เป็นทางการ! อว. แจง อิศรา ปมนักวิชาการไทย ซื้อ-แปะชื่อผลงานวิจัยตปท. สอบคู่ขนาน พบ 160 คน เข้าข่ายผิดจริยธรรมตีพิมพ์ผลงาน เดือนเม.ย.นี้ เตรียมส่งอีก 50-60 ราย ให้มหาวิทยาลัยต้นสังกัดสอบเพิ่ม ยันทำเป็นขบวนการในไทยมีเอเจนซี่ดูแลเรื่องซื้อขาย-ตีพิมพ์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณีปรากฏข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีนักวิชาการในไทยจ่ายเงินซื้องานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำเพื่อใส่ชื่อตัวเองเป็นเจ้าของผลงานและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ส่งหนังสือสั่งการถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ให้ดำเนินการตรวจสอบอาจารย์ของตนเอง หากพบมีส่วนเกี่ยวข้องให้ดำเนินการลงโทษทันที และรายงานให้ อว.รับทราบภายในวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา
เมื่อเร็วๆ นี้ ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. และ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ถึงความคืบหน้าการสอบสวนกรณีนี้ของ อว. เป็นทางการ
ศุภชัย ปทุมนากุล
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า การสอบสวนกรณีซื้อผลงานทางวิชาการและมีชื่อในการตีพิมพ์ในบทความวารสารวิชาการนานาชาติ ขณะนี้ อว.ได้มีการดำเนินการอยู่ 2 ลักษณะ คือ
-
ให้มหาวิทยาลัยตรวจสอบข้อมูลว่า มีนักวิจัยที่มีความผิดปกติ หรือมีข้อสังเกตว่าอาจจะมีความผิดทางด้านนี้ และให้ดำเนินการแจ้งกลับมาที่สำนักปลัด ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยตรงของมหาวิทยาลัย ตอนนี้มีมหาวิทยาลัยทั้งหมด 125 แห่งที่แจ้งผลการตรวจเข้ามา พบนักวิจัยที่ต้องทำการตรวจสอบความผิดปกติ จำนวน 52 ราย ใน 19 แห่ง ซึ่งมหาวิทยาลัย 19 แห่งได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ แล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ทั้งนี้ สำนักปลัดได้มีการติดตามกับทางมหาวิทยาลัย 19 แห่งนี้อย่างใกล้ชิด
-
สำนักปลัดได้มีการตรวจสอบข้อมูลควบคู่ไปกับมหาวิทยาลัย ด้วยเงื่อนไข 4 ข้อในการพิจารณา คือ 1) มีจำนวนบทความในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสูงผิดปกติ 2) ผลงานตีพิมพ์อยู่ในหลายสาขาและไม่ตรงกับสาขาที่เชี่ยวชาญ 3) ผู้แต่งร่วมในผลงานตีพิมพ์มาจากหลายสาขาและหลายประเทศ และ 4) ผู้แต่งร่วมในผลงานตีพิมพ์มีความผิดปกติ เช่น ตีพิมพ์ในหลายสาขาวิชา เป็นต้น
ศ.ดร.ศุภชัย เปิดเผยด้วยว่า จากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่มีข้อสังเกต ที่อาจจะนำไปสู่การผิดจริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานวิจัย พบว่ามีนักวิจัยประมาณ 160 ราย จากหลายสถาบัน ซึ่งขณะนี้ ทาง อว.ต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดและอ่อนไหว โดยภายในเดือนเมษายนนี้ อว.จะส่งรายชื่อที่ตรวจสอบพบให้กับทางมหาวิทยาลัยที่นักวิชาการนั้นสังกัดตรวจสอบเพิ่มเติม นอกเหนือจาก 52 รายที่ได้รับการตรวจสอบในปัจจุบัน และคาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้ จะมีรายชื่ออีก 50-60 รายชื่อที่จะส่งให้ทางมหาวิทยาลัยตรวจสอบเพิ่มเติมจากที่มหาวิทยาลัยตรวจสอบเองอยู่แล้ว รวมกว่า 100 รายชื่อ
"ขอย้ำอีกทีว่า 100 รายชื่อนี้ไม่ได้ยืนยันว่าผิด แต่เพียงมีข้อสังเกตจากข้อมูลทั้งจากที่มหาวิทยาลัยตรวจสอบเองและสำนักปลัดตรวจสอบ เมื่อตรวจสอบพบว่าผิดจริง ก็จะต้องดำเนินกระบวนการลงโทษตามกฎหมายและกระบวนการต่อไป เพราะถือว่าเป็นความเสียหายในแวดวงวิชาการอย่างร้ายแรง" ศ.ดร.ศุภชัย ระบุ
สำหรับการตรวจสอบ ศ.ดร.ศุภชัย เปิดเผยว่า เป็นการดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลทางวิชาการที่มีการเผยแพร่นานาชาติ เช่น scopus.com นอกจากนี้ ยังมีการแจ้งเบาะแสรายชื่อจากกลุ่มนักวิชาการต่างๆ ด้วย
เมื่อสอบถามถึงกระบวนการซื้อขายงานวิจัย ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า มีนักวิชาการเข้าข่ายและอยู่ในกระบวนการตรวจสอบจำนวนร้อยกว่าราย ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับนักวิจัยทั้งประเทศที่มีจำนวนเป็นหมื่นคน แต่ต่อให้เป็นสัดส่วนที่น้อย ก็ไม่ควรที่จะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อสังเกตที่อาจจะนำไปสู่การผิดจริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานวิจัย ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
-
กลุ่มที่ผิดจากการซื้อผลงานวิจัยอย่างชัดเจน
-
กลุ่มที่ผลงานผิดปกติที่อาจไม่ได้มาจากการซื้อผลงานวิจัยโดยตรง แต่มาจากเครือข่ายงานวิจัย ทั้งที่นักวิจัยอาจจะทราบหรือไม่ทราบก็ได้ จึงต้องมีกระบวนการดำเนินการตรวจสอบให้ชัดเจนในแต่ละกรณี
"สัดส่วนการซื้อวิจัยจริงอาจจะไม่เยอะ แต่จะเป็นเรื่องเครือข่ายงานวิจัย เช่น จากการจ้างเช่นกรณีการจ้าง นักวิจัยหลังปริญญาเอก หรือ โพสต์-ด็อก (post-doc ย่อมาจาก postdoctoral appointment) และมีการใส่ชื่อนักวิจัยลงไปด้วย แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรให้เกิดขึ้น" ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว
เมื่อสอบถามถึงกระบวนการดูแลเรื่องใส่ชื่อในงานวิจัยและการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบ มีเอเจนซี่ดูแลเรื่องการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารวิชาการต่างประเทศ ซึ่ง อว.ก็กำลังจับตาดูอยู่ ในลักษณะเป็นโค้ช และมีการจ่ายเงินเพื่อช่วยในการดำเนินการตีพิมพ์ ซึ่งในกระบวนการเหล่านี้อยู่ในรายชื่อที่เรากำลังตรวจสอบทั้งหมด ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์หรือใส่ชื่อนั้น ไม่ทราบ แต่รู้ว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ และเร่งดำเนินตรวจสอบอยู่
เมื่อถามถึงกรณีนักวิชาการไทยรายหนึ่งที่เป็นเสมือนโค้ชงานวิจัย มีการจัดอบรมเรื่องการตีพิมพ์ผลงานในวารสารนานาชาติ แต่ปัจจุบันไม่ได้สังกัดในมหาวิทยาลัยในประเทศแล้ว
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า เป็นหนึ่งใน 160 รายที่กำลังตรวจสอบ ในกรณีที่เป็นความผิดจริงๆ และตอนนี้นักวิชาการคนดังกล่าวไม่ได้สังกัดในไทยแล้ว ในส่วนที่จะให้มหาวิทยาลัยตรวจสอบและลงโทษก็อาจจะเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าทำผิดจริงในช่วงเวลาที่สังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยไทยนั้น และสามารถสืบกลับไปได้ ก็จะสามารถลงโทษได้ เนื่องจากกฎหมายยังอนุญาตให้ทำในกรณีนี้ได้
ในส่วนของนโยบายป้องกัน ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า เรื่องนี้มหาวิทยาลัยต้องให้ความเข้มงวด คือต้องทำทั้ง 2 อย่าง ทั้งลงโทษและป้องปรามไม่ให้เกิดลักษณะแบบนี้ขึ้น ทาง อว.ก็ต้องร่วมมือด้วย อย่างที่กำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ สำหรับกรอบระยะเวลา คือจะเร่งทำให้เร็วที่สุดอย่างละเอียดและรอบคอบ
เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ด้าน ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า เมื่อก่อนไม่เคยมีเรื่องแบบนี้ แต่ในปัจจุบันเป็นยุคแห่งเทคโนโลยี แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้เจอเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ต่างประเทศก็มีปัญหานี้เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นนักวิชาการจากโซนประเทศตะวันออกกลาง
