เปิดพฤติกรรมจ่ายหัวคิวโครงการบ้านเอื้ออาทร บมจ.ธนายง ‘คีรี’ มอบลูกน้องรับผิดชอบ เจรจา‘เสี่ยเปี๋ยง’ ประสาน บิ๋กการเคหะฯ ดันเรื่องเข้าที่ประชุม มีค่าใช้จ่าย 252 ล้าน ลดเหลือ 135 ล้าน จ่ายเช็คเงินสด 2 งวด 7 ฉบับ เข้าบัญชี 5 คน แลกได้สัญญาก่อสร้างแบบเทิร์นคีย์ 20,000 ยูนิต
................
คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา จำคุกนักการเมือง และ เอกชน 6 ราย กับให้ริบเงิน จำนวน 1,323,006,750 บาท ที่เอกชน 11 ราย ได้โอนเป็นค่าตอบแทน (ค่าหัวคิว) ให้แก่ นายอภิชาติ หรือ เสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร ที่ปรึกษานายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งกำกับดูแลการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เจ้าของโครงการ
เงินที่ศาลฎีกาฯสั่งริบ จำนวน 1,323,006,750 บาท เป็นเงินที่มาจากการกระทําความผิดรายของ บริษัทธนายง จํากัด (มหาชน) จํานวน 135,000,000 บาท ตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้ว
(อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง: 11 บริษัท จ่ายค่าหัวคิวบ้านเอื้ออาทร ก่อนศาลฎีกาฯสั่งริบ 1.3 พันล.- บมจ.ธนายงด้วย 135 ล.)
รายของบริษัทธนายง จํากัด (มหาชน) เรียบเรียงความเป็นมาตามที่ปรากฏในคำพิพากษาดังนี้
กรณีตามฟ้อง รายบริษัทธนายง จํากัด (มหาชน) ได้ความจาก นายคีรี กาญจพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท ว่า บริษัทมอบหมายให้ นายรังสิน กฤตลักษณ์ กรรมการบริษัท เป็นผู้รับผิดชอบโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งการเคหะแห่งชาติจะปิดการรับซื้อโครงการภายในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 โดยได้ข้อมูลจากผู้ประกอบการรายอื่นว่า จําเลยที่ 4 (นายอภิชาติ หรือ เสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร) ซึ่งเป็นกรรมการ จําเลยที่ 8 (บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด) เป็นผู้กว้างขวางรู้จักกับผู้มีอํานาจในการเคหะแห่งชาติ ซึ่งสามารถผลักดันโครงการให้แก่บริษัทได้
ต่อมาประมาณต้นเดือนธันวาคม 2548 นายรังสิน จึงเดินทางไปบริษัทจําเลยที่ 8 แต่วันดังกล่าวจําเลยที่ 4 ไม่อยู่ นายรังสินจึงมอบนามบัตรไว้
ต่อมาประมาณต้นเดือนมกราคม 2549 จําเลยที่ 4 โทรศัพท์หานายรังสินสอบถามเรื่องโครงการบ้านเอื้ออาทร นายรังสินแจ้งว่าบริษัทธนายง จํากัด (มหาชน) จะยื่นเสนอโครงการบ้านเอื้ออาทร แต่ติดปัญหาการเคหะแห่งชาติปิดรับซื้อโครงการไปแล้ว
จําเลยที่ 4 แจ้งว่าสามารถให้คําปรึกษาครบวงจรได้ แต่มีค่าใช้จ่าย โดยจะให้จําเลยที่ 6 (น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว ลูกน้องเสี่ยเปี๋ยง) และที่ 7 (นางสาวรุ่งเรือง ขุนปัญญา ลูกน้องเสี่ยเปี๋ยง) ไปพบพูดคุยในรายละเอียดรวมถึงค่าใช้จ่าย
ต่อมาจําเลยที่ 6 และที่ 7 เดินทางไปพบแจ้งว่า คิดค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของมูลค่าโครงการ จํานวน 20,000 หน่วย เป็นเงิน 252,000,000 บาท นายรังสินต่อรองลงเหลือ 135,000,000 บาท โดยจะชําระเมื่อการเคหะแห่งชาติอนุมัติรับซื้อ โครงการแล้ว จําเลยที่ 6 และที่ 7 นําเรื่องไปปรึกษาจําเลยที่ 4 แล้วตกลงตามเงื่อนไขดังกล่าว
โดย จําเลยที่ 4 แนะนําให้บริษัทธนายง จํากัด (มหาชน) ทําหนังสือถึงนายประสาน ตันประเสริฐ ประธานคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ เพื่อขอจัดทําโครงการบ้านเอื้ออาทร และจัดทําแบบยื่นเสนอขอจัดทําโครงการ โดยจําเลยที่ 7 รับเอกสารไปยื่นต่อการเคหะแห่งชาติ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 นายประสานได้บันทึกท้ายหนังสือของบริษัทถึงนางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เพื่อโปรดพิจารณา แล้วนางชวนพิศมีบันทึกสั่งการให้นายสรวุฒิ ตังกาพล นําเสนอ คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ พิจารณาต่อไป
ต่อมาคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ อนุมัติ จัดสรรหน่วยก่อสร้างรวม 20,000 หน่วย และบริษัทเข้าทําสัญญากับการเคหะแห่งชาติเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 โดยไม่ขอเบิกเงินล่วงหน้า หลังจากนั้นจําเลยที่ 7 โทรศัพท์แจ้งนายรังสินว่าการเคหะแห่งชาติอนุมัติหน่วยให้แก่บริษัทแล้วและขอรับเงินตามที่ตกลงกันไว้ ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2549 จําเลยที่ 7 เดินทางไปที่บริษัทธนายง จํากัด (มหาชน) แจ้งให้สั่งจ่ายเช็คเงินสด แทนเช็คสั่งจ่ายระบุชื่อจําเลยที่ 4 บริษัทจึงสั่งจ่ายเช็คเงินสด 4 ฉบับ ลงวันที่ 21 มีนาคม 2549 รวมเป็นเงิน 60,000,000 บาท เช็คดังกล่าวนําไปเรียกเก็บเข้าบัญชีจําเลยที่ 7
หลังจากบริษัทเข้าทําสัญญากับการเคหะแห่งชาติแล้ว บริษัทจึงสั่งจ่ายเช็คเงินสดอีก 3 ฉบับ รวมเป็นเงิน 75,000,000 บาท มอบให้จําเลยที่ 4 ครบถ้วนตามที่ตกลงกันไว้ เช็คทั้ง 3 ฉบับ นําไปเรียกเก็บเข้าบัญชี จําเลยที่ 6 จํานวน 20,000,000 บาท บัญชีจําเลยที่ 7 จํานวน 39,967,650 บาท บัญชีนางสุดา คุณจักร จํานวน 5,031,950 บาท และบัญชีนางสาวเซฟอร์ร่า ซาลวาลา จํานวน 10,000,000 บาท
** หมายเหตุ : จำเลย 14 ราย ได้แก่ นายวัฒนา เมืองสุข ที่ 1 ,นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ ที่ 2 ,นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ ที่ 3 ,นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร ที่ 4 ,นางสาวรัตนา แซ่เฮ้ง ที่ 5,นางสาวกรองทอง วงศ์แก้ว ที่ 6 ,นางสาวรุ่งเรือง ขุนปัญญา ที่ 7 ,บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จํากัด ที่ 8 ,บริษัทซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จํากัด (เดิมชื่อ บริษัทไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนล คอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด) ที่ 9 ,นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ที่ 10 ,บริษัทพาสทิญา ไทย จํากัด ที่ 11 ,บริษัทนามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จํากัด ที่ 12 ,บริษัทพรินซิพเทค ไทย จํากัด ที่ 13 ,นางสาวสุภาวิดาหรือกัญญ์ปภัส คงสุขหรือคงสุขถิรทรัพย์ ที่ 14
อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง
'วัฒนา'ยื่น 10 ล.! ศาลให้ประกันตัว-อุทธรณ์สู้ต่อหลังโดนคุก 99 ปีคดีบ้านเอื้ออาทร
พลิกธุรกิจ-ทรัพย์สิน-ความเป็นมาคดีบ้านเอื้ออาทร ก่อนศาลฎีกาจำคุก‘วัฒนา’ 99 ปี
พฤติกรรม ‘วัฒนา’ ในคำพิพากษาฉบับเต็มคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร
11 บริษัท จ่ายค่าหัวคิวบ้านเอื้ออาทร ก่อนศาลฎีกาฯสั่งริบ 1.3 พันล.- บมจ.ธนายงด้วย 135 ล.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage