"...ถ้าคิดดูดีๆ เมื่อเราใช้คลื่นและ internet เยอะ เราก็จะมี look into social media entertainment banking ซึ่งเราไม่อยากเห็นการนำสิ่งเหล่านี้ไปสู่ monopoly หรือ การเป็นเจ้าใดเจ้าหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น AIS จะจับมือกับ Disney โดย AIS เป็น Internet Provider เป็นสัญญาณ ส่วน Disney เป็น Content Provider เราไม่น่าจะให้ทั้ง 2 คนจับมือกัน น่าจะให้แยกแยะ คนสร้างถนนกับคนผลิตรถควรจะแยกจากกัน..."
........................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติ ‘รับทราบ’ การรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และกำหนด ‘มาตรการเฉพาะ’ เพื่อกำกับดูแลการรวมธุรกิจ
โดยกรรมการ กสทช. เสียงข้างมาก ได้แก่ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และ ต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการ กสทช. มีมติเห็นว่า การรวมธุรกิจในกรณีนี้ ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 (ประกาศฉบับปี 2549) โดยนัยของผลตามข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม (ประกาศฉบับปี 2561)
และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 โดยรับทราบการรวมธุรกิจและเมื่อ กสทช. ได้รับรายงานการรวมธุรกิจแล้ว กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะตามข้อ 12 ของประกาศฉบับปี 2561 (อ่านประกอบ : เสียง 2:2 ! 'ประธาน กสทช.' ลงมติซ้ำ ชี้ขาดควบรวม TRUE-DTAC-สั่งคุมเข้มค่าบริการ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำสาธารณชนย้อนกลับไปฟังวิสัยทัศน์ของ กสทช. เสียงข้างมาก ทั้ง 2 ราย คือ ศ.คลินิก นพ.สรณ และ ต่อพงศ์ เกี่ยวกับมุมมองในเรื่องการ 'ผูกขาด' และ 'การมีส่วนร่วมของประชาชน' เมื่อครั้งแสดงวิสัยทัศน์ในช่วงการสรรหาบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. เมื่อปี 2564 ดังนี้
@AIS จะจับมือกับ Disney-เราไม่น่าจะให้ทั้ง 2 คนจับมือกัน
ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ : กระผม ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ สมัครกรรมการ กสทช. เพื่อจะนำมิติใหม่มาสู่กรรมการ กสทช. กสทช.เป็นองค์กรที่ควบคุมกำกับดูแลคลื่น ผมคิดว่าภาระใหญ่ๆ ที่จะพูด 4 เรื่อง ได้แก่
เรื่องที่ 1 การกำกับดูแลใช้คลื่นเพื่อควบคุมโรคระบาดที่กำลังเจออยู่
เรื่องที่ 2 การทำให้สังคมดิจิทัลเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
เรื่องที่ 3 เรื่องที่จะทำให้มีความเท่าเทียมกัน เรียกว่า level the playing field
เรื่องที่ 4 เรื่อง Threat ของ กสทช.
เรื่องแรก คือ เราไม่เคยคิดว่า กสทช. น่าจะมีบทบาทในการควบคุมโรคระบาดตั้งแต่แรก เมื่อมีการระบาด การแจกซิมหรือบังคับให้ผู้ให้บริการลงทะเบียนผู้เดินทางเข้ามาในประเทศ เป็นสิ่งที่เรา น่าจะทำได้ตั้งแต่แรก
สิ่งที่สอง คือ เรื่องการดูแลผู้ป่วยที่ล้นหลาม ซึ่งวันนี้เรามีคนที่ป่วยอยู่ 160,000 คน อยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลืออยู่ที่บ้านและโรงพยาบาลสนาม การใช้คลื่น 5G ในอนาคต น่าจะตรวจสอบสัญญาณชีพและส่งสัญญาณไปยัง telemedicine ได้ นี่คือการบริหารจัดการที่อาจจะต้องเกิดขึ้นในอนาคต
สิ่งที่สาม คือ กสทช. น่าจะรู้ว่าการกระจุกสัญญาณของโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ไหน น่าจะ provide ได้ ตรงไหนเป็นแหล่งมั่วสุม ตรงไหนเป็นที่ชุกชุมของคนที่อยู่ สามารถบริหารจัดการได้ และอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องวัคซีน ซึ่ง กสทช. น่าจะทำเป็น format ให้ทุกคนเข้าถึงได้ ตรงนี้เป็นบทบาทในการควบคุมโรคระบาด
เรื่องที่ 2 คือ ในสังคมดิจิทัล คลื่นเป็นตัวจักรสำคัญที่จะทำให้เราออก พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรียกว่า digitize กระบวนการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรม ความมั่นคง การจราจร จนกระทั่งเงินตรา currency ซึ่งตอนนี้แบงก์ชาติกำลังทำอยู่
ผมคิดว่า ถ้าเราไม่มีคลื่นที่เร็วและมั่นคงพอ เราไม่สามารถจะทำให้สิ่งเหล่านั้นเป็นจริงได้ โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่าคลื่น 5G หรือคลื่นที่จะตามมาเป็นตัวจักรสำคัญในพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขได้ เราอยากเห็น smart hospital ซึ่งคิดว่าจะทำให้การรักษาพยาบาลเร็วขึ้น
อย่างเช่น ตอนนี้การ transfer คนไข้จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ทำไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นอีกหน่อย สิ่งที่เรียกว่า telesurgery อาจมีอยู่จริง พูดง่าย ๆ คือ หมอที่กรุงเทพมหานครสามารถช่วยหมอที่อยู่บุรีรัมย์ในการผ่าตัดโดยไม่ต้องย้ายคนไข้มา ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น และการใช้คลื่นเพื่อประโยชน์เหล่านี้น่าจะเป็นจริงมากขึ้น
(ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์)
เรื่องที่ 3 คือ วิสัยทัศน์ เราต้องมีความเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ตอนนี้เราใช้ Line เป็นโทรศัพท์ ใช้ YouTube เป็น TV เรา depend on ผู้ให้บริการมาก พูดง่ายๆ ว่า เราต้องมีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้มี application ในสิ่งเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น
ถ้าคิดดูดีๆ เมื่อเราใช้คลื่นและ internet เยอะ เราก็จะมี look into social media entertainment banking ซึ่งเราไม่อยากเห็นการนำสิ่งเหล่านี้ไปสู่ monopoly หรือ การเป็นเจ้าใดเจ้าหนึ่ง
ยกตัวอย่างเช่น AIS จะจับมือกับ Disney โดย AIS เป็น Internet Provider เป็นสัญญาณ ส่วน Disney เป็น Content Provider เราไม่น่าจะให้ทั้ง 2 คนจับมือกัน น่าจะให้แยกแยะ คนสร้างถนนกับคนผลิตรถควรจะแยกจากกัน
@มอง ‘Low Orbit Satellite’ จะนำมาซึ่งการสื่อสารในราคาถูก
เรื่องที่ 4 คือ Threat ของ กสทช. เราควบคุมกำกับดูแลคลื่น แต่สิ่งที่จะตามมา คือ Low Orbit Satellite ที่จะนำมาซึ่งการสื่อสารในราคาถูกหรืออาจจะฟรีสำหรับทุกคน และใช้อุปกรณ์ที่ง่ายขึ้น เราอาจไม่สามารถควบคุมกำกับดูแลสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้นต้องคิดล่วงหน้าเหมือนกันว่า กสทช. อีก 5 ปี ยังสามารถจะควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : อันที่จริง ผมได้อ่านประวัติและประสบการณ์ รวมทั้งวิสัยทัศน์ของผู้สมัครที่ยื่นมาแล้วอย่างละเอียด ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น การนำเอากิจการโทรคมนาคมเข้ามาใช้ใน application อื่นๆ
โดยเฉพาะ telemedicine ซึ่งเหมาะมากกับคลื่น 5G ขึ้นไป ทั้งนี้ ในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่า ถ้าไม่มีกิจการโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ พูดง่ายๆ คือ ถ้าประชาชนไม่มีโทรศัพท์มือถือหรือ Smart Phone ย่อมอยู่ในยุคของ COVID-19 ได้ยากมาก ตัวอย่างเช่น ช่วงที่เกิด COVID-19 หากเราจะไปศูนย์การค้าแต่ไม่มีโทรศัพท์มือถือไปด้วย ก็ลงทะเบียนไทยชนะไม่ได้ หมอพร้อมไม่ได้ ลงทะเบียนขอวัคซีนไม่ได้
ปัญหา คือ application เหล่านี้ กสทช. สามารถที่จะกำกับดูแลให้เกิดขึ้นได้ เพียงแต่ต้องมี Determination ที่จะต้องเจรจากับผู้ประกอบการด้วยเสียงแข็งว่า จะให้มี telemedicine ทั้งนี้ ในส่วนของผู้บริโภค เพื่อให้ได้ประโยชน์เต็มที่จาก 5G ดังกล่าว อุปกรณ์การสื่อสารจะต้อง compatible ด้วย ซึ่งปัญหาขณะนี้คือ ผู้ให้บริการอาศัยช่องทางของเทคโนโลยีบีบบังคับให้ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนเครื่องบ่อยทุก 2 ปี ไม่ทราบว่าขณะนี้ ผู้สมัครใช้ iPhone หรือไม่
ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ : ใช้ครับ
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : ท่านใช้ iPhone รุ่นไหนครับ
ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ : รุ่นล่าสุด iPhone 12 ครับ
นายวิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : iPhone 10 โดยเฉพาะ iPhone 9 เริ่มมีปัญหาที่ระบบปฏิบัติการไม่รองรับแล้ว เพราะฉะนั้น application หลายอย่างจะใช้ไม่ได้แล้ว กสทช. จะมีบทบาทอย่างไรที่จะช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงตรงนี้ ซึ่งผมนึกถึงว่า แทนที่จะบีบให้ประชาชนเปลี่ยนเครื่องทุก 2 ปี เครื่องเก่าที่เขามีอยู่แทนที่จะขาย 500-1,000 บาท กสทช. จะรับผิดชอบให้มีการ update เครื่องในราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้หรือไม่
ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ : ประเด็นที่ 1 คือการใช้ format ซึ่งสามารถจะให้รุ่นเก่าใช้ได้ ตัวอย่างเช่น การที่จะ carry บัตรประชาชนใบเดียวไปที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น x-ray หรือ EKG ก็ตาม อันนั้น คือ ได้ประโยชน์กับผู้บริโภค ซึ่งอาจจะไม่ต้องใช้ format รุ่นใหม่ในการทำ
ประเด็นที่ 2 คือการ upgrade โทรศัพท์ ซึ่งหากเป็น chip ที่ interchangeable ก็ทำได้ ยกเว้นรุ่นเก่าๆ ซึ่งอาจต้องเปลี่ยนใหม่ หรือการให้บริการ subtitle ในเครื่องรุ่นแบบที่มีเทคโนโลยีใหม่ แต่ราคาที่ถูกลงจากประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันค่อนข้างจะเป็นไปได้แล้ว
(ที่มา : รายงานการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ของคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่เสนอต่อวุฒิสภา เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2564)
@‘กสทช.’ต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงาน
ต่อพงศ์ เสลานนท์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ต่อพงศ์ เสลานนท์ : กระผม นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ผู้สมัคร กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องขอกราบขอบพระคุณท่านกรรมการที่ให้โอกาสมาแสดงวิสัยทัศน์ในวันนี้ ซึ่งเนื้อหาประกอบด้วย ประวัติโดยย่อของผม
ปัจจุบันผมอายุ 45 ปี ผมประสบอุบัติเหตุสูญเสียการมองเห็น ตั้งแต่ปี 2535 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 30 ปี ด้วยเหตุที่ผมสูญเสียการมองเห็น ทำให้ผมตระหนักและเข้าใจถึงสภาพปัญหาความยากลำบากของคนพิการ ประชาชน ผู้ด้อยโอกาส รวมถึงผู้สูงอายุ ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากบริการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมเป็นอย่างดี
และเป็นเหตุที่ทำให้ผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันนโยบายกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี และด้วยเหตุความพิการของผม ทำให้ผมได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือSmartphone เพื่อใช้เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการศึกษา การประกอบอาชีพและการใช้ชีวิตประจำวัน ผมจึงตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่มีต่อคนในสังคมปัจจุบันเป็นอย่างดี
เป็นที่ทราบกันดีว่า กิจการในการกำกับของ กสทช. นับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะยุคปัจจุบันที่เป็นยุค Digital disruption แน่นอนว่าใครที่ปรับตัวได้ เปลี่ยนแปลงได้ก็จะมีโอกาสเติบโต อย่างเช่น Platform จำหน่ายสินค้าออนไลน์ต่างๆ แต่ในทางตรงกันข้าม ประชาชนกลุ่มที่ไม่พร้อมหรือขาดโอกาสก็จะกลายเป็นผู้ด้อยโอกาสทันที
อย่างเช่น ในกรณีโควิด-19 ที่มีการศึกษาออนไลน์ และพบข้อเท็จจริงว่า มีครอบครัวนักเรียนจำนวนมากที่ขาดความพร้อม ทั้งอุปกรณ์และทุนทรัพย์ในการเข้าถึงบริการ นี่คือความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในสังคมปัจจุบัน และเป็นหน้าที่สำคัญของ กสทช. ที่ต้องส่งเสริมสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนเพื่อให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสื่อสารของชาติได้อย่างมีคุณภาพและเสมอภาค ซึ่งอุปสรรคในการเข้าถึง จะแบ่งเป็นหลักๆ 4 ประการด้วยกัน
ประการที่ 1 การอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเป็นเหตุที่อาจจะได้รับบริการที่ด้อยคุณภาพ
ประการที่ 2 สภาพความพิการ หรือการเสื่อมสภาพตามวัย ซึ่งมีเงื่อนไขในการเข้าถึงแตกต่างจากบุคคลทั่วไป อุปกรณ์และ Application ต่างๆ ไม่รองรับ
ประการที่ 3 สถานะทางเศรษฐกิจที่ทำให้เข้าไม่ถึงอุปกรณ์บริการที่มีคุณภาพ
(ต่อพงศ์ เสลานนท์)
ประการที่ 4 การขาดความรู้เท่าทันเทคโนโลยีในการเข้าใช้บริการ และความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อ
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ กสทช. ต้องใช้อำนาจหน้าที่เครื่องมือกลไกต่างๆ พร้อมกับการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งผมคิดว่าปัจจัยในความสำเร็จเรื่องนี้ มีอย่างน้อย 3 ประการ
ประการที่ 1 กสทช. ต้องมีความเข้าใจหรือสภาพปัญหานี้อย่างลึกซึ้ง
ประการที่ 2 กสทช. ต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็วและเข้าใจบริบทความแตกต่างของคนในสังคม
ประการที่ 3 กสทช. ต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานไปพร้อมกันเพื่อให้ กสทช. เป็นองค์กรที่ประชาชนสามารถจับต้องได้สิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องได้รับการเสริมพลังให้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิทธิเสรีภาพนั้น เพื่อที่จะได้นำไปสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง สังคม ประเทศชาติต่อไป บนพื้นฐานการเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน
ซึ่งผมมั่นใจว่า ประสบการณ์ของผมในการทำงานด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพกว่า 20 ปี และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องของ กสทช. ผมสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขอให้คำมั่นว่า จะปฏิบัติหน้าที่นี้ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน เป็นสำคัญ และเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้สภาพความพิการของผมไม่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ กสทช.
