ไส้ใน ‘หัวคิว’ คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร ราย บมจ.เดวาพร็อพเพอร์ตี้ จ่าย 180 ล้าน แลกขอจัดทําโครงการ เช็คเงินสด 50 ล้านโอนให้ลูกน้องเสี่ยเปี๋ยง อีก 130 ล้าน อำพรางโอนเข้าบัญชีร้านแอนนาคาเฟ อ้างชำระหนี้ แล้วแตกเป็นเช็คใบละ 5 ล้าน 26 ฉบับ กระจายให้บุคคลอื่น
....................................
คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา จำคุกนักการเมือง และ เอกชน 6 ราย กับให้ริบเงิน จำนวน 1,323,006,750 บาท ที่เอกชน 11 ราย ได้โอนเป็นค่าตอบแทน (ค่าหัวคิว) ให้แก่ นายอภิชาติ หรือ เสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร ที่ปรึกษานายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งกำกับดูแลการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เจ้าของโครงการ
เงินที่ศาลฎีกาฯสั่งริบ จำนวน 1,323,006,750 บาท เป็นเงินที่มาจากการกระทําความผิด
รายบริษัทธนายง จํากัด (มหาชน) จํานวน 135,000,000 บาท โดยจ่ายเช็คเงินสด 7 ฉบับ เข้าบัญชี นางสาวรุ่งเรือง ขุนปัญญา นางสาวกรองทอง วงศ์แก้ว นางสุดา คุณจักร นางสาวเซฟอร์ร่า ซาลวาลา (อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง: เปิดงบ ‘บมจ.ธนายง-BTS' รับเหมา ‘บ้านเอื้ออาทร’ ไม่พบรายการเบิกค่าหัวคิว 135 ล้าน)
รายบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชนจํานวน 263,330,000 บาท จ่ายเป็น เช็ค 26 ฉบับ นำเข้าบัญชี นางสาวกรองทอง วงศ์แก้วนางสาวรุ่งเรือง ขุนปัญญาบัญชีบุคคลอื่นๆ (อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง: บมจ.เพาเวอร์ไลน์ฯ 263.3 ล้าน ‘หัวคิว’บ้านเอื้ออาทร เช็คเงินสดว่อน 26 ฉบับ)
มาดูอีกราย กรณี บริษัท เดวา พร็อพเพอร์ตี้ จํากัด (มหาชน) มีการจ่ายเงินค่าหัวคิว 180 ล้านบาท
เรียบเรียงจากคำพิพากษาดังนี้
กรณีตามฟ้องข้อ 2.10 รายบริษัทเดวา พร็อพเพอร์ตี้ จํากัด (มหาชน)
ได้ความจาก คําเบิกความของนายจิรวัฒน์ ศิริวรรณ กรรมการบริษัทว่า เดิมเมื่อปี 2548 บริษัทเดวาฯ ยื่นเสนอ ขอจัดทําโครงการบ้านเอื้ออาทรต่อการเคหะแห่งชาติ แต่ไม่ได้รับอนุมัติ นายจิรวัฒน์ทราบจาก ผู้ประกอบการต่างชาติว่า หากจะทําโครงการบ้านเอื้ออาทรจะต้องติดต่อผ่านจําเลยที่ 4(นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง ) นายจิรวัฒน์ จึงปรึกษากับกรรมการบริษัทกรรมการบริษัทเห็นชอบให้มีการประสานงานกับจําเลยที่ 4 และที่ 6(นางสาวกรองทอง วงศ์แก้ว) นั้น จำเลยที่ 6 ได้ไปเจรจาที่บริษัทด้วย ในชั้นแรกจําเลยที่ 4 และที่ 6 ต้องการเงินเป็นรายหน่วย หน่วยละ 10,000 บาท แต่สามารถต่อรองจํานวนเงินที่จะต้องจ่ายลงเหลือหน่วยละ 5,800 บาท
สําหรับการจ่ายเงินล่วงหน้า วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549 จําเลยที่ 3 ได้พิจารณาเรื่องเงินล่วงหน้าของบริษัทเดวาฯ และเพิ่มจํานวน เงินขึ้นจาก 428,000,000 บาท เป็นจํานวน 489,000,000 บาท เมื่อจําเลยที่ 1 เห็นชอบแล้ว จึงสั่งการให้การเคหะแห่งชาติอนุมัติเงิน ปรากฏตามเอกสารการเบิกเงินล่วงหน้าท้ายคําให้การของนางอาภรณ์ จันทรา เอกสารหมาย จ.42 แฟ้มที่ 9 หน้า 29 วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติอนุมัติให้จ่ายเงินล่วงหน้าตามจํานวนเงินดังกล่าว วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2549 การเคหะแห่งชาติ จึงดําเนินการอนุมัติจ่ายเงินล่วงหน้าให้บริษัทเดวาฯ สําหรับโครงการบ้านเอื้ออาทร ร่มเกล้า จํานวน 222,199,500 บาท หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว จึงสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขาการเคหะแห่งชาติ จํานวน 2 ฉบับ ฉบับแรก หมายเลขเช็ค 0021126 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 จํานวน 148,598,130.84 บาท และฉบับที่สอง หมายเลขเช็ค 0028757 ลง วันที่ 9 มีนาคม 2549 จํานวน 71,524,738.32 บาท ให้แก่ธนาคารอาร์ เอช ปี ผู้รับโอนสิทธิ เรียกร้องจากบริษัทเดวาฯ โดยมีการอนุมัติในขั้นตอนสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 ธนาคารดังกล่าวได้รับเงินแล้วจึงออกใบเสร็จรับเงินให้การเคหะแห่งชาติ 2 ฉบับ
หลังจากบริษัท เดวาฯ ได้รับล่วงหน้าแล้วได้จ่ายเงินตามที่ตกลงกับจําเลยที่ 4 รวมเป็นเงิน 180,00,000 บาท โดย โอนเข้าบัญชีจําเลยที่ 6 จํานวน 50,000,000 บาท ส่วนอีก 130,000,000 บาท เนื่องจากไม่ สามารถนําไปลงบัญชีของบริษัทเดวาฯได้ จึงโอนไปเข้าบัญชีร้านแอนนาคาเฟ ข้อที่อ้างว่าบริษัทเดวาฯ จ่ายเงิน 130,000,000 บาท ให้แก่ร้านแอนนาคาเฟ่เป็นการชําระหนี้เงินยืมนั้นนายจิรวัฒน์เบิกความรับว่า พยานจําไม่ได้ว่าเป็นเงินยืมตั้งแต่เมื่อใด และไม่มีหลักฐานในการกู้ยืมเงิน และตอบคําถามศาลว่า การใช้คืนเงินยืมนั้นจะเป็นการคืนเงินที่ยืมมาทั้งหมดหรือไม่ ไม่แน่ใจ ซึ่งเมื่อ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ร้านแอนนาคาเฟ่ ได้จ่ายเงินที่รับมา 130,000,000 บาท เป็นเช็คฉบับละ 5,000,000 บาท รวม 26 ฉบับ ซึ่งเช็คดังกล่าวถูกนําไปเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของบุคคลต่าง ๆ และได้ความด้วยว่าเจ้าของบัญชีได้ถอนเงินสดทั้งหมดออกจากบัญชี โดยที่ไม่ปรากฏว่าร้านแอนนาคาเฟมีหนี้ที่จะต้องชําระให้แก่บุคคลดังกล่าว พฤติการณ์จึงน่าเชื่อว่า บริษัทเดวาฯ โอนเงินเข้าบัญชี ร้านแอนนาคาเฟ่เป็นเพียงการหาช่องทางจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนตามที่ตกลงไว้กับจําเลยที่ 4
ทั้งนี้ คดีนี้มีจำเลย 14 ราย ได้แก่ นายวัฒนา เมืองสุข ที่ 1 ,นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ ที่ 2 ,นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ ที่ 3 ,นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร ที่ 4 ,นางสาวรัตนา แซ่เฮ้ง ที่ 5,นางสาวกรองทอง วงศ์แก้ว ที่ 6 ,นางสาวรุ่งเรือง ขุนปัญญา ที่ 7 ,บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จํากัด ที่ 8 ,บริษัทซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จํากัด (เดิมชื่อ บริษัทไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนล คอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด) ที่ 9 ,นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ที่ 10 ,บริษัทพาสทิญา ไทย จํากัด ที่ 11 ,บริษัทนามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จํากัด ที่ 12 ,บริษัทพรินซิพเทค ไทย จํากัด ที่ 13 ,นางสาวสุภาวิดาหรือกัญญ์ปภัส คงสุขหรือคงสุขถิรทรัพย์ ที่ 14
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ประชาชาติธุรกิจรายงานเมื่อ 11 ก.ย.2549 ระบุว่า บริษัทเดวา พร็อพเพอร์ตี้ จํากัด (มหาชน) ได้งานโครงการบ้านเอื้ออาทร ประมาณ 4 โครงการ มูลค่า 3,400 ล้านบาท หนึ่งในนั้นคือโครงการบ้านเอื้ออาทรโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยาการเคหะฯ แบ่งเป็นจัดซื้อที่ดินในโครงการบ้านเอื้ออาทรโรจนะ 415,310,000 บาท (กคช.(บค.1.)03/2548) และสัญญาร่วมดำเนินกิจการโครงการบ้านเอื้ออาทรโรจนะจังหวัดพระนครศรีอยูทธยา มูลค่า 2,461,690,000 บาท (กคช.(บค.1) 03/2548) เบิกเงินล่วงหน้า 369,253,500 บาท
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายวัฒนา จาก https://www.thairath.co.th/
อ่านประกอบ :
บมจ.เพาเวอร์ไลน์ฯ 263.3 ล้าน ‘หัวคิว’บ้านเอื้ออาทร เช็คเงินสดว่อน 26 ฉบับ
เปิดงบ ‘บมจ.ธนายง-BTS' รับเหมา ‘บ้านเอื้ออาทร’ ไม่พบรายการเบิกค่าหัวคิว 135 ล้าน
พฤติกรรมจ่ายหัวคิว 135 ล. บมจ.ธนายง คดีบ้านเอื้ออาทร-เช็คเงินสด 7 ฉบับ เข้าบัญชี 5 คน
11 บริษัท จ่ายค่าหัวคิวบ้านเอื้ออาทร ก่อนศาลฎีกาฯสั่งริบ 1.3 พันล.- บมจ.ธนายงด้วย 135 ล
พฤติกรรม ‘วัฒนา’ ในคำพิพากษาฉบับเต็มคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร
'วัฒนา'ยื่น 10 ล.! ศาลให้ประกันตัว-อุทธรณ์สู้ต่อหลังโดนคุก 99 ปีคดีบ้านเอื้ออาทร
พลิกธุรกิจ-ทรัพย์สิน-ความเป็นมาคดีบ้านเอื้ออาทร ก่อนศาลฎีกาจำคุก‘วัฒนา’ 99 ปี
ฉากหลัง คดีบ้านเอื้ออาทร ผล ปย.ทับซ้อน-หัวคิวหลังละหมื่น
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage