‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ ยื่นหนังสือ ‘กมธ.ป.ป.ช.’ ตรวจสอบ 3 ‘กรรมการ กสทช.’ เข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ กรณีลงมติควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC
.................................
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 3 คน และรักษาการเลขาธิการ กสทช. กรณีการพิจารณาการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)
น.ส.สารี กล่าวว่า กรณีที่ กสทช. เสียงข้างมากลงมติรับทราบการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC และกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อกำกับดูแลการรวมธุรกิจฯนั้น อาจเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากในการพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ 775/2565 ของศาลปกครองกลาง ในช่วงที่ผ่านมา กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้ยอมรับต่อศาลปกครองว่า กสทช.สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายในการห้ามไม่ให้มีการรวมธุรกิจได้ ซึ่งเป็นไปตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ที่ระบุว่า กสทช.มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตการรวมธุรกิจฯได้
“กสทช. ควรพิจารณาใช้อำนาจลงมติในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจตามคำวินิจฉัยของศาลปกครอง ไม่ใช่เพียงแต่ลงมติรับทราบและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ซึ่งการทำเพียงรับทราบ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่” น.ส.สารี กล่าว
น.ส.สารี ระบุด้วยว่า กรณีที่ กสทช. มีมติ 3:2:1 รับทราบการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC อาจเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมติที่ประชุมที่ออกมาเป็น 3:2:1 นั้น มาจากการลงคะแนนซ้ำของประธาน กสทช. ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจขัดต่อข้อ 41 (2) แห่งระเบียบข้อบังคับการประชุมของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2555 ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมที่กำหนดว่า กรณีการวินิจฉัยชี้ขาดนี้ ต้อง ‘ได้รับมติพิเศษ’ กล่าวคือ ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด’
“กรณีนี้มีจำนวนกรรมการ 5 คน และมีการลงมติ 2:2:1 คือ มีการลงมติรับทราบจำนวน 2 เสียง ลงมติไม่อนุญาตให้ควบรวมจำนวน 2 เสียง และงดออกเสียงจำนวน 1 เสียง ซึ่งจะเห็นได้ว่าจำนวนเสียงลงมติไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดตามที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว ดังนั้น ประธานจึงไม่มีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงเป็นเสียงชี้ขาด” น.ส.สารี กล่าว
น.ส.สารี ย้ำว่า กรณีที่สำนักงาน กสทช. จ้างบริษัทหลักทรัพย์ฟินันซ่า จำกัด ที่ปรึกษาที่อาจมีส่วนได้เสียกับบริษัทที่ต้องการควบรวมกิจการ อาจก่อให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ขาดความเป็นอิสระในการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง และแม้จะได้รับทักท้วงอย่างกว้างขวาง แต่รักษาการเลขาธิการ กสทช. ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ นอกจากนี้ การลงมติของกรรมการ กสทช. ในครั้งนี้ ทำให้เกิดการผูกขาดของสองเจ้าใหญ่ (Duopoly) ที่ยังขาดขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาที่ครบถ้วนรอบด้าน เช่น การขาดการพิจารณารายการงานศึกษาของต่างประเทศ หรือการไม่ให้ความสำคัญกับการพิจารณารายงานของคณะอนุกรรมการที่ กสทช. แต่งตั้งทั้ง 4 คณะ ที่ไม่สนับสนุนให้ กสทช. อนุญาตให้ควบรวม
ขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า การที่องค์ประชุมของ กสทช. ไม่ครบ 7 คน แต่กลับเร่งตัดสินใจลงมติควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC นั้น ตนเห็นว่า กสทช. ควรรอให้กรรมการ กสทช. ครบทั้ง 7 คน ก่อนตัดสินใจพิจารณาเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นการควบรวมฯดังกล่าวมีผลประโยชน์สูงมาก ส่งผลกระทบกับผู้บริโภคและสาธารณะอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องค่าบริการที่จะแพงขึ้น รวมถึงทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดน้อยลง