เผยความคืบหน้ากรณีซื้อ-แปะชื่อตีพิมพ์งานวิจัย ล่าสุดราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สั่งตั้ง กก.สอบอาจารย์ในสังกัดหลังโผล่ชื่องานวิจัยเดียวคน มช.แล้ว เจ้าตัวทำบันทึกชี้แจงแสดงความบริสุทธิ์ใจแล้ว ด้าน 'เอนก เหล่าธรรมทัศน์' รมว.อว. ยันเรื่องนี้ตามตรวจสอบจริงจังเด็ดขาด เตือนบุคคลากรทางวิชาการระมัดระวังอย่าให้เกิดความด่างพร้อย
กรณีปรากฏข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ว่า มีนักวิชาการในไทยจ่ายเงินซื้องานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำเพื่อใส่ชื่อตัวเองเป็นเจ้าของผลงานและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ ขณะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกประกาศชี้แจง ระบุว่าได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง เพื่อดำเนินการทางวินัยต่อบุคคลดังกล่าว ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยต่อไปแล้วนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณีอาจารย์จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อีกหนึ่งราย ที่ปรากฏชื่ออยู่ในงานวิจัยเดียวกันกับอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยไปแล้ว โดยมีข้อสังเกต คือ งานวิจัยที่ทั้งสองคนได้ร่วมกันทำงานวิจัยเกี่ยวกับ 'วัสดุนาโน' ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสาขาที่เรียนมา
โดยผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง รศ.ดร.อรพรรณ โตสิงห์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ คณะพยาบาลศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงเรื่องนี้
รศ.ดร.อรพรรณ ชี้แจงว่า ได้มีการติดต่อไปยังอาจารย์รายที่ถูกระบุถึงแล้ว เบื้องต้นมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน กำลังหาข้อมูล และรอข้อมูลยืนยันจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.อรพรรณ ยืนยันว่า อาจารย์รายนี้ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ดำเนินการวิจัยเพราะเป็นนักวิชาการจริง ซึ่งขณะนี้กำลังรวบรวมหลักฐานจากผู้ร่วมวิจัยและบรรณาธิการสำนักพิมพ์เพื่อมาแสดงความบริสุทธิ์ใจ
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานอีกว่า ทางอาจารย์คนดังกล่าวได้ทำบันทึกข้อความชี้แจงไปยังคณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้ว เมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า ตนได้ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมทีมในงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ผลงานอย่างแท้จริงทุกเรื่อง และไม่เคยกระทำและไม่มีส่วนรู้เห็นในการซื้อขายตำแหน่งผู้ร่วมทีมวิจัยมาก่อน และไม่เคยได้รับผลประโยชน์ใดๆ ส่วนประเด็นผลงานพิมพ์ที่จำนวนหลายเรื่องในแต่ละปี มีการชี้แจงว่า เนื่องจากได้รับเชิญให้ทำหน้าที่บรรณาธิการวิชาการ ทำให้ได้รับการติดต่อขอความร่วมมือในการให้ความเห็นในเรื่องระเบียบวิธีการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล เนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ (Manuscript) เพื่อตีพิมพ์บ้าง โดยทุกเรื่องได้มีการร่วมพิจารณารายงานการวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร ทำให้มีโอกาสมีชื่อร่วมตีพิมพ์ด้วย
ในวันเดียวกัน ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้สัมภาษณ์ย้ำถึงประเด็นนี้ว่า ทางกระทรวง อว. จะดำเนินการอย่างจริงจังและเด็ดขาดกับนักวิชาการรายดังกล่าวที่กระทำความผิด พร้อมเตือนให้บุคคลากรทางวิชาการระมัดระวังอย่าให้เกิดความด่างพร้อย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการลงโทษถึงขั้นไล่ออกจากราชการเลยหรือไม่ นายเอนก กล่าวว่า "ก็ว่ากันไปตามระเบียบวินัย ตอนนี้ทราบอยู่แค่จากข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอ พร้อมย้ำว่าสั่งการให้ตรวจสอบอย่างจริงจังเรียบร้อยแล้ว"
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นการซื้อขายงานวิจัยออนไลน์นี้ ถูกถกเถียงกันอย่างร้อนแรงในแวดวงวิชาการและการวิจัย นักวิจัยและนักวิชาการหลายรายเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและจัดการขั้นเด็ดขาดเพราะถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง อาทิ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattanaระบุว่า ธุรกิจที่น่ากลัวที่สุดของสังคมวิจัยคือการที่นักวิจัยไป shopping งานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำ เช่น ไปอ่านงานที่คิดว่าอยากมีชื่อตัวเองใน paper นั้นๆแล้วใช้เงินไปซื้อตำแหน่งของการเป็นผู้แต่ง หรือ ผู้นิพนธ์ ในงานวิจัย ชื่อแรกก็จะแพงหน่อย ชื่อกลางๆก็จะถูกหน่อย เมื่อได้จำนวนผู้แต่งครบแล้ว งานวิจัยผีๆนี้ก็ส่งไปตีพิมพ์โดยคนที่จ่ายเงินเป็นผู้แต่งก็จะไปสามารถ claim ผลงานทางวิชาการ หรือ ไปใช้ขอทุนจากหน่วยงานต่างๆเพื่อถอนทุนคืนได้ งานวิจัยที่ออกมาจะมีผู้แต่งแบบหลากหลายสถาบัน หลายประเทศที่ไม่เคยเห็นหน้า หรือรู้จักกันเลย พฤติกรรมแบบนี้ไม่แตกต่างจากการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในวงการราชการเลย ที่เสียใจคือ เห็นชื่อนักวิจัยของไทยในงานแบบนี้ด้วย
ส่วน รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong ระบุว่า มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนหนึ่ง ไปตีพิมพ์ในเรื่องของวัสดุนาโนเป็นชื่อที่หนึ่งโดยจ่ายค่าตีพิมพ์ไป 30,000 บาท โดยที่สายงานอยู่เทคนิคการแพทย์ ไม่ใช่วัสดุศาสตร์ แล้วนำบทความที่ตีพิมพ์นั้นมาเบิกกับมหาวิทยาลัยจำนวน 120,000 บาท เรื่องนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต้องสืบสวนสอบสวนครับ เพราะตอนนี้มีเว็บไซต์ที่ขายการเอาชื่อไปแปะในวารสารวิชาการ กำลังเป็นประเด็นอยู่ #CHES ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ อ.อ๊อด ในฐานะ เลขาธิการ
ขณะที่ รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Pinkaew Laungaramsri ระบุว่า ถ้าเข้าไปเสิร์ชชื่ออาจารย์ มช. ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอยู่ในขณะนี้ ดูประวัติการตีพิมพ์บทความภาษาอังกฤษใน academia edu และ loop.frontiersin.org เราจะพบเรื่องที่น่าประหลาดใจยิ่งขึ้นไปอีก เพราะชื่อของเขาที่ปรากฏร่วมกับคนอื่นในวารสารต่างๆนั้น ไม่ได้มีแค่บทความข้ามศาสตร์เกี่ยวกับวิศวกรรม ที่ไม่ใช่ field ของเขาเท่านั้น แต่ยังมีบทความเกี่ยวกับเกษตร cryptocurrency เศรษฐศาสตร์การเงิน บางบทความก็เป็นการวิจัยในรัสเซีย ในอินโดนีเซีย ในโลกมุสลิม ฯลฯ นี่แสดงว่าทำมานานแล้ว และน่าแปลกใจว่าไม่มีอับอาย แต่มีการโหลดบทความมาโชว์กันใน academia edu เลยทีเดียว ที่สำคัญคือ เราจะไม่พบบทความภาษาไทยเกี่ยวกับเกษตร วิศวกรรม การเงิน คริปโตเคอเรนซี รัสเซีย อินโดนีเซีย ที่อาจารย์ท่านนี้มีชื่อเขียนร่วมกับคนอื่นๆ ปรากฏในวารสารใดๆ ในภาษาไทย แม้แต่ชิ้นเดียว
"อยากรู้จริงๆว่าผู้บริหาร มช. จะจัดการอย่างไรกับเรื่องแบบนี้ หรือว่าไม่สนใจ สักแต่จะเอา ranking โดยไม่สนใจว่า ทุกวันนี้ มีอาจารย์ที่ไร้ยางอายประเภทนี้ ที่หากินด้วยการเอาเงินมหาวิทยาลัย ไปจ่ายซื้อ “ที่” ในบทความที่ตัวเองไม่ได้เขียน เมื่อได้ตีพิมพ์ก็มาขอเงินรางวัลที่สูงกว่า จนมีผลงานตีพิมพ์เกินครึ่งร้อยภายในไม่กี่ปี ลองคูณด้วยแสนต่อชิ้น ก็จะรู้ว่าร่ำรวยกันขนาดไหน และก็มีวารสารประเภทนี้ในต่างประเทศที่รู้จักความด้อยพัฒนาแบบมหา’ลัยในไทย (และที่อื่น) เป็นอย่างดี ถึงได้หากินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยทั้งหลาย ไม่ทราบว่าว่าอย่างไร?”
ส่วนความคืบหน้าอื่นๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป