‘การบินไทย’ เตรียมยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯต่อ ‘ศาลล้มละลาย’ คาดส่งแผนฯให้ ‘เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์’ ในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้ ปรับลดวงเงินกู้ใหม่เหลือ 2.5 หมื่นล้านบาท เร่งเจรจาเจ้าหนี้ 3 กลุ่ม แปลงหนี้ 3.75 หมื่นล้าน เป็นทุน พร้อมระบุรายได้ค่าขนส่งเดือน พ.ค. แตะ 5.5 พันล้านบาท สูงสุดในรอบ 24 เดือน คาดทั้งปีรายได้รวม 8 หมื่นล้าน
..................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เตรียมยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯ ต่อศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากสถานการณ์ของบริษัทฯในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นมาก โดยคาดว่าบริษัทฯ จะส่งแผนฟื้นฟูกิจการฯฉบับแก้ไขให้กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้ และหากศาลล้มละลายฯเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการฯฉบับแก้ไข บริษัทฯจะเรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการฯฉบับแก้ไขต่อไป
ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด บริษัท การบินไทย มีรายได้จากค่าบริการขนส่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือน พ.ค.2565 บริษัท มีรายได้รวมจากกิจการขนส่งที่ระดับ 5,545 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับรายได้สูงสุดในรอบ 24 เดือน และสูงกว่าประมาณการรายได้ที่ได้กำหนดไว้อย่างมีนัยสำคัญ และในเดือน มิ.ย.2565 บริษัทฯมีรายได้จากการสำรองที่นั่งอยู่ที่ระดับ 6,776 ล้านบาท ขณะที่อัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยระหว่างวันที่ 1-21 มิ.ย.2565 อยู่ที่ 71%
“รายได้ผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าเติบโตต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 3 และที่ 4 ของปี จากอัตราการสำรองที่นั่งในปัจจุบัน” ข้อมูลจาก บริษัท การบินไทย ระบุ
(ที่มา : บมจ.การบินไทย)
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสภาพคล่องของบริษัท การบินไทย ล่าสุดพบว่าบริษัทฯมีสภาพคล่องสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่หลักพันล้านบาท ส่วนสาเหตุที่ทำให้สภาพคล่องของบริษัทฯเพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นล้านบาทมาจากหลายปัจจัย เช่น การปฏิรูปธุรกิจ การลดแบบเครื่องบิน การปรับโครงสร้างองค์กร และการปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบินต่างๆ เป็นต้น และในปี 2565 บริษัท การบินไทย คาดว่าจะมีรายได้รวม 8 หมื่นล้านบาท
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการฯฉบับแก้ไขดังกล่าว บริษัท การบินไทย ได้ปรับลดลงวงเงินกู้ใหม่เหลือ 2.5 หมื่นล้านบาท จากแผนฟื้นฟูกิจการฯฉบับปัจจุบันที่กำหนดวงเงินกู้ใหม่ไว้ที่ 5 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งจะยกเลิก ‘คณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่’ เนื่องจากปัจจุบันบริษัท การบินไทย ไม่มีความจำเป็นต้องจัดหาแหล่งเงินทุนจากเจ้าหนี้รายใหม่แล้ว ในขณะที่แผนจัดหาวงเงินกู้เงินใหม่ 2.5 หมื่นล้านบาทนั้น จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
ส่วนแรก วงเงินกู้ใหม่จากเจ้าหนี้เดิมหรือผู้ถือหุ้นเดิม 1.25 หมื่นล้านบาท ซึ่งเจ้าหนี้เดิมหรือผู้ถือหุ้นเดิมที่ปล่อยเงินกู้ใหม่ให้กับบริษัท การบินไทย จะได้รับสิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทฯ ในอัตราหุ้นละ 2.54 บาท ตามจำนวนวงเงินสินเชื่อใหม่ที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทฯ และส่วนที่สอง วงเงินกู้ใหม่จากสถาบันการเงิน 1.25 หมื่นล้านบาท แต่รูปแบบการกู้เงินจะเปลี่ยนจาก Term Loan (สินเชื่อที่มีกำหนดระยะเวลา) เป็น Revolving Credit Line (วงเงินกู้หมุนเวียน)
นอกจากนี้ บริษัท การบินไทย ยังปรับปรุงแผนฯในส่วนโครงสร้างส่วนทุนของบริษัทฯ โดยบริษัทฯจะเข้าเจรจากับเจ้าหนี้รายเดิม เช่น กระทรวงการคลัง เจ้าหนี้หุ้นกู้ และสถาบันการเงินต่างๆ ในการแปลงหนี้สิน จำนวน 3.75 หมื่นล้านบาท ให้เป็นทุน ซึ่งจะทำให้บริษัท การบินไทย มีฐานะทุนที่แข็งแกร่งมากขึ้น ขณะที่เจ้าหนี้รายเดิมจะได้ประโยชน์จากส่วนต่างราคาหุ้น (capital gain) เมื่อบริษัทฯ ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการฯ และหุ้นกลับมาซื้อขายได้อีกครั้งในอีก 4 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฯบริษัท การบินไทย ฉบับแก้ไข บริษัทฯตั้งเป้าจะมีส่วนทุนกลับมาเป็นบวก และออกจากแผนฟื้นฟูกิจการฯในปี 2567 หรือในปี 3 ปีจากนี้ เร็วกว่าแผนฟื้นฟูกิจการฉบับปัจจุบันที่ตั้งเป้าบริษัทฯจะออกจากแผนฟื้นฟูฯในอีก 5 ปีข้างหน้า และคาดว่าในปี 2568 หุ้นของบริษัทฯจะกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม แนวทางการปรับโครงสร้างส่วนทุนของบริษัท การบินไทย ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฯฉบับแก้ไขนั้น จะกำหนดเงื่อนไขว่า การปรับโครงสร้างทุนของบริษัทฯจะต้องไม่ทำให้บริษัท การบินไทย กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก และการปรับโครงสร้างทุน โดยวิธีการเพิ่มทุนหรือกู้เงินใหม่ เพื่อรองรับการขยายกิจการในอนาคตนั้น จะให้สิทธิ์กับผู้ถือหุ้นเดิมและเจ้าหนี้รายเดิมก่อน จากนั้นจึงจะให้สิทธิ์กับพนักงาน แต่หากหาไม่ได้จริงๆ จึงจะไปหาแหล่งเงินจากนักลงทุนรายใหม่
จากข้อมูล ณ วันที่ 3 ก.ค.2563 พบว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท การบินไทยฯ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.กระทรวงการคลัง4ถือหุ้นในสัดส่วน 47.86% 2.กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 8.54% 3.กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 8.54% 4.บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วน 2.57% และ 5.ธนาคารออมสิน ถือหุ้นในสัดส่วน 2.13%
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า การแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย ดังกล่าว บริษัทฯได้มีการหารือรายละเอียดกับเจ้าหนี้หลักแล้ว ซึ่งเจ้าหนี้หลักไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา บริษัท การบินไทยฯ รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ สำหรับงวดระหว่างวันที่ 15 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2565 (ปีที่ 1 ไตรมาสที่ 4) ให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ รับทราบ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.การชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ
ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการข้อ 5.3 การชำระหนี้ การขยายระยะเวลาชำระหนี้ และการลดภาระหนี้ ซึ่งกำหนดให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลล้มละลายกลางศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ หรือ ศาลฎีกา (แล้วแต่กรณี) ซึ่งเป็นคำสั่งถึงที่สุดให้ได้รับชำระหนี้ นั้น
สำหรับงวดรายงานระหว่างวันที่ 15 มีนาคม 2565 ถึง 14 มิถุนายน 2565 ผู้บริหารแผนได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน โดยการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยคงค้าง จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 รวมเป็นเงิน1,474,472,718.67 บาท และบริษัทฯ ไม่ได้มีการผิดนัดตามแผนแต่ประการใด
2.การเพิ่มรายชื่อเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางเพิ่มเติมจำนวน 4 ราย ตามที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จึงถือว่าเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลาที่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ ตามมาตรา 90/26 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งทั้ง 4 ราย เป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 10 เจ้าหนี้การค้า