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตุว่า สาเหตุที่นักวิชาการซื้อวิจัยมากขึ้นเนื่องจากมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับงานวิจัยมากเกินไป ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ไม่สามารถกล่าวอ้างด้วยเหตุผลนั้นได้ เพราะมาตรฐานของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นมหาวิทยาลัยประเภทใด มหาวิทยาลัยวิจัยชั้นแนวหน้า การวิจัยก็จะถือว่าเป็นงานหลัก ก็ต้องมีการผลักดันให้อาจารย์สร้างผลงาน ทำการวิจัย แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างผลงานให้กับชุมชนสังคมท้องถิ่น ก็จะต้องเน้นสร้างผลงานให้กับชุมชนสังคมท้องถิ่นเพื่อที่อาจารย์จะได้ตำแหน่งทางวิชาการ เพราะฉะนั้นยกเรื่องนี้ขึ้นมาว่า ต่อไปมหาวิทยาลัยจะต้องไม่เข้มงวดกับงานวิจัยนั้นไม่ได้ นั่นก็จะคลุมถุงจนเกินไป และเป็นเรื่องคนละกรณี
"ทั้งหมดนี้ เราก็ยังต้องระมัดระวัง ยังไม่สรุปว่าใน 100 กว่าคนที่เข้าข่ายนี้ทำผิด เพราะอาจจะมีอัจฉริยะก็ได้ ใครจะไปรู้ แต่ถ้าอัจฉริยะพวกนี้มีมากเกินไปก็น่าสงสัยแล้ว และมันมีแพทเทิร์นที่มันชัดเจน" ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก ระบุ
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวย้ำด้วยว่า "แต่คนที่เขาไม่ได้ทำมันเยอะ การที่เราไปพูดเรื่องแบบนี้จะต้องรอบคอบสักนิดหนึ่ง เพราะอาจจะทำให้คนที่ไม่ได้ทำ รู้สึกว่าเขากำลังทำในอาชีพที่มีคนจับจ้องอยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วเราต้องการให้คนทำวิจัยเยอะๆ แต่ว่าก็ต้องสุจริตและยุติธรรม ไม่ใช่ไปซื้อ เพื่อที่จะได้รับการตีพิมพ์ หรือเอาชื่อไปใส่ในงานที่ตัวเองไม่ได้ทำ"
อ่านประกอบ:
- มช.ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนักวิชาการ ปมซื้องานวิจัยใส่ชื่อตัวเอง (1)
- ไม่ใช่แค่ มช.! ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สั่งสอบปมซื้องานวิจัย อ.เจ้าตัวยันบริสุทธิ์ (2)
- ไม่มีซื้อขาย! เปิดตัว อ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไขข้อสงสัยแต่ละปีมีผลงานพิมพ์ได้หลายเรื่อง (3)
- ดร.ทัศนา บุญทอง :แจง’ปมตีพิมพ์งานวิจัย’อาจารย์พยาบาลฯ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (4)
- ส่องฐานข้อมูลวิจัย ตปท.! ดูผลงาน 2 อาจารย์ไทย ก่อนเคลียร์ปมร้อนไม่เคยจ่ายเงิน 'ซื้อ' (5)
- ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ปม อ.พยาบาลซื้อ-แปะชื่องานวิจัย (6)
- 'มข.-ราชภัฎ-ราชมงคล'แถลงจุดยืน ตั้ง กก.สอบงานวิจัยทั้งหมด หลังกระแสมี อ.ซื้อ-แปะชื่อ (7)
- พบอีก 2 ราย อ.ราชภัฏพิบูลฯเข้าข่ายซื้องานวิจัย อธิการบดีเผยมาทำงานปกติ-ตั้ง กก.สอบแล้ว (8)
- ถึงคิว! มรภ.พิบูลฯ' ตามส่องฐานข้อมูลวิจัย ตปท. 2 อ.เอี่ยวซื้อขายงานวิชาการจริงหรือ? (9)
- 'มอ.-ม.สุรนารีฯ-ศิลปากร'ประกาศยึดมั่นในจรรยาบรรณ-จริยธรรมของการวิจัย เร่งสอบทุกผลงาน (10)
- ขมวดปม'ซื้องานวิจัย-บายพาสชื่อใส่'เขย่าวงวิชาการไทย 11 อ.+โค้ชวิจัยดัง เผชิญข้อครหา? (11)
- อย่างน้อย 2 ราย! มข.ยัน อ.คณิตเอี่ยวปมซื้อวิจัย หยุดจ่ายค่าผลงานตั้งแต่ปายปีที่แล้ว (12)
- มากกว่า 2 รายจริง! ตามไปดูงานวิจัย อ.มข. ก่อนถูกสอบปมซื้อ - เจอชื่อหลายคนเอี่ยว? (13)
- คราวนี้ระดับผู้บริหาร! ม.ทักษิณ สั่งสอบคณบดีปมซื้องานวิจัย-เจ้าตัวขอลาออกตำแหน่งแล้ว (14)
- แกะรอยงานวิจัย อดีตคณบดี ม.ทักษิณ ก่อนถูกสอบปมซื้อ? 2 ปี 10 เรื่อง เฉพาะ ieeexplore (15)
- ม.ทักษิณ เผยผลสอบปมซื้อ-แปะชื่อวิจัย พบตีพิมพ์ผลงานผิดปกติ เจ้าตัวยันไม่ได้ซื้อ (16)
- มช.สอบกรณีอื่นเพิ่ม! ปมอาจารย์ซื้องานวิจัย เผยเคสเดิมดำเนินการตามกฎหมายแล้ว (17)
- ผลสอบซื้อ-แปะชื่องานวิจัย 34 มหาวิทยาลัย พบเข้าข่ายผิดจรรยาบรรณฯ 33 รายจาก 8 แห่ง (18)
- อว.พบ 52 นักวิจัยเสี่ยงผิดจริยธรรมงานวิจัย เผยมีอีก 160 รายเข้าข่าย (19)
- ทำผิดจริยธรรมร้ายแรง! ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เร่งพิจารณาโทษตาม กม.ปม อ.พยาบาลซื้อวิจัย (20)