@สิทธิเสรีภาพเป็นพื้นฐานสำคัญในเรื่องทรัพยากรสื่อสารของชาติ
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขนุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : ในส่วนของกิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ท่านคิดว่า ในปัจจุบัน สิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านไหนบ้างที่ยังไม่ได้รับการส่งเสริมและไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร
ต่อพงศ์ เสลานนท์ : ต้องเรียนว่า หากกลุ่มคนที่มีความพร้อมแข็งแรง เขาก็สามารถมีวิธีการในการเข้าถึงสิทธิของเขาอยู่แล้ว แต่ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่มีอยู่กว่า 2 ล้านคน หรือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากยิ่งขึ้นในฐานะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย รวมถึงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล สิทธิของเขาเหล่านี้ยังด้อยกว่ามาก
วันที่เราใช้เวลาแค่ 5 นาที เราอาจจะ download ข้อมูลได้ 100 เมกะไบต์ แต่ในพื้นที่ห่างไกลใช้เวลาเท่ากัน 5นาที อาจจะ load ข้อมูลได้แค่ 50 เมกะไบต์ แสดงว่า ถ้าความเท่าเทียมไม่เกิดขึ้น เวลาของคนในพื้นที่ห่างไกลจะมีคุณค่าน้อยกว่าเวลาของคนในพื้นที่ที่มีความเจริญก้าวหน้า ซึ่งผมคิดว่า สิทธิเสรีภาพเป็นพื้นฐานสำคัญในเรื่องทรัพยากรสื่อสารของชาติที่ทุกคนควรได้รับ
ในส่วนกิจการกระจายเสียง ผมเรียนว่าข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องสำคัญของประชาชน ในบริการโทรทัศน์ เราพยายามที่จะทำให้เกิดเสียงบรรยายภาพ หรือคำบรรยายแทนเสียง ซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์เฉพาะคนตาบอดหรือคนหูหนวก แต่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนที่จะสามารถใช้ประโยชน์ได้ในบางเวลาที่ไม่ได้ใช้สายตา หรือบางเวลาที่อาจมีเสียงอื่นรบกวนก็สามารถมองภาพได้
เรียนท่านกรรมการว่า เป้าหมายสำคัญอันหนึ่งที่ต้องสร้างให้เกิดเรียกว่า Accessibility standard หรือ Accessibility guideline เพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้ที่มีความพิการ สูงอายุ หรือยากจน จะไม่กลายเป็นผู้เสียเปรียบในการเข้าถึงและใช้บริการจากกิจการต่าง ๆ เหล่านี้
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : เรื่องผู้ที่มีสภาพทางกายที่อาจจะเสียเปรียบคนอื่น อาจจะเป็นทางหู ทางตา หรือทางด้านอื่น ๆ โดยใน 3 กิจการนี้ สิ่งที่ผู้สมัครใช้คือคำว่า Accessibility คงมีความแตกต่างกัน
อย่างเช่น ในกิจการวิทยุ คนที่จะเข้าไม่ถึงคือผู้ที่พิการทางหู แต่ผู้ที่พิการทางตาไม่เสียเปรียบ ถ้าเป็นโทรทัศน์ ผู้ที่พิการทางตาจะเสียเปรียบผู้ที่พิการทางหู ซึ่งปัจจุบันมีการแก้ไขโดยทำล่ามภาษามือ และมีคำบรรยายภาพที่เป็นตัววิ่งให้ชัดเจนขึ้น
ส่วนกิจการโทรคมนาคมในปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ใช้กับ Smartphone ในแง่ของผู้ที่พิการทางสายตา อาจได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้จอแบบสัมผัสที่เรียกว่า Textile ผู้สมัครคิดว่า ถ้าเป็น กสทช. ท่านจะเข้าไปแก้ปัญหาเทคโนโลยีนี้ เพื่อให้ผู้ที่พิการทางสายตา ทางหู หรือทางด้านอื่นๆ มี Accessibilityทางคมนาคมอย่างไรบ้าง
ต่อพงศ์ เสลานนท์ : ถ้าเราแบ่งกระบวนการจากผู้ผลิตรายการหรือ Content ไปสู่ตัวประชาชน เริ่มจาก Content หรือเนื้อหา ซึ่งทุกวันนี้ Content เริ่มปรับตัวให้มีล่ามภาษามือ ตัวอักษรวิ่ง หรือเสียงบรรยายภาพ อันที่ 2 Network หรือโครงข่าย ซึ่ง coverage พื้นที่ในการเข้าใช้บริการ โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยมี coverage การให้บริการโทรคมนาคมที่ดีพอสมควร
