ผลสอบปมซื้องานวิจัย ม.ทักษิณ! อธิการบดีเผยพบตีพิมพ์ผลงานผิดปกติ เร่งรายงาน อว.แล้ว สั่งตั้ง กก.สอบข้อเท็จจริงเพิ่ม ด้านอาจารย์ยันไม่ได้ซื้อ ชี้น่าจะเข้าใจผิด แจงได้ตำแหน่งทางวิชาการแล้ว จึงไปเรียนรู้ข้ามศาสตร์
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกกรณี นักวิชาการไทยบางรายจ่ายเงินซื้องานวิจัยเพื่อใส่ชื่อตัวเองเป็นเจ้าของผลงานและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ ซึ่งพบว่า มีอาจารย์ ก. อาจารย์จากมหาวิทยาลัยทักษิณ 1 ราย ที่อยู่ในข่ายถูกตรวจสอบปัญหาซื้อขายงานวิจัย ซึ่งอาจารย์รายนี้ยังดำรงตำแหน่งในระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัยอีกด้วย โดยได้ลาออกจากตำแหน่งผู้บริหาร และทางมหาวิทยาลัยได้มีการตั้งกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นแล้ว
ความคืบหน้าล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าผลการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
รศ.ดร.ณฐพงศ์ เปิดเผยว่า ผลสอบของคณะกรรมการสำรวจสถานะการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยทักษิณ พบว่า มีความผิดปกติของการเผยแพร่ผลงานวิจัย
โดยกระบวนการหลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจะเป็นกระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการทางปกครอง ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยกำหนดกรอบระยะเวลาเบื้องต้น 30 วัน แต่หากไม่ทันตามกำหนดก็สามารถขอขยายเวลาได้ แต่ทั้งนี้ก็จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อไขข้อสงสัยและคลุมเครือทั้งหมด
"คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะมีสามารถเข้าถึงข้อมูล รวมถึงการเรียกถามถึงพยานหลักฐานและพยานบุคคลจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อรายงานผลให้กับทางมหาวิทยาลัยทราบต่อไป" รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าว
ส่วนเรื่องการรายงานผลสอบภายในวันที่ 15 ก.พ.นี้ ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ส่งหนังสือสั่งการ รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าวว่า ได้มีการสั่งการไปแล้ว คาดว่าจะมีการรายงานผลสอบหลังจากพบความผิดปกติภายในวันที่ 10 ไม่เกิน 11 ก.พ.นี้ โดยมหาวิยาลัยได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น และตนได้สั่งการไปยังสถาบันวิจัยและพัฒนา ให้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมงานวิชาการและงานวิจัย เพื่อเป็นการวางนโยบายและดูแลการตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัยให้เป็นไปตามหลักจริยธรรม
รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
โดยก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังอาจารย์ ก. เพื่อสอบถามข้อเท็จ หลังจากรายงานข้อมูเชิงลึก พบว่าในช่วงปี 2564-2565 มีการเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยมากถึง 10 เรื่อง ผ่านเว็บไซต์ https://ieeexplore.ieee.org และมีข้อน่าสังเกตว่านักวิจัยร่วมมักจะมาจากประเทศอินเดีย
อาจารย์ ก. เปิดเผยว่า งานวิจัยกว่า 10 เรื่องที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ และมีการตีพิมพ์ร่วมกับคนอินเดียส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นการจัดการประชุมวิชาการ (Conference) ที่ประเทศอินเดีย ผู้นำเสนอและเข้าร่วมส่วนใหญ่จึงเป็นคนอินเดีย ซึ่งตนได้เข้าร่วมด้วยเช่นกัน
"เวทีทั้งหมดใน 10 กว่าเรื่องนี้ เป็นการจัดที่ประเทศอินเดีย เพียงแต่ว่า ถ้านำเสนอเสร็จในการประชุมนานาชาติ (International Conference) งานวิจัยก็จะได้เผยแพร่และอยู่ในฐานข้อมูลของ Scopus (ฐานข้อมูลบรรณานุกรมที่รวมรวมบทคัดย่อและการอ้างอิงจากวารสารวิชาการ) เท่านั้นเอง" อาจารย์ ก.ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการซื้องานวิจัยจริงหรือไม่ อาจารย์ ก. กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่ได้ซื้อ มีหลักฐานการส่งไปร่วม คิดว่าน่าจะเข้าใจผิดในมุมว่า ทำไมถึงมีการตีพิมพ์ใน Scopus แต่เนื่องจากได้มีการเข้าร่วมและนำเสนอในการประชุมนานาชาติ ทำให้มีชื่อไปปรากฏในฐานข้อมูลด้วย
"พอมีตำแหน่งเชิงวิชาการ เขาก็เชิญไปร่วมแลกเปลี่ยน ซึ่งกฎหมายก็จะไปเชื่อมกับ IOT (Internet of Things) ส่วนใหญ่ก็เป็น AI ซึ่งกฎหมายก็เข้าไปบูรณาการศาสตร์อยู่แล้ว อาจจะเป็นมิติใหม่เชิงวิชาการ เขาก็คงเข้าใจว่า เมื่อกฎหมายเข้าไปร่วมกับศาสตร์อื่น ก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับผม จึงกลายเป็นการตีพิมพ์ข้ามสาย" อาจารย์ ก. กล่าว
อาจารย์ ก. กล่าวอีกว่า ตนไม่ต้องทำงานในศาสตร์อยู่แล้ว เพราะว่าตนได้ตำแหน่งทางวิชาการไปแล้ว จึงต้องไปเรียนรู้ในศาสตร์ใหม่ๆ ทีนี้พอเป็นการประชุมวิชาการที่สามารถไปอยู่ในฐานข้อมูลได้ มันก็เป็นประโยชน์ ส่วนประเด็นว่าทำไมต้องเป็นคนอินเดีย ก็เพราะเวทีดังกล่าวจัดที่ประเทศอินเดีย โดยการเข้าร่วมมีทีมนักวิจัยที่มีความหลากหลาย
"ประเทศไทยในตัวกฎหมายยังไปไม่ถึงมาก จึงต้องทำงานร่วมกับต่างชาติ ในเรื่องของความปลอดภัยในอินเทอร์เน็ตบ้าง เรื่องการศึกษาในอนาคต และเป็นเรื่องงานวิจัยพื้นฐาน ไม่ใช่งานวิจัยทดลอง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องการศึกษาว่า ยุคโควิดแล้ว เราจะใช้ระบบออนไลน์อย่างไร อันนี้ก็จะมี Paper เหล่านั้นอยู่ด้วย เพียงแต่ว่ามันอยู่ตรงเวทีตรงนั้นเท่านั้นเอง" อาจารย์ ก. กล่าว
อาจารย์ ก. เปิดเผยถึงประเด็นการลาออกจากตำแหน่ง ว่า เพื่อไม่อยากให้เป็นประเด็น เพราะว่าคนยังรับในเรื่องนี้ไม่ได้ และเมื่อเป็นกระแส ก็ไม่อยากจะรู้สึกว่าจะต้องไปนั่งทำงาน อีกทั้งเป็นหัวหน้าในส่วนวิชาการด้วย ขอยืนยันว่าไม่ได้ซื้อขาย และมีหลักฐานยืนยันว่ามีการส่งไปตีพิมพ์จริง
ทั้งนี้ ภายหลังกระบวนการตรวจสอบเสร็จสิ้น จะดำเนินคดีกับบุคคลตั้งต้นที่ทำให้เสียหาย แม้ว่าจะไม่ได้โพสต์ตรงๆ แต่การกล่าวถึงว่ามีการตีพิมพ์ข้ามศาสตร์ ก็โยงให้เห็นว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังอาจารย์ ก.อีกครั้ง แต่ไม่สามารถติดต่อได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- มช.ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนักวิชาการ ปมซื้องานวิจัยใส่ชื่อตัวเอง (1)
- ไม่ใช่แค่ มช.! ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สั่งสอบปมซื้องานวิจัย อ.เจ้าตัวยันบริสุทธิ์ (2)
- ไม่มีซื้อขาย! เปิดตัว อ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไขข้อสงสัยแต่ละปีมีผลงานพิมพ์ได้หลายเรื่อง (3)
- ดร.ทัศนา บุญทอง :แจง’ปมตีพิมพ์งานวิจัย’อาจารย์พยาบาลฯ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (4)
- ส่องฐานข้อมูลวิจัย ตปท.! ดูผลงาน 2 อาจารย์ไทย ก่อนเคลียร์ปมร้อนไม่เคยจ่ายเงิน 'ซื้อ' (5)
- ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ปม อ.พยาบาลซื้อ-แปะชื่องานวิจัย (6)
- 'มข.-ราชภัฎ-ราชมงคล'แถลงจุดยืน ตั้ง กก.สอบงานวิจัยทั้งหมด หลังกระแสมี อ.ซื้อ-แปะชื่อ (7)
- พบอีก 2 ราย อ.ราชภัฏพิบูลฯเข้าข่ายซื้องานวิจัย อธิการบดีเผยมาทำงานปกติ-ตั้ง กก.สอบแล้ว (8)
- ถึงคิว! มรภ.พิบูลฯ' ตามส่องฐานข้อมูลวิจัย ตปท. 2 อ.เอี่ยวซื้อขายงานวิชาการจริงหรือ? (9)
- 'มอ.-ม.สุรนารีฯ-ศิลปากร'ประกาศยึดมั่นในจรรยาบรรณ-จริยธรรมของการวิจัย เร่งสอบทุกผลงาน (10)
- ขมวดปม'ซื้องานวิจัย-บายพาสชื่อใส่'เขย่าวงวิชาการไทย 11 อ.+โค้ชวิจัยดัง เผชิญข้อครหา? (11)
- อย่างน้อย 2 ราย! มข.ยัน อ.คณิตเอี่ยวปมซื้อวิจัย หยุดจ่ายค่าผลงานตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (12)
- มากกว่า 2 รายจริง! ตามไปดูงานวิจัย อ.มข. ก่อนถูกสอบปมซื้อ - เจอชื่อหลายคนเอี่ยว? (13)
- คราวนี้ระดับผู้บริหาร! ม.ทักษิณ สั่งสอบคณบดีปมซื้องานวิจัย-เจ้าตัวขอลาออกตำแหน่งแล้ว (14)
- แกะรอยงานวิจัย อดีตคณบดี ม.ทักษิณ ก่อนถูกสอบปมซื้อ? 2 ปี 10 เรื่อง เฉพาะ ieeexplore (15)
- มช.สอบกรณีอื่นเพิ่ม! ปมอาจารย์ซื้องานวิจัย เผยเคสเดิมดำเนินการตามกฎหมายแล้ว (16)