ทปอ.ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยซื้อผลงานวิจัย อว. ส่งหนังสือถึงทุกมหาวิทยาลัยให้ตรวจสอบอาจารย์ในสังกัด หากพบให้เอาผิดตาม กม. ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือระบบอุดมศึกษาไทย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2566 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย - ทปอ. ประกาศเจตนารมณ์ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ต่อการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ โดยการกระทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัย ระบุว่า
ตามที่ปรากฎในสื่อสังคมออนไลน์กรณีมีนักวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาบางท่าน ได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ โดยการกระทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัย สถาบันอุดมศึกษาเครือข่ายที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
จำนวน 36 แห่ง ขอประกาศเจตนารมณ์ว่า
1. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยไม่ยอมรับการกระทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัยดังกล่าว และจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย มีการกระทำความผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัยจริง จะถือว่ามีความผิดและลงโทษต่อไป
2. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยได้มอบหมายให้คณะกรรมการวิจัยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยหาวิธีการส่งเสริมให้บุคลากรยึดมั่นในจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัย และกำหนดแนวทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด
การกระทำความผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัยในสถาบันอุดมกษาอีกต่อไป
อนึ่งก่อนหน้านี้ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวว่าบุคลากรของมหาวิทยาลัยได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัยในการซื้อผลงานวิจัยเพื่อให้มีชื่ออยู่ในบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ ขณะนี้อว. ได้มีหนังสือด่วนถึงทุกมหาวิทยาลัยขอให้เร่งรัดดำเนินการตรวจสอบข้อมูลของบุคลากรในสังกัดอย่างใกล้ชิดตามแนวทางในการกำกับจริยธรรมการวิจัย การตีพิมพ์ผลงานวิจัย รวมทั้งการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ และรายงานผลการตรวจสอบให้ทราบ โดยหากตรวจสอบแล้วพบว่ามีบุคลากรเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ให้มหาวิทยาลัยดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรายงานผลเป็นระยะจนการดำเนินการถึงที่สุด
รมว.อว.กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่กำลังเป็นข่าวนี้ ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของระบบอุดมศึกษาไทยเป็นอย่างมาก ทั้งที่การเกิดเหตุการณ์ที่ต้องสงสัยทุจริตดังกล่าวจะเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับนักวิจัยทั้งหมดของประเทศก็ตาม ขอย้ำว่า อว. ยังมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้นักวิจัยทำผลงานวิจัยและเผยแพร่ผลงานวิจัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งของประเทศอย่างต่อเนื่องเช่นเดิม แต่จะให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลจริยธรรมการวิจัยและเผยแพร่ผลงานวิจัยให้เข้มงวดมากขึ้น .
“ขณะนี้ ผมได้สั่งการให้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. หารือกับอธิการบดีทุกมหาวิทยาลัยเป็นการเร่งด่วน เพื่อหาแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก เพื่อให้สังคมเชื่อมั่นในระบบของมหาวิทยาลัยและผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว
อ่านประกอบ:
- มช.ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนักวิชาการ ปมซื้องานวิจัยใส่ชื่อตัวเอง (1)
- ไม่ใช่แค่ มช.! ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สั่งสอบปมซื้องานวิจัย อ.เจ้าตัวยันบริสุทธิ์ (2)
- ไม่มีซื้อขาย! เปิดตัว อ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไขข้อสงสัยแต่ละปีมีผลงานพิมพ์ได้หลายเรื่อง (3)
- ดร.ทัศนา บุญทอง :แจง’ปมตีพิมพ์งานวิจัย’อาจารย์พยาบาลฯ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (4)
- ส่องฐานข้อมูลวิจัย ตปท.! ดูผลงาน 2 อาจารย์ไทย ก่อนเคลียร์ปมร้อนไม่เคยจ่ายเงิน 'ซื้อ' (5)
- ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ปม อ.พยาบาลซื้อ-แปะชื่องานวิจัย (6)