"...จากงบการเงินของ บมจ.ธนายง และบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ในแบบรายงาน 56-1 ที่ไม่ปรากฏว่ามีรายการค่าใช้จ่ายใดที่ตรงกับมูลค่า 135 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ บมจ.ธนายง โอนเป็นค่าตอบแทนให้กับจำเลยในคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร จึงทำให้เกิดประเด็นคำถามว่าบริษัทฯ มีการลงบัญชีไม่ถูกต้องหรือไม่ และเงิน 135 ล้านบาทดังกล่าวมีที่มาจากไหน..."
.............
จากกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาในคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร และสั่งริบทรัพย์ที่ได้จากการกระทำผิด 1,323 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินค่าตอบแทน (ค่าหัวคิว) ที่ผู้รับเหมาโอนให้แก่นายอภิชาติ หรือ เสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร ที่ปรึกษานายวัฒนา เมืองสุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งกำกับดูแลการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เจ้าของโครงการ
สำหรับเงินที่ศาลสั่งริบดังกล่าว ซึ่งมาจากทั้งหมด 11 บริษัทนั้น พบว่าเป็นเช็คเงินสด 7 ฉบับ รวม 135 ล้านบาท ที่บริษัท ธนายง จํากัด (มหาชน) สั่งจ่ายให้กับจำเลยที่เกี่ยวข้องในคดี เพื่อผลักดันให้ได้รับงานก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร จำนวน 20,000 หน่วย
(อ่านประกอบ : พฤติกรรมจ่ายหัวคิว 135 ล. บมจ.ธนายง คดีบ้านเอื้ออาทร-เช็คเงินสด 7 ฉบับ เข้าบัญชี 5 คน)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ของบริษัท ธนายง จํากัด (มหาชน) หรือ TYONG ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) หรือ BTS พบว่า ในช่วงต้นปีบัญชี 2549/50 (1 เม.ย.2549-31 มี.ค.2550) บมจ.ธนายง มีการลงนามสัญญาจัดทำโครงการบ้านเอื้ออาทร จำนวน 20,000 หน่วย มูลค่ารวม 8,400 ล้านบาท โดยได้ทำสัญญากับกคช.เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2549
โดยบมจ.ธนายง ได้รับอนุมัติจากกคช.ให้ทำการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรล็อตแรก 9,584 หน่วย จากสัญญาที่ทำไว้ 20,000 หน่วย ประกอบด้วย 4 โครงการ ได้แก่ 1.บ้านเอื้ออาทรชลบุรี (นาจอมเทียน) 4,598 หน่วย มูลค่า 1,931.2 ล้านบาท 2.บ้านเอื้ออาทรประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน 3) 1,008 หน่วย มูลค่า 423.4 ล้านบาท 3.บ้านเอื้ออาทรสมุทรปราการ(บางบ่อ 2) 1,536 หน่วย มูลค่า 645.1 ล้านบาท และ4.บ้านเอื้ออาทรสระบุรี (โคกแย้) 2,442 หน่วย มูลค่า 1,025.6 ล้านบาท
ต่อมาในปี 2551 กคช.ได้ยกเลิกโครงการบ้านเอื้ออาทรที่บางบ่อ 2 จำนวน 1,536 หน่วย ทำให้ บมจ.ธนายง เหลือโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ต้องดำเนินการก่อสร้าง 3 โครงการ รวม 8,048 หน่วย และตั้งแต่ปี 2550-2554 บมจ.ธนายง ทยอยก่อสร้างและส่งมอบบ้านเอื้ออาทรที่สร้างเสร็จแล้วให้กับกคช. รวมทั้งสิ้น 6,324 หน่วย ส่วนบ้านเอื้ออาทรที่เหลืออีก 1,724 หน่วยนั้น กคช.ได้ทำบันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญากับบริษัทฯ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2555
(ที่มา : แบบรายงาน 56-1 บมจ.ธนายง ปีบัญชี 2551/52)
ทั้งนี้ จากข้อมูลแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ของบมจ.ธนายง ซึ่งปัจจุบัน คือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ พบว่า บริษัทฯมีรายได้จากโครงการบ้านเอื้ออาทร ดังนี้
ปีบัญชี 2549/50 (1 เม.ย.2549-31 มี.ค.2550) มีรายได้จากการจัดหาที่ดินโครงการบ้านเอื้ออาทร 502.11 ล้านบาท และมีต้นทุนการจัดหาที่ดินโครงการบ้านเอื้ออาทร 448.98 ล้านบาท นอกจากนี้ มีการตั้งขาดทุนจากการสํารองเผื่อการด้อยค่าของต้นทุนโครงการบ้านเอื้ออาทร 92.58 ล้านบาท
ปีบัญชี 2550/51 (1 เม.ย.2550-31 มี.ค.2551) มีรายได้จากการจัดหาที่ดินโครงการบ้านเอื้ออาทร 144.34 ล้านบาท และมีต้นทุนการจัดหาที่ดินโครงการบ้านเอื้ออาทร 144.84 ล้านบาท มีรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร 832 ล้านบาท (บ้านเอื้ออาทรชลบุรี (นาจอมเทียน) 624 ล้านบาท ,บ้านเอื้ออาทรประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน 3) 186 ล้านบาท และบ้านเอื้ออาทรสมุทรปราการ (บางบ่อ 2) 22 ล้านบาท) และมีต้นทุนการรับเหมาก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร 845 ล้านบาท
ปีบัญชี 2551/52 (1 เม.ย.2551-31 มี.ค.2552) มีรายได้จากการรับเหมาก่อสร้าง 547 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้ที่มาจากโครงการบ้านเอื้ออาทร 440 ล้านบาท และมีต้นทุนการรับเหมาก่อสร้าง 536 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นต้นทุนรับเหมาก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทร 439 ล้านบาท
ปีบัญชี 2552/53 (1 เม.ย.2552-31 มี.ค.2553) มีรายได้จากการรับเหมาก่อสร้าง 755.5 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้ที่มาจากโครงการบ้านเอื้ออาทร 3 โครงการ รวม 546.2 ล้านบาท และมีต้นทุนการรับเหมาก่อสร้าง 701.2 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นต้นทุนโครงการก่อสร้างจากโครงการบ้านเอื้ออาทร 3 โครงการ 515.8 ล้านบาท
ปีบัญชี 2553/54 (1 เม.ย.2553-31 มี.ค.2554) มีรายได้จากการรับเหมาก่อสร้าง 261.8 ล้านบาท และมีต้นทุนการรับเหมาก่อสร้าง 259.2 ล้านบาท ทั้งนี้ ไม่มีการระบุว่าเป็นรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างและต้นทุนก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯระบุว่า รายได้และต้นทุนจากการรับเหมาก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรลดลง เนื่องจากการลดลงของจำนวนห้องที่โอน
ปีบัญชี 2554/55 (1 เม.ย.2554-31 มี.ค.2555) มีรายได้จากการรับเหมาก่อสร้าง 72.8 ล้านบาท และมีต้นทุนการรับเหมาก่อสร้าง 83.4 ล้านบาท ทั้งนี้ ไม่มีการระบุว่าเป็นรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างและต้นทุนก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรเท่าไหร่ แต่มีการระบุว่า รายได้และต้นทุนค่ารับเหมาก่อสร้างที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เพราะเป็นบริษัทฯได้ก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ปี 2554/55
อย่างไรก็ตาม จากงบการเงินของ บมจ.ธนายง และบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ในแบบรายงาน 56-1 ที่ไม่ปรากฏว่ามีรายการค่าใช้จ่ายใดที่ตรงกับมูลค่า 135 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ บมจ.ธนายง โอนเป็นค่าตอบแทนให้กับจำเลยในคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร จึงทำให้เกิดประเด็นคำถามว่าบริษัทฯ มีการลงบัญชีไม่ถูกต้องหรือไม่ และเงิน 135 ล้านบาทดังกล่าวมีที่มาจากไหน
ที่สำคัญกรณีที่ บมจ.ธนายง ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเข้าไปมีส่วนพัวพันกับการจ่าย ‘ค่าหัวคิว’ เพื่อให้ได้งานก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรนั้น จะมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงานก.ล.ต.) จะดำเนินการอย่างไร
ส่วนบทสรุปจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป
อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง
พฤติกรรมจ่ายหัวคิว 135 ล. บมจ.ธนายง คดีบ้านเอื้ออาทร-เช็คเงินสด 7 ฉบับ เข้าบัญชี 5 คน
11 บริษัท จ่ายค่าหัวคิวบ้านเอื้ออาทร ก่อนศาลฎีกาฯสั่งริบ 1.3 พันล.- บมจ.ธนายงด้วย 135 ล.
'วัฒนา'ยื่น 10 ล.! ศาลให้ประกันตัว-อุทธรณ์สู้ต่อหลังโดนคุก 99 ปีคดีบ้านเอื้ออาทร
พลิกธุรกิจ-ทรัพย์สิน-ความเป็นมาคดีบ้านเอื้ออาทร ก่อนศาลฎีกาจำคุก‘วัฒนา’ 99 ปี
พฤติกรรม ‘วัฒนา’ ในคำพิพากษาฉบับเต็มคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage