"...ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่า งานวิจัยเหล่านี้ มีปัญหาเรื่องการซื้อขายเกิดขึ้นหรือไม่ ขณะที่กระบวนการสอบสวนทั้งในส่วนของ มหาวิทยาลัยและ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ยังไม่สิ้นเสร็จกระบวนการ หรือมีการชี้ขาดว่ามีการกระทำความผิดแต่อย่างใด อาจารย์ทั้ง 4 รายจึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่..."
เปิดประเดิมเดือนมกราคม ปี 2566 มาได้ไม่เท่าไหร่
วงการวิชาการไทยก็ร้อนฉ่าขึ้นมาทันที
เมื่อนักวิชาการไทยหลายราย พร้อมใจกันออกมา โพสต์ข้อมูลในโลกออนไลน์ เปิดโปงปัญหานักวิชาการบางรายจ่ายเงินซื้องานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำ เพื่อใส่ชื่อตัวเองเป็นเจ้าของผลงานและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ โดยไม่ต้องทำเอง หรือแม้แต่ไม่ต้องมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ของตัวเอง แล้วนำไปเคลมเป็นงานของตัวเอง เพื่อขอทุน หรือ ตำแหน่งในการทำงาน
ซึ่งกรณีนี้นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ของคนในแวดวงวิชาการ เพราะกว่าที่จะได้งานวิจัยที่มีคุณภาพ ผู้วิจัยจำเป็นจะต้องทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ และเวลา เพื่อศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลทำวิจัยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์มา บางครั้งอาจจะกินเวลานานหลายปี หรืออาจจะถึงสิบปี ก่อนที่จะได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ เป็นหลักฐานที่แสดงถึงความอุตสาหะ เพื่อสร้างคุณูปการในโลกวิชาการ
แต่กลับมาคนบางกลุ่ม สร้างโอกาสความสำเร็จให้กับตนเอง โดยวิธีการใช้เงินซื้อ บายพาสเอาชื่อของตนเองไปใส่ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองแบบนี้
โดยข้อมูลที่เป็นจุดสังเกตสำคัญ ในเรื่องนี้ คือ การตรวจสอบพบรายชื่อนักวิชาการจำนานไม่น้อย รวมถึงอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของไทย มีชื่อเป็นผู้ประพันธ์งานวิจัยงานวิจัยหลายชิ้น และเวลาไล่เลี่ยกัน เนื้อหางานวิจัย ไม่ตรงกับสายงานของตนเอง
จึงเป็นจุดที่น่าสงสัยนำไปสู่การสืบค้น ส่งผลทำให้สถาบันการศึกษาหลายแห่ง ต้องออกมาตั้งกรรมการสอบสวนนักวิชาการ อาจารย์ในสังกัด ที่ถูกข้อครหาว่ามีพฤติการณ์ดังกล่าวจริงหรือไม่ หลากหลายสถาบันก็ออกมาประกาศจุดยืนไม่สนับสนุน ความสำเร็จทางวิชาการแบบด้านมืด หรือ ดาร์กไซด์ (Dark Side) แบบนี้
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีนี้ มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นข่าวเรื่องนี้ เข้าติดตามทำข่าวเจาะลึกมาตั้งแต่ต้น นำข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบมาขมวดปมสำคัญให้ สาธารณชนได้รับทราบโดยทั่วกัน ณ ที่นี้
หนึ่ง.
