“…เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ (Remedies) ไม่สามารถป้องกันหรือลดทอนผลกระทบอันเกิดจากระดับการผูกขาดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้ ดังนั้น จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น และเพื่อไม่ให้ประเทศต้องเผชิญกับความเสี่ยงดังกล่าว ผมจึงไม่เห็นด้วยในการพิจารณาอนุญาตการรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)…”
.............................
หมายเหตุ : รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรรมการ กสทช. 'เสียงข้างน้อย' เผยแพร่เอกสารชี้แจงประกอบการลงมติ กรณีการวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หลังจากที่ประชุม กสทช. 'เสียงข้างมาก' มีมติเห็นชอบการรวมธุรกิจฯ
ข้อสรุป (Conclusion) ต่อกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)
กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นการกำกับดูแลธุรกิจและบริการที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ซึ่งนับวันจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นมากกับเศรษฐกิจของประเทศไทย และเข้าไปมีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคนในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
การกำกับดูแลให้ภาค (Sector) นี้มีการประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพและมีการแข่งขันที่สมบูรณ์ (Healthy Competition) จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีความเกี่ยวพันกับชีวิตของทุกคนในประเทศในเกือบจะทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ประจำวัน สุขภาพ การแพทย์ การพัฒนาประเทศ เป็นต้น
หาก Sector นี้ สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพราบรื่น ก็จะทำให้เศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ และการพัฒนาประเทศสามารถดำเนินไปได้เป็นอย่างดี และประเทศก็จะมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง
การรวมธุรกิจครั้งนี้ อาจก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้าน ทั้งด้านผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของสินค้าบริการ ด้านการพัฒนาประเทศ การพัฒนาทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจการแข่งขัน ความเหลื่อมล้ำ และมิติต่างๆอีกมาก หากเกิดปัญหาขึ้นแล้วเป็นไปได้ยากที่จะทำให้สถานการณ์กลับฟื้นขึ้นมาอีกภายหลัง หรือที่เรียกว่าเกือบจะ Irreversible ซึ่งหลายประเทศเคยประสบเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้ว
ทั้งนี้ จากข้อวิเคราะห์ทางกฎหมายและทางเศรษฐศาสตร์ สรุปได้ว่า
1.ในทางกฎหมาย กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตในการรวมธุรกิจตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ประกอบกับข้อ 8 ของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549
2.การรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีค่าดัชนี Herfindahl-Hirschman Index (HHI) มากกว่า 2,500 และเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 ไม่ว่าจะคำนวณมาจากส่วนแบ่งตลาด ซึ่งคิดจากจำนวนผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการในตลาดแต่ละราย หรือส่วนแบ่งตลาดจากรายได้ของผู้ให้บริการก็ตาม
โดยผลการศึกษาซึ่งคำนวณค่า HHI จากจำนวนผู้ใช้บริการ พบว่า ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ หลังการรวมธุรกิจ HHI เพิ่มขึ้นจาก 3,612 เป็น 4,725 หรือเพิ่มขึ้น 1,113 และตลาดบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ เพิ่มขึ้นจาก 3,511 เป็น 4,745 หรือเพิ่มขึ้น 1,234 นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อตลาดต้นน้ำในระดับ Infrastructure
โดยตลาดบริการการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน สำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หลังการรวมธุรกิจ HHI เพิ่มขึ้นจาก 3,773 เป็น 5,000 หรือเพิ่มขึ้น 1,227 ตลาดบริการขายส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพิ่มขึ้นจาก 2,979 เป็น 3,393 เพิ่มขึ้น 414 และตลาดบริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพิ่มขึ้นจาก 3,356 เป็น 5,024 หรือเพิ่มขึ้น 1,668
3.มีความเป็นไปได้สูงที่การรวมธุรกิจจะก่อให้เกิดการร่วมมือกันทางธุรกิจที่ก่อให้เกิดอำนาจตลาดสูง (Collusion) ซึ่งจะส่งผลต่อการแข่งขัน เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยาก หรือไม่มีทาง เป็นไปได้เลยที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะเข้าสู่ตลาด
4.ผลกระทบจากการรวมธุรกิจที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมีสูงมาก ซึ่งประกอบด้วย
4.1 อัตราค่าบริการ (Price) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และทางเลือกในการรับบริการน้อยลง
4.2 ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) มีแนวโน้มลดลง และจะไม่ส่งผ่านไปสู่ผู้บริโภค
4.3 ผู้รวมธุรกิจไม่มีแรงจูงใจในการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี หรือถ้ามีก็ล่าช้า
4.4 คุณภาพการให้บริการ (Quality of Services) ของผู้ประกอบการในตลาดอาจลดลง
4.5 อุปสรรคการเข้าสู่ตลาด (Barriers to Entry) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้
4.6 ผู้รวมธุรกิจอาจลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเพื่อให้เกิดบริการทั่วถึง เนื่องจากเมื่อผู้ให้บริการขาดแรงจูงใจในการแข่งขันแล้ว จึงทำให้ไม่เข้าไปลงทุนในพื้นที่ที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนต่ำหรือลงทุนในพื้นที่เหล่านั้นน้อยลง ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ย่อมทำให้ “ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม” เพิ่มสูงขึ้น จนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide)
4.7 ผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และต่อ GDP ที่ทำให้ GDP มีแนวโน้มลดลง และอัตราเงินเฟ้อ (Inflation) เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีการรวมธุรกิจ
5.ดังนั้น การรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นการดำเนินการที่มีความเสี่ยงสูงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สาธารณชน และสังคมโดยรวม
ทั้งนี้ ประโยชน์จากการรวมธุรกิจยังขาดความชัดเจนว่า ประชาชนจะได้รับระโยชน์มากน้อยเพียงใดจากการรวมธุรกิจในครั้งนี้ ซึ่งในกระบวนการของการพิจารณาก็ได้พยายามประเมินผลดีของการรวมธุรกิจผ่านวิธีการต่างๆ แต่ผลยังไม่ปรากฎเป็นที่แน่ชัดที่มาบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดต่อสาธารณชน เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศได้
6.จากการศึกษาและประสบการณ์ในอดีตของประเทศต่างๆ ที่เกิดการรวมธุรกิจและเหลือผู้ประกอบการ 2 รายในตลาด พบว่า เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ (Remedies) ไม่สามารถป้องกันหรือลดทอนผลกระทบอันเกิดจากระดับการผูกขาดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้
ดังนั้น จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น และเพื่อไม่ให้ประเทศต้องเผชิญกับความเสี่ยงดังกล่าว ผมจึงไม่เห็นด้วยในการพิจารณาอนุญาตการรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)
อ่านประกอบ :
ประชาชนต้องทำอะไร หลังมติอัปยศของ กสทช.
‘สอบ.’จ่อยื่น‘ศาลปค.’ไต่สวนฉุกเฉินฯ ปมควบ TRUE-DTAC จี้‘กสทช.’ลดค่าบริการให้ลูกค้า AIS
ควันหลงประชุมรวม TRUE-DTAC: “ผมทรยศวิชาชีพตัวเองไม่ได้หรอก”
เสียง 2:2 ! 'ประธาน กสทช.' ลงมติซ้ำ ชี้ขาดควบรวม TRUE-DTAC-สั่งคุมเข้มค่าบริการ
ส่อผูกขาด-ทางเลือกน้อยลง! ‘กสม.’เรียกร้อง‘กสทช.’เปิดผลศึกษาควบ TRUE-DTAC-ฟังความเห็นปชช.
‘กลุ่มทรู’เปิด 5 หลักการควบธุรกิจ TRUE-DTAC ยันยึดมั่นประโยชน์ลูกค้า-ขยาย 5G เร็วขึ้น
เปิดผลศึกษา‘ที่ปรึกษาตปท.’ ชี้ควบ TRUE-DTAC ทำแข่งขันลด-ค่าบริการแพงขึ้น-รายใหม่เกิดยาก
เปิดความเห็น‘อนุฯกฎหมาย’! ‘กสทช.’มีอำนาจชี้ชะตาดีล TRUE-DTAC มอง 3 ทางเลือกที่เป็นไปได้?
คาดได้ข้อยุติ 20 ต.ค.นี้! ‘บอร์ด กสทช.’ เลื่อนเคาะดีลควบ TRUE-DTAC รอรายงานที่ปรึกษาฯ
‘TRUE-DTAC’ เรียกร้อง ‘กสทช.’ เร่งพิจารณาดีลควบรวมธุรกิจ หวั่นผู้บริโภคเสียประโยชน์
‘บอร์ด กสทช.’ นัดถกดีลควบ ‘TRUE-DTAC’ 12 ต.ค.นี้-‘พิรงรอง’ ยันยึดประโยชน์สาธารณะ
‘บอร์ด กสทช.’ รับทราบหนังสือ ‘กฤษฎีกา’ แจ้งผลตีความอำนาจควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC
ฉบับเต็ม! เปิดบันทึก ‘กฤษฎีกา’ ตีความควบธุรกิจ TRUE-DTAC ชี้เป็นอำนาจ ‘กสทช.’ ใช้ดุลพินิจ
‘บิ๊กป้อม’ สั่ง ‘กฤษฎีกา’ ตีความอำนาจ ‘กสทช.’ ปมควบรวมธุรกิจ ‘TRUE-DTAC’ 6 ประเด็น
เบื้องหลังสั่งลบ‘5 Facts ควบ TRUE-DTAC’-โชว์หนังสือ‘ปธ.กสทช.’คุมอำนาจแพร่ข่าวคนเดียว