“…จากการดำเนินการปรับโครงสร้างทุนข้างต้น จะส่งผลให้กระทรวงการคลัง มีสัดส่วนการถือหุ้นภายหลังการปรับโครงสร้างทุนที่ร้อยละ 32.7 (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค.2564 กระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 47.86) และเมื่อรวมสัดส่วนการถือหุ้นของหน่วยงานภาครัฐอื่น จะมีสัดส่วนการถือหุ้นของหน่วยงานภาครัฐรวมมากกว่าร้อยละ 40…”
.................................
จากกรณีที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา บมจ.การบินไทย โดยเฉพาะแนวทางการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทย ที่ได้ยื่นต่อศาลล้มลาย ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา นั้น
เพื่อให้สาธารชนได้รับทราบความคืบหน้าในการฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย ซึ่งปัจจุบันมีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 47.86% และธนาคารของรัฐ คือ ธนาคารออมสิน ถือหุ้นอยู่ที่ 2.13% สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดของรายงานฉบับดังกล่าวมาเสนอต่อสาธารชน ดังนี้
@รายได้ค่าโดยสาร ‘การบินไทย-ไทยสมายล์’ แตะ 7,608 ล้าน/เดือน
คณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2565 เพื่อติดตามความคืบหน้าการฟื้นฟูกิจการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลลัมละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564 ตามที่ บมจ.การบินไทย (บกท.) รายงาน โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
การหารายได้จากการขนส่ง
บกท. มีรายได้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วงเดือน มิ.ย.2565 มีส่วนแบ่งจำนวนผู้โดยสารคิดเป็นร้อยละ 33 ของจำนวนผู้โดยสารของทุกสายการบิน ซึ่งเป็นระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของปี 2562 โดย บกท. มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 12,655 คนต่อวัน และผู้โดยสารของสายการบินไทยสมายล์สูงกว่า 12,000 คนต่อวัน
โดยผู้โดยสารของ บกท. และสายการบินไทยสมายล์เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดือน เม.ย.-ต.ค.2564 ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 269 คนต่อวัน และ 4,929 คนต่อวัน ตามลำดับ จึงทำให้ บกท. มีรายได้จำนวน 6,844 ล้านบาทต่อเดือน และรายได้จากสายการบินไทยสมายล์จำนวน 764 ล้านบาทต่อเดือน
บกท. มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ในช่วงเดือน มิ.ย.2565 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 76 และสายการบินไทยสมายล์อยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 รวมถึงมีอัตราการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อีกทั้ง บกท. ได้เพิ่มจุดบินและความถี่ในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2565 เพื่อรองรับการฟื้นตัวของปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้น
รายได้จากการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ ทั้งในส่วนของการขนส่งในเที่ยวบินโดยสารตามตารางบินและเที่ยวบินเช่าเหมาลำในเดือน มิ.ย.2565 จำนวน 2,057 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 (ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44
@ลดพนักงานเหลือ 14,419 คน-หั่นต้นทุนบุคลากรเหลือ 7,920 ล้านต่อปี
การปรับลดขนาดองค์กรและต้นทุนบุคลากร
ณ วันที่ 21 มิ.ย.2565 บกท. มีจำนวนบุคลากรรวมทั้งสิ้นจำนวน 14,419 คน จาก 29,500 คน ในเดือน ม.ค.2563 (ลดลงร้อยละ 51) ส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรลดลงจาก 29,400 ล้านบาทต่อปี เหลือ 7,920 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนต้นทุนที่ลดลงประมาณร้อยละ 73
ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้องจ้างแรงงานภายนอกเพิ่มเติม (Outsource) โดย บกท. มีเป้าหมายควบคุมจำนวนบุคลากรให้มีจำนวนไม่เกิน 15,000 คน ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 ตามที่ได้ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ
การปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบินและปรับลดต้นทุนอากาศยาน