3.การเปลี่ยนกลุ่มเจ้าหนี้ในแผนฟื้นฟูกิจการ
บริษัทฯ ได้จัดทำคำร้องเพื่อขออนุญาตแก้ไขกลุ่มเจ้าหนี้สำหรับเจ้าหนี้จำนวน 17 ราย โดยบริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 โดยปัจจุบันศาลล้มละลายกลางอยู่ระหว่างการพิจารณาคำร้อง
4.การขายทรัพย์สินรองที่ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตแล้ว
สำหรับการขายทรัพย์สินรองที่ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตแล้ว ตามคำสั่งศาลลงวันที่ 3 ธันวาคม 2563 ซึ่งอนุญาตให้บริษัทฯ จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 4 รายการ ได้แก่ (1) หุ้นที่บริษัทฯ ถืออยู่ในบริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) (2) หุ้นที่บริษัทฯ ถืออยู่ในบริษัท สายการบินนกแอร์จำกัด (มหาชน) (3) ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นอาคารศูนย์ฝึกอบรมที่หลักสี่
และ (4) เครื่องยนต์ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ประเภท CFM56-3C1 จำนวน 5 เครื่องยนต์ และบริษัทฯ ได้ขายทรัพย์สินรายการ (1) (2) (3) และ (4) บางส่วน กล่าวคือ เครื่องยนต์จำนวน 2 เครื่องยนต์จาก 5 เครื่องยนต์ และได้รับเงินเรียบร้อยแล้วดังที่เคยรายงานไปแล้ว นั้น
ในงวดการรายงานประจำไตรมาสนี้ บริษัทฯ ได้ขายทรัพย์สินรายการ (4) เพิ่มเติม กล่าวคือ เมื่อวันที่กรกฎาคม 2564 คณะผู้บริหารแผนได้มีมติอนุมัติให้ขายเครื่องยนต์ CFM56-3C1 อีก 2 เครื่องยนต์ จาก 5 เครื่องยนต์ ให้แก่ผู้ยื่นซองเสนอราคาซื้อสูงสุด และบริษัทฯ ได้รับเงินค่าขายเครื่องยนต์ดังกล่าวจำนวน 36,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของราคาขายแล้ว โดยปัจจุบัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ซื้อเครื่องยนต์เกี่ยวกับกำหนดการส่งมอบเครื่องยนต์
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 คณะผู้บริหารแผนได้มีมติอนุมัติให้ขายเครื่องยนต์ CFM56-3C1 อีก 1 เครื่องยนต์ ซึ่งเป็นเครื่องสุดท้ายให้แก่ผู้ยื่นซองเสนอราคาซื้อสูงสุด ซึ่งมีมูลค่ารวมสูงกว่ามูลค่าตามบัญชีสุทธิที่บริษัทฯ ได้บันทึกไว้ โดยบริษัทฯ ได้ส่งมอบเครื่องยนต์ให้แก่ผู้ซื้อเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 และบริษัทฯ ได้รับเงินค่าขายเครื่องยนต์ครบถ้วนแล้ว จำนวน 298,000 เหรียญสหรัฐ
5.การขาย ให้เช่า หรือหาประโยชน์จากทรัพย์สินรองอื่น
ตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการข้อ 5.7.1 (ข) ที่กำหนดให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจขาย ให้เช่า หรือหาประโยชน์จากทรัพย์สินรอง ซึ่งรวมแต่ไม่จำกัดเพียงทรัพย์สินรองตามที่ระบุในเอกสารแนบ 5 ของแผนฟื้นฟูกิจการ สำหรับงวดระหว่างวันที่ 15 มีนาคม 2565 ถึง 14 มิถุนายน 2565 นั้น การดำเนินการดังกล่าว มีความคืบหน้า ดังนี้
5.1 ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างสำนักงานเชียงราย
คณะผู้บริหารแผนได้มีมติอนุมัติการขายที่ดินและสำนักงานเชียงรายให้แก่ผู้ยื่นซองเสนอราคาซื้อสูงสุด ซึ่งสูงกว่าราคาประเมินและมูลค่าตามบัญชีสุทธิที่บริษัทฯ ได้บันทึกไว้ ในราคา 61,400,000 บาท โดยการบินไทยได้โอนกรรมสิทธิ์และรับเงินค่าขายทรัพย์สินรองดังกล่าวครบถ้วนแล้ว เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565
5.2 หุ้น BAFS (ในส่วนที่นอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตจากศาลเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563)
บริษัทฯ ได้ขายหุ้น BAFS ในตลาดหลักทรัพย์ระหว่างวันที่ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ถึง 15 พฤษภาคม 2565 รวมจำนวน 7,655,800 หุ้น ในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 27.37 บาท คิดเป็นรายรับรวม (สุทธิ) 209,508,538.93 บาท
5.3 เครื่องยนต์อะไหล่ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว
คณะผู้บริหารแผนได้มีมติอนุมัติให้ขายเครื่องยนต์อะไหล่ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว จำนวน 4 เครื่อง ให้แก่ผู้ยื่นซองเสนอราคาซื้อสูงสุดซึ่งสูงกว่าราคาประเมินและมูลค่าตามบัญชีสุทธิของเครื่องยนต์ ราคาขายรวม 2,625,000 เหรียญสหรัฐ โดยการบินไทยได้ส่งมอบเครื่องยนต์ให้แก่ผู้ซื้อและได้รับเงินค่าขายเครื่องยนต์ครบถ้วนแล้ว
6.การเข้าเจรจาเพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญาเดิมให้เป็นไปตามเงื่อนไขของบันทึกข้อตกลง (Letter of Intent) ตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการข้อ 5.3 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 35 เจ้าหนี้ภาระผูกพันจากการเช่า/เช่าซื้อเครื่องบิน ในส่วนที่ผู้ทำแผนเห็นว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
ผู้บริหารแผนได้ดำเนินการเจรจากับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 35 เพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญาเดิมให้เป็นไปตามเงื่อนไขของบันทึกข้อตกลง (Letter of Intent) ที่เจ้าหนี้ได้เข้าทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวไว้กับการบินไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 โดยไตรมาสนี้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญาเดิมฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจำนวน 7 ลำ รวมเป็นเครื่องบินจำนวน 53 ลำ โดยคณะผู้บริหารแผนอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาที่เหลือกับเจ้าหนี้อีก 4 ลำ
7.คณะกรรมการเจ้าหนี้
จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 มีการประชุมคณะกรรมการเจ้าหนี้เพิ่มเติมจากการรายงานความคืบหน้าคราวที่แล้วรวม 4 ครั้ง ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการเจ้าหนี้ได้รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการของคณะผู้บริหารแผน เรื่องการจำหน่ายทรัพย์สินและการบริหารเงินสดและสภาพคล่องแผนดำเนินงานในการจัดหาสินเชื่อใหม่ ความคืบหน้าในการจัดหาสินเชื่อใหม่ แนวทางการปรับโครงสร้างทุนและแนวทางในการแก้ไขแผนเพื่อให้สอดคล้องกับการพิจารณาให้วงเงินสินเชื่อใหม่ ตลอดจนการติดตามหนี้ของลูกหนี้ค้างชำระ
ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานข้างต้นของบริษัทฯ แสดงถึงความสามารถในการชำระหนี้ได้ตามที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนด
อ่านประกอบ :
เปิด 7 ประเด็นเรียกร้อง! 'การบินไทย' ขอรัฐอุ้ม คงสิทธิเส้นทางบิน-หนุนธุรกิจ MRO
'การบินไทย' ลดกู้ 'เงินใหม่' เหลือ 2.5 หมื่นล้าน-'ครม.' รับทราบความคืบหน้าแผนฟื้นฟูฯ
ไม่ผิดนัด!‘การบินไทย’ แจ้งคืนหนี้'เงินต้น-ดบ.' 1.29 พันล้าน-โละทรัพย์สินอีก 4 รายการ
‘บิ๊กตู่’สั่ง‘คมนาคม’ถกอุ้ม ‘การบินไทย’-‘ศักดิ์สยาม’ชี้ไม่เป็น‘รสก.’ ขอเงินรัฐไม่ได้
'ปิยสวัสดิ์’ หวังรัฐแปลงหนี้ฯ-ซื้อหุ้นเพิ่มทุน‘การบินไทย’-เผย 9 เดือน กำไร 5.1 หมื่นล.
‘บิ๊กตู่’ยัน‘การบินไทย’เป็น'สายการบินแห่งชาติ'ตลอดไป-ชี้แผนฟื้นฟูฯคืบหน้าในเกณฑ์ดี
‘การบินไทย’เจรจาแบงก์ขอสินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นล้าน-ลั่นไม่กลับเป็น‘รัฐวิสาหกิจ’แล้ว
'ทอท.' ยกข้อสัญญาไม่อนุญาต ‘การบินไทย’ นำเครื่องบินลูกค้าเข้า ‘ศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง’
ลดค่าใช้จ่าย! ‘การบินไทย’ เร่งคืนพื้นที่ ‘ศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง’ บางส่วน ให้ 'ทอท.'
ปิดฉาก ‘ศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา’ ผุด MRO ใหม่ 8.3 พันล. ‘ทัพเรือ’ สร้าง ‘การบินไทย’ เช่า