"...กนง. ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และจะติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ การกลายพันธุ์ของโรค COVID-19 ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ และการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น..."
...................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ครม. รับทราบรายงานประจำครึ่งปี (ก.ค.-ธ.ค.2564) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 61 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ที่บัญญัติว่า
“ทุกหกเดือน ให้ ธปท. จัดทำรายงานสภาพเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน นโยบายระบบการชำระเงิน แนวทางการดำเนินงาน และประเมินผลเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ ทั้งนี้ ให้จัดทำรายงานภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน และวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี”
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอ รายงานประจำครึ่งปี (ก.ค.-ธ.ค.2564) ของ ธปท. ตามที่ ธปท. ได้มีหนังสือที่ ธปท.ฝบร. 170/2565 ลงวันที่ 28 ก.พ.2565 เสนอรายงานประจำครึ่งปี (ก.ค.-ธ.ค.2564) ของ ธปท. เพื่อรายงานให้ ครม. รับทราบ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
@ครึ่งหลังปี 64 เศรษฐกิจขยายตัว 0.9% ชะลอตัวจากครึ่งปีแรก
ภาวะเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.90 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 2.3 ในช่วงครึ่งแรกของปีตามอุปสงค์ในประเทศที่แผ่วลง โดยการบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรงและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดในไตรมาสที่ 3 และกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 หลังสถานการณ์แพร่ระบาดคลี่คลาย
ด้านการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอและความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ขณะที่การลงทุนด้านการก่อสร้างปรับดีขึ้นบ้างแต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ
ในส่วนของการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนยังขยายตัวจากการอุปโภคของภาครัฐ ขณะที่การลงทุนของภาครัฐหดตัวตามการเบิกจ่ายลงทุนด้านคมนาคมและระบบชลประทานที่ลดลงเป็นสำคัญ
สำหรับการส่งออกสินค้ากลับมาพื้นตัวได้ดีในไตรมาสที่ 4 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Disruption) คลี่คลายลงบ้าง ส่งผลให้มีการผลิตและเร่งการส่งออกตามคำสั่งซื้อที่คงค้างอยู่ ในส่วนด้านการส่งออกบริการปรับตัวดีขึ้นหลังจากภาครัฐมีการทยอยเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
@การชำระหนี้-ฐานะทางการเงิน'ครัวเรือน'ยังเปราะบาง
เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในประเทศยังเปราะบาง โดยตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงในช่วงไตรมาสที่ 3 สะท้อนจากจำนวนผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงานที่เร่งขึ้น รวมทั้งรายได้ของลูกจ้างในภาพรวมที่ลดลง
อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสที่ 4 ตลาดแรงานมีสัญญาณฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่การฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้และฐานะทางการเงินของครัวเรือนยังคงเปราะบาง
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.56 เร่งขึ้น จากร้อยละ 0.89 ในช่วงครึ่งแรกของปี โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 4 ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นเร็ว จากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับราคาอาหารสดปรับเพิ่มขึ้น ทั้งราคาผักจากผลของอุทกภัยและราคาเนื้อสุกรหลังอุปทานลดลงเนื่องจากมีโรคระบาดในสุกรและต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้น
ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยและอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.19 จากมาตรการลดค่าน้ำประปา และค่าธรรมเนียมการศึกษาของภาครัฐ เพื่อช่วยบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน
@การลงทุนโดยตรงต่างประเทศเพิ่มขึ้น จาก'กำไรที่ไม่ได้ส่งกลับ'
เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังเข้มแข็ง สามารถรองรับความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้ สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่ต่ำ และสัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่สูงเมื่อเทียบกับเกณฑ์สากล
อย่างไรก็ตาม ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าช่วงครึ่งแรกของปี ตามการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอนจากรายจ่ายบริการขนส่งที่เพิ่มขึ้นมากตามค่าระวางสินค้าที่สูงขึ้น
สำหรับดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากที่ขาดดุลในช่วงครึ่งแรกของปี โดยเป็นการเกินดุลสุทธิจากด้านหนี้สินตามการลงทุนประเภทอื่นๆ จากการจัดสรรสิทธิในการถอนเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศให้กับไทยในการเสริมสภาพคล่องในการรับมือกับวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประกอบกับมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากกำไรที่ไม่ได้ส่งกลับ (Reinvested Earning) ของธุรกิจต่างประเทศ
@กนง.ให้น้ำหนักสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
การดำเนินงานของ ธปท.
แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายการเงิน
(1) การดำเนินนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะทยอยกลับมามากขึ้น
สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นในครึ่งหลังของปี กนง. ประเมินว่า เป็นผลจากราคาพลังงานเป็นหลัก และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อโลกและการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการในระยะต่อไป
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูงจากหลายปัจจัย เช่น การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ผลกระทบอาจรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด ความต่อเนื่องของมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่จะทยอยหมดลง การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานโลก เป็นต้น
กนง. เห็นว่า มาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องยังมีความสำคัญ มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด
ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง ทั้งนี้ กนง. ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ และจะติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ
ได้แก่ การกลายพันธุ์ของโรค COVID-19 ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ และการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
@เงินทุนไหลออก-ดอลลาร์แข็ง ฉุด'บาท'อ่อนค่า-ผันผวน
(2) การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน
เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ปรับอ่อนค่าจากไตรมาสก่อน จาก 2 ปัจจัย ได้แก่ 1.เงินทุนไหลออก ส่วนหนึ่งจากความกังวลของการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าในประเทศ และ 2.การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐหลังธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาส่งสัญญาณทยอยลดปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น
สำหรับเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เคลื่อนไหวมันผวน โดยในช่วงกลางไตรมาส เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นตามความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นจากแผนการเปิดประเทศของไทย
อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนธันวาคม เงินบาทกลับอ่อนค่าเร็วจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ 1.การระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนที่กระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และ 2.การลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลักที่เร็วกว่าคาด ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและมีเงินทุนไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง
อย่างไรก็ดี เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐยังเคลื่อนไหวผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่อาจรุนแรงขึ้น และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักภายใต้แรงกดดันเงินเฟ้อในระดับสูง
กนง. จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ เห็นควรให้ผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น
@'กนส.'เน้นปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวช่วยเหลือลูกหนี้
แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายสถาบันการเงิน
(1) การออกมาตรการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19
คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ได้ให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 โดยติดตามความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
เช่น การปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อฟื้นฟูแก่ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อลดข้อจำกัดด้านวงเงิน และการกระจุกตัวของสินเชื่อ ,แนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับเป็นสำคัญ
และมาตรการส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์ร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุนเป็นการชั่วคราว เพื่อทำหน้าที่รองรับการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป เป็นต้น
(2) การดำเนินงานด้านนโยบายกำกับสถาบันการเงิน และการดูแลความเสี่ยงและการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม
กนส. ได้ติดตามและประเมินความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมอย่างใกล้ชิด โดยให้ความสำคัญกับการติดตามและประเมินความเสี่ยงในประเด็นสำคัญ
เช่น การจัดทำ Supervisory Stress Test ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเพื่อประเมินผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ต่อผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงิน การประเมินธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศ (D-SIBs) การสนับสนุนการยกระดับธรรมาภิบาลของสถาบันการเงินให้เข้มแข็งมากขึ้นเพื่อสร้างวัฒนธรรมด้านความเสี่ยง (Risk Culture) ที่เข้มแข็งและเป็นรูปธรรม
การปรับปรุงกรอบการประเมินความพร้อมในการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Resilience Assessment Framework: CRAF) เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถรับมือต่อความเสี่ยงที่มีความชับซ้อนมากยิ่งขึ้น และให้ความสำคัญในการกำกับดูแลและตรวจสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT) ให้ตรวจจับภัยไซเบอร์ในเชิงรุกที่หลากหลายและชับซ้อนมากขึ้นได้ เป็นต้น
(3) การดำเนินงานด้านการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
กนส. ให้ความสำคัญกับการกำหนดแนวทางการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกการเงินดิจิทัล และความยั่งยืนโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเชื่อมโยงด้านการเงินในภูมิภาค โดยมีการส่งเสริมประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงินโดยใช้เทคโนโลยี
ทั้งนี้ ธปท. อยู่ระหว่างจัดทำแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (Financial Landscape) โดยให้ความสำคัญกับ 1.การเปิดโอกาสให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลภายใต้หลักการ 3 Open
ได้แก่ เปิดให้แข่งขัน (Open Competition) โดยเปิดให้มีธนาคารที่ให้บริการในรูปแบบใหม่บนช่องทางดิจิทัล (Virtual Bank) ,เปิดให้ผู้เล่นต่างๆเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน (Open Infrastructure) อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น และเปิดให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Open Data) โดยผลักดันให้มีกลไกที่ผู้ใช้บริการสามารถส่งข้อมูลของตนไปยังผู้ให้บริการรายอื่นได้สะดวกมากขึ้น
2.การเปลี่ยนผ่านสู่โลกใหม่ได้อย่างยั่งยืน โดยให้ภาคการเงินประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจังและช่วยให้ภาคครัวเรือนสามารถอยู่รอดสามารถปรับตัวในโลกใหม่ได้ และ 3.มีการกำกับดูแลอย่างยืดหยุ่นและเท่าทันความเสี่ยงรูปแบบใหม่
@คุณภาพสินเชื่อ SFIs เสื่อมลงเล็กน้อยจากลูกหนี้ SMEs-รายย่อย
(4) ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFls)
ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ระบบธนาคารพาณิชย์และ SFIs มีความมั่นคง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตลอดจนสนับสนุนความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจและครัวเรือนในระยะต่อไปได้
ด้านคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างทรงตัวจากการปรับโครงสร้างหนี้และการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ ขณะที่คุณภาพสินเชื่อของ SFIs เสื่อมลงเล็กน้อยจากลูกหนี้ธุรกิจ SMEs และลูกหนี้รายย่อย
@ยอดลงทะเบียน 'พร้อมเพย์' แตะ 68.6 ล้านหมายเลข
แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายระบบการชำระเงิน
ธปท. ได้ดำเนินงานด้านนโยบายระบบการชำระเงิน เพื่อให้ระบบการชำระเงินของไทยมีประสิทธิภาพและมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งเพื่อยกระดับการกำกับดูแลระบบการชำระเงินของประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 สรุปได้ดังนี้
(1) แนวโน้มการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ
การใช้บริการระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 การใช้บริการ e-Payment เพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณร้อยละ 54.3 และเชิงมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับปี 2563 การใช้บริการผ่าน Mobile Banking/Internet Banking เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.6
การลงทะเบียนพร้อมเพย์เพิ่มขึ้น 12.4 ล้านหมายเลขจากสิ้นปี 2563 ปัจจุบันอยู่ที่ 68.6 ล้านหมายเลข ปริมาณโอนเงินผ่านพร้อมเพย์เฉลี่ยต่อวัน 36.2 ล้านรายการ หรือคิดเป็นมูลค่า 112.6 พันล้านบาท การถอนเงินสดและการใช้เช็คลดลงต่อเนื่อง โดยมูลค่าการถอนเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มหดตัวลงร้อยละ 8.5 มูลค่าการใช้เช็คลดลงร้อยละ 12.4 เทียบกับปีก่อน สอดคล้องกับการหันมาใช้ Digital Payment เพิ่มขึ้น
(2) การดำเนินการตามกรอบการพัฒนา 5 ด้านของแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน ฉบับที่ 4
1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่เชื่อมโยงกัน (Interoperable Infrastructure) : ธปท. อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจ (โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business) เพื่อส่งเสริม Digital Business และ Digital Payment อย่างครบวงจร ช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัวเข้าสู่ระบบดิจิทัลได้ดีขึ้น
รวมถึงมี Digital Footprint ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMES โดยใช้ประโยชน์ต่อยอดจากการใช้มาตรฐานข้อความการชำระเงิน ISO 20022 ที่ช่วยให้สามารถส่งข้อมูลทางการค้าไปพร้อมกับการชำระเงินร่วมกับภาคธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบระบบและบริการชำระเงิน (Architecture)
จัดทำความต้องการทางธุรกิจ (Business Requirements Document) และกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2565 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพัฒนา ทดสอบ และทยอยให้บริการต่อไปในปี 2565
2.การส่งเสริมนวัตกรรมและบริการชำระเงิน (Innovation) : ธปท. ได้ผลักดันการเชื่อมระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ทั้งบริการชำระเงินผ่าน QR Code และบริการโอนเงินระหว่างประเทศ (Remittance) มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ได้มีการเชื่อมโยง QR Payment กับประเทศเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
รวมทั้งบริการโอนเงินรายย่อยแบบทันทีระหว่างไทยและสิงคโปร์ผ่านการเชื่อมโยงระบบ PromptPay-PayNow โดยเปิดให้บริการมาระยะหนึ่งซึ่งมีธุรกรรม การใช้งานอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ได้หารือกับธนาคารกลางและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเทศที่มีการเชื่อมโยงไปแล้ว รวมทั้งหารือกับประเทศอื่นๆ ที่แสดงความสนใจโดยคาดว่าจะเริ่มพัฒนาและทดสอบระบบ และเริ่มทยอยเปิดให้บริการในปี 2565
3.การส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้บริการชำระเงิน (Inclusion) : ธปท. ได้จัดทำโครงการสำรวจพฤติกรรมการชำระเงินของประชาชน โดยการบันทึกการใช้จ่ายประจำวัน และจัดทำรายงานเชิงวิซาการที่อธิบายผลวิเคราะห์การสำรวจพฤติกรรมการชำระเงินประชาชน ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐได้นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาบริการ
4.การกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยง (Immunity) : ธปท.อยู่ระหว่างการพิจารณาออกและปรับปรุงประกาศหลักเกณฑ์ภายใต้พระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ.2560 เช่น หลักเกณฑ์คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ประกอบธุรกิจ กรรมการ และผู้ซึ่งมีอำนาจจัดการของผู้ประกอบธุรกิจ
แนวนโยบายการใช้ Thai Standard QR Code ในธุรกรรมการชำระเงินให้ครอบคลุมบริการในรูปแบบร้านค้าสแกน QR Code ที่ลูกค้าเป็นผู้แสดง (B scan C: MypromptQR) หลักเกณฑ์การกำกับดูแลระบบหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็ค (Imaged Cheque Clearing System and Archive System: ICAS) แนวนโยบายการป้องกันภัยจากการทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านบัตร การกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจระบบการชำระเงินและบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับ เป็นต้น
5.การพัฒนาข้อมูลการชำระเงิน (Information) : ธปท. อยู่ระหว่างการขยายโครงการนำร่องการบูรณาการข้อมูลธุรกรรมการชำระเงินในระดับรายธุรกรรม (Transactional Data) ในระยะที่สอง เพื่อประกอบการติดตามภาวะเศรษฐกิจและการวิเคราะห์พฤติกรรมการชำระเงิน เพื่อประโยชน์สำหรับการพัฒนาบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไป
เหล่านี้เป็นรายงานประจำครึ่งปี (ก.ค.-ธ.ค.2564) ของ ธปท. ที่ ธปท. ได้มีรายงานให้ ครม.รับทราบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงในหลายๆด้าน ท่ามกลางเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในประเทศยังเปราะบาง ขณะที่ กนง. ยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
อ่านประกอบ :
'ห่วงหนี้-ค่าครองชีพสูง'! 'ธปท.'ย้ำนโยบายการเงินหนุน ศก.ฟื้น-เชื่อไม่เกิด recession
'ผู้ว่าฯธปท.'ทำจม.เปิดผนึกถึง'คลัง' แจง'เงินเฟ้อทั่วไป'เฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าโต 4.1%
น้ำมัน-อาหารแพง! 'กนง.'ปรับเป้าเงินเฟ้อฯคาดพุ่งแตะ 4.9%-หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.2%
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5% ต่อปี-มองแรงกดดัน'เงินเฟ้อด้านอุปสงค์'อยู่ในระดับต่ำ
'ธปท.'จ่อปรับคาดการณ์'เงินเฟ้อ'เกิน 1.7%-เชื่อราคา'น้ำมัน-หมู'ลด ช่วงครึ่งหลังของปี
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อปี หนุนศก.ฟื้นตัว-เงินเฟ้อปี 65 สูงเกินคาด
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ. 0.5% ต่อปี มองจีดีพีปีหน้าโต 3.4%-'โอไมครอน'อาจยืดเยื้อกว่าคาด
'กนง.-กนส.'จับตาความเสี่ยง‘หนี้ครัวเรือน-ตลาดบอนด์ผันผวน'-เกาะติดผลกระทบ'โอไมครอน'
เศรษฐกิจ ต.ค.ดีขึ้น! ธปท.จับตาความเสี่ยง ‘โอไมครอน’-มองทั้งปี 64 จีดีพีโตเกิน 0.7%
‘ธปท.’ประเมินน้ำท่วมปี 64 ฉุดจีดีพี 0.1% เผยเศรษฐกิจ ก.ย.ดีขึ้น-เปิดปท.ฟื้นเชื่อมั่น
‘ธปท.’ ดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไป เผยเครื่องชี้เศรษฐกิจ ส.ค.ลงต่อ-ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5%-คาดศก.ไทยต่ำสุดไตรมาส 3 มองจีดีพีปีนี้โต 0.7%