‘คณะผู้บริหารแผนฯ’ ยื่น ‘ศาลล้มลาย’ ขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ‘การบินไทย’ เดินหน้าปรับโครงสร้างทุน 8 หมื่นล้าน ลดวงเงินกู้ใหม่เหลือ 2.5 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าออกจากแผนฟื้นฟูฯได้ในปี 67
.............................
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นำโดยนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการฯ แถลงความคืบหน้าการฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทยฯ ครบรอบ 1 ปี และการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯ โดยนายปิยสวัสดิ์ ระบุว่า วันนี้ (1 ก.ค.) บริษัท การบินไทยฯ ได้ยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯ ต่อศาลล้มละลายกลาง และจากแผนฟื้นฟูกิจการฯดังกล่าว บริษัทฯคาดว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการฯได้ในปี 2567
“เรามีความจำเป็นต้องยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯ เพื่อให้บริษัทฯมีความแข็งแกร่ง และสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน และออกจากแผนฟื้นฟูฯได้เร็วกว่าที่คาดไว้เดิม” นายปิยสวัสดิ์ กล่าวและว่า “หากศาลฯให้ความเห็นชอบแผน ซึ่งคาดว่าจะเป็นในช่วงปลาย ก.ย. หรือเดือน ต.ค. เพราะเจ้าหนี้ต้องโหวตเห็นชอบด้วย หลังจากนั้นเราก็เดินหน้าได้เลย แต่อะไรที่ทำได้ เราก็ทำเลย”
สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทยฯ มีดังนี้
1.จัดหาสินเชื่อใหม่แบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ไม่เกิน 6 ปี และ/หรือตราสารหนี้ที่มีอายุการไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 6 ปี เป็นจำนวนไม่เกิน 12,500 ล้านบาท นอกจากนั้น บริษัทยังได้เตรียมการจัดหาสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving Facility) ในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาทเผื่อไว้อีกด้วย
2.ดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนประมาณ 31,500 ล้านหุ้น โดยมีเป้าหมายในการทำให้ส่วนทุนเป็นบวกเพื่อทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทมีความมั่นคงและเพื่อให้หลักทรัพย์ของบริษัทสามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง ด้วยแนวทางต่อไปนี้
(ก) ให้สิทธิผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่มีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในจำนวนเดียวกับจำนวนหนี้สินเชื่อใหม่ที่บริษัทเบิกใช้จริง (Drawdown Amount) เป็นจำนวนเงินประมาณ 12,500 ล้านบาท
(ข) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้เดิมของเจ้าหนี้ทางการเงินตามแผนด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยกระทรวงการคลังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหนี้ทางการเงินและผู้ถือหุ้นหลักเดิมจะได้รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้นทั้งจำนวนเป็นทุน ในขณะที่เจ้าหนี้ทางการเงินกลุ่มอื่น ๆ และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้นจำนวน ร้อยละ 24.5 เป็นทุน โดยหนี้เงินต้นส่วนที่เหลือในอัตราร้อยละ 75.5 จะได้รับชำระหนี้จากกระแสเงินสดของการบินไทยตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนเดิม ซึ่งการแปลงหนี้เป็นทุนนี้จะทำให้การบินไทยสามารถมีส่วนทุนเพิ่มเติมและลดภาระหนี้ตามแผนลงได้ประมาณ 37,800 ล้านบาท
(ค) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อร้องรับการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักตามแผนเป็นทุน ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ซึ่งทำให้การบินไทยอาจสามารถลดภาระการชำระหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักไปได้ประมาณ 4,845 ล้านบาท
(ง) จัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ ในราคาที่ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการเห็นสมควรและไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิม และในกรณีที่ไม่มีผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน หรือผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เต็มจำนวน ให้นำหุ้นส่วนที่มาเสนอขายให้แก่พนักงานบริษัท และหรือบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ซึ่งคาดว่าจะสามารถระดมทุนให้แก่การบินไทยเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 25,000 ล้านบาท
รวมเป็นส่วนทุนที่คาดว่าจะได้รับจากการปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างทุนตามข้อเสนอขอแก้ไขแผนประมาณ 80,000 ล้านบาทเศษ โดยการบินไทยคาดหมายว่าจะสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างทุนข้างต้นให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 ซึ่งหากการดำเนินการเป็นไปตามข้อเสนอข้อแก้ไขแผน ส่วนของทุนจะกลับมาเป็นบวกในปี 2567 และหลักทรัพย์ของบริษัทน่าจะสามารถกลับมาทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 2568
3.แก้ไขและเพิ่มเติมรายละเอียดการแผนการชำระหนี้ของเจ้าหนี้บางกลุ่ม เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อการปฏิบัติตาม และให้บริษัทมีความคล่องตัวในการดำเนินกิจการในภาวะที่อุตสาหกรรมการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและการชำระหนี้ของเจ้าหนี้เดิมตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับปัจจุบัน
4.แก้ไขรายละเอียดในส่วนของผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการส่วนที่ไม่มีความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับบริบทและข้อเท็จจริงในปัจจุบัน
นายปิยสวัสดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง ประกอบกับการที่รัฐบาลทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางต่างๆอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของบริษัท การบินไทย ปรับตัวดีขึ้นมาก โดย ณ สิ้นเดือน มิ.ย. บริษัทฯมีเงินสดคงเหลือ 1.4 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ความจำเป็นในการกู้เงินใหม่ 5 หมื่นล้านบาทจึงลดลง ในขณะที่แผนฟื้นฟูกิจการฯฉบับปัจจุบันก็ไม่ได้แก้ปัญหาของบริษัทฯได้อย่างเบ็ดเสร็จ ครบวงจร
“เราได้มาทบทวนแผนฯใหม่ว่า เราจะกู้เงินเท่าไหร่ ซึ่งตอนนี้การกู้เงินอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญแล้ว เราจึงลดการกู้เงินลง โดยเราจะกู้เงินระยะยาว (Term Loan) แค่ 1.25 หมื่นล้านบาท โดยผู้ให้กู้เงินระยะยาวดังกล่าว จะสามารถแปลงหนี้เป็นทุนได้ในราคา 2.54 บาท/หุ้น และเราอาจจะกู้เงินระยะสั้นอีก 1.25 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้เจ้าหนี้จะไม่มีสิทธิ์แปลงหนี้เป็นทุน แล้วเรายังให้เจ้าหนี้ปัจจุบันแปลงหนี้เป็นทุนอีกประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท ในราคา 2.54 บาท/หุ้น
ถ้าทำทั้ง 2 ส่วน เราจะได้มา 5 หมื่นล้านบาท แล้วในส่วนที่ดอกเบี้ยของเจ้าหนี้ปัจจุบันที่ต้องพักชำระอีก 4,800 ล้านบาท เราก็เปิดโอกาสให้แปลงหนี้เป็นทุนเช่นกัน รวมทั้งหมดแล้วเราจะแปลงหนี้เป็นทุนได้ประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท และที่เราเพิ่มเติมเข้าไปอีก คือ เราจะออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ 2.5 หมื่นล้านบาท ให้กับผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งหมายความว่าการเพิ่มทุนทั้งหมด ถ้าดำเนินการเรียบร้อย ก็จะเป็นประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้ การบินไทย มีทุนเป็นบวกในปี 2567
และพร้อมจะออกจากแผนฟื้นฟูฯ และหุ้นจะสามารถกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดทรัพย์ฯได้ในปี 2568 โดยเราอยากจะดำเนินการทุกส่วนควบคู่กับไปโดยเร็วที่สุด ถ้าดำเนินการได้ตามนี้ ส่วนของทุนจะเป็นบวกในปี 2567 แล้วเราสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการฯได้ปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568
ขณะที่กระทรวงการคลังจะยังถือหุ้นในบริษัท การบินไทย ที่ประมาณ 33% แต่ถ้ารวมหน่วยงานของรัฐด้วย เช่น กรุงไทย ออมสิน สัดส่วนของภาครัฐจะอยู่ที่ประมาณ 40% ก็หมายความว่า ภาครัฐยังเป็นผู้ถือหุ้นหลัก และบริษัท การบินไทย ก็ยังเป็นสายการบินแห่งชาติที่แท้จริงต่อไป ตามที่ท่านนายกฯต้องการ” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า จากความปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลรายได้ของบริษัท การบินไทย เติบโตอย่างมีนัยสำคัญมาตั้งแต่เดือน พ.ย.2564 เป็นต้นมา โดยล่าสุดในช่วงวันที่ 1-27 มิ.ย.2565 จำนวนผู้โดยสารรวมเฉลี่ยในแต่ละวันของสายการบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12,568 และ 12,257 คนต่อวัน จาก 269 และ 4,929 คนต่อวัน ในช่วงเดือนเม.ย.-ต.ค.2564
ขณะที่อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ของการบินไทย ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 75 และมีอัตราการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่รายได้จากการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ของบริษัท ทั้งในส่วนของการขนส่งในเที่ยวบินโดยสารตามตารางบินและเที่ยวบินเช่าเหมาลำขนส่งสินค้ารวมในเดือนพ.ค.2565 มีจำนวน 2,104 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัท การบินไทย มีพนักงานทั้งสิ้น 14,419 คน ลดลงจากเดือน ม.ค.2563 ที่มีพนักงานทั้งสิ้น 29,500 คน ประกอบกับการปรับลดผลตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ ทำให้บริษัทฯลดค่าใช้จ่ายพนักงานลงเหลือ 700 ล้านบาท/เดือน จากเดิม 2,400 ล้านบาท/เดือน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีความจำเป็น คือ ผู้โดยสารกลับมา บริษัทฯสามารถจ้างพนักงานได้เพิ่มเป็น 15,000 คนตามโครงสร้างใหม่ ขณะที่มีบริษัทฯมีรายได้จากการทรัพย์สินต่างๆ 9,274 ล้านบาท
สำหรับสถานะฝูงบินของบริษัทฯ ล่าสุด บริษัทฯมีเครื่องบินที่ใช้งานอยู่ 61 ลำ เป็นเครื่องบินของสายการบินไทย 41 ลำ และเครื่องบินของสายการไทยสมายล์ 20 ลำ โดยบริษัทฯมีแผนนำเครื่องบินที่จอดไว้กลับมาปฏิบัติการบินในช่วงไตรมาส 4/2565 รวม 5 ลำ และอยู่ระหว่างจัดหาเพิ่มอีก 2 ลำ นอกจากนี้ บริษัทฯได้รับอนุญาตให้โอนเครื่องบินที่จำหน่ายได้แล้ว 12 ลำ อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาอนุญาตโอน 5 ลำ และอยู่ระหว่างจำหน่ายอีก 18 ลำ
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทยฯ กล่าวว่า จากแผนการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฯฉบับแก้ไข บริษัท การบินไทย จะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก แต่ยังมีกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นตัวแทนภาครัฐ เป็นผู้ถือหุ้นหลักอยู่ และจากแผนปรับโครงสร้างทุน บริษัทฯจะเปิดโอกาสให้กระทรวงการคลังแปลงหนี้เป็นทุนในวงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท รวมทั้งจะให้ผู้ถือหุ้นเดิมมีสิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ในราคา 2.5452 บาท/หุ้น เป็นต้น
“การแก้ไขแผนครั้งนี้ จะเป็นการแก้ไขส่วนของทุนบริษัทฯ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับบริษัทฯ โดยจำนวนเงินที่ได้จากแปลงหนี้เป็นทุน และ/หรือการให้ผู้ถือหุ้นเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งรวมๆแล้วจะอยู่ที่ 8 หมื่นล้านนั้น ทุนที่ได้มา 8 หมื่นล้าน จะทำให้ส่วนของทุนที่ปัจจุบันเรายังติดลบอยู่ 7 หมื่นล้าน กลับมาเป็นบวกได้ และเมื่อเราฟื้นฟูกิจการฯเสร็จในช่วงปี 2567 ต้นปี 2568 เราจะขอออกจากแผนฟื้นฟูฯ และเอาหุ้นกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้” นายศิริ กล่าว
นายศิริ กล่าวว่า ในส่วนของหนี้สินเดิมที่มีประมาณ 1 แสนล้านบาท บริษัทฯจะทยอยผ่อนชำระคืนเจ้าหนี้ตามแผนฯเดิม ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาคืนหนี้ทั้งหมดภายใน 15 ปี
อ่านประกอบ :
ลดวงเงินกู้ใหม่-เร่งแปลงหนี้เป็นทุน! 'การบินไทย'ยื่นศาลฯ ขอแก้ไข'แผนฟื้นฟูฯ' ก.ค.นี้
เปิด 7 ประเด็นเรียกร้อง! 'การบินไทย' ขอรัฐอุ้ม คงสิทธิเส้นทางบิน-หนุนธุรกิจ MRO
'การบินไทย' ลดกู้ 'เงินใหม่' เหลือ 2.5 หมื่นล้าน-'ครม.' รับทราบความคืบหน้าแผนฟื้นฟูฯ
ไม่ผิดนัด!‘การบินไทย’ แจ้งคืนหนี้'เงินต้น-ดบ.' 1.29 พันล้าน-โละทรัพย์สินอีก 4 รายการ
‘บิ๊กตู่’สั่ง‘คมนาคม’ถกอุ้ม ‘การบินไทย’-‘ศักดิ์สยาม’ชี้ไม่เป็น‘รสก.’ ขอเงินรัฐไม่ได้
'ปิยสวัสดิ์’ หวังรัฐแปลงหนี้ฯ-ซื้อหุ้นเพิ่มทุน‘การบินไทย’-เผย 9 เดือน กำไร 5.1 หมื่นล.
‘บิ๊กตู่’ยัน‘การบินไทย’เป็น'สายการบินแห่งชาติ'ตลอดไป-ชี้แผนฟื้นฟูฯคืบหน้าในเกณฑ์ดี
‘การบินไทย’เจรจาแบงก์ขอสินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นล้าน-ลั่นไม่กลับเป็น‘รัฐวิสาหกิจ’แล้ว
'ทอท.' ยกข้อสัญญาไม่อนุญาต ‘การบินไทย’ นำเครื่องบินลูกค้าเข้า ‘ศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง’
ลดค่าใช้จ่าย! ‘การบินไทย’ เร่งคืนพื้นที่ ‘ศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง’ บางส่วน ให้ 'ทอท.'
ปิดฉาก ‘ศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา’ ผุด MRO ใหม่ 8.3 พันล. ‘ทัพเรือ’ สร้าง ‘การบินไทย’ เช่า