ฉบับเต็ม คำพิพากษาคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร พฤติกรรม ‘วัฒนา เมืองสุข’ เอื้ออํานวยให้ ‘เสี่ยเปี๋ยง’กับพวก แสวงหาผลประโยชน์เรียกรับเงินหัวคิว 1.4 พันล.
..........................
24 ก.ย. 2563 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาจำคุก นายวัฒนา เมืองสุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร (2) จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 99 ปี ตามกฎหมายให้จำคุกได้สูงสุด 50 ปี ,นายอภิชาติ หรือ เสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร อดีตนักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ จำเลยที่ 4 เป็นเวลา 66 ปี ให้จำคุกได้สูงสุด 50 ปี , น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 5 เป็นเวลา 20 ปี , น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว จำเลยที่ 6 เป็นเวลา 44 ปี ,นางสาวรุ่งเรือง ขุนปัญญา จำเลยที่ 7 เป็นเวลา 32 ปี ปรับจำเลยที่ 8 2 แสนกว่าบาท และจำคุกนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย จำเลยที่ 10 เป็นเวลา 4 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2, 3, 9, 11-14 คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร ตามที่รายงานแล้ว
(อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : 'วัฒนา'ยื่น 10 ล.! ศาลให้ประกันตัว-อุทธรณ์สู้ต่อหลังโดนคุก 99 ปีคดีบ้านเอื้ออาทร, พลิกธุรกิจ-ทรัพย์สิน-ความเป็นมาคดีบ้านเอื้ออาทร ก่อนศาลฎีกาจำคุก‘วัฒนา’ 99 ปี)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เรียบเรียงคำพิพากษาฉบับเต็มมารายงาน
คดีนี้แยกออกเป็น 2 สำนวน ศาลฎีกาฯ รวมเป็นสำนวนเดียว
อัยการสูงสุด โจทก์ จำเลย 14 ราย ได้แก่ นายวัฒนา เมืองสุข ที่ 1 ,นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ ที่ 2 ,นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ ที่ 3 ,นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร ที่ 4 ,นางสาวรัตนา แซ่เฮ้ง ที่ 5,นางสาวกรองทอง วงศ์แก้ว ที่ 6 ,นางสาวรุ่งเรือง ขุนปัญญา ที่ 7 ,บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จํากัด ที่ 8 ,บริษัทซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จํากัด (เดิมชื่อ บริษัทไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนล คอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด) ที่ 9 ,นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ที่ 10 ,บริษัทพาสทิญา ไทย จํากัด ที่ 11 ,บริษัทนามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จํากัด ที่ 12 ,บริษัทพรินซิพเทค ไทย จํากัด ที่ 13 ,นางสาวสุภาวิดาหรือกัญญ์ปภัส คงสุขหรือคงสุขถิรทรัพย์ ที่ 14
พฤติการณ์ของนายวัฒนา ตามที่ปรากฏในคำพิพากษา ดังนี้
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จําเลยที่ 1 ร่วมข่มขืนใจหรือจูงใจแก่ผู้ประกอบการให้นําเงินมอบให้เพื่อตอบแทนการที่การเคหะแห่งชาติอนุมัติให้ได้เข้าทําสัญญาตามฟ้องหรือไม่
