“…ปรับปรุงให้การกระทำที่ถือว่าเป็นการใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรมอันมีลักษณะเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม ครอบคลุม ‘ผู้รับใบอนุญาตทั่วไป’ โดยไม่ต้องกำหนดเป็น ‘ผู้มีอำนาจเหนือตลาด’ หรือ ‘ผู้มีส่วนแบ่งการตลาด’ เกินกว่าร้อยละ 25 และเพิ่มให้ กสทช. สามารถกำหนด ‘การกระทำหรือพฤติกรรมอื่น’ เพิ่มเติมได้…
.....................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ได้ส่ง ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการปรับปรุงประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561
และ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการปรับปรุงประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549
ไปให้ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เพื่อบรรจุเป็นวาระพิจารณาในการประชุม กสทช. ตั้งแต่ในช่วงเดือน เม.ย.2566 ที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้ประธาน กสทช. บรรจุเป็นวาระการพิจารณของ กสทช. นั้น (อ่านประกอบ : 3 เดือนยังไม่ถึงบอร์ด! ลุ้น‘ปธ.กสทช.’บรรจุวาระร่างประกาศ'เกณฑ์รวมธุรกิจ-ป้องกันผูกขาด'ใหม่)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปสาระสำคัญของ 'ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ...' มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ซื้อ‘หุ้น-สินทรัพย์’แค่‘บางส่วน’ เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกม.รวมธุรกิจ
หมวด 1 บททั่วไป : กล่าวถึงข้อห้ามมิให้ ‘ผู้รับใบอนุญาต’ กระทำการอันมีลักษณะเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม
-ปรับร่างประกาศฯให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน โดยตัดถ้อยคำที่เกี่ยวกับ ‘กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า’ ออกไป
-ปรับปรุงข้อกำหนดให้มีความกระชับมากขึ้น
-ปรับปรุงความต่อเนื่องของประกาศฯ โดยย้ายข้อกำหนดการพิจารณา ‘การกระทำที่มีลักษณะเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขัน’ ตามปัจจัยที่กำหนดในร่างประกาศฯ ไปไว้หลังข้อกำหนดพฤติกรรม
หมวด 2 การกระทำหรือพฤติกรรมที่ต้องห้าม : เป็นข้อกำหนดการกระทำหรือพฤติกรรมที่มิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำ โดยอ้างอิงลำดับตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 (1) การอุดหนุนบริการ (2) การถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน (3) การใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรม (4) พฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน (5) การคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย
-ปรับปรุงการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน โดยกำหนดให้ ‘การเข้าซื้อ’ หรือ ‘ถือหุ้นทั้งหมด’ หรือ ‘บางส่วน’ ของ ‘ผู้รับใบอนุญาตรายอื่น’ หรือ ‘การเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วน’ หรือ ‘กระทำการอื่นใดเพื่อควบคุมนโยบายหรือการบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น’
ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และตัดการกำหนดตัวเลขสัดส่วนของการเข้าซื้อหุ้น (ร้อยละ 25) ออกไป เนื่องจากมีกำหนดไว้อยู่แล้วว่าเป็นการกระทำเพื่อควบคุมนโยบายหรือการบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น
-ปรับปรุงให้การกระทำที่ถือว่าเป็นการใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรมอันมีลักษณะเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม ครอบคลุม ‘ผู้รับใบอนุญาตทั่วไป’ โดยไม่ต้องกำหนดเป็น ‘ผู้มีอำนาจเหนือตลาด’ หรือ ‘ผู้มีส่วนแบ่งการตลาด’ เกินกว่าร้อยละ 25 และเพิ่มให้ กสทช. สามารถกำหนด ‘การกระทำหรือพฤติกรรมอื่น’ เพิ่มเติมได้
@เปิดกว้างบุคคลทั่วไปร้องเรียนพฤติกรรม‘ผูกขาด-จำกัดการแข่งขัน’ได้
หมวด 3 กระบวนการไต่สวน : กล่าวถึงกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตได้รับความเสียหายจากการกระทำผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขัน สามารถร้องขอให้ดำเนินการไต่สวนได้ หรือหาก กสทช. มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้รับใบอนุญาตรายใดมีการกระทำดังกล่าว ก็สามารถสั่งให้ดำเนินการไต่สวนได้ โดยกำหนดขั้นตอน เช่น การตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ การให้โอกาสผู้ถูกไต่สวนชี้แจงข้อเท็จจริง และการยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวของผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับผลกระทบ
-ปรับปรุงให้ ‘บุคคลใดได้รับความเสียหาย’ สามารถร้องเรียนได้ แทน ‘ผู้รับใบอนุญาตรายหนึ่งรายใดได้รับความเสียหาย’ เพื่อเปิดกว้างให้บุคคลใดสามารถร้องเรียนได้ และให้สำนักงาน กสทช. เป็นผู้กรองก่อนนำเสนอ กสทช.
-ปรับปรุงให้ สำนักงานมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบสภาพการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมและจัดทำรายงานเพื่อเสนอแก่คณะกรรมการเป็นรายไตรมาส
หมวดที่ 4 มาตรการเฉพาะ : เมื่อไต่สวนพบว่าผู้รับใบอนุญาตมีการกระทำผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขัน กสทช. สามารถกำหนดมาตรการเฉพาะได้
โดยหากภายหลังพบว่ามาตรการดังกล่าวไม่เหมาะสม กสทช. อาจระงับ เพิ่มเติม ปรับปรุง หรือยกเลิกมาตรการดังกล่าวได้ และผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับคำสั่งให้ต้องปฏิบัติ สามารถร้องขอให้ยกเว้นข้อกำหนดของ กสทช. ได้ และหากเห็นว่าการกระทำที่เป็นปัญหานั้นสิ้นสุดแล้ว อาจขอให้ กสทช. ระงับ ยกเว้น หรือปรับปรุงมาตรการเฉพาะใหม่ได้
-ปรับปรุงการกำหนดมาตรการเฉพาะให้มีความสอดคล้องกับประกาศเรื่องผู้มีอำนาจเหนือตลาด ปี 2557 แต่ยังคงข้อกำหนด ‘มาตรการหรือเงื่อนไขอื่นที่คณะกรรมการกำหนด’ ไว้ เพื่อเปิดให้สามารถกำหนดมาตรการเฉพาะให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ได้
หมวดที่ 5 หน้าที่รายงาน ของผู้รับใบอนุญาต : เป็นการกำหนดหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และข้อกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาตามมาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ. ต้องอยู่ภายใต้ประกาศนี้
-ตัดหมวดที่ 5 ออกทั้งหมวด เนื่องจากข้อกำหนดซึ่งเป็นไปตาม มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ซ้ำซ้อนกับประกาศ กสทช. อื่นๆ
เช่น ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม (มาตรา 22 (1) (2)) ในเรื่องที่เกิดความเสียหายจนอาจเป็นปัญหาในการให้บริการโทรคมนาคม และการประกอบกิจการเพิ่มเติมจากที่ได้รับอนุญาต และประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม (มาตรา 22 (2) (3))
เหล่านี้เนื้อสาระสำคัญของ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการบรรจุเป็นวาระการพิจารณาของ ‘บอร์ด กสทช.’ ซึ่งหากบอร์ดฯเห็นชอบก็จะเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อไป!
อ่านประกอบ :
อำนาจสูงสุดอยู่ที่'กสทช.'! เปิดพิมพ์เขียว‘หลักเกณฑ์รวมธุรกิจ’โทรคมฯ ก่อนชงบอร์ดเคาะ
3เดือนยังไม่ถึงบอร์ด! ลุ้น‘ปธ.กสทช.’บรรจุวาระร่างประกาศ'เกณฑ์รวมธุรกิจ-ป้องกันผูกขาด'ใหม่
‘สภาผู้บริโภค’ทวง‘กสทช.’ เปิดข้อมูล‘TRUE-DTAC’ลดค่าบริการ 12% หลังรวมธุรกิจพ้น 90 วัน
'สอบ.'ยื่น'เพิกถอน'คำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯ'ศาลปค.ชั้นต้น' คดีควบ TRUE-DTAC
ยังฟังไม่ได้มีเหตุไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาลปค.’ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯคดีควบรวม TRUE-DTAC
‘สอบ.-ผู้บริโภค’ยื่นฟ้อง‘ศาลปกครอง’ เพิกถอน‘มติ กสทช.’ไฟเขียวควบ TRUE-DTAC แล้ว
ยื่น‘กมธ.ป.ป.ช.’ตรวจสอบ 3 กรรมการ กสทช. ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ กรณีลงมติควบ TRUE-DTAC
‘ทรู-ดีแทค’ เผยได้รับหนังสือแจ้ง ‘มติ กสทช.’ ไฟเขียวควบรวม TRUE-DTAC แล้ว
มติไม่สมบูรณ์-อาจมีปย.ขัดกัน! ชี้ 2 ปม ฟ้อง'ศาลปค.'เพิกถอน'มติ กสทช.'ไฟเขียวควบ TRUE-DTAC
ย้อนวิสัยทัศน์'กสทช.เสียงข้างมาก' ก่อนไฟเขียวควบTRUE-DTAC 'สรณ'เคยค้าน AIS จับมือ Disney
กสทช.เสียงข้างน้อย‘ศุภัช ศุภชลาศัย’ : ‘มาตรการเฉพาะ’TRUE-DTAC ไม่ป้องกันผลกระทบ‘ผูกขาด’