาคดีทุจริตฯว่า มีการฟ้องร้องตนเองในคดีนี้ อย่างไรก็ดี การที่ตนได้เข้าไปปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติขนาดนี้แล้ว ยังมีการฟ้องว่าปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบกันอีกหรือ ส่วนความคืบหน้าการชดใช้ค่าเสียหายในคดีโฮปเวลล์นั้น ล่าสุดคดียังอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น หลังจากก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ศาลปกครองพิจารณาคดีนี้ใหม่
“เพิ่งรู้นะว่า ทำตามกฎหมายทุกอย่างแล้วโดนฟ้อง 157 เฉยเลย” นายนิรุฒ กล่าว
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับคดีบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ยื่นฟ้องผู้ว่าฯ รฟท. อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และอดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นั้น ขณะนี้ศาลอยู่ระหว่างตรวจคำฟ้อง
อ่านประกอบ :
เปิด 5 ปมปัญหา หลัง'ศาลปค.'รื้อคดี'โฮปเวลล์'ใหม่-'ศ.ดร.สุรพล'ฟันธงคำพิพากษาไม่เปลี่ยน
ซักค้าน โฮปเวลล์ เป็นไปตามกฎหมาย คมนาคม-ร.ฟ.ท. ชี้กระบวนการโครงการผิดปกติ
ไม่ใช่ค่าโง่! 'บ.โฮปเวลล์'ตั้งโต๊ะแถลงทวงรัฐชดใช้ 2.7 หมื่นล.-มั่นใจคดีไม่ขาดอายุความ
‘ศาลปค.สูงสุด’สั่ง‘ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา’ คดี‘รฟท.’ร้องเพิกถอนจดทะเบียน‘บ.โฮปเวลล์’
นัดอ่านคำสั่ง ‘ศาลปค.สูงสุด’ คดี ‘รฟท.’ อุทธรณ์กรณี ‘ไม่รับฟ้อง’ เพิกถอน ‘บ.โฮปเวลล์’
‘ศาลปค.’ สั่งงดบังคับคดีจ่าย ‘ค่าโง่โฮปเวลล์’ 2.6 หมื่นล้าน ระหว่างการพิจารณาคดีใหม่
'ศาลปกครองสูงสุด' สั่งรับคดี 'โฮปเวลล์' ไว้พิจารณาใหม่-นับหนึ่งค่าโง่ 2.6 หมื่นล้าน
‘ศาลปค.สูงสุด’ นัดชี้ขาด 4 มี.ค.นี้ กรณี ‘รฟท.-คมนาคม’ ขอพิจารณาคดี ‘โฮปเวลล์’ ใหม่
‘บ.โฮปเวลล์’ โต้ ‘พีระพันธุ์’ แบบ 'คำต่อคำ' คดีค่าโง่ 2.6 หมื่นล.-ชี้ก้าวล่วงอำนาจศาลฯ
เปิด 2 เหตุผลศาล ปค.! ไฉนใช้คำวินิจฉัยศาล รธน. รื้อ 'คดีโฮปเวลล์' ไม่ได้
คดีถึงที่สุดแล้ว-ไม่มีหลักฐานใหม่! ศาล ปค.ไม่รับคำร้องรื้อคดี 'โฮปเวลล์' ซ้ำ