เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทรฉบับเต็ม ศาลมีอํานาจริบเงินที่ได้จากการกระทําความผิด 89 ล้าน กรณี บ.ไชน่า หัวฟง ผู้รับเหมาจ่ายให้ลูกน้อง ‘เสี่ยเปี๋ยง’ ข้ออ้างกู้ยืมเงิน 'มีพิรุธ' ไม่น่าเชื่อ ชี้ชัด ‘ค่าตอบแทน’ อนุมัติโครงการ (ตอนจบ)
4 มีนาคม 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคําพิพากษาขั้นวินิจฉัยอุทธรณ์คดีโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่โจทก์ และนายวัฒนา เมืองสุข จําเลยที่ 1 อุทธรณ์ ตามคดีหมายเลขดําที่ อม.อธ. 1/2564 และ อม.อธ. 1/2565 ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ นายวัฒนา เมืองสุข จําเลยที่ 1 กับพวกรวม 14 คน พิพากษายืนตามศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้จำคุกนายวัฒนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 รวมความผิด 11 กระทง กระทงละ 9 ปี รวม 99 ปี แต่คงจำคุกจริง 50 ปี และให้ริบเงินซึ่งศาลระบุว่าเป็นสินบนอีก 89 ล้านบาท ตามที่สำนักข่าวอิศรา รายงานแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำคำพิพากษาฉบับเต็มมารายงานโดยเรียบเรียงและนำเสนอเป็น 2 ตอน ตอนแรกว่าด้วยประเด็นวินิจฉัย นายวัฒนา จําเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้อํานาจในตําแหน่ง ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือ หามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่
คราวนี้มาดูประเด็นที่สอง ศาลมีอํานาจริบเงินที่ได้มาจากการกระทําความผิด จำนวน 89 ล้านบาท กรณี บริษัทไชน่า หัวฟง ที่จ่ายให้ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 4 หรือ เสี่ยเปี๋ยง หรือไม่
@ ประเด็นอุทธรณ์ จำเลย ศาลไม่มีอำนาจริบเงิน ?
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจําเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายมีว่า ศาลมีอํานาจริบเงินที่ ได้มาจากการกระทําความผิดและให้ชําระเป็นเงินแทนมูลค่าของสิ่งที่ศาลสั่งริบตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 42, 43 และ 44 หรือไม่
โดยจําเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 83 มีผลใช้บังคับวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 เป็นเวลาภายหลังการกระทําที่อ้างว่าเป็นความผิด ส่วนถ้อยคําที่ใช้ในมาตรา 42 และ 43 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่ง ทางการเมือง พ.ศ. 2560 คือ การริบทรัพย์สิน ซึ่งเป็นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 (5) ไม่ใช่การขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินที่เป็นมาตรการทางแพ่ง จึงต้องใช้พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทําความผิด ที่ไม่มีบทบัญญัติให้ศาลมีคําสั่งให้ริบทรัพย์ ศาลจึงไม่มีอํานาจสั่งให้ ริบเงินหรือสั่งให้จําเลยที่ 1 ชําระเป็นเงินแทนตามมูลค่าสิ่งที่ศาลสั่งริบได้นั้น
องค์คณะวินิจฉัย อุทธรณ์เสียงเอกฉันท์ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของ ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับวันที่ 29 กันยายน 2560 จําเลยที่ 1 กระทําความผิดระหว่างวันที่ 6 กันยายน 2548 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2549 ซึ่งขณะนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ยังไม่มีผลใช้บังคับ ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่มีบทเฉพาะกาลให้นํามาตรา 42 และ 43 มาใช้บังคับแก่การริบทรัพย์สินในการกระทําความผิดที่เกิดขึ้น ก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นใช้บังคับ กรณีจึงไม่อาจนําพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 42 และ 43 มาใช้บังคับเพื่อริบเงินที่ได้มาโดยการกระทําความผิดคดีนี้ได้ ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 2
@ ป.อาญาให้อำนาจศาลสั่งริบทรัพย์สินบุคคลซึ่งได้มาโดยได้กระทําความผิดได้
อย่างไรก็ตาม การริบทรัพย์สินเป็โทษสถานหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 (5) ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะจําเลยที่ 1 กระทําความผิดไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการริบทรัพย์สิน เมื่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 บัญญัติว่า บทบัญญัติในภาค 1 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้ใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย เว้นแต่ กฎหมายนั้น ๆ จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น กรณีจึงต้องนําประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับแก่การริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยการกระทําความผิด ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 บัญญัติว่า ในการริบทรัพย์สินนอกจากศาลจะมีอํานาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอํานาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ (2) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทําความผิด เมื่อเงินที่จําเลยที่ 1 กับพวกได้มาเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทําความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 148 (เดิม) ดังวินิจฉัยข้างต้น แม้โจทก์ไม่ได้อ้างถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (2) แต่เมื่อโจทก์มีคําขอให้ริบเงินจํานวนดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่ง ทางการเมืองจึงมีอํานาจริบเงินจํานวนนั้นตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ทั้งต้องปรับบทกฎหมายให้ ถูกต้องและเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี อันมีผลถึงจําเลยอื่นที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม
ส่วนกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองให้จําเลย ที่ 1 ผู้มีหน้าที่ต้องส่งเงินที่ริบชําระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของเงินที่ศาลสั่งริบพร้อมดอกเบี้ยตาม มาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่ง ทางการเมือง พ.ศ. 2560 นั้น เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นมาตรการเพื่อบังคับให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองสั่งริบ เมื่อพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 44 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับวิธีสบัญญัติ ซึ่งบัญญัติเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะและมีผลใช้บังคับ
ในขณะที่โจทก์ฟ้องจําเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ จึงนําบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับให้จําเลยที่ 1 ส่งเงินที่ริบโดยชําระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของเงินที่ศาลสั่งริบพร้อมดอกเบี้ยได้ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยมานั้น องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจําเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
@ บ.ไชน่า หัวฟงฯ คว้าโครงการ
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า เงินจํานวน 89,000,000 บาท ที่บริษัทไชน่า หัวฟงฯ ออกเช็คสั่งจ่ายให้แก่จําเลยที่ 7 เป็นเงินที่ได้มาจากการกระทําความผิดอันพึงริบ และให้ชําระเป็นเงินแทนตามมูลค่าสิ่งที่ศาลสั่งริบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 42, 43 และ 44 หรือไม่
โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า บริษัทไชน่า หัวฟงฯ มีโครงการอื่นที่ทําสัญญากับการเคหะแห่งชาติอีกหลาย โครงการ เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทรนครราชสีมา (หัวทะเล) และโครงการก่อสร้างที่โอนมาจากบริษัทเอส. เอ็ม.เอ. ดีเวลลอปเม้นท์ กรุ๊ป จํากัด ซึ่งเคยได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้างจากการเคหะแห่งชาติ จํานวน 40,000 หน่วย นอกจากนี้ไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 8 กับ บริษัทไชน่า หัวฟงฯ มีความเกี่ยวพันกันจนต้องจ่ายเงินเป็นจํานวนมากถึง 102,000,000 บาทเศษ และที่อ้างว่า เงินจํานวน 89,000,000 บาท เป็นการร่วมกันทําธุรกิจนําเข้ารถเมล์ เอ็น จีวี นั้น ทางไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงถึงการนําเข้าและมีการดําเนินการถึงขั้นตอนใด จึงเป็นพิรุธ ประกอบกับการกู้ยืมเงินก็ไม่มีหลักประกัน เชื่อว่าเงินดังกล่าวสัมพันธ์กับเงินสินบนที่ใช้ในการอํานวยความสะดวกให้กับโครงการบ้านเอื้ออาทรของบริษัทไชน่า หัวฟงฯ นั้น
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ เสียงข้างมาก เห็นว่า นายหยาง จิน เหลียง กรรมการบริษัทไชน่า หัวฟงฯ ให้การตามบันทึกคําให้การ เอกสารหมาย จ.72 แฟ้มที่ 14 หน้า 351 ถึง 375 ว่า บริษัทไชน่า หัวฟงฯ และบริษัทอื่นร่วม ดําเนินการโครงการบ้านเอื้ออาทร 6 โครงการ ซึ่งได้รับเงินล่วงหน้าจากการเคหะแห่งชาติแล้ว บริษัทไชน่า หัวฟงฯ กับพวกยื่นเรื่องขอเบิกเงินค่าที่ดินงวดที่ 2 เมื่อประมาณเดือนกันยายน 2549 จํานวน 5 โครงการ คือ โครงการบ้านเอื้ออาทรนครราชสีมา (หัวทะเล) จํานวน 14,642,488 บาท โครงการบ้านเอื้ออาทรบางขุนเทียน 1 จํานวน 27,509,580 บาท โครงการบ้านเอื้ออาทร บางขุนเทียน 2 จํานวน 40,199,738 บาท โครงการบ้านเอื้ออาทรสมุทรสาคร 2 (เลียบคลองสี่วา พาสวัสดิ์) จํานวน 19,214,741 บาท และโครงการบ้านเอื้ออาทรลําปาง (ต้นธงชัย) จํานวน 15,167,242 บาท การเคหะแห่งชาติอนุมัติและบริษัทไชน่า หัวฟงฯ กับพวกได้รับเงินค่าที่ดิน ครบถ้วนแล้ว ยกเว้นโครงการบ้านเอื้ออาทรลําปาง (ต้นธงชัย) เพียงโครงการเดียวที่ยังไม่ได้รับเงิน จากการเคหะแห่งชาติ โดยได้รับเงินจากการเคหะแห่งชาติเมื่อประมาณปลายปี 2549 และ นางไพลิน เนียรภาค ผู้อํานวยการกองการเงิน การเคหะแห่งชาติ ให้การตามบันทึกคําให้การเอกสาร หมาย จ.40 แฟ้มที่ 8 หน้า 7 ถึง 414 ว่า การเคหะแห่งชาติจ่ายเงินค่าที่ดินให้บริษัทไชน่า หัวฟง ฯ 5 โครงการ ได้แก่ โครงการบ้านเอื้ออาทรหัวทะเล 2 จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่รวม 58 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา ราคาไร่ละ 690,000 บาท เป็นเงิน 40,275,300 บาท ตามสัญญาร่วมดําเนิน กิจการ ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 และชําระค่าที่ดินร้อยละ 60 ของเงินค่าที่ดินในวันจดทะเบียน โอนกรรมสิทธิ์เป็นเงิน 24,165,180 บาท โดยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขา การเคหะแห่งชาติ ลงวันที่ 21 กันยายน 2548 ส่วนที่เหลือแบ่งชําระตามงวดงาน โครงการบ้านเอื้ออาทรบางขุนเทียน 2 เนื้อที่รวม 44 ไร่ 3 งาน 1 ตารางวา ราคาไร่ละ 2,450,000 บาท เป็นเงิน 109,643,625 บาท ตามสัญญาร่วมดําเนินกิจการ ลงวันที่ 12 สิงหาคม 2548 และ ชําระค่าที่ดินร้อยละ 60 ของเงินค่าที่ดินในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จํานวนเงิน 65,786,175 บาท โดยสั่งจ่ายเช็คธนาคารนครหลวงไทย จํากัด (มหาชน) สาขาคลองจั่น ลงวันที่ 16 กันยายน 2548 ส่วนที่เหลือแบ่งชําระตามงวดงาน โครงการบ้านเอื้ออาทรบางขุนเทียน 1 เนื้อที่รวม 37 ไร่ 1 งาน 71.2 ตารางวา ราคาไร่ละ 2,450,000 บาท เป็นเงิน 91,698,600 บาท ตามสัญญาร่วม ดําเนินกิจการลงวันที่ 26 กันยายน 2548 และชําระค่าที่ดินร้อยละ 70 ของเงินค่าที่ดินในวัน จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นเงิน 64,189,020 บาท โดยสั่งจ่ายเช็คธนาคารนครหลวงไทยฯ สาขา คลองจั่น ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2548 ส่วนที่เหลือแบ่งชําระตามงวดงานโครงการบ้านเอื้ออาทร (ต้นธงชัย) จังหวัดลําปาง เนื้อที่รวม 94 ไร่ 2 งาน 06 ตารางวา ราคาไร่ละ 560,000 บาท เป็น เงิน 40,275,300 บาท ตามสัญญาร่วมดําเนินกิจการลงวันที่ 12 กันยายน 2548 ชําระค่าที่ดิน ร้อยละ 70 ของเงินค่าที่ดินในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เป็นเงิน 37,049,880 บาท แต่เนื่องจากบริษัทไชน่า หัวฟงฯ โอนที่ดินให้การเคหะแห่งชาติล่าช้าเป็นเวลา 19 วัน การเคหะแห่งชาติ จึงหักค่าปรับ 304,000 บาทไว้ โดยสั่งจ่ายเช็คธนาคารนครหลวงไทย ฯ สาขาคลองจั่น ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2548 จํานวนเงิน 36,745,880 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งชําระตามงวดงาน และ โครงการบ้านเอื้ออาทรสมุทรสาคร (คลองสี่วาพาสวัสดิ์) เนื้อที่รวม 30 ไร่ 2 งาน 93.5 ตารางวา ราคาไร่ละ 2,094,000 บาท รวมเป็นเงิน 64,049,135 บาท ตามสัญญาร่วมดําเนินกิจการ ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 ชําระค่าที่ดินร้อยละ 70 ของเงินค่าที่ดินในวันจดทะเบียน โอนกรรมสิทธิ์ เป็นเงิน 44,834,394.50 บาท โดยสั่งจ่ายเช็คธนาคารนครหลวงไทย ฯ สาขา คลองจั่น ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 ส่วนที่เหลือแบ่งชําระตามงวดงาน
@ มีพิรุธไม่เชื่อเป็นเงินกู้ยืม ชี้ชัดเป็น‘ค่าตอบแทน’ เสี่ยเปี๋ยง
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า บริษัทไชน่า หัวฟงฯ ทําโครงการบ้านเอื้ออาทรยื่นต่อการเคหะแห่งชาติหลายโครงการและได้รับเงินค่าที่ดินบางส่วนของโครงการดังกล่าวจากการเคหะแห่งชาติแล้ว ประกอบกับนายอเนก พัฒนสฤษฎ์ ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาบริษัทไชน่า หัวฟงฯ เบิกความว่า พยานไม่เคยกู้ยืมเงิน 89,000,000 บาท จาก บริษัทไชน่า หัวฟงฯ พยานไม่เคยรู้จักจําเลยที่ 7 ซึ่งแตกต่างจากคําให้การของนายหยางดังกล่าว ข้างต้นว่า พยานมอบเช็คธนาคารกรุงไทยฯ สาขา บางจาก สั่งจ่ายเงิน 89,000,000 บาท ให้นายหวาง จําชื่อและชื่อสกุลไม่ได้ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาบริษัทไชน่า หัวฟงฯ และกู้ยืมเงินจากพยาน สัญญากู้ยืมทําระหว่างพยานกับเลขานุการของนายหวาง เมื่อพิจารณาสัญญากู้ยืมเงินท้าย บันทึกคําให้การของนายหยาง เอกสารหมาย จ.72 แฟ้มที่ 14 หน้า 363 แล้ว ปรากฏว่าจําเลยที่ 7 เป็นผู้กู้ หากนายอเนกหรือหวางเป็นผู้กู้ยืมเงินจากนายหยางแล้ว ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่จําเลยที่ 7 ต้องเป็นผู้กู้แทนนายอเนก ทั้งการกู้ยืมเงินดังกล่าวไม่มีหลักประกันซึ่งเป็นการผิดปกติวิสัยของการให้กู้ยืมเงินจํานวนมาก ไม่เชื่อว่านายหยาง และจําเลยที่ 7 กู้ยืมเงินจํานวน 89,000,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจริง แต่เชื่อว่าเป็นการจ่ายเงินจํานวน 89,000,000 บาท ให้จําเลยที่ 7 เพื่อตอบแทนข้อตกลงในการผลักดันโครงการบ้านเอื้ออาทรของบริษัทไชน่า หัวฟงฯ โครงการอื่น นอกจากโครงการบ้านเอื้ออาทรสมุทรสาคร 2 (เลียบคลองสี่วาพาสวัสดิ์) เงินจํานวน 89,000,000 บาท จึงเป็นเงินที่สัมพันธ์กับเงินสินบนที่ใช้ในการอํานวยความสะดวกให้กับโครงการบ้านเอื้ออาทร อื่นของบริษัทไชน่า หัวฟงฯ เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทําความผิดที่ศาลมีอํานาจริบได้ และเมื่อทางไต่สวนเชื่อว่าโดยสภาพของเงินที่ได้รับมา ไม่สามารถที่จะส่งมอบหรือคืนได้ อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าการติดตามเอาคืนกระทําได้ยากเกินสมควร จําเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 8 จึงต้อง ร่วมชําระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของเงินที่ศาลสั่งริบ อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2564 มีพระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ใช้บังคับ โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งมีผลให้กรณีที่ต้อง เสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กําหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้ อัตราดอกเบี้ยร้อยละสามต่อปี และในกรณีหนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กําหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุ อย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่ พระราชกําหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยในจํานวนเงินที่จําเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 8 และที่ 10 ต้องร่วมกันรับผิดจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความ สงบเรียบร้อยของประชาชน
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์มีอํานาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม
@ สั่งริบ 89 ล. ให้จำเลย ชำระเป็นเงินแทนได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธี พิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 42, 43 แต่ให้ปรับบทตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (2) ริบเงิน 89,000,000 บาทด้วย โดยให้จําเลยผู้มีหน้าที่ ต้องส่งเงิน 89,000,000 บาท ที่ริบชําระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของเงินที่ศาลสั่งริบภายในกําหนด 30 วัน นับแต่วันอ่านคําพิพากษานี้ หากจําเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 8 และที่ 10 ไม่ชําระเงินภายใน ระยะเวลากําหนด ต้องชําระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจํานวนนับแต่วันที่ 24 กันยายน 2563 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่ วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปกว่าจะชําระเสร็จ แต่อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 หากกระทรวงการคลังออกพระราชกฤษฎีกาปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย ให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปตามนั้น ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ โดยให้จําเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 8 ร่วมกันชําระเงินแทนตามมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกคนละ 89,000,000 บาท จากคําพิพากษา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองกําหนดไว้
นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
คดีนี้อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ จำเลย 14 ราย
นายวัฒนา เมืองสุข จำเลยที่ 1 (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร)
นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ จำเลยที่ 2 (อดีตบอร์ดการเคหะแห่งชาติและอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการระหว่างวันที่ 9 ก.ย. 2548 – 19 ก.ย. 2549)
นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ จำเลยที่ 3 (อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจก่อสร้างที่พักอาศัย)
นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 4 (เสี่ยเปี๋ยงนักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่)
น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 5 (ลูกน้องคนสนิทนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร)
น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว จำเลยที่ 6 (พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด)
น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา จำเลยที่ 7 (พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด)
บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด จำเลยที่ 8
บริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนลคอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) จำเลยที่ 9
นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง จำเลยที่ 10 ( กี้ร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย)
บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด จำเลยที่ 11 (ผู่รับเหมากลุ่มทุนมาเลเซีย)
บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 12 (ผู้รับเหมา)
บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด จำเลยที่ 13 (ผู้รับเหมาก่อสร้าง)
น.ส.สุภาวิดา หรือ กัญญ์ปภัส คงสุข หรือ คงสุขถิรทรัพย์ กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน บริษัท ไทยเฉนหยูฯ จำเลยที่ 14
เรื่องเกี่ยวข้อง:
- อ่านชัด ๆ คำพิพากษาคดีบ้านเอื้ออาทรฉบับเต็ม:ใครให้การ -จ่ายหัวคิวเท่าไหร่ ปิดฉาก‘วัฒนา’‘วัฒนา’
- ฉบับเต็ม! ศาลฎีกา พิพากษายืน จำคุก 'วัฒนา' 50 ปี ชดใช้เพิ่ม 89 ล้าน อวสานคดีบ้านเอื้อฯ
- ศาลฎีกา พิพากษายืน จำคุก 'วัฒนา' 50 ปี คดีบ้านเอื้ออาทร ชดใช้เพิ่ม 89 ล้าน
- 14 บ.เกี่ยวพัน‘สุภาวิดา-บุญชัย’ คดีได้บัตรปชช.มิชอบ ยังเปิด 5 - เป็น กก. 1 แห่ง
- บ.พรินซิพเทคฯ หัวคิว 8 ล. คดีบ้านเอื้อฯ ที่แท้เครือข่ายเดียว ผู้จ่าย 71.5 ล.‘เสี่ยเปี๋ยง’
- เบื้องหลัง‘วัฒนา’ไฟเขียวเงินล่วงหน้า 194 ล.! หัวคิว 8 ล้าน บ.พรินซิพเทค คดีบ้านเอื้อฯ
- สถานะล่าสุด2 บ.ร่วมฯจ่ายหัวคิวบ้านเอื้อฯ 5 ล.! ถูกสอบภาษี - กก.ได้บัตร ปชช.โดยมิชอบ
- เช็คเงินสด2 ฉบับ 5 ล้าน! 2 บริษัทร่วม จ่ายหัวคิว 'เสี่ยเปี๋ยง' คดีบ้านเอื้ออาทร
- ลงบัญชี‘รายจ่ายต้องห้าม’! เบื้องหลัง หัวคิว 5 ล้าน บ.พาสทิญ่าฯ คดีบ้านเอื้ออาทร
- ซื้อที่ดิน ม.ร.ว.ทรงเทวัญไร่ละ5 แสน ขายการเคหะฯไร่ละ 1 ล. คดีหัวคิวบ้านเอื้อฯ 35.9 ล.
- ต่อรองเหลือยูนิตละ9,000 บาท! เบื้องหลัง ‘เอสเอสอี-พีเจดีซี’จ่าย 9 ล.หัวคิวบ้านเอื้อฯ
- พลิกธุรกิจ‘ชดช้อย’ ผู้รับโทรศัพท์ ‘เสี่ยไก่’ทวงเงิน 40 ล้าน คดีบ้านเอื้ออาทร
- เบื้องหลัง‘ซินเทค ไมวาน’ จ่าย 40 ล. คดีบ้านเอื้อฯ ‘อริสมันต์’ เจรจา - ‘วัฒนา’ โทร.ทวง
- อยู่ชั้น17 ตึกอิตัลไทย! เผยโฉม บ.ไชน่าสเตท จ่ายหัวคิวบ้านเอื้อฯ 301ล.-รอผู้บริหารชี้แจง
- เครือข่ายธุรกิจ‘ทัศนีย์’ กก.หุ้นใหญ่ บ.ไชน่า สเตทฯ จ่ายหัวคิวบ้านเอื้อฯ 301 ล.
- บ.ไชน่าสเตทฯ จ่ายหัวคิวก้อนโต301 ล. บ้านเอื้ออาทร เป็นใคร?
- ก้อนโตสุด301 ล้าน! พฤติกรรม บ.ไชน่า สเตทฯ จ่ายเช็คเงินสด 8 ฉบับ หัวคิวบ้านเอื้ออาทร
- ตามหา'สุวิเชียร' คนเจรจา ‘เสี่ยเปี๋ยง’ จ่ายหัวคิวบ้านเอื้อฯ 4 ล.-รอเจ้าตัวชี้แจง
- ที่ปรึกษา บ.ไชน่าหัวฟงฯ-คนเจรจา‘เสี่ยเปี๋ยง’จ่ายหัวคิว 4 ล. ถือหุ้น 3 บ.รับเหมาบ้านเอื้อฯ
- บ.ไชน่าหัวฟงฯ ผู้จ่ายหัวคิว4 ล. บ้านเอื้ออาทร นักธุรกิจไทยร่วมหุ้น-ตอนนี้ล้มละลาย
- พฤติกรรม บ.ไชน่า หัวฟงฯ เช็ค11 ฉบับ‘หัวคิว’บ้านเอื้อฯ 4 ล. -อีก 89 ล. เอาผิดไม่ได้
- รับโอนค่าหัวคิว130 ล.บ้านเอื้ออาทร! 'ร้านแอนนา คาเฟ่' แจ้งงบการเงิน รายได้ 3 ล้าน
- แกะรอย บ.ไพรนิคฯ หุ้นใหญ่‘ร้านแอนนา คาเฟ่’ รับโอน 130 ล. หัวคิวบ้านเอื้ออาทร
- ตามหา'ร้านแอนนาคาเฟ่' ผู้รับโอนเงิน ‘หัวคิว’บ้านเอื้ออาทร 130 ล้าน
- ‘ร้านแอนนา คาเฟ่’ ผู้รับโอนเงิน‘หัวคิว’บ้านเอื้ออาทร 130 ล้าน เป็นใคร?
- เปิดปูม บ.พีซีซีฯจ่ายหัวคิว4 ล.บ้านเอื้อฯ รายได้ 3 พันล. - ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลคดีโรงพักร้าง
- นอกปมหัวคิว180 ล.! บ.เดวาฯเบิกเงินล่วงหน้า 5 ล. ได้ซากบ้าน 2 หลัง โครงการโรจนะ
- พลิกโครงการฉาว บ้านเอื้อฯร่มเกล้า ที่มาหัวคิว180 ล้าน บมจ.เดวาฯ-เสี่ยเปี๋ยง
- ผู้จ่าย‘หัวคิว’ บ้านเอื้ออาทร 180 ล. สถานะตอนนี้ บ.เดวาฯ ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
- 4 ล.‘หัวคิว’บ้านเอื้ออาทร กิจการร่วมค้าพีซีซี - ซัด‘วัฒนา’ เรียก11,000 บาท/หลัง
- รายได้บ้านเอื้อฯ4 พันล.!เจาะงบ‘เพาเวอร์ไลน์ฯ’ พัวพันหัวคิว-ศาลปค.สั่งชดใช้กคช.อีก 568 ล.
- โอนเข้าบัญชีร้านแอนนาคาเฟ130 ล้าน! บมจ.เดวาฯ จ่ายหัวคิว บ้านเอื้ออาทร 180 ล้าน
- บมจ.เพาเวอร์ไลน์ฯ3 ล้าน‘หัวคิว’บ้านเอื้ออาทร เช็คเงินสดว่อน 26 ฉบับ
- เปิดงบ‘บมจ.ธนายง-BTS' รับเหมา‘บ้านเอื้ออาทร’ ไม่พบรายการเบิกค่าหัวคิว 135 ล้าน
- พฤติกรรมจ่ายหัวคิว135 ล. บมจ.ธนายง คดีบ้านเอื้ออาทร-เช็คเงินสด 7 ฉบับ เข้าบัญชี 5 คน
- 11 บริษัท จ่ายค่าหัวคิวบ้านเอื้ออาทร ก่อนศาลฎีกาฯสั่งริบ 3 พันล.- บมจ.ธนายงด้วย 135 ล
- พฤติกรรม‘วัฒนา’ ในคำพิพากษาฉบับเต็มคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร
- 'วัฒนา'ยื่น 10 ล.! ศาลให้ประกันตัว-อุทธรณ์สู้ต่อหลังโดนคุก 99 ปีคดีบ้านเอื้ออาทร
- พลิกธุรกิจ-ทรัพย์สิน-ความเป็นมาคดีบ้านเอื้ออาทร ก่อนศาลฎีกาจำคุก‘วัฒนา’ 99 ปี
- ฉากหลัง คดีบ้านเอื้ออาทร ผล ปย.ทับซ้อน-หัวคิวหลังละหมื่น