บกท. ปรับลดจำนวนแบบอากาศยานในฝูงบินจาก 9 แบบ เป็น 4 แบบ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ทำให้ บกท. สามารถปรับลดต้นทุนด้านอากาศยานลง 8,500 ล้านบาทต่อปี โดยปัจจุบัน บกท. มีอากาศยานในฝูงบินรวมทั้งสิ้น 61 ลำ (รวมอากาศยานแบบแอร์บัส 320-200 ที่สายการบินไทยสมายล์ใช้ในการปฏิบัติการบิน)
โดยมีการดำเนินการเกี่ยวกับอากาศยานที่ผ่านมา ดังนี้
-การเจรจาต่อรองค่าเช่าและค่าเช่าซื้ออากาศยานกับผู้ให้เช่า โดยมีการทำสัญญาฉบับใหม่แล้วเสร็จจำนวน 57 ลำ
-การใช้สิทธิตามกฎหมายบอกเลิกสัญญาเช่าอากาศยานที่มีภาระเกินควรแก่ประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับจำนวน 16 ลำ ได้แก่
1) ส่งมอบคืนอากาศยานแก่ผู้ให้เช่าจำนวน 5 ลำ
2) บรรลุข้อตกลงในสัญญาระงับข้อพิพาทกับเจ้าหนี้กลุ่ม Export Credit Agency (ECA) ในทวีปยุโรปจำนวน 9 ลำ ซึ่งจะต้องมีการระบุแผนการชำระหนี้ตามเงื่อนไขความตกลงไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขต่อศาลล้มละลายกลางต่อไป และ
3) อากาสยานที่อยู่ระหว่างเจรจาหาข้อสรุปเงื่อนไขร่วมกับผู้ให้เช่าอีกจำนวน 2 ลำ
@โล๊ะขายเครื่องบินได้แล้ว 16 ลำ-ขาย ‘แอร์บัส 340’ รวม 5 ลำ
การจำหน่ายอากาศยานที่ไม่อยู่ในแผนปฏิบัติการบินของ บกท. ประกอบด้วย
1) อากาศยานแบบโบอิ้ง 737-400 จำนวน 11 ลำ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอนุญาตให้โอน (จำหน่าย) แล้ว
2) อากาศยานแบบแอร์บัส 340-500 จำนวน 1 ลำ และแบบแอร์บัส 340-600 จำนวน 4 ลำ ซึ่ง บกท. ได้ยื่นขออนุญาตโอน (จำหน่าย) ต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565
3) บกท. มีอากาศยานที่อยู่ระหว่างรอการจำหน่ายจำนวน 18 ลำ
การนำอากาศยานที่อยู่ในฝูงบินปัจจุบัน กลับมาใช้ในการปฏิบัติการบิน จำนวน 5 ลำ โดยมีแผนเริ่มนำมาใช้ในการปฏิบัติการบินตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 เป็นต้นไป ได้แก่ อากาศยานแบบแอร์บัส 330-300 จำนวน 3 ลำ และอากาศยานแบบโบอิ้ง 777-200ER จำนวน 2 ลำ
การจัดหาอากาศยานแบบแอร์บัส 350-900 จำนวน 2 ลำ ซึ่ง บกท.ได้ลงนามในหนังสือแสดงความสนใจ (Letter of Interest) เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2565 และได้ยื่นคำร้องต่อ กพท. เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอนุมัติรับอากาศยานเข้าประจำการในฝูงบิน
โดย บกท. มีกำหนดระยะเวลาลงนามในสัญญาเช่าอากาศยานภายใน 75 วัน นับจากวันที่ลงนามในหนังสือแสดงความสนใจ (Letter of Interest) ทั้งนี้ บกท. มีแผนจะนำอากาศยานดังกล่าวมาใช้ทำการบินในช่วงเดือน ม.ค.2566
@เตรียมจัดหาเครื่องบินเพิ่ม 22 ลำในช่วงปี 2566-68
การจัดหาฝูงบินตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ บกท. ได้ยื่นขอแก้ไขเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2565 ซึ่ง บกท. มีแผนจัดหาฝูงบินในปี 2565 จำนวน 8 ลำ แบ่งเป็น อากาศยานแบบโบอิ้ง 777-200ER จำนวน 3 ลำ โดยคณะกรรมการ บกท. มีมติให้เช่าดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 และอากาศยานที่อยู่ในฝูงบินปัจจุบันและนำมาใช้ในการปฏิบัติการบิน จำนวน 5 ลำ
และในปี 2566 จำนวน 9 ลำ แบ่งเป็น อากาศยานแบบแอร์บัส 350-900 จำนวน 2 ลำ (บกท.ลงนามในหนังสือ Letter of Interest เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2565) และอากาศยานที่อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหา จำนวน 7 ลำ นอกจากนี้ บกท. มีแผนจัดหาฝูงบินในปี 2567 และปี 2568 จำนวน 12 ลำ และ 3 ลำ ตามลำดับ
การปรับลดต้นทุนค่าซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยดำเนินการเจรจาต่อรองปรับปรุงอัตราค่าบริการกับผู้ให้บริการแล้วเสร็จ ซึ่งส่งผลให้สามารถลดต้นทุนลง 4,500 ล้านบาทต่อปี
(คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นำโดย ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการฯ แถลงความคืบหน้าการฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทยฯ ครบรอบ 1 ปี และการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯ เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2565)
@จ่อขายทรัพย์สินรองที่ไม่ได้ใช้งานเพิ่ม-ให้ ‘ก.ล.ต.’ เช่าพื้นที่ตึก
การหาประโยชน์จากทรัพย์สินรองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ
-การจำหน่ายทรัพย์สินรอง : บกท. มีรายได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินรองตั้งแต่เข้าสู่ กระบวนการฟื้นฟูกิจการรวมจำนวน 9,258 ล้านบาท โดยในปี 2563 บกท. ได้จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์และเงินลงทุน (หุ้น) ในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมแล้วเสร็จเพิ่มเติม ได้แก่
1) ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในจังหวัดอุดรธานี 2) ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในจังหวัดขอนแก่น 3) ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในจังหวัดเชียงราย 4) ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารรักคุณเท่าฟ้า ดอนเมือง 5) ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างสำนักงานสีลม 6) การขายเงินลงทุน (หุ้น) บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพิ่มเติม
7) เครื่องฝึกบินจำลองของอากาศยานจำนวน 1 เครื่อง และ 8) เครื่องยนต์อะไหล่ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว จำนวน 4 เครื่อง
ทั้งนี้ บกท. ยังมีทรัพย์สินรองที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อจำหน่าย ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ในประเทศและต่างประเทศ เครื่องฝึกบินจำลองของแบบอากาศยานที่ไม่อยู่ในแผนการดำเนินงาน และเงินลงทุน (หุ้น) ในบริษัทย่อย บริษัทร่วม และบริษัทที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
-การหาประโยซนโดยการให้เช่า : บกท. ได้จัดสรรพื้นที่สำนักงานใหญ่ในส่วนที่ไม่ได้ใช้งานสำหรับการให้บุคคลภายนอกเช่า โดยขณะนี้มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เข่าพื้นที่บางส่วนของอาคาร 3 สำนักงานใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565
@‘กองทัพอากาศ’ ค้างหนี้ ‘การบินไทย’ 1,155.71 ล้าน
การติดตามหนี้สินที่เกินกำหนดชำระจากลูกหนี้หน่วยงานภาครัฐ
กองบินตำรวจ
1) หนี้สินค่าซ่อมบำรุงอากาศยานและเครื่องยนต์อากาศยานจำนวน 937.70 ล้านบาท ซึ่ง บกท. ได้รับชำระแล้ว เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2565
2) หนี้สินที่กองบินตำรวจยกเลิกใบสั่งจ้างภายหลังจากที่ บกท. ดำเนินการจัดหาและออกใบสั่งซื้อพัสดุและอะไหล่จากผู้จำหน่ายแล้วเสร็จจำนวน 905.80 ล้านบาท ซึ่งหากผู้จำหน่ายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกใบสั่งซื้อกับผู้จำหน่าย บกท. เห็นว่า กองบินตำรวจควรรับผิดชอบค่าเสียหายดังกล่าว
กองทัพอากาศ
หนี้สินค่าซ่อมบำรุงอากาศยานและเครื่องยนต์อากาศยาน ณ วันที่ 31 พ.ค.2565 จำนวน 1,155.71 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการติดตามและรอรับชำระบางส่วนตามกรอบวงเงินงบประมาณที่กองทัพอากาศได้รับ
การติดตามหนี้สินที่ บกท. มีสิทธิเรียกร้องและมีทุนทรัพย์สูง
ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้นำเงินฝากในบัญชีกองทุนบำเหน็จพนักงาน บกท. จำนวน 2,279.77 บาท และจำนวน 55.98 ล้านบาท ตามลำดับ มาหักกลบลบหนี้ตามมูลหนี้ที่ บกท. มีกับธนาคารดังกล่าว ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2565 ให้ธนาคารทั้ง 2 แห่ง ชำระหรือส่งมอบเงินคืนให้แก่บัญชีกองทุนบำเหน็จพนักงาน บกท. พร้อมดอกเบี้ยภายใน 15 วัน
โดยธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าว และ บกท. ได้ยื่นคำแถลงคัดค้านคำร้องดังกล่าวแล้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลล้มละลายกลางและมีกำหนดนัดสืบพยานในเดือน ก.ย.-ต.ค.2565
กระแสเงินสด
บกท. มีเงินสดสุทธิ ณ วันที่ 30 มิ.ย.2565 ประมาณ 14,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 24 เดือน นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.2563 ทำให้ในขณะนี้ บกท. ยังไม่มีความจำเป็นต้องจัดหาสินเชื่อใหม่ตามที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการที่ 50,000 ล้านบาท
@จัดหาสินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นล้าน-เรียกประชุมเจ้าหนี้ ก.ย.นี้
การแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ
บกท. ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2565 และคาดว่าจะมีการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการฉบับแก้ไขในเดือน ก.ย.2565 โดยมีสาระสำคัญของการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนี้
การก่อหนี้และการระดมเงินทุน รวมถึงแหล่งเงินทุนและเงื่อนไขแห่งหนี้สินและเงินทุน