ต้นเรื่องประเด็นปัญหาการซื้องานวิจัย เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 เว็บไซต์ For Better Science ออกมาระบุว่า ปัจจุบันมีการซื้อขายงานวิจัยเกิดขึ้น กล่าวคือจะ มีเว็บไซต์ที่เป็นเหมือนตลาดกลาง ให้คนที่ทำงานวิจัยไว้เสร็จสมบูรณ์แล้วในหัวข้อต่างๆ ลงประกาศไว้ ถ้าหากสนใจของประเทศอะไร อยากได้งานวิจัยแบบไหน ก็สามารถเข้ามาดูหัวข้อและเลือกซื้อได้ โดยราคาจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งชื่อในงานวิจัยนั้นๆ
ต่อมา วันที่ 7 มกราคม 2566 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยาจากสถาบันไบโอเทค ของสวทช. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า ธุรกิจที่น่ากลัวที่สุดของสังคมวิจัยคือการที่นักวิจัยไป shopping งานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำ เช่น ไปอ่านงานที่คิดว่าอยากมีชื่อตัวเองใน paper นั้นๆแล้วใช้เงินไปซื้อตำแหน่งของการเป็นผู้แต่ง หรือ ผู้นิพนธ์ ในงานวิจัย ชื่อแรกก็จะแพงหน่อย ชื่อกลางๆก็จะถูกหน่อย เมื่อได้จำนวนผู้แต่งครบแล้ว งานวิจัยผีๆนี้ก็ส่งไปตีพิมพ์โดยคนที่จ่ายเงินเป็นผู้แต่งก็จะไปสามารถ claim ผลงานทางวิชาการ หรือ ไปใช้ขอทุนจากหน่วยงานต่างๆเพื่อถอนทุนคืนได้ งานวิจัยที่ออกมาจะมีผู้แต่งแบบหลากหลายสถาบัน หลายประเทศที่ไม่เคยเห็นหน้า หรือรู้จักกันเลย พฤติกรรมแบบนี้ไม่แตกต่างจากการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในวงการราชการเลย ที่เสียใจคือ เห็นชื่อนักวิจัยของไทยในงานแบบนี้ด้วย
เอกสารที่ ดร.อนันต์ นำมาเปิดเผย อ้างอิงถึง อาจารย์ 2 ราย คือ ผศ.ดร. สุภัทร ชูประดิษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายวานิช สุขสถาน อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ต่อมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกประกาศว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง เพื่อดำเนินการทางวินัยต่อบุคคลดังกล่าว ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยแล้ว
ด้าน นายวานิช สุขสถาน อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้มีการชี้แจงยืนยันข้อมูลเป็นทางการไปแล้วว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ในเรื่องนี้ ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องการซื้อขายงานวิจัยตามที่ถูกตั้งข้อสังเกตแต่อย่างใด
ขณะที่ รศ.ดร.อรพรรณ โตสิงห์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ คณะพยาบาลศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า ได้มีการติดต่อไปยังอาจารย์รายที่ถูกระบุถึงแล้ว เบื้องต้นมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน กำลังหาข้อมูล และรอข้อมูลยืนยันจากต่างประเทศ
- ไม่ใช่แค่ มช.! ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สั่งสอบปมซื้องานวิจัย อ.เจ้าตัวยันบริสุทธิ์
- ไม่มีซื้อขาย! เปิดตัว อ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไขข้อสงสัยแต่ละปีมีผลงานพิมพ์ได้หลายเรื่อง
- ดร.ทัศนา บุญทอง :แจง’ปมตีพิมพ์งานวิจัย’อาจารย์พยาบาลฯ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
จากนั้น สำนักข่าวอิศรา ได้สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า มีอาจารย์ที่อาจจะมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องการซื้อขายงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม อีก 2 ราย เบื้องต้น ได้ติดต่อไปยัง ผศ.ดร.ชุมพล เสมาขันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยได้รับแจ้งว่า อาจารย์ทั้ง 2 คน ยังปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ แต่ได้มอบหมายให้คณบดีดำเนินการสืบสวน พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการสอบสวนจากส่วนกลางควบคู่กันไปด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนข้อมูลงานวิจัยของอาจารย์ 4 ราย จาก 3 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 1 ราย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 1 ราย (นายวานิช สุขสถาน อาจารย์วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่เจ้าตัวยืนยันข้อมูลเป็นทางการไปแล้วว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ในเรื่องนี้ ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องการซื้อขายงานวิจัยตามที่ถูกตั้งข้อสังเกตแต่อย่างใด) และ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม อีก 2 รายใหม่ดังกล่าว นั้น
สำนักข่าวอิศรา ได้ติดตามไปตรวจสอบเว็บไซต์ฐานข้อมูลผลงานวิชาการในต่างประเทศ ชื่อว่า เว็บไซต์ hindawi.com หรือเว็บไซต์ของบริษัทฮินดาวีซึ่งเป็นบริษัทเก็บฐานข้อมูลงานวิจัย พบชื่อในงานวิจัยหลายชิ้นจริง หลายชิ้นก็มีชื่อทำงานร่วมกันด้วย
แต่ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่า งานวิจัยเหล่านี้ มีปัญหาเรื่องการซื้อขายเกิดขึ้นหรือไม่ ขณะที่กระบวนการสอบสวนทั้งในส่วนของ มหาวิทยาลัยและ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ยังไม่สิ้นเสร็จกระบวนการ หรือมีการชี้ขาดว่ามีการกระทำความผิดแต่อย่างใด อาจารย์ทั้ง 4 รายจึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อย่างไรก็ดี มีข้อมูลที่น่าสนใจ อยู่ตรงที่ข้อมูลเกี่ยวกับเว็บไซต์ฐานข้อมูลผลงานวิชาการในต่างประเทศ ชื่อว่า เว็บไซต์ hindawi.com ที่จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า เมื่อเดือน ต.ค. 2565 เว็บไซต์ Gadget Review ซึ่งเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับข่าวสารในวงการผู้บริโภคและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้มีการลงบทความเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสของบริษัทฮินดาวี (Hindawi) ซึ่งเป็นบริษัทที่นำเสนองานวิจัยต่างๆเอาไว้ (งานวิจัยหลายงานวิจัยถูกนำมาใช้อ้างอิงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการขายสินค้า)
ที่ตั้งของบริษัทฮินดาวีในกรุงลอนดอน
ทั้งนี้ กรณีของบริษัทฮินดาวีนั้นไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้สอบสวนสามารถจะสืบค้นได้เกี่ยวกับการปลอมพิชญพิจารณ์ ที่ผ่านมาเคยมีกรณีของบริษัท BioMed Central ที่ดูแลบทความทางวิชาการกว่า 277 ฉบับซึ่งเป็นบทความทางการแพทย์ได้ออกมาประกาศเพิกถอนบทความทางวิชาการกว่า 43 ฉบับ หลังจากที่มีการตรวจค้นว่ามีหลายบทความที่เป็นปัญหาในเชิงของการปลอมพิชญพิจารณ์ ด้วยการใช้บัญชีปลอมเขียนวิจารณ์บทความในแง่บวก นี่ส่งผลทำให้มีการสอบสวนพฤติกรรมอันเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมขึ้น
ระบบพิชญพิจารณ์นั้นเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนทั้งวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และเทคโนโลยีให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้ ถ้าหากพิชญพิจารณ์ถูกปลอมแปลง เป็นเท็จ ข้อสรุปของบทความวิจัยนั้นๆก็จะถูกตั้งคำถามได้ และอาจจะนำไปสู่อันตรายต่อสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของบทความทางวิชาการที่เกี่ยวกับเวชภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ หรือก็คือการปลอมพิชญพิจารณ์ เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายเทียบเท่ากับการขายสินค้าปลอมบนโลกออนไลน์
ทั้งนี้หลังจากเหตุการณ์ปลอมพิชญพิจารณ์ดังกล่าว บริษัทฮินดาวีก็ยังคงนำเสนอบทความทางวิชาการต่อไป ภายใต้การตรวจสอบที่เข้มข้นมากขึ้น อย่างไรก็ตามเหตุการณ์การปลอมพิชญพิจารณ์นี้ก็ยังคงไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทแต่อย่างใด
- พบอีก 2 ราย อ.ราชภัฏพิบูลฯเข้าข่ายซื้องานวิจัย อธิการบดีเผยมาทำงานปกติ-ตั้ง กก.สอบแล้ว
- ถึงคิว! มรภ.พิบูลฯ' ตามส่องฐานข้อมูลวิจัย ตปท. 2 อ.เอี่ยวซื้อขายงานวิชาการจริงหรือ?
สอง.
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เพิ่มเติม
รศ.ดร.วีรชัย เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า มีอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยไม่ต่ำกว่า 10 คน ที่ซื้อผลงานวิจัยจากต่างประเทศ ในจำนวนนี้รวมถึง อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และอาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนหลายคนในกรุงเทพฯ ด้วย
ข้อมูลในเฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong ของ รศ.ดร.วีรชัย ระบุว่า มีนักวิชาการที่เข้าข่ายซื้องานวิจัยอีก 6 ราย คือ อาจารย์จากมหาวิทยารัฐชื่อดัง ฝั่งธนบุรี จำนวน 2 คน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยรัฐชื่อดังแดนอีสาน จำนวน 2 คน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏแดนอีสาน จำนวน 1 คน และนักวิชาการอิสระ คณะอนุกรรมการในหน่วยงานภาครัฐ 1 คน
และได้รับการยืนยันเพิ่มเติมว่า มีนักวิชาการเข้าข่ายซื้องานวิจัยอีก 2 ราย คือ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎชื่อดังกลางเมือง 1 คน และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสีเขียว 1 คน
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากคนในแวดวงวิชาการ ว่า 1 ใน 5 รายใหม่นี้ เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงวิชาการไทยเป็นอย่างมาก ถึงขนาดถูกยกให้เป็น research Coach เมืองไทยด้วย ปัจจุบันแจ้งว่าสังกัดมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ
สำหรับข้อมูลเชิงลึกของ 8 นักวิชาการรายใหม่ นี้ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป
สาม.
อย่างไรก็ตาม จากกระแสปมการซื้อขายงานวิจัย เป็นแรงกระเพียมให้เกิดการตรวจสอบและตั้งคำถามถึงวงการวิชาการของไทยเป็นอย่างมาก
มหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มประกาศชี้แจงและแสดงจุดยืนยันนโยบายการยึดมั่นในจริยธรมมและคุณธรรมในการวิจัย พร้อมเร่งเดินหน้าตั้งคณะกรรมการสอบข้อเห็นจริง หากพบว่าบุคคลากรในสังกัดกระทำความผิด
- 'มข.-ราชภัฎ-ราชมงคล'แถลงจุดยืน ตั้ง กก.สอบงานวิจัยทั้งหมด หลังกระแสมี อ.ซื้อ-แปะชื่อ
- 'มข.-ราชภัฎ-ราชมงคล'แถลงจุดยืน ตั้ง กก.สอบงานวิจัยทั้งหมด หลังกระแสมี อ.ซื้อ-แปะชื่อ
เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ส่งหนังสือเวียนถึงอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษา เรื่อง การตรวจสอบและป้องกันปัญหาการซื้อผลงานวิจัยเพื่อการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ระบุว่า
ตามที่ ปรากฏข้อเท็จจริงในสื่อมวลชนกรณีที่บุคลากรในลถาบันอุดมศึกษาได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการซื้อผลงานวิจัยผ่านสำนักพิมพ์ เพื่อให้มีชื่ออยู่ในบทความวิจัยที่ดีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ นั้น
ในการนี้ คณะกรรมการการอุคมศึกษา (กกอ.) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันอังคารที่ 17 มกราคม 2566 ได้พิจารณาในประเด็บปัญหาการซื้อผลงานวิจัยเพื่อการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติแล้ว มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการดำเนินการ ดังนี้
-
แจ้งให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง ทำการตรวจสอบบุคลากรในสังกัด หากพบว่ามีกรณีที่จะนำไปสู่ความผิดจริยธรรมดังกล่าว ให้ทำการตรวจสอบอย่างยุติธรรมและรวดเร็ว และขอให้รายงานการดำเนินการแก่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566
-
หากเป็นที่แน่ชัดว่า บุคลากรในสังกัดทำผิดจรียธรรมดังกล่าว ให้ดำเนินการลงโทษตามระเบียบของมหาวิทยาลัยอย่างเข้มงวด และแจ้งให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ทราบ เพื่อดำเนินการตามมาตรา 70 และ 77 แห่ง พ.ร.บ. อุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ที่ระบุว่า
"ห้ามมิให้ผู้ใด จ้าง วาน ใช้ให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเพื่อใช้ในการทำผลงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขอคำแหน่งทางวิชาการ หรือเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินอื่นในระดับที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ห้มมีให้ผู้ใดรับจ้างหรือรับดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้ผู้อื่นนำผลงานนั้นไปใช้ประโยชนในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือโดยสุจริตตามสมควร โดยหากผู้ใตฝาฝืนจะต้องระวางโหษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุตมศึกษาฯ จะได้หารือกับองค์กร หน่วยงานด่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) ทุกแห่ง สภาคณบดีในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อวางกลไกในการตรวจสอบการกระทำผิด การป้องปราม และการแจ้งเบาะแสที่อาจจะมีการกระทำผิดเพื่อให้มีการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที
ขณะที่ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกมาย้ำชัดเจนว่า ตามที่มีข่าวว่ามีนักวิจัยจำนวนหนึ่งได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ ผ่านการซื้อผลงานเพื่อให้ตัวเองได้มีชื่ออยู่ในบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ ทางกระทรวง อว. จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วนและติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการผิดจริยธรรมทางวิชาการอย่างชัดเจน
“ขอขอบคุณนักวิชาการและสื่อมวลชนที่ห่วงใยและได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกระทรวง อว. ว่ามีกลไกที่เป็นช่องโหว่ในการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการโดยที่บุคคลที่มีชื่ออยู่ในบทความนั้นอาจไม่ได้เป็นผู้วิจัยในโครงการจริง เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวดและจริงจัง หากพบว่าดำเนินการจริงต้องถือเป็นความผิดและลงโทษอย่างรวดเร็ว” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนกกล่าว
กรณีการซื้อขายงานวิจัย บายพาส เอาชื่อไปใส่ จึงนับเป็นเรื่องใหญ่ ที่สร้างความตื่นตัวให้คนในแวดวงการศึกษาไทยเป็นอย่างมาก และต้องรีบชำระสะสางให้ปัญหาเรื่องนี้หมดไปโดยเร็วที่สุด
โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า กรณีนี้ เป็นเรื่องการกระทำเฉพาะบุคคล หรือ ทำเป็นขบวนการในเชิงธุรกิจ มีตัวแทนนายหน้า คอยอำนวยความสะดวกให้ทั้งหมด เพียงแค่จ่ายเงินตอบแทนให้เท่านั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- มช.ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนักวิชาการ ปมซื้องานวิจัยใส่ชื่อตัวเอง (1)
- ไม่ใช่แค่ มช.! ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สั่งสอบปมซื้องานวิจัย อ.เจ้าตัวยันบริสุทธิ์ (2)
- ไม่มีซื้อขาย! เปิดตัว อ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไขข้อสงสัยแต่ละปีมีผลงานพิมพ์ได้หลายเรื่อง (3)
- ดร.ทัศนา บุญทอง :แจง’ปมตีพิมพ์งานวิจัย’อาจารย์พยาบาลฯ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (4)
- ส่องฐานข้อมูลวิจัย ตปท.! ดูผลงาน 2 อาจารย์ไทย ก่อนเคลียร์ปมร้อนไม่เคยจ่ายเงิน 'ซื้อ' (5)
- ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ปม อ.พยาบาลซื้อ-แปะชื่องานวิจัย (6)
- 'มข.-ราชภัฎ-ราชมงคล'แถลงจุดยืน ตั้ง กก.สอบงานวิจัยทั้งหมด หลังกระแสมี อ.ซื้อ-แปะชื่อ (7)
- พบอีก 2 ราย อ.ราชภัฏพิบูลฯเข้าข่ายซื้องานวิจัย อธิการบดีเผยมาทำงานปกติ-ตั้ง กก.สอบแล้ว (8)
- ถึงคิว! มรภ.พิบูลฯ' ตามส่องฐานข้อมูลวิจัย ตปท. 2 อ.เอี่ยวซื้อขายงานวิชาการจริงหรือ? (9)
- 'มอ.-ม.สุรนารีฯ-ศิลปากร'ประกาศยึดมั่นในจรรยาบรรณ-จริยธรรมของการวิจัย เร่งสอบทุกผลงาน (10)