"...จากข้อมูลบทความวิชาการทั้งหมด มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ นายนายวานิช เป็นอาจารย์สอนในคณะพยาบาลศาสตร์ และนายบีเป็นอาจารย์สอนในคณะเทคนิคการแพทย์ แต่กลับปรากฎข้อมูลว่างานวิจัยที่มีการเผยแพร่นั้นอยู่แขนงด้านที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรม นวัตกรรม และงานเกี่ยวข้องกับวัสดุนาโนเสียเป็นส่วนใหญ่ ..."
ประเด็นเรื่องการจ่ายเงินซื้องานวิชาการเพื่อให้ได้ชื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการวิจัยเชิงวิชาการ เพื่อที่จะผู้วิจัยจะได้เครดิตงานวิจัยดังกล่าวไปหาผลประโยชน์ในตำแหน่งหน้าที่การงาน
กำลังเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงในแวดวงวิชาการเป็นอย่างมาก
โดยที่ไปที่มาของกรณีนี้ เป็นผลมาจากนักวิชาการและนักวิจัยหลายสถาบัน ต่างพร้อมใจกันออกมาโพสต์ข้อมูลเปิดโปงในสื่อโซเชียลมีเดีย ว่ามีนักวิชาการชาวไทยถูกแฉเข้าไปซื้องานวิจัยของชาวต่างชาติ ในเว็บไซต์ที่เปิดซื้อขายกันในราคาหลักหมื่นบาท เพื่อสร้างผลงานให้ตัวเองและบางส่วนก็พบว่ามีการนำมายื่นขอรางวัลหรือเงินสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย
ปัจจุบันสถานบันการศึกษาต้นสังกัดของนักวิชาการชาวไทย จำนวน 2 ราย คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเรื่องนี้เป็นทางการแล้ว
ขณะที่ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกมาย้ำต่อสาธารณะว่า ทางกระทรวง อว. จะดำเนินการอย่างจริงจังและเด็ดขาดกับนักวิชาการรายดังกล่าวที่กระทำความผิด พร้อมเตือนให้บุคคลากรทางวิชาการระมัดระวังอย่าให้เกิดความด่างพร้อย
- ไม่ใช่แค่ มช.! ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สั่งสอบปมซื้องานวิจัย อ.เจ้าตัวยันบริสุทธิ์
- มช.ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนักวิชาการ ปมซื้องานวิจัยใส่ชื่อตัวเอง
ผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร คงต้องดูติดตามดูกันต่อไป
อย่างไรก็ดี เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สืบค้นข้อมูลเว็บไซต์ฐานข้อมูลผลงานวิชาการในต่างประเทศ ชื่อว่า เว็บไซต์ hindawi.com หรือเว็บไซต์ของบริษัทฮินดาวีซึ่งเป็นบริษัทเก็บฐานข้อมูลงานวิจัย เพื่อเข้าไปตรวจสอบข้อมูลงานวิจัยของ นักวิชาการทั้ง 2 ราย รายแรกคือ นายวานิช สุขสถาน อาจารย์วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่เจ้าตัวยืนยันข้อมูลเป็นทางการไปแล้วว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ในเรื่องนี้ ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องการซื้อขายงานวิจัยตามที่ถูกตั้งข้อสังเกตแต่อย่างใด และอาจารย์คนที่ 2 สอนอยู่ที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งสำนักข่าวอิศราจะขอใช้ชื่อย่อว่า นายบี เนื่องจากว่ายังไม่มีการเปิดชื่อ ณ เวลานี้
พบข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้
ข้อมูลในส่วนของ นายวานิช มีบทความวิจัยอยู่ประมาณ 4 ฉบับได้แก่
1. Nanomaterial by Sol-Gel Method: Synthesis and Application หรือ วัสดุนาโนโดยวิธี Sol-Ge (วิธีการผลิตวัสดุที่เป็นของแข็งจากโมเลกุลขนาดเล็ก)l: การสังเคราะห์และการประยุกต์ใช้ เป็นงานวิจัยในด้านความก้าวหน้าด้านวัสดุศาสตร์และวิศวกรรม
หมายเหตุ:งานวิจัยชิ้นนี้พบว่านายวานิชทำกับนายบี
2. Predicting Antecedents of Employee Smart Work Adoption Using SEM-Multilayer Perceptron Approach หรือก็คือการคาดคะเนสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นก่อนที่พนักงานในองค์กรต่างๆยอมรับที่จะทำงานด้วยระบบอัจฉริยะ ด้วยการใช้แนวทางแบบโครงข่ายประสาทหลายชั้น โดยเป็นงานวิจัยในด้านพฤติกรรมมนุษย์และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่
3.Morphological Control: Properties and Applications of Metal Nanostructures หรือแปลเป็นไทยก็คืองานวิจัยว่าด้วยการควบคุมทางสัณฐานวิทยา: คุณสมบัติและการใช้งานของโครงสร้างนาโนโลหะ เป็นงานวิจัยในด้านความก้าวหน้าด้านวัสดุศาสตร์และวิศวกรรม
หมายเหตุ:งานวิจัยชิ้นนี้พบว่านายวานิชทำกับนายบี
4.Application of an Intelligent Hybrid Metaheuristic Algorithm for Multiobjective Redundancy Allocation Problem with Sustainable Maintenance หรือแปลเป็นไทยว่าการประยุกต์ใช้อัลกอริธึมอภิปรัชญาแบบไฮบริดอัจฉริยะสําหรับปัญหาการจัดสรรความซ้ำซ้อนแบบหลายวัตถุประสงค์พร้อมการบํารุงรักษาที่ยั่งยืน เป็นงานวิจัยในด้านปัญหาทางคณิตศาสตร์ และในด้านวิศวกรรม
งานวิจัยของนายวานิช สุขสถาน อาจารย์วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ Hindawi
ข้อมูลในส่วนของ นายบี สอนอยู่ที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีบทความวิจัย 5 ฉบับประกอบด้วย
1.Use of Organic and Copper-Based Nanoparticles on the Turbulator Installment in a Shell Tube Heat Exchanger: A CFD-Based Simulation Approach by Using Nanofluids หรือก็คือการใช้อนุภาคนาโนอินทรีย์และทองแดงในการติดตั้งอุปกรณ์คล้ายกังหัน ในเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนแบบท่อเชลล์: วิธีการจําลองตามแบบ CFD โดยใช้นาโนฟลูอิด เป็นงานวารสารวัสดุนาโน
2. Nanomaterial by Sol-Gel Method: Synthesis and Applicationหรือ วัสดุนาโนโดยวิธี Sol-Ge (วิธีการผลิตวัสดุที่เป็นของแข็งจากโมเลกุลขนาดเล็ก)l: การสังเคราะห์และการประยุกต์ใช้ เป็นงานวิจัยในด้านความก้าวหน้าด้านวัสดุศาสตร์และวิศวกรรม
หมายเหตุ:งานวิจัยชิ้นนี้พบว่าทำกับนายบีนายวานิช
3. Morphological Control: Properties and Applications of Metal Nanostructuresหรือแปลเป็นไทยก็คืองานวิจัยว่าด้วยการควบคุมทางสัณฐานวิทยา: คุณสมบัติและการใช้งานของโครงสร้างนาโนโลหะ เป็นงานวิจัยในด้านความก้าวหน้าด้านวัสดุศาสตร์และวิศวกรรม
หมายเหตุ:งานวิจัยชิ้นนี้พบว่านายบีทำกับนายวานิช
4. Application of Data Mining Methods in Grouping Agricultural Product Customers หรือแปลเป็นไทยก็คือการรประยุกต์ใช้วิธีการทําเหมืองข้อมูลในการจัดกลุ่มลูกค้าสินค้าเกษตร เป็นงานวิจัยที่อยู่ในด้านปัญหาทางคณิตศาสตร์และวิศวกรรม
และ 5. Role of Glass Composition on Mechanical Properties of Shape Memory Alloy-Metallic Glass Composites หรือก็คือบทบาทขององค์ประกอบด้านวัตถุแก้วต่อคุณสมบัติทางกลของรูปร่างหน่วยความจําโลหะผสมโลหะอัลลอยคอมโพสิตผสมด้วยแก้ว เป็นงานวิจัยในด้านปัญหาทางคณิตศาสตร์และวิศวกรรม
งานวิจัยของนายบี อาจารย์คณะเทคนิคการแพทย์ ที่ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ Hindawi
จากข้อมูลบทความวิชาการทั้งหมด มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ นายนายวานิช เป็นอาจารย์สอนในคณะพยาบาลศาสตร์ และนายบีเป็นอาจารย์สอนในคณะเทคนิคการแพทย์ แต่กลับปรากฎข้อมูลว่างานวิจัยที่มีการเผยแพร่นั้นอยู่แขนงด้านที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรม นวัตกรรม และงานเกี่ยวข้องกับวัสดุนาโนเสียเป็นส่วนใหญ่
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับเว็บไซต์ฐานข้อมูลผลงานวิชาการในต่างประเทศ ชื่อว่า เว็บไซต์ hindawi.com นั้น จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า เมื่อเดือน ต.ค. 2565 เว็บไซต์ Gadget Review ซึ่งเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับข่าวสารในวงการผู้บริโภคและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้มีการลงบทความเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสของบริษัทฮินดาวี (Hindawi) ซึ่งเป็นบริษัทที่นำเสนองานวิจัยต่างๆเอาไว้ (งานวิจัยหลายงานวิจัยถูกนำมาใช้อ้างอิงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการขายสินค้า)
มีรายละเอียดบทความดังต่อไปนี้
ผู้อ่านนั้นคาดหวังความจริง และความถูกต้องตามข้อเท็จจริงอย่างน้อยก็ส่วนหนึ่ง เมื่อพูดถึงวารสารทางวิชาการ อย่างไรก็ตาม ไม่นานมานี้มีประเด็นอันอื้อฉาวเมื่อบริษัทฮินดาวีได้มีการนำเสนองานวิจัยที่ใช้พิชญพิจารณ์ (การทบทวบนรรณกรรม ติชมจากเพื่อนนักวิชาการที่มีความรู้เสนอกันหรือสูงกว่าในสายงานเกี่ยวกับการวิจัย) ปลอมๆ
@อะไรคือบริษัทฮินดาวี
บริษัทฮินดาวีมีชื่อเต็มว่าบริษัท Hindawi Publishing Corp โดยบริษัทนี้เป็นบริษัทข้ามชาติ พบว่ามีความรับผิดชอบในการดูแลวารสารทางวิชาการจำนวน 400 ฉบับ ตัวบริษัทนั้นตั้งอยู่ที่ นครนิวยอร์กและในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และมีสำนักงานหลักอยู่ที่กรุงลอนดอน ก่อตั้งในปี 2535 และมีการเผยแพร่บทความวิชาการที่ผ่านพิชญพิจารณ์เป็นจำนวน 20,000 ฉบับ ในแต่ละปี
ที่ตั้งของบริษัทฮินดาวีในกรุงลอนดอน
โดยทุกบทความของบริษัทฮินดาวีนั้นเป็นบทความที่สามารถเข้าถึงได้และเผยแพร่ใบอนุญาตชื่อว่า Creative Commons หรือ สัญญาอนุญาตแบบเปิด เป็นลิขสิทธิ์ประเภทหนึ่งที่เปิดโอกาสให้สาธารณะได้ทำผลงานนั้นไปใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
@บริษัทฮินดาวีมีการปลอมพิชญพิจารณ์หรือไม่
ย้อนไปในปี 2558 บริษัทแห่งนี้มีส่วนเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในวารสารวิชาการจำนวนกว่า 32 ฉบับ ซึ่งบทความที่ว่ามานี้ถูกกล่าวหาว่ามีการปลอมแปลงและฉ้อโกง
คำถามก็คือเกิดอะไรขึ้น คำตอบก็คือว่าบรรณาธิการบทความวิชาการหลายคนถูกจับได้ว่ามีการปลอมแปลงพิชญพิจารณ์ ด้วยการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “บทวิจารณ์หุ่นเชิด”
ทางบริษัทได้อ้างว่าพวกเขาสามารถจะระบุตัวตนบรรณาธิการได้สามคนที่เหมือนจะล้มล้างกระบวนการตรวจสอบด้วยพิชญพิจารณ์ ด้วยวีรการสร้างบัญชีที่ทำหน้าที่ตรวจสอบปลอมๆ โดยบัญชีปลอมๆที่ว่านี้จะวิจารณ์บทความวิชาการออกมาให้เป้นแง่บวกสำหรับบทความวิชาการ
เรื่องนี้ส่งผลทำให้คณะกรรมาธิการการค้า ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯต้องดำเนินการสอบสวนและต้องมีการถอดบทความทางวิชาการออกจากการนำเสนอของบริษัทไปเป็นจำนวนหลายฉบับ
@มีบริษัทอื่นๆมีพฤติกรรมปลอมพิชญพิจารณ์หรือไม่
กรณีของบริษัทฮินดาวีนั้นไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้สอบสวนสามารถจะสืบค้นได้เกี่ยวกับการปลอมพิชญพิจารณ์ ที่ผ่านมาเคยมีกรณีของบริษัท BioMed Central ที่ดูแลบทความทางวิชาการกว่า 277 ฉบับซึ่งเป็นบทความทางการแพทย์ได้ออกมาประกาศเพิกถอนบทความทางวิชาการกว่า 43 ฉบับ หลังจากที่มีการตรวจค้นว่ามีหลายบทความที่เป็นปัญหาในเชิงของการปลอมพิชญพิจารณ์ ด้วยการใช้บัญชีปลอมเขียนวิจารณ์บทความในแง่บวก นี่ส่งผลทำให้มีการสอบสวนพฤติกรรมอันเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมขึ้น
@เรื่องนี้เป็นปัญหาตรงไหน
ระบบพิชญพิจารณ์นั้นเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนทั้งวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และเทคโนโลยีให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้ ถ้าหากพิชญพิจารณ์ถูกปลอมแปลง เป็นเท็จ ข้อสรุปของบทความวิจัยนั้นๆก็จะถูกตั้งคำถามได้ และอาจจะนำไปสู่อันตรายต่อสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของบทความทางวิชาการที่เกี่ยวกับเวชภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ หรือก็คือการปลอมพิชญพิจารณ์ เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายเทียบเท่ากับการขายสินค้าปลอมบนโลกออนไลน์
ทั้งนี้หลังจากเหตุการณ์ปลอมพิชญพิจารณ์ดังกล่าว บริษัทฮินดาวีก็ยังคงนำเสนอบทความทางวิชาการต่อไป ภายใต้การตรวจสอบที่เข้มข้นมากขึ้น อย่างไรก็ตามเหตุการณ์การปลอมพิชญพิจารณ์นี้ก็ยังคงไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทแต่อย่างใด
เรียบเรียงจาก:https://www.gadgetreview.com/hindawi-publishing-corporation-fake
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการจ่ายเงินซื้องานวิชาการเพื่อให้ได้ชื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการวิจัยเชิงวิชาการ เพื่อที่จะผู้วิจัยจะได้เครดิตงานวิจัยดังกล่าวไปหาผลประโยชน์ในตำแหน่งหน้าที่การงาน ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขณะนี้
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ยังไม่มีการสรุปผลการสอบสวนว่า มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแต่อย่างใด อาจารย์ทั้ง 2 ราย และผู้เกี่ยวข้องยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
ขณะที่ นายวานิช สุขสถาน อาจารย์วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีการยืนยันข้อมูลเป็นทางการไปแล้วว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ในเรื่องนี้ ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องการซื้อขายงานวิจัยตามที่ถูกตั้งข้อสังเกตแต่อย่างใด