แก้ไขวงเงินการจัดหาสินเชื่อใหม่ในรูปแบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ไม่เกิน 6 ปี และ/หรือตราสารหนี้ที่มีอายุการไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 6 ปี เป็นจำนวนไม่เกิน 12,500 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจปกติ และค่าใช้จ่ายในการลงทุนสำหรับ บกท.และบริษัทย่อย
โดยให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจในการเจรจา ตกลงเงื่อนไขในสัญญา และเข้าทำสัญญาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสามารถนำทรัพย์สินที่ไม่มีภาระผูกพันไปเป็นหลักประกัน นอกจากนี้ บกท. จะมีการเพิ่มเติมการจัดหาสินเชื่อใหม่ในรูปแบบสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving Facility) ในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาท
@เปิดแผนปรับโครงสร้างทุน 8 หมื่นล้าน-‘คลัง’ลดหุ้นเหลือ 32.7%
การปรับโครงสร้างทุน การลดทุน และการเพิ่มทุน
แก้ไขการเพิ่มทุนจดทะเบียนไม่เกิน 80,172 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายในการทำให้ส่วนของทุนเป็นบวกภายในปี 2567 เพื่อให้หุ้นสามัญของ บกท. สามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้อีกครั้งในปี 2568 โดยมีแนวทางสรุปได้ดังนี้
1) ให้สิทธิผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือแปลงหนี้เป็นทุน จำนวนเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาท ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
2) ให้เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้น (กระทรวงการคลัง) (กลุ่ม 4) แปลงหนี้เงินต้นเดิมเป็นทุน จำนวน 12,829 ล้านบาท ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
3) ให้เจ้าหนี้สถาบันการเงิน (กลุ่ม 5-6) และเจ้าหนี้หุ้นกู้ (กลุ่ม 18-31) แปลงหนี้เงินต้นเดิมเป็นทุน จำนวน 25,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.75 ของหนี้เงินต้นเดิมของเจ้าหนี้แต่ละราย ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
4) เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิมเป็นจำนวนประมาณ 25,000 ล้านบาท ในราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เต็มจำนวน ให้นำหุ้นส่วนที่ไม่มีการใช้สิทธิมาเสนอขายให้แก่พนักงาน ของ บกท. และเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ต่อไปตามลำดับ
5) ให้สิทธิเจ้าหนี้ที่มีดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักแปลงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นทุน จำนวนไม่เกิน 4,845 ล้านบาท ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ จากการดำเนินการปรับโครงสร้างทุนข้างต้น จะส่งผลให้กระทรวงการคลัง มีสัดส่วนการถือหุ้นภายหลังการปรับโครงสร้างทุนที่ร้อยละ 32.7 (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค.2564 กระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 47.86) และเมื่อรวมสัดส่วนการถือหุ้นของหน่วยงานภาครัฐอื่น จะมีสัดส่วนการถือหุ้นของหน่วยงานภาครัฐรวมมากกว่าร้อยละ 40
แก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดจำนวนหนี้ที่ต้องชำระ กำหนดการชำระและการดำเนินการเกี่ยวกับอากาศยานที่เช่า สำหรับเจ้าหนี้กลุ่ม Export Credit Agency (ECA) ให้เป็นไปตามสัญญาระงับข้อพิพาท (Settlement Agreement)
(ที่มา : รายงานประจำปี บมจ.การบินไทย ปี 2564)
@แผนฟื้นฟูกิจการฉบับแก้ไข ยกเลิก ‘คกก.กำกับดูแลสินเชื่อใหม่’
ประเด็นสำคัญอื่นๆ
1) แก้ไขรายละเอียดการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้บางกลุ่ม
2) แก้ไขรายละเอียดผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ
3) ยกเลิก ‘คณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่’
4) แผนการชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้การค้าที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการดำเนินธุรกิจของ บกท. ในต่างประเทศและแก้ไขเนื้อหารายละเอียดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้บัตรโดยสาร
5) เพิ่มอำนาจผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการในการเปลี่ยนแปลงและจัดกลุ่มเจ้าหนี้ให้ถูกต้อง
วิธีปฏิบัติทางบัญชีสำหรับสหกรณ์ที่มีเงินลงทุนในหุ้นกู้ บกท.
บกท. รายงานเพิ่มเติมต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้กำหนดวิธีปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับการรับรู้ดอกเบี้ยรับจากหุ้นกู้และการด้อยค่าของหุ้นกู้ รวมทั้งวิธีปฏิบัติทางบัญชีอื่นที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ที่มีเงินลงทุนในหุ้นกู้ บกท.
โดยมีสาระสำคัญให้สหกรณ์ทยอยบันทักรับรู้การด้อยค่าหุ้นกู้ บกท. ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของมูลค่าที่ตราไว้ต่อปี ซึ่งวิธีปฏิบัติทางบัญชีดังกล่าวจะกระทบต่อฐานะทางการเงินของสหกรณ์และผลตอบแทนของสมาชิกสหกรณ์ รวมทั้งอาจกระทบต่อการจัดหาสินเชื่อใหม่ของ บกท. ในกรณีการออกตราสารหนี้ในการจัดหาสินเชื่อใหม่
@ขอหน่วยงานรัฐสนับสนุน ‘การบินไทย’ 4 ประเด็น
การขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ
-ขอรับการสนับสนุนการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ
-ขอให้ธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อกรณีหนี้สินกองทุนบำเหน็จพนักงาน บกท. ที่อยู่ระหว่างการโต้แย้งคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อศาลมีคำสั่ง
-ขอความอนุเคราะห์กระทรวงคมนาคมสนับสนุนกระบวนการพิจารณาอนุญาตให้ บกท. โอน (จำหน่าย) อากาศยานที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจหลักของ บกท. และรับมอบอากาสยานที่ บกท. จะจัดหาเพื่อให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนปฏิรูปธุรกิจ
-ขอให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์พิจารณาในการบันทึกการด้อยค่าของเงินลงทุนในหุ้นกู้ของ บกท.
เหล่านี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดของการแก้ปัญหาของ บมจ.การบินไทย และยังต้องติดตามกันต่อไปว่า บมจ.การบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการฯ ได้ตามแผนที่กำหนดไว้ในปี 2567 หรือไม่!
อ่านประกอบ :
ครม.รับทราบแก้ปัญหา'การบินไทย'คาดออกจากแผนฟื้นฟูเร็วกว่ากำหนดในสิ้นปี 2567
‘สหกรณ์ฯ’แปลงหนี้เป็นทุนได้ หากแผนฟื้นฟูฯ'การบินไทย'ได้รับความเห็นชอบจาก'ศาลล้มละลาย'
ซื้อได้เฉพาะ'หุ้นเพิ่มทุน'! 'คพช.'ตั้งกติกา 87 สหกรณ์เจ้าหนี้ ลงทุนใหม่ใน'การบินไทย'
‘การบินไทย’ตั้งเป้าออกจาก‘แผนฟื้นฟูกิจการฯ’ ปี 67-เดินหน้าปรับโครงสร้างทุน 8 หมื่นล.
ลดวงเงินกู้ใหม่-เร่งแปลงหนี้เป็นทุน! 'การบินไทย'ยื่นศาลฯ ขอแก้ไข'แผนฟื้นฟูฯ' ก.ค.นี้
เปิด 7 ประเด็นเรียกร้อง! 'การบินไทย' ขอรัฐอุ้ม คงสิทธิเส้นทางบิน-หนุนธุรกิจ MRO
'การบินไทย' ลดกู้ 'เงินใหม่' เหลือ 2.5 หมื่นล้าน-'ครม.' รับทราบความคืบหน้าแผนฟื้นฟูฯ
ไม่ผิดนัด!‘การบินไทย’ แจ้งคืนหนี้'เงินต้น-ดบ.' 1.29 พันล้าน-โละทรัพย์สินอีก 4 รายการ
‘บิ๊กตู่’สั่ง‘คมนาคม’ถกอุ้ม ‘การบินไทย’-‘ศักดิ์สยาม’ชี้ไม่เป็น‘รสก.’ ขอเงินรัฐไม่ได้
'ปิยสวัสดิ์’ หวังรัฐแปลงหนี้ฯ-ซื้อหุ้นเพิ่มทุน‘การบินไทย’-เผย 9 เดือน กำไร 5.1 หมื่นล.
‘บิ๊กตู่’ยัน‘การบินไทย’เป็น'สายการบินแห่งชาติ'ตลอดไป-ชี้แผนฟื้นฟูฯคืบหน้าในเกณฑ์ดี
‘การบินไทย’เจรจาแบงก์ขอสินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นล้าน-ลั่นไม่กลับเป็น‘รัฐวิสาหกิจ’แล้ว