อันที่ 3 เป็น Device หรือ อุปกรณ์ อันที่ 4 Application ซึ่งมี interface ทั้งนี้ ในเรื่อง Device และ Application ต้องมี Accessibility standard แม้จะเป็นหน้าจอสัมผัส แต่สามารถที่จะส่งเสียงบอกเวลาให้คนตาบอดได้ทราบ เป็นการสร้าง interface หรือวิธีการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์กับคนที่เหมาะสมกัน และอันที่ 5 เป็น User หรือผู้ใช้งาน
ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยอยู่ที่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่ผลิต Application ยังไม่เข้าใจเรื่อง Accessibility ซึ่งเป็นเรื่องสากล หากผู้ประกอบการเข้าใจเรื่องนี้ จะได้ประโยชน์ทั้งกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นประชาชนก็จะได้ประโยชน์จากอุปกรณ์ที่เข้าถึงในทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งคนตาบอด คนหูหนวก หรือผู้ที่มีความบกพร่องอื่นๆ
วิษณุ วรัญญู (กรรมการสรรหาและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา) : ในปัจจุบันนี้มีปัญหาเรื่องโควิด-19 และต้อง work from home หรือเรียนออนไลน์ ท่านที่มีปัญหาเรื่องทางกายภาพ เช่น ตา หู และต้องเรียนออนไลน์หรือทำงานจากบ้าน ต้องทำอย่างไร
ต่อพงศ์ เสลานนท์ : ใช้อุปกรณ์เช่นเดียวกับคนทั่วไป แต่การเรียนออนไลน์จะมีปัญหามาก โดยต้องมีคนที่เรียกว่าเป็น Resource teacher ซึ่งเป็นครูที่เข้าไปช่วยสอนเสริม แต่ปัญหาหนึ่ง คือ กลุ่มพ่อแม่ที่เป็นคนพิการ แต่มีลูกที่ไม่พิการ ซึ่งปัจจุบันเรามีการสร้าง Community ขึ้นมาช่วยลูกทำการบ้าน เนื่องจากบางครั้ง สวัสดิการรัฐเข้าไปไม่ถึง จึงอาจต้องใช้ Community เข้าไปช่วยคลี่คลายปัญหาเพื่อช่วยให้คนเหล่านี้เข้าถึงบริการเช่นเดียวกับคนทั่วไป
เหล่านี้เป็นวิสัยทัศน์ที่ กรรมการ กสทช.เสียงข้างมาก 2 ราย ที่เคยแสดงวิสัยทัศน์เอาไว้เมื่อปี 2564 ก่อนที่ กสทช.ทั้ง 2 ราย จะลงมติว่ากรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC กสทช.มีอำนาจเพียง ‘รับทราบ’ และกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อกำกับดูแลการรวมธุรกิจ!
(ที่มา : รายงานการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ของคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่เสนอต่อวุฒิสภา เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2564)
อ่านประกอบ :
กสทช.เสียงข้างน้อย‘ศุภัช ศุภชลาศัย’ : ‘มาตรการเฉพาะ’TRUE-DTAC ไม่ป้องกันผลกระทบ‘ผูกขาด’
ประชาชนต้องทำอะไร หลังมติอัปยศของ กสทช.
‘สอบ.’จ่อยื่น‘ศาลปค.’ไต่สวนฉุกเฉินฯ ปมควบ TRUE-DTAC จี้‘กสทช.’ลดค่าบริการให้ลูกค้า AIS
ควันหลงประชุมรวม TRUE-DTAC: “ผมทรยศวิชาชีพตัวเองไม่ได้หรอก”
เสียง 2:2 ! 'ประธาน กสทช.' ลงมติซ้ำ ชี้ขาดควบรวม TRUE-DTAC-สั่งคุมเข้มค่าบริการ
ส่อผูกขาด-ทางเลือกน้อยลง! ‘กสม.’เรียกร้อง‘กสทช.’เปิดผลศึกษาควบ TRUE-DTAC-ฟังความเห็นปชช.
‘กลุ่มทรู’เปิด 5 หลักการควบธุรกิจ TRUE-DTAC ยันยึดมั่นประโยชน์ลูกค้า-ขยาย 5G เร็วขึ้น
เปิดผลศึกษา‘ที่ปรึกษาตปท.’ ชี้ควบ TRUE-DTAC ทำแข่งขันลด-ค่าบริการแพงขึ้น-รายใหม่เกิดยาก
เปิดความเห็น‘อนุฯกฎหมาย’! ‘กสทช.’มีอำนาจชี้ชะตาดีล TRUE-DTAC มอง 3 ทางเลือกที่เป็นไปได้?
คาดได้ข้อยุติ 20 ต.ค.นี้! ‘บอร์ด กสทช.’ เลื่อนเคาะดีลควบ TRUE-DTAC รอรายงานที่ปรึกษาฯ