"...ผลจากการติดตามนำเสนอข่าวเรื่องนี้ของสื่อมวลชน ในช่วงที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการตรวจสอบของแวดวงวิชาการของไทยครั้งใหม่ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มประกาศชี้แจงและแสดงจุดยืนยันนโยบายการยึดมั่นในจริยธรรมและคุณธรรมในการวิจัย พร้อมเร่งเดินหน้าตั้งคณะกรรมการสอบข้อเห็นจริง หากพบว่าบุคคลากรในสังกัดกระทำความผิด ตอกย้ำให้เห็นว่า กรณีการซื้อขายงานวิจัย นำชื่อไปใส่ นับเป็นเรื่องใหญ่ ที่สร้างความตื่นตัวให้คนในแวดวงการศึกษาไทยเป็นอย่างมาก และต้องรีบชำระสะสางให้ปัญหาเรื่องนี้หมดไปโดยเร็วที่สุด..."
กรณีมีนักวิชาการไทยบางรายจ่ายเงินซื้องานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำเพื่อใส่ชื่อตัวเอง (แปะชื่อ) เป็นเจ้าของผลงานและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
นับเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ เขย่าแวดวงวิชาการไทยอย่างมากในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งกรณีนี้ ภายหลังข้อมูลถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นทางการ ส่งผลให้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีคำสั่งสอบสวนอย่างเป็นทางการ จนพบว่า มีการกระทำที่เข้าข่ายการผิดจรรยาบรรณ เผยแพร่ผลงานจากการซื้อผลงานตีพิมพ์งานวิจัย โดยได้รับแจ้งจากมหาวิทยาลัยทั้งหมด 33 แห่ง ว่ามีนักวิชาการมีพฤติการเข้าข่าย และอยู่กระบวนการตรวจสอบ 109 ราย มหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ที่กระทำผิดแล้ว 9 ราย และมีนักวิชาการที่ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา 21 ราย ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบ
- ขมวดปม'ซื้องานวิจัย-บายพาสชื่อใส่'เขย่าวงวิชาการไทย 11 อ.+โค้ชวิจัยดัง เผชิญข้อครหา?
- ผลสอบซื้อ-แปะชื่องานวิจัย 34 มหาวิทยาลัย พบเข้าข่ายผิดจรรยาบรรณฯ 33 รายจาก 8 แห่ง
- อว.พบ 52 นักวิจัยเสี่ยงผิดจริยธรรมงานวิจัย เผยมีอีก 160 รายเข้าข่าย
ล่าสุด ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าสำคัญเกิดขึ้น 3 กรณี คือ
-
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ลงโทษวินัยร้ายแรงบุคลากร และให้พ้นจากการเป็นบุคลากร 1 ราย
-
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้สอบสวน และลงโทษไล่ออกบุคลากร 1 ราย และอยู่ระหว่างสอบสวนวินัย 2 ราย
-
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) อยู่ระหว่างการสอบสวน อาจารย์ 1 ราย ส่วน มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีอาจารย์ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายซื้อผลงานวิจัยจริง และได้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงแล้ว 3 ราย หากพบว่ามีความผิดจริง ก็จะต้องถูกลงโทษตามขั้นตอนต่อไป
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสอบสวนกรณีเหล่านี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา ย้อนสรุปข้อมูลจุดเริ่มต้นปัญหาและผลการสอบสวนในส่วนของมหาวิทยาลัย ที่มีการประกาศเป็นทางการออกมาแล้ว มานำเสนอ ณ ที่นี้อีกครั้ง
มช.ตั้ง กก.สอบ 2 ให้ออก 1 ปมซื้อวิจัย
ขอเริ่มต้น ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นแห่งแรก
กรณีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น มีจุดเริ่มต้น มาจากปรากฎที่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ว่า มีนักวิชาการไทยบางรายจ่ายเงินซื้องานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำเพื่อใส่ชื่อตัวเอง (แปะชื่อ) เป็นเจ้าของผลงานและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ
ในช่วงวันที่ 9 ม.ค. 2566 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกประกาศชี้แจงทันที ระบุว่าภายหลังที่ปรากฎในสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับการกระทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัย โดยมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนั้น
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง เพื่อดำเนินการทางวินัยต่อบุคคลดังกล่าว ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยต่อไปแล้วนั้น
ต่อมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2566 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกประกาศถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงตามที่ได้แถลงการณ์ไปแล้ว โดยได้มีการประชุมและดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการภายใต้ข้อกฎหมายและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบกรณีอื่นๆ อีกด้วย
จากนั้น ในวันที่ 3 ส.ค. 2566 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดเผยผลการดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งลงโทษ 'ไล่ออก' สำหรับการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และได้ดำเนินการออกคำสั่งให้คืนเงินตามจำนวนที่ได้รับไปจากการใช้ผลงานที่มีชอบให้กับมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัย ได้ทำการปรับปรุงและพัฒนาระบบการส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการของบุคลากรให้ตั้งอยู่บนความรับผิดชอบต่อสังคม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ตามหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำดังกล่าวซ้ำขึ้นอีกในอนาคต
ขณะที่ ศ.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้เปิดเผยถึงกรณีบุคคลากรมหาวิทยาลัยมพฤติกรรมผิดจริยธรรมร้ายแรงว่า ในส่วนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง
ก่อนที่มช.จะมีการแถลงการณ์ข้อมูลยืนยันเป็นทางการในที่สุดว่า มีนักวิจัยที่กระทำความผิดจริงเข้าข่ายซื้อขายผลงานวิจัยจริง โดยทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการสอบสวนและลงโทษไล่ออกแล้ว 1 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนวินัย 2 ราย หากพบว่าทำความผิดจะดำเนินการลงโทษอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกัน (ดูแถลง มช.)
พ้นสภาพทันที! อ.พยาบาล ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ต่อมาเป็นกรณี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
เป็นกรณีการปรากฎชื่อบุคลากรของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์หนึ่งราย ที่มีรายชื่อเป็นผู้ร่วมศึกษาในงานวิจัยเดียวกันกับบุคคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยไปแล้ว
โดยมีข้อสังเกต คือ งานวิจัยที่ทั้งสองคนได้ร่วมกันทำงานวิจัยเกี่ยวกับ 'วัสดุนาโน' ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสาขาที่เรียนมา
สำหรับกรณีนี้เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2566 รศ.ดร.อรพรรณ โตสิงห์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ คณะพยาบาลศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า ได้มีการติดต่อไปยังอาจารย์รายที่ถูกระบุถึงแล้ว เบื้องต้นมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน กำลังหาข้อมูล และรอข้อมูลยืนยันจากต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน ทางอาจารย์คนดังกล่าวได้ทำบันทึกข้อความชี้แจงไปยังคณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้ว เมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า ตนได้ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมทีมในงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ผลงานอย่างแท้จริงทุกเรื่อง และไม่เคยกระทำและไม่มีส่วนรู้เห็นในการซื้อขายตำแหน่งผู้ร่วมทีมวิจัยมาก่อน และไม่เคยได้รับผลประโยชน์ใดๆ
ส่วนประเด็นผลงานพิมพ์ที่จำนวนหลายเรื่องในแต่ละปี มีการชี้แจงว่า เนื่องจากได้รับเชิญให้ทำหน้าที่บรรณาธิการวิชาการ ทำให้ได้รับการติดต่อขอความร่วมมือในการให้ความเห็นในเรื่องระเบียบวิธีการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล เนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ (Manuscript) เพื่อตีพิมพ์บ้าง โดยทุกเรื่องได้มีการร่วมพิจารณารายงานการวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร ทำให้มีโอกาสมีชื่อร่วมตีพิมพ์ด้วย
ต่อมา เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2566 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ออกประกาศถึงกรณีดังกล่าวว่าได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้น ประกอบด้วยกรรมการสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวนสามท่าน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องดังกล่าว เพื่อดำเนินการสอบข้อเท็จจริง
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2566 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ออกประกาศถึงผลการสอบข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการได้พิจารณาและมีความเห็นว่า บุคลากรดังกล่าวกระทำผิดทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยเพื่อดำเนินการต่อไปแล้ว
ก่อนที่เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ออกประกาศอีกครั้งถึงผลการตรวจสอบโดยระบุว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบจนเป็นที่ยุติ พบว่าบุคลากรรายดังกล่าวมีพฤติการณ์กระทำความผิดวินัยร้ายแรงอันเกี่ยวเนื่องจากพฤติการณ์ที่ผิดปกติของการตีพิมพ์ผลงานวิจัย และได้ลงโทษทางวินัยร้ายแรงและพ้นจากการเป็นบุคลากรของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้ว (ดูแถลงราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์)
ตั้ง กก.สอบวินัยร้ายแรง 3 ราย อาจารย์ มข.
นอกเหนือจาก 2 กรณีข้างต้นที่สำนักข่าวอิศรา ได้เล่าย้อนปมไปแล้วนั้น ยังมีอีกกรณีที่น่าสนใจ คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ที่พบว่า มีอาจารย์ถึง 3 ราย ที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องการซื้อขายงานวิจัย
โดยในช่วงการตรวจสอบข้อมูล ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มข. ยืนยันกับสำข่าวอิศราว่า อาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการซื้องานวิจัยเป็นอาจารย์ในสาขาคณิตศาสตร์ โดยก่อนหน้านี้ มข.ได้ออกประกาศแสดงจุดยืนตั้งคณะกรรมการสอบงานวิจัยทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มมีกระแสนักวิชาการไทยซื้อ-แปะชื่งานวิจัยไปแล้ว
จากนั้น เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2566 นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข. เปิดเผยว่า ในส่วนของ มข. ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอาจารย์ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวหลายราย แต่พบว่าอาจารย์ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายซื้อผลงานวิจัยจริง และได้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงแล้ว 3 ราย จากนี้ต้องรอข้อสรุปจากคณะกรรมการสอบวินัยฯ หากพบว่ามีความผิดจริง ก็จะต้องถูกลงโทษตามขั้นตอนต่อไป และจากนี้มหาวิทยาลัยจะเข้มงวดเรื่องมาตรการตรวจสอบผลงานวิจัยของอาจารย์มากขึ้น โดยจะต้องดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่จะเป็นการเปิดช่องให้มีการซื้อขายงานวิจัย เพื่อวางมาตรการให้รัดกุมขึ้น และจะต้องมีการทบทวนในเรื่องของการให้รางวัลต่าง ๆ ที่เป็นแรงจูงใจให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทุจริตซื้อขายงานวิจัยขึ้นอีก
ทำเป็นขบวนการธุรกิจ มีไลฟ์โค้ช - เอเจนซี่ดูแล
ทั้งนี้ เกี่ยวกับความคืบหน้าปัญหานักวิชาการไทยบางรายจ่ายเงินซื้องานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำเพื่อใส่ชื่อตัวเองเป็นเจ้าของผลงานและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ ทั้ง 3 กรณี ที่ย้อนข้อมูลมานำเสนอให้ทราบไปแล้ว
ก่อนหน้านี้ จากการสืบค้นข้อมูลเชิงลึกของ สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งข้อมูลทางลับจากคนในแวดวงวิชาการว่า ปัญหาเรื่องการจ่ายเงินซื้องานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำเพื่อใส่ชื่อตัวเองเป็นเจ้าของผลงาน อาจจะมีขบวนการทำในเชิงธุรกิจ มีไลฟ์โค้ช (Life Coach) เอเจนซี่ดูแลเรื่องซื้อขาย-ตีพิมพ์ อย่างเป็นระบบ ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลผลการตรวจสอบของ อว. ที่พบว่า ปัญหาเรื่องนี้ มีเอเจนซี่ดูแลเรื่องการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารวิชาการต่างประเทศ ซึ่ง อว.ก็กำลังจับตาดูอยู่ ในลักษณะเป็นโค้ช และมีการจ่ายเงินเพื่อช่วยในการดำเนินการตีพิมพ์ ซึ่งในกระบวนการเหล่านี้อยู่ในรายชื่อที่กำลังตรวจสอบทั้งหมด
ส่วนนักวิชาการไทยรายหนึ่งที่เป็นเสมือนโค้ชงานวิจัย มีการจัดอบรมเรื่องการตีพิมพ์ผลงานในวารสารนานาชาติ อว.ยืนยันว่า ปัจจุบันไม่ได้สังกัดในมหาวิทยาลัยในประเทศแล้ว แต่ก็เป็นหนึ่งใน 160 ราย ที่อยู่ในข่ายถูกตรวจสอบด้วย
นอกจากนี้ ทางสำนักงานปลัดกระทรวง อว. ยังได้มีการแจ้งความเพจเฟซบุ๊ก ที่ดำเนินการรับจ้างทำวิจัย ทำวิทยานิพนธ์ ไปแล้วจำนวน 5 เพจ ซึ่งทางฝ่ายกฎหมายของสำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้รวบรวมหลักฐานการกระทำความผิดที่ชัดเจนของเพจดังกล่าวแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งการกระทำผิดทั้ง 2 กรณี เป็นความผิดตามมาตรา 70 ของ พ.ร.บ.การอุดมศึกษา 2562 ด้วย
ดร.ดนุช ตันเทิดทิตย์ เลขานุการ รมว.อว.
อว.จี้มหาวิทยาลัย 8 แห่งส่งความคืบหน้าปมซื้องานวิจัย
ขณะที่ ดร.ดนุช ตันเทิดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ อว. ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศรา ถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีล่าสุดว่า ในส่วนผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย ยังไม่มีรายงานว่ามีผู้บริหารคนใดเข้าข่ายซื้อผลงานวิจัย หรือกระทำผิดในเรื่องนี้ แต่มหาวิทยาลัยที่ถูกร้องเรียนในเรื่องนี้มี 30 กว่าแห่ง และมีผู้ที่เข้าข่ายกระทำความผิดมากกว่า 100 ราย
โดยทาง อว.ได้สืบค้นอย่างเข้มข้น และอย่างเร่งด่วนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการขออนุมัติตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) และรองศาสตราจารย์ (รศ.) อาจารย์มหาวิทยาลัยจะต้องทำผลงานวิจัยเพื่อยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการเหล่านี้ ซึ่งงานวิจัยไม่ว่าจะซื้อ หรือทำเองก็ตาม อว.จะไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องผ่านสภามหาวิทยาลัย ยกเว้นตำแหน่งวิชาการระดับศาสตราจารย์ (ศ.) ที่ต้องผ่านการพิจารณาของ อว.โดยตรง เพราะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
“เรื่องนี้ต้องใช้เวลา เพราะว่าเหตุเกิดในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่มีอยู่ 100 กว่าแห่ง อาจารย์มีอยู่ทั้งหมด 7 หมื่นคนทั่วประเทศ และอาจารย์ส่วนใหญ่ก็อยากขอตำแหน่งทางวิชาการอยู่แล้ว ฉะนั้น ขณะนี้การสืบหาความจริงยังไม่จบ อว.จะต้องติดตาม ตรวจสอบการทำงานของมหาวิทยาลัย และสภามหาวิทยาลัย ในการอนุมัติตำแหน่งวิชาการว่ารอบคอบแค่ไหน เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต ไม่เช่นนั้นแล้ว อว.ต้องมารับเรื่องร้องเรียนพวกนี้ต่อไป” ดร.ดนุช กล่าว
ดร.ดนุช กล่าวว่า สำหรับมาตรการลงโทษขั้นพื้นฐานที่มหาวิทยาลัย และสถาบันบางแห่งได้ทำแล้ว คือการให้พ้นจากตำแหน่ง และต้องหาถึงต้นสายปลายเหตุของการได้มาของผลงานทางวิชาการ เพราะน่าจะมีคนที่ยังซื้อขายงานวิจัยอยู่ และยังคงมีจำนวนที่เพิ่มเข้ามา โดย อว.อาจจะต้องตรวจงานวิจัยเหล่านั้น ว่าอาจจะไม่เข้าข่ายซื้องานวิจัย หรืออาจจะถูกสงสัยว่าซื้องานวิจัย แต่ อว.ไม่สามารถตัดสินว่าคนนั้นคนนี้ซื้อผลงานวิจัย ดังนั้น จึงต้องให้มหาวิทยาลัยต้นสังกัดรับผิดชอบในการสอบหาข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม อว.จะติดตามเรื่องนี้ต่อไป
“ส่วนที่มีมหาวิทยาลัย 8 แห่ง ยังไม่ได้ส่งข้อมูลความคืบหน้าให้ อว.นั้น อว.ติดตามตลอด ฉะนั้น มหาวิทยาลัยจะไม่ส่งข้อมูลให้ อว.ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะกระบวนการต่างๆ ไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแต่ติดขัดเรื่องอะไร ก็ว่ากันไป เพราะเรื่องนี้อยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชน” ดร.ดนุช กล่าว
ดร.ดนุช กล่าวด้วยว่า ส่วน อว.จะมีมาตรการป้องกัน หรือมาตรการลงโทษมหาวิทยาลัยต้นสังกัดอย่างไรนั้น พูดกันตามตรงว่าเรื่องที่เกิดขึ้น สร้างผลกระทบต่อชื่อเสียงมหาวิทยาลัยถ้าหากปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอีก ดังนั้น มหาวิทยาลัยยิ่งต้องให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิด และ อว.มีหน้าที่ย้ำเตือนให้เห็นถึงคำสั่งของ อว.ที่เคยให้ไว้
“ประเด็นที่มหาวิทยาลัยจะต้องทำผลงานวิชาการ เพื่อกระตุ้นให้ได้งบ ค่าตอบแทน การขยับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยให้สูงขึ้น ทำให้อาจารย์ต้องซื้อผลงานวิจัยนั้น ถือเป็นข้ออ้าง เพราะอาจารย์ต้องคิดได้ว่าไม่ควรซื้อผลงานวิจัย เพราะเป็นจรรยาบรรณของคนที่เป็นครูบาอาจารย์ ขนาดเด็กๆ ก็คิดได้ นักศึกษาปริญญาตรีก็คิดได้ สมมุติว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาแล้วไปทำงานวิจัยด้านวิศวกรรม ก็ผิดแล้ว ฉะนั้น ไม่เกี่ยวกับระยะเวลาในการทำงานวิจัย เพราะเป็นหน้าที่ของคนที่เป็นอาจารย์ ขอแค่ให้งานวิจัยตรงกับมาตราฐานที่จะเผยแพร่ได้เท่านั้น ก็เพียงพอแล้ว” ดร.ดนุช กล่าว
เหล่านี้ คือ ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้ ที่สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจสอบพบไปแล้ว ซึ่งผลจากการติดตามนำเสนอข่าวเรื่องนี้ของสื่อมวลชน ในช่วงที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการตรวจสอบของแวดวงวิชาการของไทยครั้งใหม่ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มประกาศชี้แจงและแสดงจุดยืนยันนโยบายการยึดมั่นในจริยธรรมและคุณธรรมในการวิจัย พร้อมเร่งเดินหน้าตั้งคณะกรรมการสอบข้อเห็นจริง หากพบว่าบุคคลากรในสังกัดกระทำความผิด
ตอกย้ำให้เห็นว่า กรณีการซื้อขายงานวิจัย นำชื่อไปใส่ นับเป็นเรื่องใหญ่ ที่สร้างความตื่นตัวให้คนในแวดวงการศึกษาไทยเป็นอย่างมาก และต้องรีบชำระสะสางให้ปัญหาเรื่องนี้หมดไปโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า กรณีนี้ เป็นเรื่องการกระทำเฉพาะบุคคล หรือ ทำเป็นขบวนการในเชิงธุรกิจ มีตัวแทนนายหน้า คอยอำนวยความสะดวกให้ทั้งหมด เพียงแค่จ่ายเงินตอบแทนให้เท่านั้น
สำหรับประเด็นนี้ หากมีความคืบหน้าหรือข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมอีก สำนักข่าวอิศราจะติดตามมานำเสนอให้ทราบต่อไป
อ่านประกอบ:
- มช.ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนักวิชาการ ปมซื้องานวิจัยใส่ชื่อตัวเอง (1)
- ไม่ใช่แค่ มช.! ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สั่งสอบปมซื้องานวิจัย อ.เจ้าตัวยันบริสุทธิ์ (2)
- ไม่มีซื้อขาย! เปิดตัว อ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไขข้อสงสัยแต่ละปีมีผลงานพิมพ์ได้หลายเรื่อง (3)
- ดร.ทัศนา บุญทอง :แจง’ปมตีพิมพ์งานวิจัย’อาจารย์พยาบาลฯ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (4)
- ส่องฐานข้อมูลวิจัย ตปท.! ดูผลงาน 2 อาจารย์ไทย ก่อนเคลียร์ปมร้อนไม่เคยจ่ายเงิน 'ซื้อ' (5)
- ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ปม อ.พยาบาลซื้อ-แปะชื่องานวิจัย (6)
- ทปอ.ออกแถลงไม่เห็นด้วยปมซื้อผลงานวิจัย อว.จี้ทุกมหาวิทยาลัยตรวจสอบคนในสังกัด (7)
- 'มข.-ราชภัฎ-ราชมงคล'แถลงจุดยืน ตั้ง กก.สอบงานวิจัยทั้งหมด หลังกระแสมี อ.ซื้อ-แปะชื่อ (8)
- พบอีก 2 ราย อ.ราชภัฏพิบูลฯเข้าข่ายซื้องานวิจัย อธิการบดีเผยมาทำงานปกติ-ตั้ง กก.สอบแล้ว (9)
- จี้ทุก ม.เร่งสอบงานวิจัย ขีดเส้นรายงานผล 15 ก.พ.-'เอนก'ยันไม่เกี่ยวข้อง อ.มหา’ลัยเอกชน (10)
- ถึงคิว! มรภ.พิบูลฯ' ตามส่องฐานข้อมูลวิจัย ตปท. 2 อ.เอี่ยวซื้อขายงานวิชาการจริงหรือ? (11)
- 'มอ.-ม.สุรนารีฯ-ศิลปากร'ประกาศยึดมั่นในจรรยาบรรณ-จริยธรรมของการวิจัย เร่งสอบทุกผลงาน (12)
- ขมวดปม'ซื้องานวิจัย-บายพาสชื่อใส่'เขย่าวงวิชาการไทย 11 อ.+โค้ชวิจัยดัง เผชิญข้อครหา? (13)
- อย่างน้อย 2 ราย! มข.ยัน อ.คณิตเอี่ยวปมซื้อวิจัย หยุดจ่ายค่าผลงานตั้งแต่ปายปีที่แล้ว (14)
- มากกว่า 2 รายจริง! ตามไปดูงานวิจัย อ.มข. ก่อนถูกสอบปมซื้อ - เจอชื่อหลายคนเอี่ยว? (15)
- คราวนี้ระดับผู้บริหาร! ม.ทักษิณ สั่งสอบคณบดีปมซื้องานวิจัย-เจ้าตัวขอลาออกตำแหน่งแล้ว (16)
- แกะรอยงานวิจัย อดีตคณบดี ม.ทักษิณ ก่อนถูกสอบปมซื้อ? 2 ปี 10 เรื่อง เฉพาะ ieeexplore (17)
- มช.สอบกรณีอื่นเพิ่ม! ปมอาจารย์ซื้องานวิจัย เผยเคสเดิมดำเนินการตามกฎหมายแล้ว (18)
- ม.ทักษิณ เผยผลสอบปมซื้อ-แปะชื่อวิจัย พบตีพิมพ์ผลงานผิดปกติ เจ้าตัวยันไม่ได้ซื้อ (19)
- ผลสอบซื้อ-แปะชื่องานวิจัย 34 มหาวิทยาลัย พบเข้าข่ายผิดจรรยาบรรณฯ 33 รายจาก 8 แห่ง (20)
- อว.พบ 52 นักวิจัยเสี่ยงผิดจริยธรรมงานวิจัย เผยมีอีก 160 รายเข้าข่าย (21)
- ทำผิดจริยธรรมร้ายแรง! ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เร่งพิจารณาโทษตาม กม.ปม อ.พยาบาลซื้อวิจัย (22)
- มีเอเจนซี่ดูแล! อว.สอบคู่ขนานซื้อ-แปะชื่องานวิจัย เข้าข่ายผิด160คน-ส่งตรวจอีกครึ่งร้อย (23)
- อว.เอาจริง! ส่งหนังสือถึงทุกมหาวิทยาลัย สั่งดำเนินคดีรับจ้างทำวิจัย-วิทยานิพนธ์ (24)
- พ้นสภาพทันที! ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ลงโทษทางวินัยร้ายแรง ปม อ.พยาบาลซื้อวิจัย (25)
- มช.ไล่ออก 1 สอบวินัย 2 ปมซื้อแปะชื่องานวิจัย-อว.จ่อแจ้งความเพจรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ (26)
- ตั้ง กก.สอบวินัยร้ายแรง อ. ม.ขอนแก่น 3 เกษตรศาสตร์ 1 ราย ปมซื้อแปะชื่องานวิจัย (27)