เห็นว่า แม้จําเลยที่ 1 อ้างว่ารัฐมนตรีมีหน้าที่กํากับงานด้านนโยบาย และจําเลยที่ 1 เกี่ยวข้องเฉพาะการ ปรับปรุงประกาศฉบับใหม่หรือทีโออาร์ก็ตาม แต่ลักษณะการกระทําความผิดในคดีนี้เป็นไปไม่ได้ที่ จําเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ซึ่งเป็นเพียงบุคคลภายนอกจะสามารถกระทําการได้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจําเลยที่ 4 ไม่อาจจะแสดงตนให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เชื่อถือได้ว่าจําเลยที่ 4 มีฐานะเป็นที่ปรึกษาไม่เป็นทางการ ของจําเลยที่ 1 ได้เอง อีกทั้งจําเลยที่ 4 ย่อมไม่มีอํานาจใดที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ตกลงจ่ายเงิน ได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้างทุกรายได้ดังที่เกิดขึ้นจริงในคดีนี้ ทั้งการที่จําเลยที่ 3 แจ้งนางอาภรณ์ว่าให้จัดส่งเอกสารการประชุมอันเป็นเอกสารราชการให้แก่จําเลยที่ 5 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามที่ร้องขอมาก็ไม่น่าเชื่อว่าจําเลยที่ 3 จะเป็นผู้สั่งการเองโดยจําเลยที่ 1 มิได้รู้เห็น
ประกอบกับทางไต่สวนได้ความจากนางปิยะศิริเบิกความว่า บริษัทอื่นที่เหลืออีก 22 บริษัท จําเลยที่ 1 ได้สั่งการให้จําเลยที่ 3 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หน้าห้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ประสานงานให้พยานนําเข้าวาระการประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการ แสดงว่าจําเลยที่ 1 ให้ความสําคัญในการติดตามกํากับดูแลการดําเนินการโครงการบ้านเอื้ออาทรอย่างใกล้ชิด จําเลยที่ 1 น่าจะรู้ข้อเท็จจริงที่มีการเรียกรับเงินได้ เพราะเป็นเงินจํานวนสูงมากและเป็นข้อเท็จจริงที่ รู้กันอย่างแพร่หลายในเวลานั้น การที่จําเลยที่ 1 ปล่อยให้จําเลยที่ 4 แสดงตนเป็นที่ปรึกษาไม่เป็นทางการ จําเลยที่ 1 จึงจะอ้างว่าผู้ประกอบการไปพบจําเลยที่ 4 และจ่ายเงินกันเองเพื่อให้จําเลยที่ 1 พ้นจากความรับผิดหาได้ไม่
พฤติการณ์ของจําเลยที่ 1 กลับส่อแสดงว่าจําเลยที่ 1 มีเจตนาเพื่อเป็น การเอื้ออํานวยให้แก่จําเลยที่ 4 กับพวกเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการบ้านเอื้ออาทรได้โดยอ้างตําแหน่งของจําเลยที่ 1 อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อ พิจารณาประกอบกับว่าจํานวนเงินล่วงหน้าที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะได้รับเป็นจํานวนเท่าใด ขึ้นอยู่กับแผนงานการดําเนินการของผู้ประกอบการที่ขอเบิกเงินที่อาจแตกต่างกันในแต่ละราย และ ตามปกติผู้อํานวยการฝ่ายก่อสร้างหรือผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติมีอํานาจอนุมัติได้เอง
แต่ ปรากฏว่าจําเลยที่ 1 ได้เข้าไปกํากับดูแลเรื่องนี้ดังที่นายสรวุฒิ ตังกาพล เบิกความเจือสมกับจําเลยที่ 1 ว่า จําเลยที่ 1 รับว่าจะไปเจรจากับผู้ประกอบการให้เบิกเงินเท่าที่มีอยู่ ต่อมาได้มีการจ่ายเงินตาม บัญชีจัดแบ่งการจ่ายเงินเอกสารหมาย จ.42 แผ่นที่ 15 ซึ่งการดําเนินการดังกล่าวย่อมมีผลเป็นการ เร่งรัดให้มีการจ่ายเงินล่วงหน้าอยู่ในตัว ทั้งทางไต่สวนก็ไม่มีเจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติผู้ใดยอมรับว่า ได้ใช้วิธีการคิดคํานวณอย่างไรในการกําหนดจํานวนเงินดังกล่าวจึงมีลักษณะผิดปกติเป็นพิรุธ กลับปรากฏจากคําเบิกความของนางอาภรณ์ว่า ในการจ่ายเงินล่วงหน้ามีการแก้ไขเงินล่วงหน้าของจําเลย ที่ 11 และบริษัทเดวา พร็อพเพอร์ตี้ จํากัด (มหาชน) ให้มีจํานวนเพิ่มขึ้น โดยจําเลยที่ 3 ประสานงานมาตามที่จําเลยที่ 1 สั่งการ และสุดท้ายเงินล่วงหน้าที่จ่ายแก่ผู้ประกอบการแต่ละรายได้นําไปจ่ายให้แก่จําเลยที่ 4 จนครบจํานวนตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้
พฤติการณ์บ่งชี้ว่าเป็นการเร่งรัด และเพิ่มจํานวนเงินล่วงหน้าเพื่อให้ผู้ประกอบการนําเงินล่วงหน้าที่ได้รับมามอบให้แก่จําเลยที่ 4 ตาม เงื่อนไขที่ตกลงกันไว้แต่แรก ซึ่งข้อนี้ย่อมเป็นการใช้อํานาจในตําแหน่งรัฐมนตรีของจําเลยที่ 1 โดยมิชอบ และแสดงให้เห็นว่าจําเลยที่ 1 ได้กระทําการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกรับทรัพย์สินจากผู้ประกอบการแต่ละรายโดยแยกตามที่ได้ให้ความเห็นชอบในการเบิกและเพิ่มจํานวนเงินล่วงหน้าเพื่อนําเงินนั้นมาจ่ายตอบแทนการได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้าง อีกทั้งแยกตามที่มีการเรียกเงินโดยตรงจาก บริษัทไมวาน (ประเทศไทย) จํากัด แม้ทางไต่สวนจะไม่ปรากฏว่าเงินที่ผู้ประกอบการจ่ายให้แก่จําเลยที่ 4 มีความเชื่อมโยงกับจําเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อมีการเรียกทรัพย์สินก็ต้องถือเป็นความผิด แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าจําเลยที่ 1 จะได้ทรัพย์ที่เรียกไปหรือไม่ก็หาทําให้ไม่เป็นความผิดไม่ เมื่อข้อเท็จจริง รับฟังได้ดังที่วินิจฉัยมาแล้วว่า จําเลยที่ 5 ถึงที่ 7 เป็นผู้ทําหน้าที่ทวงเงินที่เรียกจากผู้ประกอบการ อันเป็นการแบ่งหน้าที่กันทําในลักษณะเป็นขบวนการแล้ว ดังนี้ การที่จําเลยที่ 1 จะเรียกเงินจาก ผู้ประกอบการด้วยตนเองหรือไม่ย่อมไม่ใช่ข้อสําคัญ
สําหรับบริษัทธนายง จํากัด (มหาชน) ข้อเท็จจริง ได้ความว่าบริษัทดังกล่าวมีการเจรจากับจําเลยที่ 4 และยอมจ่ายเงินให้จําเลยที่ 4 เพื่อเป็นค่า ผลักดันโครงการจนเป็นผลให้ได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้าง และบริษัทธนายง จํากัด (มหาชน) ชําระเงิน ให้จําเลยที่ 4 ตามที่ตกลง ทั้งได้ความว่าในขั้นตอนการอนุมัติมีการเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการเคหะแห่งชาติอย่างเร่งด่วน เชื่อว่าจําเลยที่ 1 รู้เห็นในขั้นตอนดังกล่าวด้วย
ข้อเท็จจริง ฟังได้ว่าจําเลยที่ 1 ร่วมรู้เห็นเป็นใจในการข่มขืนใจหรือจูงใจแก่ผู้ประกอบการให้นําเงินมอบให้เพื่อ ตอบแทนที่การเคหะแห่งชาติอนุมัติให้ได้เข้าทําสัญญาและที่บริษัทไมวาน (ประเทศไทย) จํากัด ดําเนินการตามสัญญา เมื่อการกระทําของจําเลยที่ 1 ในส่วนนี้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 148 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว ไม่จําต้องปรับบทตามมาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก
คดีนี้มีเอกชน 11 ราย จ่ายเงินให้นายอภิชาติกับพวก จำนวน 1,400 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ภายหลังศาลฎีกาฯมีคำพิพากษา นายวัฒนาได้ยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอประกันตัว 10 ล้านบาท และยื่นอุทธรณ์คดีต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว แต่มีเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ
รอดูผลวินิจฉัยของที่ประชุมใหญศาลฎีกา
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
'วัฒนา'ยื่น 10 ล.! ศาลให้ประกันตัว-อุทธรณ์สู้ต่อหลังโดนคุก 99 ปีคดีบ้านเอื้ออาทร
พลิกธุรกิจ-ทรัพย์สิน-ความเป็นมาคดีบ้านเอื้ออาทร ก่อนศาลฎีกาจำคุก‘วัฒนา’ 99 ปี
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage