“…กำหนดอำนาจและหน้าที่ให้ชัดเจน โดย กสทช. เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจ ส่วนสำนักงาน กสทช. ทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสารเบื้องต้นและเป็นหน่วยอำนวยการเท่านั้น รวมทั้งแก้ไขให้การตั้งที่ปรึกษาอิสระเป็นอำนาจของ กสทช. ในกรณีที่ กสทช. เห็นสมควร…”
..........................................
จากกรณีที่ ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ได้ส่ง ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการปรับปรุงประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561
และ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการปรับปรุงประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549
ไปให้ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เพื่อบรรจุเป็นวาระพิจารณาในการประชุม กสทช. ตั้งแต่ในช่วงเดือน เม.ย.2566 ที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้ประธาน กสทช. บรรจุเป็นวาระการพิจารณของ กสทช. นั้น (อ่านประกอบ : 3 เดือนยังไม่ถึงบอร์ด! ลุ้น‘ปธ.กสทช.’บรรจุวาระร่างประกาศ'เกณฑ์รวมธุรกิจ-ป้องกันผูกขาด'ใหม่)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปสาระสำคัญของ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ปรับปรุงนิยาม‘การรวมธุรกิจ’ให้ครอบคลุมทุกกรณี
1.บัญญัติเรื่องการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันในประกาศฯให้เกิดความชัดเจน
ปัจจุบัน ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 (ประกาศฯปี 2561) ไม่ได้ระบุเรื่อง ‘การถือครองธุรกิจ’ ในบริการประเภทเดียวกัน แต่ให้พิจารณา ‘ลักษณะการกระทำ’ เป็นไปตาม ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 (ประกาศฯปี 49)
ดังนั้น ร่างประกาศฯ จึงบัญญัติเรื่องการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันไว้ในประกาศฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยกำหนดให้ ‘การรวมธุรกิจ’ ที่เป็น ‘การถือครองธุรกิจ’ ใน ‘บริการประเภทเดียวกัน’ ต้องอยู่ภายใต้บังคับของประกาศฯนี้
2.ปรับปรุงคำนิยาม ‘การรวมธุรกิจ’ ให้ครอบคลุมทุกกรณี
ร่างประกาศฯ กำหนดเพิ่มเติมให้การรวมธุรกิจระหว่าง ‘ผู้รับใบอนุญาต’ ที่เป็นบริษัทในกลุ่มหรือบริษัทในเครือเดียวกัน หรือการรวมธุรกิจระหว่าง ‘ผู้มีอำนาจควบคุม’ กับ ‘ผู้รับใบอนุญาต’ ที่เป็นบริษัทในกลุ่มหรือบริษัทในเครือเดียวกัน และการรวมธุรกิจระหว่าง ‘ผู้รับใบอนุญาต’ ที่เป็นองค์กรของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ให้อยู่ภายใต้บังคับประกาศฯนี้
3.บัญญัติหลัก ‘Single Economic Entity’ เพื่อให้เกิดความชัดเจน
ร่างประกาศฯ กำหนดให้เพิ่มเติมหลักการ Single Economic Entity ไว้ในประกาศฯ กล่าวคือ ภายใต้ร่างประกาศฯนี้ ให้ถือว่า ‘ผู้มีอำนาจควบคุมใบอนุญาต’ กับ ‘ผู้รับใบอนุญาต’ มีสถานะเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน (Single Economic Entity)
@ก่อนดำเนินการ‘รวมธุรกิจ’ต้องได้รับความเห็นชอบ‘กสทช.’
4.กำหนดการใช้อำนาจของ กสทช. ในการพิจารณาการรวมธุรกิจก่อนดำเนินการทุกกรณี (ต้องยื่นคำขอรวมธุรกิจก่อนดำเนินการ)
ร่างประกาศฯกำหนดให้ การรวมธุรกิจของ ‘ผู้รับใบอนุญาต’ หรือ ‘ผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาต’ กับผู้รับใบอนุญาต หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น นั้น จะดำเนินการได้ ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก กสทช. โดยให้ ‘ผู้ยื่นคำขอ’ ต้องยื่นคำขอรวมธุรกิจต่อ กสทช. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศฯนี้
นอกจากนี้ ก่อนการยื่นคำขอ ห้ามไม่ให้ ‘ผู้ยื่นคำขอ’ ดำเนินการใดๆอันอาจส่งผลกระทบต่ออำนาจในการควบคุมนโยบาย การบริหารกิจการ การอำนวยการ หรือการจัดการของผู้รับใบอนุญาตฯ ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันหรือส่งกระทบต่อการแข่งขันในตลาด
5.กำหนดการใช้อำนาจของ กสทช. ในการกำหนดเงื่อนไขให้ดำเนินการก่อนรวมธุรกิจ และ/หรือข้อกำหนดเฉพาะให้ดำเนินการหลังรวมธุรกิจ
ร่างประกาศฯ กำหนดให้ กสทช. อาจมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขก่อนการรวมธุรกิจ เพื่อให้ผู้ยื่นคำขอดำเนินการให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยการออกคำสั่งให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เพื่อป้องกัน แก้ไขเยียวยา หรือลดผลกระทบจากการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในตลาด
หาก กสทช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การรวมธุรกิจอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง อาจพิจารณากำหนดข้อกำหนดเฉพาะ โดยจะต้องสอดคล้องกับสภาพอุปสรรคในการแข่งขันในตลาด และให้ข้อกำหนดเฉพาะ เป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมแนบท้ายใบอนุญาต
6.กำหนดเอกสารที่ต้องยื่นที่ชัดเจน และครอบคลุมประเด็นการพิจารณาผลกระทบต่อการแข่งขันในทุกมิติ
ร่างประกาศฯกำหนดให้ ‘ผู้ยื่นคำขอ’ ต้องยื่นคำขอและเอกสารประกอบต่อ สำนักงาน กสทช. ใน 2 ส่วน ได้แก่
ส่วนแรก เอกสารรับรองการขอเข้าซื้อสินทรัพย์หรือเข้าซื้อหุ้น เช่น เอกสารที่แถลงต่อสาธารณะเกี่ยวกับเจตนาการรวมธุรกิจ รายงานการประชุมผู้ถือหุ้น สัญญา บันทึกหรือข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) หรือคำมั่นว่าจะซื้อจะขาย
ส่วนที่สอง รายงานการรวมธุรกิจ ซึ่งต้องมีเนื้อหา เช่น เหตุผลการรวมธุรกิจ ,แผนการรวมธุรกิจ ,ข้อมูลการเงินเพื่อวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ ,ผลการศึกษาและการวิเคราะห์ผลกระทบการรวมธุรกิจ (อาทิ การวิเคราะห์โครงสร้างตลาด ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม และผลกระทบต่อผู้บริโภค)
ผลกระทบอันเกิดจากพฤติกรรมของผู้รวมธุรกิจ (อาทิ การประเมินผลกระทบต่อราคาหรืออัตราค่าบริการ ผลกระทบต่อความหลากหลายของสินค้า และผลกระทบที่เกิดจากการแข่งขันที่ลดลงอื่นๆ) ,ผลกระทบต่อการแข่งขันที่เกิดจากการร่วมมือกัน และผลกระทบต่อการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ เป็นต้น
@‘กสทช.’มีอำนาจสูงสุดในการพิจารณาการ ‘รวมธุรกิจ’
7.กำหนดอำนาจและหน้าที่ให้ชัดเจน โดย กสทช. เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจ ส่วนสำนักงาน กสทช. ทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสารเบื้องต้นและเป็นหน่วยอำนวยการเท่านั้น รวมทั้งแก้ไขให้การตั้งที่ปรึกษาอิสระเป็นอำนาจของ กสทช. ในกรณีที่ กสทช. เห็นสมควร
ร่างประกาศฯกำหนดว่า เมื่อสำนักงาน กสทช. ได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานประกอบคำขอแล้ว หากสำนักงาน กสทช. เห็นว่า ผู้ยื่นคำขอได้ยื่นคำขอและเอกสารครบถ้วนแล้ว ให้จัดทำรายงานข้อวิเคราะห์เสนอต่อ กสทช. เพื่อพิจารณาภายใน 90 วัน และขอขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 30 วัน โดยขอได้ไม่เกิน 2 ครั้ง
เมื่อ กสทช. ได้รับรายงานข้อวิเคราะห์ พร้อมทั้งคำขอและเอกสารหลักฐานประกอบคำขอจากสำนักงาน กสทช. หาก กสทช.พิจารณารายละเอียดในเบื้องต้นแล้ว เห็นว่าคำขอหรือเอกสารหลักฐานหรือข้อมูล หรือข้อเท็จจริงที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบการพิจารณาไม่ถูกต้อง หรือไม่เพียงพอต่อการพิจารณา
กสทช.อาจแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ โดยให้สำนักงาน กสทช.จัดให้มีข้อมูล ข้อวิเคราะห์ หรือความเห็นเพิ่มเติม และให้สำนักงาน กสทช. ว่าจ้างที่ปรึกษาที่ได้รับความเห็นชอบจาก กสทช. เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณา รวมทั้งให้ผู้ยื่นคำขอส่งข้อมูลเพิ่มเติม หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญมาชี้แจง เป็นต้น
ทั้งนี้ ในการพิจารณาของ กสทช. นั้น กสทช. จะต้องดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่ได้รับรายงานข้อวิเคราะห์จากสำนักงาน กสทช. แต่หากมีการว่าจ้างที่ปรึกษาฯ ให้ กสทช. ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานวิเคราะห์ความเห็นจากที่ปรึกษา
เมื่อ กสทช.ได้พิจารณาคำขอรวมธุรกิจ และพิจารณาผลกระทบต่อการแข่งขันแล้ว ให้สำนักงาน กสทช. ส่ง ‘ผลการพิจารณาการขอรวมธุรกิจของ กสทช. ขั้นต้น’ และ 'เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ (ถ้ามี)' รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น 'รายงานผลการวิเคราะห์ของสำนักงาน กสทช.' ไปให้กับผู้ยื่นคำขอ
หากผู้ยื่นคำขอเห็นต่างกับผลการพิจารณาของ กสทช. ให้ทำความเห็นมาเป็นหนังสือ พร้อมระบุเหตุผลและแนบเอกสารประกอบการพิจารณาต่อสำนักงาน กสทช. ภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งจากสำนักงาน กสทช. โดยให้ กสทช.นำความเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาก่อนออกคำสั่งเกี่ยวกับการรวมธุรกิจด้วย
@ต้องเปิดเผยผลพิจารณา ‘รวมธุรกิจ’ ต่อสาธารณะ
8.กำหนดกระบวนการเปิดเผยข้อมูล ทำให้สังคมสามารถตรวจสอบข้อมูล และการใช้ดุลพินิจของ กสทช. ได้
ร่างประกาศฯ กำหนดให้สำนักงาน กสทช. เปิดเผยข้อมูล รายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบจากการรวมธุรกิจของผู้ยื่นขอ และรายงานผลการวิเคราะห์ของสำนักงาน กสทช. พร้อมทั้งสรุปสาระสำคัญของผลการพิจารณาการขอรวมธุรกิจของ กสทช. ขั้นต้น ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไปได้ เมื่อประเด็นข้อโต้แย้งต่างๆได้ข้อยุติแล้ว
ทั้งนี้ ภายหลังการเปิดเผยข้อมูลแล้ว ให้ กสทช. นำความคิดเห็นทั้งหมดที่ได้รับมาประกอบการพิจารณา เพื่อออกคำสั่งเกี่ยวกับการรวมธุรกิจให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดย กสทช.อาจพิจารณาการขอรวมธุรกิจและมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่
(1) เห็นชอบให้รวมธุรกิจได้ตามคำขอ ในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่า การรวมธุรกิจไม่ก่อนให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในบริการกิจการโทรคมนาคม และไม่ส่งปกระทบต่อการแข่งขันในตลาดนัยสำคัญ
(2) เห็นชอบให้รวมธุรกิจ โดยกำหนดเงื่อนไขก่อนรวมธุรกิจ และ/หรือมีข้อกำหนดเฉพาะหลังการรวมธุรกิจ
(3) ไม่เห็นชอบให้รวมธุรกิจ ในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดเงื่อนไขหรือข้อกำหนดเฉพาะไม่อาจป้องกันการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในบริการกิจการโทรคมนาคม และไม่ส่งปกระทบต่อการแข่งขันในตลาดนัยสำคัญ
การลงมติของ กสทช. ในการพิจารณาการรวมธุรกิจ จะต้องเปิดเผยการลงมติและความเห็นหรือเหตุผลในการลงมติของ กสทช. เป็นรายบุคคล ให้สาธารณะรับทราบผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน กสทช. หรือโดยวิธีการอื่นตามที่ กสทช. กำหนด และให้สำนักงาน กสทช. แจ้งผลการพิจารณาเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขอภายใน 15 วัน
9.กำหนดหน้าที่ให้ผู้ยื่นคำขอต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อ กสทช.
ร่างประกาศฯ กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ กสทช. มีคำสั่งเห็นชอบให้รวมธุรกิจหรือนิติบุคคลที่เกิดใหม่จากการรวมธุรกิจ ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รวมธุรกิจ โดยต้องแนบเอกสารต่างๆ เช่น สำเนาเอกสารที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำเนาเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นหรือหลักทรัพย์ และสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น เป็นต้น
10.กำหนดแนวทางกำกับดูแลการรวมธุรกิจ
ร่างประกาศฯกำหนดให้ผู้ยื่นคำขอหรือผู้รับใบอนุญาตที่เกิดจากการรวมธุรกิจ ฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามประกาศ และ กสทช.มีคำสั่งให้ดำเนินการ แก้ไข ระงับ ปรับปรุงให้ถูกต้อง หากยังคงฝ่าฝืน ไม่ดำเนินการฯ ให้สำนักงาน กสทช. รวบรวมข้อเท็จจริง พร้อมจัดทำรายงานเสนอ กสทช. เพื่อพิจารณาพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือเพิกถอนคำสั่งเห็นชอบให้รวมธุรกิจทั้งหมดหรือบางส่วนได้
หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ยื่นคำขอจงใจปกปิดข้อมูลหรือให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นสาระสำคัญต่อการพิจารณาผลกระทบจากการรวมธุรกิจ กสทช.อาจพิจารณาทบทวนคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรวมธุรกิจ หรือแก้ไข เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขก่อนการรวมธุรกิจ หรือข้อกำหนดเฉพาะตามที่เห็นสมควรได้
เหล่านี้เป็น ‘พิมพ์เขียว’ หรือสาระสำคัญของร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... ที่ได้มีการเสนอให้ ‘ประธาน กสทช.’ บรรจุเป็นวาระในการพิจารณาของ ‘บอร์ด กสทช.’ และต้องติดตามกันต่อไปว่า ร่างประกาศฯฉบับนี้จะถูกบรรจุเป็นวาระของบอร์ด กสทช.ได้เมื่อไหร่ และบอร์ดจะเห็นชอบหรือไม่!
อ่านประกอบ :
3เดือนยังไม่ถึงบอร์ด! ลุ้น‘ปธ.กสทช.’บรรจุวาระร่างประกาศ'เกณฑ์รวมธุรกิจ-ป้องกันผูกขาด'ใหม่
‘สภาผู้บริโภค’ทวง‘กสทช.’ เปิดข้อมูล‘TRUE-DTAC’ลดค่าบริการ 12% หลังรวมธุรกิจพ้น 90 วัน
'สอบ.'ยื่น'เพิกถอน'คำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯ'ศาลปค.ชั้นต้น' คดีควบ TRUE-DTAC
ยังฟังไม่ได้มีเหตุไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาลปค.’ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวฯคดีควบรวม TRUE-DTAC
‘สอบ.-ผู้บริโภค’ยื่นฟ้อง‘ศาลปกครอง’ เพิกถอน‘มติ กสทช.’ไฟเขียวควบ TRUE-DTAC แล้ว
ยื่น‘กมธ.ป.ป.ช.’ตรวจสอบ 3 กรรมการ กสทช. ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ กรณีลงมติควบ TRUE-DTAC
‘ทรู-ดีแทค’ เผยได้รับหนังสือแจ้ง ‘มติ กสทช.’ ไฟเขียวควบรวม TRUE-DTAC แล้ว
มติไม่สมบูรณ์-อาจมีปย.ขัดกัน! ชี้ 2 ปม ฟ้อง'ศาลปค.'เพิกถอน'มติ กสทช.'ไฟเขียวควบ TRUE-DTAC
ย้อนวิสัยทัศน์'กสทช.เสียงข้างมาก' ก่อนไฟเขียวควบTRUE-DTAC 'สรณ'เคยค้าน AIS จับมือ Disney
กสทช.เสียงข้างน้อย‘ศุภัช ศุภชลาศัย’ : ‘มาตรการเฉพาะ’TRUE-DTAC ไม่ป้องกันผลกระทบ‘ผูกขาด’