"...ในเรื่องการตีพิมพ์งานวิจัยนั้น เป็นเรื่องอิสระเชิงวิชาการของอาจารย์ โดยงานวิจัยจะไม่ค่อยผ่านระบบบริหาร การวิจัยและตีพิมพ์งานวิจัยของอาจารย์นั้น เป็นเรื่องส่วนบุคคล ใช้อีเมลส่วนตัวในการตีพิมพ์ ไม่ได้เกี่ยวกับทางมหาวิทยาลัยโดยตรง แต่ทั้งนี้ หากมีการนำมาคลมเงินรางวัลหรือใช้เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ จะต้องมีการแจ้งกับทางมหาวิทยาลัย เบื้องต้นจากการตรวจสอบยังไม่มีการยื่นเรื่องขอเบิกเงินรางวัลหรือขอตำแหน่งวิชาการแต่อย่างใด ..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก!
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขยายผลข้อมูลในโลกออนไลน์ที่มีการเปิดโปงขบวนการจ่ายเงินซื้องานวิชาการเพื่อให้ได้ชื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการวิจัยเชิงวิชาการ เพื่อที่จะผู้วิจัยจะได้เครดิตงานวิจัยดังกล่าวและนำไปใช้ประโยชน์ต่อตำแหน่งหน้าที่การงาน
หลังจากที่มีการตรวจสอบพบข้อมูล อาจารย์ที่อาจจะมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องการซื้อขายงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม อีก 2 ราย
เบื้องต้น ผศ.ดร.ชุมพล เสมาขันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า ได้มอบหมายให้รองอธิการบดีตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่ามีมูล ก็จะสอบทางวินัยต่อไป ซึ่งขณะนี้อาจารย์คนดังกล่าวยังปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ
ทำให้นับจนถึงเวลานี้ สำนักข่าวอิศรา สามารถตามแกะรอยอาจารย์ ที่มีข้อครหาและถูกสอบสวนจากสถาบันการศึกษาต้นสังกัดจากกรณีนี้ จำนวนทั้งสิ้น 4 ราย จาก 3 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 1 ราย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 1 ราย (นายวานิช สุขสถาน อาจารย์วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่เจ้าตัวยืนยันข้อมูลเป็นทางการไปแล้วว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ในเรื่องนี้ ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องการซื้อขายงานวิจัยตามที่ถูกตั้งข้อสังเกตแต่อย่างใด) และ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม อีก 2 รายใหม่
ล่าสุด กรณี 2 อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามนั้น สำนักข่าวอิศรา ได้นำชื่ออาจารย์ทั้งสองคน ซึ่งในที่นี้จะขอเรียกว่านายซีและนายดี เพราะยังไม่เคยมีการเปิดเผยชื่อมาก่อน ไปตรวจสอบข้อมูลเว็บไซต์ฐานข้อมูลผลงานวิชาการในต่างประเทศ ชื่อว่า เว็บไซต์ hindawi.com หรือเว็บไซต์ของบริษัทฮินดาวีซึ่งเป็นบริษัทเก็บฐานข้อมูลงานวิจัย ที่เคยตรวจสอบข้อมูลอาจารย๋จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มาแล้ว
พบข้อมูลสำคัญว่า (นายซี) มีงานวิจัยทั้งสิ้น 6 ชิ้นงานด้วยกัน ซึ่งส่วนมากเป็นงานวิจัยในด้านระบุหัวเรื่องว่าเป็นวารสารเกี่ยวกับคุณภาพอาหาร แต่ว่ามีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่าเป็นงานวิจัยในด้านของเครือข่ายความปลอดภัยและการสื่อสาร (ดูภาพประกอบ)
ส่วนอาจารย์อีกคน (นายดี) นั้นพบว่างานวิจัยทั้งหมดที่ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ Hindawi เป็นงานวิจัยที่ทำกับนายซีจำนวน 2 ชิ้น (ดูภาพประกอบ)
เมื่อไล่เรียงรายละเอียดโดยคร่าวๆ ของงานวิจัยทั้ง 6 ชิ้น พบว่ามีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
1.Applicability of Internet of Things in Smart Farming หรือแปลเป็นไทยว่า การใช้อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่งกับการทำฟาร์มอัจฉริยะ
งานวิจัยนี้พบว่ามีผู้เขียนร่วมอีกสามคนเขียนร่วมกับนายซีประกอบไปด้วย 1.นายดีที่เป็นอาจารย์อีกคนจากคณะวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม 2.อาจารย์จากเมืองอาร์บา มินช์ ประเทศเอธิโอเปีย และ 3.อาจารย์จากเมืองจัมมู ประเทศอินเดีย
โดยงานวิจัยนี้พบว่ามีการส่งเข้าระบบวันที่ 14 ธ.ค. 2564 ปรับแก้วันที่ 10 ม.ค. 2565 รับเข้าระบบวันที่ 18 ม.ค.2565 และเผยแพร่วันที่ 2 ก.พ. 2565 (ดูภาพประกอบ)
2.Analyzing the Performance of Machine Learning Techniques in Disease Prediction หรือแปลเป็นไทยว่าการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของเทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องคอมพิวเตอร์ในการทำนายโรค
โดยงานวิจัยนี้นายซีได้เขียนร่วมกับอาจารย์อีกสี่คนประกอบไปด้วย 1.อาจารย์จากเมืองกัลกัตตา, อินเดีย 2.อาจารย์จากเมืองเกาสง, ไต้หวัน 3.อาจารย์จากเมืองอุตตรประเทศ, อินเดีย และ 4.อาจารย์จากเมืองอาร์บา มินช์, เอธิโอเปีย
ทั้งนี้มีข้อสังเกตในประการแรก คือว่า อาจารย์จากประเทศเอธิโอเปียนั้นเป็นคนเดียวกับที่เขียนงานวิจัยกับนายซีในงานวิจัยเรื่อง Applicability of Internet of Things in Smart Farming ที่นำเสนอไปแล้ว
โดยงานวิจัยดังกล่าวนั้นพบว่ามีการส่งเข้าระบบวันที่ 4 ม.ค. 2565 ปรับแก้วันที่ 29 ม.ค. 2565 รับเข้าระบบวันที่ 8 ก.พ.2565 และเผยแพร่วันที่ 3 มี.ค. 2565
ส่วนข้อสังเกตประการที่สอง คือ ในส่วนของการเกริ่นนำงานวิจัยมีการระบุว่าเป็นการประเมินและวินิจฉัยการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจ แต่ว่าประเภทของงานวิจัยกลับระบุว่าเป็นวารสารประเภทคุณภาพอาหาร
3.A System of Remote Patients’ Monitoring and Alerting Using the Machine Learning Technique หรือแปลเป็นไทยว่าระบบการตรวจสอบและแจ้งเตือนผู้ป่วยระยะไกลโดยใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องคอมพิวเตอร์
งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยที่นายซีได้เขียนร่วมกับอาจารย์อีกห้าคนประกอบไปด้วย 1.อาจารย์จากเมืองทมิฬนาฑู, อินเดีย 2.อาจารย์จากกรุงลิมา, เปรู 3.อาจารย์จากเมืองเดห์ราดุน อินเดีย 4.อาจารย์จากเมืองทมิฬนาฑู, อินเดีย 5.อาจารย์จากเมืองโอโรเมีย, เอธิโอเปีย
โดยงานวิจัยนี้พบว่ามีการส่งเข้าระบบวันที่ 28 ธ.ค. 2564 ปรับแก้วันที่ 8 ม.ค. 2565 รับเข้าระบบวันที่ 11 ม.ค.2565 และเผยแพร่วันที่ 8 ก.พ. 2565
มีข้อสังเกตุประการหนึ่งว่าในประเภทของงานวิจัยระบุว่าเป็นวารสารเกี่ยวกับอาหาร แต่ว่าเนื้อหาในส่วนเกริ่นนำนั้นกลับระบุถึงการใช้การเรียนรู้ของเครื่องคอมพิวเตอร์กับอุตสาหกรรมทางการแพทย์
4.Towards Development of Machine Learning Framework for Enhancing Security in Internet of Things หรือแปลเป็นไทยว่าการมุ่งสู่การพัฒนาเฟรมเวิร์กการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในระบบอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง เป็นงานวิจัยเพียงชิ้นเดียวของนายซีที่ปรากฎอยู่บนเว็บ Hindawi ที่ระบุว่าอยู่ในประเภทเครือข่ายความปลอดภัยและการสื่อสาร
งานวิจัยชิ้นนี้นายซีได้เขียนร่วมกับอาจารย์อีกเจ็ดคนประกอบไปด้วย 1.อาจารย์จากรัฐอานธรประเทศ, อินเดีย 2.อาจารย์จากเมือง วิชัยวาทะ, อินเดีย 3.อาจารย์จากเมืองมณีปุระ, อินเดีย 4.อาจารย์จากเมืองอัลฮาซา, ซาอุดิอาระเบีย 5.อาจารย์จากเมืองโคราฆปุระ, อินเดีย 6.อาจารย์จากรัฐอุตตราขัณฑ์ประเทศอินเดีย และ 7.อาจารย์จากเมืองวาดเมดานี, ซูดาน
โดยงานวิจัยนี้พบว่ามีการส่งเข้าระบบวันที่ 19 มี.ค. 2565 ปรับแก้วันที่ 12 เม.ย. 2565 รับเข้าระบบวันที่ 23 เม.ย.2565 และเผยแพร่วันที่ 17 พ.ค. 2565
5.Intrusion Detection Using Machine Learning for Risk Mitigation in IoT-Enabled Smart Irrigation in Smart Farming หรือแปลเป็นไทยว่าการตรวจจับการบุกรุกโดยใช้การเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์เพื่อลดความเสี่ยงในการชลประทานอัจฉริยะที่เปิดใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตในทุกในการทําฟาร์มอัจฉริยะ
นายซีได้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้ร่วมกับอาจารย์อีก 6 คนประกอบไปด้วย 1.1 และ 2. เป็นอาจารย์จากเมืองอุจจาอิน, อินเดีย 3.อาจารย์จากเมืองวิลเลียมสเบิร์ก, รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา 4.อาจารย์จาก เมืองมณีปุระ, อินเดีย 5. อาจารย์จากเมืองอักกรา, ประเทศกานา และ 6. อาจารย์จากเมืองดัมมัม ซาอุดิอาระเบีย
โดยงานวิจัยนี้พบว่ามีการส่งเข้าระบบวันที่ 19 ธ.ค.2564 ปรับแก้วันที่ 16 ม.ค. 2565 รับเข้าระบบวันที่ 25 ม.ค.2565 และเผยแพร่วันที่ 11 ก.พ. 2565
6.Application of IoT and Cloud Computing in Automation of Agriculture Irrigation หรือแปลเป็นไทยว่าการประยุกต์ใช้ระบบการประยุกต์ใช้ IoT และคลาวด์คอมพิวติ้งในระบบอัตโนมัติของการชลประทานทางการเกษตร
งานวิจัยชิ้นนี้นายซีมีการเขียนงานวิจัยร่วมกับอาจารย์อีก 6 คนประกอบไปด้วย 1.นายดีที่เป็นอาจารย์อีกคนจากคณะวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ซึ่งคนนี้เป็นคนเดียวกับที่เขียนงานวิจัยร่วมกับนายซีในหัวเรื่อง Applicability of Internet of Things in Smart Farming ก่อนหน้านี้ 2.และ 3. อาจารย์จากเมืองคาราด ประเทศอินเดีย 4.อาจารย์จากเมืองกูนา ประเทศอินเดีย 5.อาจารย์จากเมืองฉัตติสครห์, ประเทศอินเดีย และ 6. อาจารย์จากกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน
โดยงานวิจัยนี้พบว่ามีการส่งเข้าระบบวันที่ 19 ธ.ค.2564 ปรับแก้วันที่ 16 ม.ค. 2565 รับเข้าระบบวันที่ 25 ม.ค.2565 และเผยแพร่วันที่ 11 ก.พ. 2565
ทั้งหมดก็คือ ข้อมูลงานวิจัยของนายซี และนายดี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ที่สำนักข่าวอิศราพอจะสามารถสืบค้นเว็บไซต์ Hindawi ณ เวลานี้
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลปรากฎออกมาชัดเจนว่าอาจารย์ทั้งสองคนนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีส่วนในการซื้องานวิจัยทางวิชาการแต่อย่างใด
ขณะที่ ผศ.ดร.ชุมพล เสมาขันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา ก่อนหน้านี้ว่า ในเรื่องการตีพิมพ์งานวิจัยนั้น เป็นเรื่องอิสระเชิงวิชาการของอาจารย์ โดยงานวิจัยจะไม่ค่อยผ่านระบบบริหาร การวิจัยและตีพิมพ์งานวิจัยของอาจารย์นั้น เป็นเรื่องส่วนบุคคล ใช้อีเมลส่วนตัวในการตีพิมพ์ ไม่ได้เกี่ยวกับทางมหาวิทยาลัยโดยตรง แต่ทั้งนี้ หากมีการนำมาคลมเงินรางวัลหรือใช้เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ จะต้องมีการแจ้งกับทางมหาวิทยาลัย เบื้องต้นจากการตรวจสอบยังไม่มีการยื่นเรื่องขอเบิกเงินรางวัลหรือขอตำแหน่งวิชาการแต่อย่างใด
ผศ.ดร.ชุมพล เสมาขันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบด้วยว่า นอกจากอาจารย์ 4 ราย จาก 3 มหาวิทยาลัยข้างต้น แล้ว ยังมีอาจารย์ อีก 3 ราย จากสถาบันการศึกษาดัง 3 แห่ง ที่ถูกระบุว่ามีข้อครหาเรื่องนี้เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
รายละเอียดเป็นอย่างไร จะติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- มช.ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนักวิชาการ ปมซื้องานวิจัยใส่ชื่อตัวเอง (1)
- ไม่ใช่แค่ มช.! ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สั่งสอบปมซื้องานวิจัย อ.เจ้าตัวยันบริสุทธิ์ (2)
- ไม่มีซื้อขาย! เปิดตัว อ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไขข้อสงสัยแต่ละปีมีผลงานพิมพ์ได้หลายเรื่อง (3)
- ดร.ทัศนา บุญทอง :แจง’ปมตีพิมพ์งานวิจัย’อาจารย์พยาบาลฯ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (4)
- ส่องฐานข้อมูลวิจัย ตปท.! ดูผลงาน 2 อาจารย์ไทย ก่อนเคลียร์ปมร้อนไม่เคยจ่ายเงิน 'ซื้อ' (5)
- ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ปม อ.พยาบาลซื้อ-แปะชื่องานวิจัย (6)
- 'มข.-ราชภัฎ-ราชมงคล'แถลงจุดยืน ตั้ง กก.สอบงานวิจัยทั้งหมด หลังกระแสมี อ.ซื้อ-แปะชื่อ (7)
- พบอีก 2 ราย อ.ราชภัฏพิบูลฯเข้าข่ายซื้องานวิจัย อธิการบดีเผยมาทำงานปกติ-ตั้ง กก.สอบแล้ว (8)