คืบหน้าปมซื้องานวิจัยใส่ชื่อตัวเอง รายล่าสุด ม.ทักษิณ สั่งตั้ง กก.สอบบุคลากรภายในตำแหน่งสูงระดับคณบดี แต่ยังไม่ได้สรุปผลงานมีปัญหาจริงหรือไม่ เบื้องต้นเจ้าตัวขอลาออกจากตำแหน่งแล้ว อยู่ในช่วงลาพักร้อน รษก.อธิการบดี ชี้เรื่องนี้ซับซ้อนมีรายละเอียดปลีกย่อยมากไม่ใช่แค่ประเด็นการซื้อขายอย่างเดียว จะเร่งสรุปผลตามกรอบ อว.กำหนด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้าการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกกรณี นักวิชาการไทยบางรายจ่ายเงินซื้องานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำเพื่อใส่ชื่อตัวเองเป็นเจ้าของผลงานและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ส่งหนังสือสั่งการถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ให้ดำเนินการตรวจสอบอาจารย์ของตนเอง หากพบมีส่วนเกี่ยวข้องให้ดำเนินการลงโทษทันที และรายงานให้ อว.รับทราบภายในวันที่ 15 ก.พ.นี้
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยทักษิณ 1 ราย ที่อยู่ในข่ายถูกตรวจสอบปัญหาซื้อขายงานวิจัย ซึ่งอาจารย์รายนี้ยังดำรงตำแหน่งในระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัยอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้ติดต่อไปยัง รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ผู้รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงเรื่องนี้
รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าวว่า ทันทีที่เกิดประเด็นการซื้องานวิจัยในสื่อออนไลน์ มหาวิทยาลัยทักษิณได้ตั้งคณะกรรมการสำรวจสถานะการตีพิมผลงานทางวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยทักษิณ เพื่อทำหน้าที่ ตรวจสอบประเด็นที่เป็นที่สนใจของสังคม คือ การซื้อขายผลงาน และทำหน้าที่เสนอแนะเชิงนโยบายในการวางมาตรการ หรือหาแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันเพื่อให้การทำงานวิจัยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานจริยธรรมให้มากที่สุด
รศ.ดร.ณฐพงศ์ ระบุว่า ภายหลังจากเกิดกระแสข่าวว่า อาจารย์ของมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งเป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัย มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นการซื้อขายงานวิจัย จึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการฯดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป แต่ทั้งนี้จะเร่งให้เสร็จสิ้นภายในกรอบเวลาที่ อว.กำหนดไว้
"ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบในการเรียกขอดูข้อมูลเบื้องต้น เช่น ข้อมูลการติดต่อประสานงาน เพื่อดูว่าในกระบวนการเหล่านี้ มีการดำเนินการมีที่มาที่ไปอย่างไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ได้เชิญอาจารย์มาให้ข้อมูลกระบุถึงความเป็นมา และกระบวนการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้สรุปมาถึงผมว่าผลการตอบสอบในเบื้องต้นเป็นอย่างไร" รศ.ดร.ณฐพงศ์ ระบุ
รศ.ดร.ณฐพงศ์ เปิดเผยว่า อย่างไรก็ดี อาจารย์รายดังกล่าวได้ขอลาออกจากตำแหน่งคณบดีนิติศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้ลาออกจากมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการลาพัก
รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าวอีกว่า ในขั้นตอนยังไม่มีการสรุปอะไร คิดว่าเรื่องการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานนั้น มีความซับซ้อน และมีประเด็นที่แตกต่างกันในหลายประเด็น เช่น ในบางมหาวิทยาลัย มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องตีพิมพ์ และได้เชิญวิทยากรที่นำเอางานไปเผยแพร่ต่อมาร่วมอบรมให้กับทางอาจารย์ แต่ในกรณีที่ซื้อโดยตรงก็มี
"คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องซับซ้อนและมีรายละเอียดปลีกย่อยอยู่มากทีเดียว ไม่ใช่เพียงแค่ประเด็นการซื้อขายเพียงอย่างเดียว" รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงการเคลมผลงาน เมื่อตีพิมพ์งานวิจัย รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าวว่า แม้ว่ามหาวิทยาลัยทักษิณจะมีค่าตอบแทนการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิชาการในวารสารนานาชาติ แต่ก็จำกัดไม่เกินคนละ 2 เล่มต่อปี เนื่องจากมีงบประมาณที่จัดสรรไว้ จึงจำกัดโควต้าในการขอสัมนาคุณหลังการตีพิมพ์ผลงาน
"การเคลมผลงานจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานไว้ คือ ผลงานนั้นจะต้องชัดเจนว่าเป็น ผู้ประพันธ์อันดับแรก (First author) หรือต้องมีการระบุชัดเจนว่าเป็นการวิจัยเรื่องอะไร ได้รับทุนสนับสนุนจากที่ไหน และจะต้องดำเนินตามกระบวนการของมหาวิทยาลัย คือ ดำเนินการผ่านศูนย์สถาบันวิจัย และมีการตรวจสอบผลงานที่มาขอเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่"
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า อาจารย์คนกล่าวก็เข้าข่ายอยู่ตามเกณฑ์ที่เข้ามาเคลมผลงาน และอยู่ในโควต้าไม่เกิน 2 ชิ้น
"ผมให้ความมั่นใจในฐานะอธิการบดีว่า กระบวนการตรวจสอบจะทำอย่างตรงไปตรงมาเพื่อที่จะคงไว้ซึ่งชื่อเสียงและเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัยทักษิณที่ได้สั่งสมมาอย่างยาวนาน เมื่อการตรวจสอบชัดเจนแล้ว จะประกาศให้สังคมรับทราบในโอกาสต่อไป" รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าวยืนยัน
รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ผู้รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ออกแถลงการณ์ แสดงจุดยืนต่อจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัย ระบุว่า ตามที่ปรากฏในสื่อกรณีนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาละเมิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัย อันส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในสังคมวิชาการและสังคมโดยรวมนั้น
มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจสถานะการตีพิมพ์ผลงานวิจัยและ ผลงานวิชาการของบุคลากรมหาวิทยาลัยทักษิณ หากผลสำรวจพบว่ามีการกระทำความผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณในการทำผลงานวิจัยและผลงานวิชาการหรืออื่นใดที่เกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัยจะดำเนินการสอบสวนเพื่อลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง
อนึ่ง มหาวิทยาลัยทักษิณ ขอแสดงจุดยืนไม่ยอมรับการกระทำความผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัย และมุ่งมั่นสร้างผลงานวิชาการและผลงานวิจัยเพื่อสร้างสรรค์สังคมในมิติต่างๆ รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมด้วยพลังความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้หลักเสรีภาพทางวิชาการ พร้อมกันนี้จะพัฒนาระบบและกลไกบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมแบบเปิด ที่สอดคล้องกับมาตรฐานการวิจัยและจริยธรรม เพื่อให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการและรูปแบบของผลงานทุกประเภท ตามหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพ ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการ อันผดุงไว้ซึ่งชื่อเสียงและเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัยตลอดไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- มช.ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนักวิชาการ ปมซื้องานวิจัยใส่ชื่อตัวเอง (1)
- ไม่ใช่แค่ มช.! ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สั่งสอบปมซื้องานวิจัย อ.เจ้าตัวยันบริสุทธิ์ (2)
- ไม่มีซื้อขาย! เปิดตัว อ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไขข้อสงสัยแต่ละปีมีผลงานพิมพ์ได้หลายเรื่อง (3)
- ดร.ทัศนา บุญทอง :แจง’ปมตีพิมพ์งานวิจัย’อาจารย์พยาบาลฯ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (4)
- ส่องฐานข้อมูลวิจัย ตปท.! ดูผลงาน 2 อาจารย์ไทย ก่อนเคลียร์ปมร้อนไม่เคยจ่ายเงิน 'ซื้อ' (5)
- ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ปม อ.พยาบาลซื้อ-แปะชื่องานวิจัย (6)
- 'มข.-ราชภัฎ-ราชมงคล'แถลงจุดยืน ตั้ง กก.สอบงานวิจัยทั้งหมด หลังกระแสมี อ.ซื้อ-แปะชื่อ (7)
- พบอีก 2 ราย อ.ราชภัฏพิบูลฯเข้าข่ายซื้องานวิจัย อธิการบดีเผยมาทำงานปกติ-ตั้ง กก.สอบแล้ว (8)
- ถึงคิว! มรภ.พิบูลฯ' ตามส่องฐานข้อมูลวิจัย ตปท. 2 อ.เอี่ยวซื้อขายงานวิชาการจริงหรือ? (9)
- 'มอ.-ม.สุรนารีฯ-ศิลปากร'ประกาศยึดมั่นในจรรยาบรรณ-จริยธรรมของการวิจัย เร่งสอบทุกผลงาน (10)
- ขมวดปม'ซื้องานวิจัย-บายพาสชื่อใส่'เขย่าวงวิชาการไทย 11 อ.+โค้ชวิจัยดัง เผชิญข้อครหา? (11)
- อย่างน้อย 2 ราย! มข.ยัน อ.คณิตเอี่ยวปมซื้อวิจัย หยุดจ่ายค่าผลงานตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (12)
- มากกว่า 2 รายจริง! ตามไปดูงานวิจัย อ.มข. ก่อนถูกสอบปมซื้อ - เจอชื่อหลายคนเอี่ยว? (13)