อ่านช้าๆ ชัดๆ คำพิพากษาศาลฎีกาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร ฉบับเต็ม‘วัฒนา เมืองสุข’ใช้อำนาจเรียกรับสินบนจาก บ.ผู้รับเหมาหน่วยละ 10,000 บาทขึ้นอยู่กับการต่อรองผ่าน หน้าห้อง-เสี่ยเปี๋ยงกับพวก 2 ประเด็นวินิจฉัยหลัก กระบวนสอบปากคำ รับฟัง ชั่งน้ำหนักพยาน มัดแน่น ยืนคุก 11 กระทง 99 ปี แต่คงจำคุกจริง 50 ปี (ตอนแรก)
4 มีนาคม 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคําพิพากษาขั้นวินิจฉัยอุทธรณ์คดีโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่โจทก์ และนายวัฒนา เมืองสุข จําเลยที่ 1 อุทธรณ์ ตามคดีหมายเลขดําที่ อม.อธ. 1/2564 และ อม.อธ. 1/2565 ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ นายวัฒนา เมืองสุข จําเลยที่ 1 กับพวกรวม 14 คน พิพากษายืนตามศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้จำคุกนายวัฒนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 รวมความผิด 11 กระทง กระทงละ 9 ปี รวม 99 ปี แต่คงจำคุกจริง 50 ปี และให้ ยึดเงินซึ่งศาลระบุว่าเป็นสินบนอีก 89 ล้านบาท ตามที่สำนักข่าวอิศรา รายงานแล้ว
เรื่องเกี่ยวข้อง:
- ฉบับเต็ม! ศาลฎีกา พิพากษายืน จำคุก 'วัฒนา' 50 ปี ชดใช้เพิ่ม 89 ล้าน อวสานคดีบ้านเอื้อฯ
- ศาลฎีกา พิพากษายืน จำคุก 'วัฒนา' 50 ปี คดีบ้านเอื้ออาทร ชดใช้เพิ่ม 89 ล้าน
คดีนี้อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ จำเลย 14 ราย
นายวัฒนา เมืองสุข จำเลยที่ 1 (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร)
นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ จำเลยที่ 2 (อดีตบอร์ดการเคหะแห่งชาติและอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการระหว่างวันที่ 9 ก.ย. 2548 – 19 ก.ย. 2549)
นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ จำเลยที่ 3 (อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจก่อสร้างที่พักอาศัย)
นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 4 (เสี่ยเปี๋ยงนักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่)
น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 5 (ลูกน้องคนสนิทนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร)
น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว จำเลยที่ 6 (พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด)
น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา จำเลยที่ 7 (พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด)
บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด จำเลยที่ 8
บริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนลคอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) จำเลยที่ 9
นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง จำเลยที่ 10 ( กี้ร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย)
บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด จำเลยที่ 11 (ผู่รับเหมากลุ่มทุนมาเลเซีย)
บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 12 (ผู้รับเหมา)
บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด จำเลยที่ 13 (ผู้รับเหมา)
น.ส.สุภาวิดา หรือ กัญญ์ปภัส คงสุข หรือ คงสุขถิรทรัพย์ กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน บริษัท ไทยเฉนหยูฯ จำเลยที่ 14
ศาลวินิจฉัยใน 2 ประเด็นหลัก
นายวัฒนา จําเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้อํานาจในตําแหน่ง ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือ หามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่ และศาลมีอํานาจริบเงินที่ได้มาจากการกระทําความผิด จำนวน 89 ล้านบาท กรณี บริษัทไชน่า หัวฟง หรือไม่
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำคำพิพากษาฉบับเต็มมารายงานโดยเรียบเรียงและนำเสนอเป็น 2 ตอน เริ่มจากประเด็นแรก
@ ปมเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อาญา-มีอํานาจหน้าที่ กํากับกิจการ กคช.
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จําเลยที่ 1 ข้อต่อไปมีว่า จําเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงาน ผู้มีอํานาจหน้าที่ตามฟ้องหรือไม่
โดยจําเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า จําเลยที่ 1 ไม่มีอํานาจหน้าที่อนุมัติหน่วย ก่อสร้างและรับซื้อโครงการ แต่เป็นอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กคช. คดีนี้ไม่มีบุคคลให้ถือเป็นพนักงานจึงเป็นกรณีที่ไม่มีการกระทําความผิดตามฟ้องและไม่มีตัวการกระทําความผิด ศาลจึงไม่อาจลงโทษจําเลยที่ 1 ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนพนักงานกระทําความผิดได้เพราะเกินจากฟ้อง ขณะเกิดเหตุ จําเลยที่ 1 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มีอํานาจหน้าที่กํากับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของการเคหะแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2537 มาตรา 28 การอนุมัติหน่วยก่อสร้างหรือการอนุมัติให้ผู้ประกอบการได้เข้าเป็นคู่สัญญาขายโครงการให้แก่การเคหะแห่งชาติ เป็นกรณีปฏิบัติงานให้เป็นไปตามประกาศการเคหะแห่งชาติ เรื่อง การยื่นข้อเสนอ เพื่อจัดทําโครงการบ้านเอื้ออาทรขายให้กับการเคหะแห่งชาติ ฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2548 เอกสารหมาย จ.133 แฟ้มที่ 22 หน้า 4 ถึง 10 เป็นเรื่องการซื้อ หรือจัดหา อันเป็นอํานาจหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 (1) แห่งพระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2537 เป็นอํานาจ โดยเฉพาะของคณะกรรมการ กคช. ตามมาตรา 16 (1) ประกอบมาตรา 9 (1) และมาตรา 6 มิใช่ การกํากับดูแลโดยทั่วไป แม้จําเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงาน แต่จําเลยที่ 1 มิได้มีอํานาจหน้าที่ตามฟ้องโจทก์ จําเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 (เดิม) หากมีความผิดเกี่ยวกับอํานาจหน้าที่คณะกรรมการ ผู้ว่าการและพนักงานของ กคช. เป็นพนักงานในองค์การหรือ หน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2537 จึงต้องพิจารณาตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 โดยไม่อาจนําประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับนั้น
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงเอกฉันท์ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 (เดิม) บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อํานาจในตําแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจ เพื่อให้บุคคลใดมอบให้ หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด แก่ตนเองหรือผู้อื่น ดังนี้ การที่จะเป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวในส่วนของการกระทําจะต้องเป็นการใช้อํานาจในตําแหน่งโดยมิชอบ ขณะเกิดเหตุ จําเลยที่ 1 ดํารงตําแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งตามพระราชบัญญัติการเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2537 มาตรา 5 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 28 ยังบัญญัติด้วยว่า ให้รัฐมนตรีมีอํานาจหน้าที่กํากับ โดยทั่วไป ซึ่งกิจการของ กคช. เพื่อการนี้อาจสั่งให้ กคช. ชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น หรือ ทํารายงาน หรือยับยั้งการกระทําที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาล หรือมติของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนมีอํานาจที่จะสั่งให้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล หรือมติของคณะรัฐมนตรี และสั่งสอบสวน ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดําเนินกิจการของ กคช.ได้ จําเลยที่ 1 จึงเป็นบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ จึงเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มีอํานาจหน้าที่ กํากับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของการเคหะแห่งชาติ เช่นนี้ เมื่อโครงการบ้านเอื้ออาทรเป็นนโยบายของรัฐบาล จําเลยที่ 1 ย่อมมีอํานาจหน้าที่ในการออกนโยบาย กําหนดแนวทางในการจัดซื้อจัดจ้าง หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการยื่นข้อเสนอเพื่อจัดทําโครงการบ้านเอื้ออาทรของผู้ประกอบการ การแก้ไขปัญหาความล่าช้าที่เกิดขึ้นในระหว่างการดําเนินการโครงการ รวมทั้งการกําหนดแนวทางในการยกเลิกประกาศการเคหะแห่งชาติฉบับเดิม และออกประกาศการเคหะแห่งชาติฉบับใหม่ หรือสั่งให้การเคหะแห่งชาติปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการดังกล่าวบรรลุผลตามนโยบายรัฐบาล
หากข้อเท็จจริงทางไต่สวนฟังได้ว่าจําเลยที่ 1 ใช้อํานาจในตําแหน่งดังกล่าวข้างต้นโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะเข้าร่วมดําเนินการในโครงการบ้านเอื้ออาทร มอบให้ หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่จําเลยที่ 1 หรือผู้อื่น การกระทําของจําเลยที่ 1 ย่อมครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 (เดิม) แล้ว กรณีไม่จําต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ปัญหาอื่นในข้อนี้อีก เพราะไม่ทําให้ผลของคําวินิจฉัยเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์จําเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
@ ประเด็น ใช้อำนาจในตำแหน่งเรียกรับเงินหรือไม่ ?
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จําเลยที่ 1 ข้อต่อไปมีว่า จําเลยที่ 1 กระทําความผิด ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อํานาจในตําแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือ หามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่
โดยจําเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า พยานโจทก์ปากนายสุรเชษฐ เกื้อวันชัย นายเสวก ศรีสุชาต กรรมการบริษัทเพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล กรรมการบริษัทกิจการร่วมค้าพีซีซี จํากัด นายสุวิเชียร ผ่องนัยเลิศ พนักงานบริษัทไชน่า หัวฟง คอนสตรัคชั่น (ไทยแลนด์) จํากัด นายนิมิตร กิตติชัยวงศ์ กรรมการ กิจการร่วมค้าเอสเอสอี-พีเจดีซี นางชดช้อย พงศ์ไพโรจน์ กรรมการบริษัทไมวาน (ประเทศไทย) จํากัด เกิดจากการจูงใจ มีคํามั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบด้วยประการอื่น อันเป็น พยานที่ต้องห้ามมิให้รับฟัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรคสอง โดยนายแก้วสรร ประธานอนุกรรมการ ไต่สวนใช้วิธีจูงใจ ให้คํามั่นสัญญา รวมทั้งข่มขู่พยานให้ให้ความร่วมมือกับตน โดยหากผู้ประกอบการรายใดให้ความร่วมมือจะกันไว้เป็นพยาน แต่หากไม่ให้ความร่วมมือจะดําเนินคดีฐานเป็นผู้สนับสนุน การให้สินบนเจ้าพนักงาน ทั้งการกันเป็นพยานโดยไม่ดําเนินคดีจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนดตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103/6 ประกาศคณะปฏิรูป การปกครองฯ ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 และประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการกัน บุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาไว้เป็นพยานโดยไม่ดําเนินคดี พ.ศ. 2554 การกันบุคคลไว้เป็นพยานต้องมิได้ เกิดจากการขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบด้วยประการอื่นใด และบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหานั้น จะต้องมีคําขอด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้กันตนไว้เป็นพยาน แต่นายแก้วสรรปฏิบัติต่อพยานกลับจูงใจ ให้คํามั่นสัญญา และผู้ที่ถูกกล่าวหามิได้เป็นผู้ขอให้กันตนไว้เป็นพยาน นั้น
@กระบวนสอบ-กันบุคคลเป็นพยานกระทำโดยชอบ
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงเอกฉันท์ เห็นว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 ข้อ 5 วรรคสอง (2) กําหนดให้ คตส. มีอํานาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยให้ คตส. ใช้อํานาจของคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งขณะที่มีการไต่สวนโครงการบ้านเอื้ออาทร ระยะที่ 4 เมื่อปี 2550 ถึงปี 2551 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ยังไม่มีบทบัญญัติการกันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาไว้เป็นพยานโดยไม่ดําเนินคดี ประกอบกับทางไต่สวนนายแก้วสรร เบิกความว่า เมื่อพยานตรวจสอบพบว่ามีการจ่ายเงินล่วงหน้า เลยสงสัยว่าเงินดังกล่าวไปที่ไหน พยานจึงตรวจสอบเฉพาะรายใหญ่พบว่าเงินจากรายใหญ่ไหลเข้าไป ที่จําเลยที่ 4 ซึ่งพยานเชื่อว่าเป็นตัวแทนของจําเลยที่ 1 พยานจึงเรียกผู้ประกอบการทั้งสิบเอ็ดรายมา ให้การถึงเหตุที่จ่ายเงินไป ก่อนที่จะเรียกผู้ประกอบการมาให้การ พยานได้ขออํานาจและปรึกษา คตส. ว่า ถ้าผู้ประกอบการให้ความร่วมมือโดยให้ความจริงก็จะกันไว้เป็นพยาน นายกล้านรงค์ จันทิก บอกว่าทําได้ ซึ่งจะทําให้ผู้ให้สินบนซัดทอดไปถึงผู้เรียกสินบนและมีเหตุผลที่จะกันไว้เป็นพยานได้ พยานจึงนํามติดังกล่าวมาแจ้งให้ผู้ประกอบการทั้งสิบเอ็ดรายทราบว่า ถ้าให้ความร่วมมือจะกันไว้เป็นพยาน ซึ่งมีผู้ประกอบการ 8 ราย ให้การว่าได้รับการติดต่อจากตัวแทนของจําเลยที่ 1 จึงยอมจ่ายเงิน พยานจึงแจ้งข้อกล่าวหาเฉพาะ 3 รายที่ไม่ยอมให้ความร่วมมือ และเบิกความตอบจําเลยที่ 1 ว่า พยานขออํานาจปรึกษา คตส. ว่า ถ้าผู้ใดให้ความร่วมมือโดยให้การตามความจริงจะกันไว้เป็นพยาน คตส. ว่าสามารถทําได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคณะอนุกรรมการไต่สวนที่นายแก้วสรรเป็นประธาน สอบถ้อยคํานางชดช้อย นายพิบูลย์ นายเสวก นายสุรเชษฐ นายสุวิเชียร และนายนิมิตร เป็นพยาน แล้วส่งสํานวนการไต่สวนไปยัง คตส. ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2551 ในการประชุมพิเศษของ คตส. ครั้งที่ 7/2551 คตส.ได้วินิจฉัยชี้มูลความผิดจําเลยที่ 1 กับพวก โดยมิได้แจ้งให้ดําเนินคดีแก่ ผู้ถูกกล่าวหาที่กันไว้เป็นพยานแต่อย่างใด ตามรายงานการตรวจสอบเอกสารหมาย จ.351 แฟ้มที่ 36 และที่ 37 ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ คตส. เห็นชอบให้กันบุคคลดังกล่าวเป็นพยานเพราะคําให้การเป็นประโยชน์ต่อการไต่สวน ทั้งการกันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาเป็นพยานโดยไม่ดําเนินคดีเป็นเพียงวิธีการของเจ้าพนักงานในการแสวงหาให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน เมื่อมิได้มีการจูงใจให้พยานต้องให้การผิดไปจากมูลความจริง และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคณะอนุกรรมการไต่สวนได้กําหนดเนื้อหาที่พยาน ต้องให้การไว้เป็นการล่วงหน้า หรือมีการชี้นําพยานว่าต้องให้การยืนยันไปในทางใด โดยพยานมีอิสระ ที่จะให้การไปตามความรู้เห็นของตน จึงมิได้เป็นพยานชนิดที่เกิดขึ้นจากการจูงใจหรือมีคํามั่นสัญญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 และรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ ความจริงได้ แม้ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องการกันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาเป็นพยานตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 103/6 ที่กําหนดว่า การกันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาไว้เป็นพยาน โดยไม่ดําเนินคดีให้เป็นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกําหนด และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและ เงื่อนไขในการกันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาไว้เป็นพยานโดยไม่ดําเนินคดี พ.ศ. 2554 ใช้บังคับ แต่การให้ถ้อยคําเป็นพยานและถูกกันไว้เป็นพยานโดยไม่ดําเนินคดีในกรณีนี้ ได้ดําเนินการก่อนพระราชบัญญัติและประกาศดังกล่าวใช้บังคับ กรณีจึงไม่จําต้องปฏิบัติตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติและประกาศนั้น
@ พยานบุคคล-เอกสารชัดตั้ง ‘เสี่ยเปี๋ยง’ ที่ปรึกษา
ที่จําเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า จําเลยที่ 1 ไม่เคยแต่งตั้งจําเลยที่ 4 เป็นที่ปรึกษา การที่จําเลยที่ 4 เรียกรับเงินจากผู้ประกอบการโดยมิชอบเป็นการกระทําของจําเลยที่ 4 เอง โดยลําพังนั้น ทางไต่สวน นายประสาน ตันประเสริฐ ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ ให้การต่อ คตส. ตามเอกสารหมาย จ.2 แฟ้มที่ 1 หน้า 61 ถึง 93 และเบิกความได้ความว่า จําเลยที่ 4 มาพบพยานแล้วแนะนําตัวว่าเป็นที่ปรึกษาของจําเลยที่ 1 พร้อมแนะนําด้วยว่าจําเลยที่ 5 เป็นเลขานุการส่วนตัว นายสรวุฒิ ตังกาพล รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติและเลขานุการคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ให้การต่อ คตส. ตามบันทึกคําให้การเอกสารหมาย จ.21 แฟ้มที่ 2 หน้า 359 ถึง 414 และ เบิกความได้ความว่า พยานทราบว่าจําเลยที่ 4 เป็นที่ปรึกษาที่ไม่เป็นทางการของจําเลยที่ 1 เนื่องจากมีการส่งเอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติและกําหนดการประชุมให้จําเลยที่ 4 รวม 7 ครั้ง ตามเอกสารหมาย จ.139 ถึง จ.145 แฟ้มที่ 26 หน้า 16 ถึง 22 โดยระบุว่า เรียน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร) มีพยานลงนามในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ เหตุที่พยานลงนามในหนังสือนําส่งเนื่องจากนายสุพจน์ มัฆวิบูลย์ ผู้อํานวยการกองการประชุม การเคหะแห่งชาติ แจ้งว่าจําเลยที่ 4 เป็นที่ปรึกษาของจําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในทางปฏิบัติว่า เจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติจะต้องส่งเอกสารดังกล่าวให้ที่ปรึกษาและเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งได้ปฏิบัติติดต่อกัน มาโดยตลอด เอกสารที่จัดส่งไปนั้นเป็นหนังสือนําส่ง มีการออกเลขที่ราชการ ลงวันที่ มีข้อความว่า ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ กําหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ จึงขอ ส่งเอกสารประกอบการประชุมดังกล่าวมาพร้อมนี้ นายสุพจน์ให้การต่อ คตส. ตามบันทึกคําให้การ เอกสารหมาย จ.44 แฟ้มที่ 9 หน้า 201 ถึง 272 และเบิกความได้ความว่า กองการประชุมเคย จัดส่งวาระการประชุมและแฟ้มเอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติให้ ที่ปรึกษาของรัฐมนตรี ขณะจําเลยที่ 1 ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ เลขานุการคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ คือ นายสรวุฒิเป็นผู้สั่งและ ลงนามในหนังสือนําส่ง และที่ปรึกษาของจําเลยที่ 1 คือ จําเลยที่ 4 เห็นว่า แม้นายสุพจน์และ นายสรวุฒิเบิกความแตกต่างกันถึงผู้สั่งให้จัดทําหนังสือเอกสารหมาย จ.139 ถึง จ.145 แฟ้มที่ 22 หน้า 16 ถึง 22 ก็ตาม แต่นางดาริยา สมภู่ รองผู้อํานวยการกองการประชุมและเลขานุการ การเคหะแห่งชาติให้การต่อ คตส. ตามบันทึกคําให้การเอกสารหมาย จ.52 แฟ้มที่ 13 หน้า 1 ถึง 50 ว่า หนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติระบุเรื่องขอเชิญประชุมพร้อมทั้งเรียน แจ้งท้ายเพื่อให้นายสรวุฒิลงนาม ซึ่งแจ้งท้ายจะระบุรายชื่อผู้ที่เข้าร่วมประชุมด้านหลังของหนังสือ เชิญประชุม โดยมีรายชื่อของคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติทั้งหมด พยานได้รับคําสั่งจาก นายสรวุฒิให้จัดทําหนังสือพร้อมเอกสารประกอบการประชุมของคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติให้ จําเลยที่ 4 ในฐานะที่ปรึกษาจําเลยที่ 1 ด้วย
และนางอรพินทร์ ศักดิ์วีระกุล พนักงานบริหารงาน ทั่วไป 9 มีหน้าที่กํากับดูแลงานของกองการประชุมและเลขานุการ ให้การต่อ คตส. ตามบันทึก คําให้การเอกสารหมาย จ.45 แฟ้มที่ 9 หน้า 273 ถึง 298 ว่า กองการประชุมเคยส่งวาระ การประชุมและแฟ้มเอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ให้ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในสมัยจําเลยที่ 1 โดยมี นายสรวุฒิเป็นผู้สั่งและลงนามในหนังสือนําส่งที่ปรึกษาของจําเลยที่ 1 คือ จําเลยที่ 4 คําให้การดังกล่าวจึงสนับสนุนคําเบิกความของนายสุพจน์ให้มีน้ำหนักรับฟัง ประกอบกับนายสรวุฒิซึ่งดํารงตําแหน่งรองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติและเลขานุการคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติลงนามในหนังสือขอส่งเอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติตามอํานาจหน้าที่ เชื่อว่านายสรวุฒิเป็นผู้สั่งให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจัดทําหนังสือดังกล่าวส่งให้จําเลยที่ 4 ในฐานะที่ปรึกษา ของจําเลยที่ 1 แม้จําเลยที่ 4 ไม่เคยเข้าร่วมประชุม แต่นายธนัตถ์ สุขมาศ ผู้อํานวยการกลาง การเคหะแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับงานธุรการ งานสารบรรณทั่วไปของการเคหะแห่งชาติ ให้การต่อ คตส. ตามบันทึกคําให้การเอกสารหมาย จ.54 แฟ้มที่ 13 หน้า 101 ถึง 118 และ เบิกความได้ความว่า เมื่อตรวจดูทะเบียนคุมที่หนังสือแล้ว พบว่าหนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการ การเคหะแห่งชาติที่ลงนามโดยนายสรวุฒิรวม 7 ฉบับ ตามหนังสือ ที่ พม 5121/3053 ลงวันที่ 13 กันยายน 2548 ที่ พม 5121/1348 ลงวันที่ 20 กันยายน 2548 ที่ พม 5121/3351 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2548 ที่ พม 5121/3706 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 ที่ พม 5121/3808ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548 ที่ พม 5121/3958 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2548 และที่ พม 5121/5066 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2548 เป็นเรื่องการเชิญประชุม คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติที่ลงนามโดยนายสรวุฒิ และเมื่อตรวจสอบเลขที่หนังสือตาม เอกสารหมาย จ.139 ถึง จ.145 แฟ้มที่ 22 หน้า 16 ถึง 22 และเอกสารหมาย จ.54 แฟ้มที่ 13 หน้า 105 ถึง 111 พบว่าเลขที่เอกสารตรงกัน แสดงให้เห็นว่า เอกสารหมาย จ.54 เป็นเรื่องการ เชิญประชุมคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ เมื่อจําเลยที่ 4 มิได้เป็นกรรมการในคณะกรรมการ การเคหะแห่งชาติ จึงไม่ปรากฏชื่อจําเลยที่ 4 ในเอกสารแจ้งท้ายฉบับดังกล่าว เชื่อว่าหนังสือเอกสาร หมาย จ.139 ถึง จ.145 ไม่ได้จัดทําย้อนหลังเพื่อปรักปรําจําเลยที่ 1 ส่วนเลขที่ออกของหนังสือที่ส่ง ให้จําเลยที่ 4 ไม่เรียงเป็นลําดับนั้น เมื่อตรวจสอบลําดับการออกหนังสือแล้ว พบว่าเป็นเพียงกรณี เขียนหมายเลขสลับที่จาก 3148 เป็น 1348 ซึ่งอาจเป็นความบกพร่องของผู้ออกเลขที่หนังสือ ไม่ถึงกับเป็นพิรุธแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีการจัดทําหนังสือตามเอกสารหมาย จ.139 ถึง จ.145 ถึงจําเลยที่ 4 ในฐานะที่ปรึกษาของจําเลยที่ 1
@เลขาฯเสี่ยเปี๋ยง โทร.ขอเอกสารโครงการบ้านเอื้อฯจากผอ.การเคหะฯ อ้าง ‘นาย’ ที่ปรึกษา รมว.
นอกจากนี้นางอาภรณ์ จันทรา พนักงาน วิเคราะห์นโยบายและแผนระดับ 8 ฝ่ายบริหารการเงินและการลงทุน ทีมเลขานุการของนางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ให้การต่อ คตส. ตามบันทึกคําให้การเอกสารหมาย จ.42 แฟ้มที่ 9 หน้า 1 ถึง 29 และเบิกความได้ความว่า เมื่อประมาณกลางเดือนตุลาคม 2548 จําเลยที่ 5 ติดต่อทางโทรศัพท์ขอเอกสารโครงการบ้านเอื้ออาทร เช่น ประกาศการเคหะแห่งชาติ รูปแบบอาคารที่บันทึกข้อมูลในแผ่นซีดี โดยแจ้งว่าเป็นเลขานุการของจําเลยที่ 4 ซึ่งเป็นทีมงาน ที่ปรึกษาของจําเลยที่ 1 พยานแจ้งนางชวนพิศทราบ นางชวนพิศสั่งให้นางอาภรณ์สอบถามไปยัง จําเลยที่ 3 ทีมงานหน้าห้องของจําเลยที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องนี้ จําเลยที่ 3 แจ้งว่าให้จัดส่งเอกสารตามที่ จําเลยที่ 5 ร้องขอ เนื่องจากจําเลยที่ 5 เป็นเลขานุการของจําเลยที่ 4 ที่เป็นที่ปรึกษาของจําเลยที่ 1 พยานจึงจัดส่งเอกสารไปให้จําเลยที่ 5 หลังจากนั้นประมาณ 2 ถึง 3 เดือน พยานติดตามนางชวนพิศ ไปที่ห้องนายประสาน พบจําเลยที่ 4 และที่ 5 อยู่ในห้อง นายประสานแนะนําจําเลยที่ 4 และที่ 5 ให้รู้จักกับนางชวนพิศ แม้เอกสารเกี่ยวกับโครงการบ้านเอื้ออาทรเป็นเอกสารที่ประชาชนทั่วไป อาจขอรับจากหน่วยงานได้ แต่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอขายโครงการบ้านเอื้ออาทรขายให้แก่ การเคหะแห่งชาติ มีข้อความระบุว่า ผู้สนใจและผู้ประกอบการที่จะยื่นข้อเสนอ สามารถซื้อแผ่น บันทึกข้อมูล ซึ่งประกอบด้วยแบบก่อสร้าง ลักษณะองค์ประกอบของชุมชน มาตรฐานสาธารณูปโภค และรูปแบบอาคารในราคาชุดละ 5,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.133 แฟ้มที่ 22 หน้า 9 ดังนี้ เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารที่มีไว้เพื่อแจกให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป กรณีจึงต้องอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวที่จะขอเอกสารดังกล่าวจากนางอาภรณ์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่อจําเลยที่ 5 อ้างว่าจําเลยที่ 4 เป็นทีมงานที่ปรึกษาของจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 3 แจ้งนางอาภรณ์ว่าจําเลยที่ 4 เป็นที่ปรึกษาของจําเลยที่ 1 ย่อมทําให้นางอาภรณ์เข้าใจว่าจําเลยที่ 4 เป็นที่ปรึกษาของจําเลยที่ 1 ที่จําเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า หมายเลขโทรศัพท์ที่นางอาภรณ์ใช้ติดต่อกับจําเลยที่ 3 และที่ 5 แตกต่าง จากหมายเลขโทรศัพท์ที่นางอาภรณ์แจ้งต่อจําเลยที่ 3 และ คตส. ทั้งปรากฏว่าหมายเลขโทรศัพท์ ดังกล่าวเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของนายอัคคี ฉัตรตระการ นั้น เห็นว่า นางอาภรณ์จะใช้หมายเลข โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จดทะเบียนในนามของผู้ใดติดต่อกับจําเลยที่ 3 และที่ 5 มิใช่สาระสําคัญ แต่สาระสําคัญอยู่ที่ว่านางอาภรณ์ได้ใช้หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวติดต่อกับจําเลยที่ 3 และ ที่ 5 หรือไม่ เมื่อจําเลยที่ 3 เบิกความรับว่า จําเลยที่ 3 มีการติดต่อทางโทรศัพท์กับนางอาภรณ์จริง และเอกสารที่ขอให้นางอาภรณ์ส่งให้จําเลยที่ 5 เป็นเอกสารของโครงการบ้านเอื้ออาทร จึงเจือสมกับ คําเบิกความของนางอาภรณ์ นางอาภรณ์ปฏิบัติงานในทีมเลขานุการผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ย่อมต้องติดต่อประสานงานทางโทรศัพท์กับเจ้าหน้าที่ประจําสํานักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประจํา นางอาภรณ์เบิกความว่า โทรศัพท์ติดต่อกับ จําเลยที่ 3 ซึ่งปฏิบัติงานหน้าห้องจําเลยที่ 1 จึงเป็นการติดต่องานราชการ ประกอบกับ นางอาภรณ์ เบิกความอีกว่า พยานได้รับการติดต่อจากพนักงานบริษัทปักจิน อูบัน คอนสตรัคชั่น (ไทยแลนด์) จํากัด และนางอาภรณ์แจ้งพนักงานดังกล่าวว่า หน่วยก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรเต็มแล้ว แต่พนักงานขอเข้าพบนางชวนพิศ นางชวนพิศบอกให้พยานอํานวยความสะดวกให้พนักงานประมาณ 5 คน พยานจึงติดต่อจําเลยที่ 5 เนื่องจากทราบว่าเป็นทีมงานที่ปรึกษารัฐมนตรี และขออนุญาตให้ หมายเลขโทรศัพท์ของจําเลยที่ 5 ซึ่งจําเลยที่ 5 อนุญาต ต่อมาพยานให้หมายเลขโทรศัพท์ของ จําเลยที่ 5 ไป ภายหลังทราบว่าบริษัทดังกล่าวได้รับอนุมัติ 12,420 หน่วย บ่งชี้ว่าจําเลยที่ 5 เป็น เลขานุการของจําเลยที่ 4 จริง เมื่อนางอาภรณ์เป็นพนักงานของการเคหะแห่งชาติ ไม่เคยมีสาเหตุ โกรธเคืองกับจําเลยที่ 1 และที่ 4 มาก่อน ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่ต้องให้การและเบิกความเพื่อปรักปรํา จําเลยที่ 1 และที่ 4 เชื่อว่านางอาภรณ์ให้การและเบิกความไปตามความเป็นจริง พฤติการณ์ต่าง ๆ ดังวินิจฉัยข้างต้นทําให้เชื่อได้ว่าจําเลยที่ 4 เป็นที่ปรึกษาของจําเลยที่ 1 อย่างไม่เป็นทางการ เมื่อขณะจําเลยที่ 1 ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จําเลยที่ 1 ประชุมมอบนโยบายให้ผู้บริหารระดับสูงของการเคหะแห่งชาติปรับปรุง หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นข้อเสนอจัดทําโครงการบ้านเอื้ออาทรใหม่ ต่อมาจําเลยที่ 1 มีบันทึกข้อความให้การเคหะแห่งชาติดําเนินการโครงการบ้านเอื้ออาทรสําหรับผู้ประกอบการที่ได้รับ อนุมัติโครงการแล้ว แต่ยังมิได้ทําสัญญา ให้ทําสัญญาและวางหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา หลังจากนั้นการเคหะแห่งชาติออกประกาศการเคหะแห่งชาติ เรื่อง การยื่นข้อเสนอเพื่อจัดทําโครงการบ้านเอื้ออาทรขายให้กับการเคหะแห่งชาติ มีสาระสําคัญว่า ผู้ประกอบการต้องยื่นข้อเสนอ ขอจํานวนหน่วยก่อสร้างโดยไม่ต้องระบุสถานที่ดําเนินการของโครงการที่แน่นอนได้ ต้องวางหลักประกันสําหรับข้อเสนอจัดทําโครงการร้อยละ 5 ของมูลค่าโครงการ กําหนดราคาซื้อต่อหน่วย 420,000 บาท มิใช่เป็นการประกวดราคาหรือแข่งขันราคา การทําสัญญาต้องทําเป็นแบบหนึ่ง สัญญาต่อหลายโครงการ (สัญญากรอบหน่วย/โควตา) ต้องวางหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา ร้อยละ 5 ของมูลค่างานตามสัญญาที่ได้รับอนุมัติจัดสรรหน่วยก่อสร้าง การจ่ายเงินล่วงหน้า ร้อยละ 15 ของมูลค่าโครงการทั้งหมด โดยต้องวางหลักประกันเท่ากับจํานวนเงินที่ขอเบิกล่วงหน้า การจ่ายเงินค่าที่ดินร้อยละ 100 เมื่อผู้ประกอบการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้การเคหะแห่งชาติ มีการกําหนดราคาที่ดินสูงสุดเพื่อใช้ในการรับซื้ออาคารแต่ละประเภท และให้ผู้ประกอบการสามารถจ้าง บริษัทหรือวิศวกรที่การเคหะแห่งชาติให้ความเห็นชอบเป็นผู้ควบคุมงานแทนการเคหะแห่งชาติ
@เรียกหัวคิว บ. พีเจดีซี หน่วยละ 10,000 บาท ต่อรองเหลือ 9,000 บาท สรุปจ่าย 36 ล.
ต่อมาวันที่ 20 ตุลาคม 2548 การเคหะแห่งชาติจัดประชุมกับผู้ประกอบการ ซึ่งนายนิมิตรให้การ ต่อ คตส. ตามบันทึกคําให้การเอกสารหมาย จ.84 แฟ้มที่ 15 หน้า 224 ถึง 449 และเอกสาร หมาย จ.310 แฟ้มที่ 34 หน้า 297 ถึง 330 กับเบิกความได้ความว่า พยานเป็นเจ้าของ บริษัทสยาม ซอยล์ เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (เอส เอส อี) ขณะเกิดเหตุ บริษัทสยามฯ กับบริษัท พีเจดีซี จํากัด เข้าร่วมดําเนินการก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรกับการเคหะแห่งชาติ โดยใช้ชื่อ กิจการร่วมค้า เอสเอสอี-พีเจดีซี ก่อนยื่นเรื่องขอเข้าร่วมโครงการกับการเคหะแห่งชาติ พยานเคยเข้า ร่วมประชุมร่วมกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ เพื่อทราบนโยบายเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศ การเคหะแห่งชาติ ฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2548 ที่สํานักงานการเคหะแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2548 ในวันดังกล่าวจําเลยที่ 1 ชี้แจงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่ต้องการเร่งดําเนินการโครงการบ้านเอื้ออาทรให้เสร็จภายในกรอบเวลา 5 ปี มีผู้ประกอบการแนะนําพยานว่า หากอยากได้ งานในโครงการ ผู้ประกอบการจะต้องติดต่อกับจําเลยที่ 4 ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของผู้มีอํานาจคนหนึ่ง พยานเข้าใจว่าเป็นที่ปรึกษาของจําเลยที่ 1 พยานเคยพบจําเลยที่ 4 ซึ่งแจ้งพยานว่าให้จ่ายเงินค่าดําเนินการเพื่อใช้ในการอนุมัติหน่วยก่อสร้างในโครงการบ้านเอื้ออาทร ตลอดจนการเบิกเงินล่วงหน้าและความสะดวกอื่น ๆ โดยคิดจากยอดจํานวนหน่วยที่จะจัดทําโครงการ หน่วยละ 10,000 บาท หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ จําเลยที่ 5 โทรศัพท์ติดต่อพยาน แจ้งว่าเป็น เลขานุการของจําเลยที่ 4 พยานเจรจาต่อรองราคาผ่านจําเลยที่ 5 จนได้ข้อยุติว่ากิจการร่วมค้าฯ ยินยอมจ่ายเงินเป็นค่าดําเนินการให้หน่วยละ 9,000 บาท พยานเสนอขอหน่วยก่อสร้าง 4,000 หน่วย คิดเป็นเงินที่ต้องจ่ายเป็นค่าดําเนินการ 36,000,000 บาท ต่อมาการเคหะแห่งชาติได้อนุมัติ
@บริษัทเพาเวอร์ไลน์ฯ 40,000 หน่วย ต้องจ่ายด้วย
นายเสวกและนายสุรเชษฐ ประธานกรรมการและรองประธานกรรมการบริษัทเพาเวอร์ไลน์ฯ ให้การต่อ คตส. ตามบันทึกคําให้การเอกสารหมาย จ. 65 แฟ้มที่ 14 หน้า 114 ถึง 121 และ เอกสารหมาย จ.66 แฟ้มที่ 14 หน้า 122 ถึง 131 ได้ความว่า บริษัทเพาเวอร์ไลน์ฯ เคยยื่นเสนอ ขอร่วมดําเนินการกับการเคหะแห่งชาติหลายโครงการ แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ จนกระทั่งทราบจาก ผู้ประกอบการโครงการบ้านเอื้ออาทรหลายรายว่า หากต้องการให้ได้รับอนุมัติโครงการ จะต้องติดต่อ กับจําเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเลขานุการของจําเลยที่ 1 และยังได้หมายเลขโทรศัพท์ของจําเลยที่ 4 มาด้วย นายสุรเชษฐได้โทรศัพท์ติดต่อจําเลยที่ 4 โดยแจ้งให้ทราบถึงปัญหาข้อขัดข้องในการเสนอโครงการ บ้านเอื้ออาทรกับการเคหะแห่งชาติ จําเลยที่ 4 รับว่าจะเป็นผู้ดําเนินการให้ได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้าง 40,000 หน่วย แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดําเนินงาน
@ ที่ปรึกษา บ.ไชน่า หัวฟงฯ บอก ‘เสี่ยเปี๋ยง’ ขอค่าใช้จ่ายหน่วยละ หมื่นบาท
นายสุวิเชียร ที่ปรึกษาบริษัทไชน่า หัวฟงฯ ให้การต่อ คตส. ตามบันทึกคําให้การเอกสารหมาย จ.74 แฟ้มที่ 14 หน้า 380 ถึง 407 และเบิกความได้ความว่า พยานได้ยินผู้ประกอบการรายอื่นพูดว่า หากต้องการให้การเคหะแห่งชาติอนุมัติ จะต้องติดต่อจําเลยที่ 4 พยานจึงไปพบจําเลยที่ 4 ขอให้ช่วยให้การเคหะแห่งชาติรับซื้อโครงการ บ้านเอื้ออาทร สมุทรสาคร 2 (เลียบคลองสี่วาพาสวัสดิ์) จําเลยที่ 4 ขอค่าใช้จ่ายหน่วยละ 10,000 บาท
@ กก.บ.เดวาฯ ขอต่อรองเหลือหน่วยละ 5,800 บาท
และนายจิรวัฒน์ ศิริวรรณ กรรมการผู้มีอํานาจบริษัทเดวาฯ ให้การต่อ คตส. ตาม บันทึกคําให้การเอกสารหมาย จ.69 แฟ้มที่ 14 หน้า 270 ถึง 298 และเบิกความได้ความว่า เมื่อปี 2547 บริษัทเดวาฯ ยื่นเสนอต่อการเคหะแห่งชาติขอเข้าร่วมโครงการบ้านเอื้ออาทรและได้ อนุมัติรับหน่วยก่อสร้าง 60,000 หน่วย แต่ยังมิได้ทําสัญญาเสนอจัดทําโครงการ ต่อมาได้ยื่นเสนอ ขอจัดทําโครงการแต่ไม่ได้รับอนุมัติ ทราบจากผู้ประกอบการต่างชาติว่า หากจะทําโครงการต้อง ติดต่อผ่านจําเลยที่ 4 ซึ่งมีความสนิทสนมกับจําเลยที่ 1 พยานพบจําเลยที่ 4 เมื่อปลายปี 2548 จําเลยที่ 4 บอกว่าจะให้จําเลยที่ 6 ติดต่อกลับไป ต่อมาจําเลยที่ 6 มาพบพยานที่บริษัทด้วย และ แจ้งว่าบริษัทเดวาฯ อยู่นอกหลักเกณฑ์ตามประกาศฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2548 จึงแจ้งให้บริษัท เดวาฯ ยื่นเสนอโครงการเข้าไปใหม่ เพื่อให้ได้รับการอนุมัติทําสัญญากับการเคหะแห่งชาติ โดยต้องจ่ายเงินให้แก่จําเลยที่ 4 หน่วยละ 10,000 บาท แต่มีการต่อรองเหลือหน่วยละ 5,800 บาท
@ ปธ.กิจการร่วมค้า พีซีซีฯ เปลี่ยนคำให้การช่วย ‘วัฒนา’ ไม่เป็นผล
นอกจากนี้นายพิบูลย์ ประธานบริษัทกิจการร่วมค้า พีซีซีฯ ให้การต่อ คตส. เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2550 ตามบันทึกคําให้การเอกสารหมาย จ.64 แฟ้มที่ 14 หน้า 101 ถึง 102 ว่า ก่อนที่บริษัท กิจการร่วมค้าฯ จะได้รับอนุมัติโครงการ เมื่อปลายปี 2548 จําเลยที่ 1 เรียกประชุมผู้ประกอบการ รายใหญ่ประมาณ 10 ราย ให้มาประชุมที่อาคารซันทาวเวอร์ ระหว่างประชุมจําเลยที่ 1 ชี้แจงให้ ผู้เข้าร่วมประชุมทราบว่าโครงการบ้านเอื้ออาทร บริษัทจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดําเนินการ หน่วยละ 11,000 บาท หากบริษัทใดพร้อมที่จะรับข้อเสนอ จําเลยที่ 1 จะพิจารณาให้หน่วยก่อสร้างกับบริษัทผู้ประกอบการ โดยมีจําเลยที่ 3 ซึ่งเป็นคนของจําเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อประสานกับ ผู้ประกอบการเป็นราย ๆ ไป แม้ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 นายพิบูลย์ให้การต่อคณะทํางาน ร่วมผู้แทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้แทนอัยการสูงสุด ตามบันทึกคําให้การเอกสารหมาย จ.314 แฟ้มที่ 34 หน้า 366 และ 367 ว่า จําเลยที่ 1 ไม่ได้เรียกร้องเงินค่าใช้จ่ายใด ๆ และพยานไม่เคย จ่ายเงินให้แก่จําเลยที่ 1 โดยจ่ายให้แก่จําเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ติดต่อประสานงานและเป็นนายหน้าจัดหา และซื้อขายที่ดินเพื่อเป็นค่าที่ดิน จําเลยที่ 1 มอบหมายให้จําเลยที่ 3 เป็นผู้ประสานกับ ผู้ประกอบการเพื่อรับทราบข้อมูลและปัญหาในการดําเนินงาน จําเลยที่ 3 ไม่เคยโทรศัพท์สอบถาม พยานเกี่ยวกับเรื่องการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายหน่วยละ 11,000 บาท พยานไม่ทราบว่าจําเลยที่ 4 เป็น เลขานุการของจําเลยที่ 1 ทราบจากผู้ประกอบการว่าจําเลยที่ 4 เป็นนายหน้าค้าที่ดิน และพยาน ทราบจากพนักงานการเคหะแห่งชาติว่าบริษัทกิจการร่วมค้าพีซีซีฯ ได้รับอนุมัติโครงการจาก การเคหะแห่งชาติแล้วโดยมิได้ทราบเรื่องจากจําเลยที่ 5 เหตุที่ให้ถ้อยคําตามที่ปรากฏ ในบันทึกคําให้การเดิม เนื่องจากเป็นการให้ถ้อยคําตามคําชี้แนะของผู้สอบสวน แต่ก็ยังคงยืนยันว่า มีการกล่าวถึงค่าใช้จ่ายในการดําเนินโครงการบ้านเอื้ออาทร และวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 นายพิบูลย์ให้การต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ตามบันทึกปากคํา เอกสารหมาย จ.314 แฟ้มที่ 34 หน้า 361 ถึง 362 ว่า การประชุมที่ตึกซันทาวเวอร์จําได้ว่าภายหลังจากที่จําเลยที่ 1 พูดระเบียบ และข้อกําหนดเกี่ยวกับการเข้าเสนอราคาแล้วได้ออกจากห้องประชุมดังกล่าว หลังจากนั้นผู้เข้าร่วม ประชุมซึ่งมีผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ได้พูดคุยกัน จําได้ว่ามีบุคคลซึ่งเป็นทีมงานภายในห้อง คนหนึ่งบอกว่า หากต้องการได้งานเป็นผู้ก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรจะต้องจ่ายเงินเป็นค่าดําเนินการและ ค่าจัดหาที่ดินเป็นเงินหน่วยละ 11,000 บาท และให้จ่ายล่วงหน้า พยานเสนอความเห็นว่าหากการเคหะแห่งชาติจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่ผู้ประกอบการที่จะได้รับอนุมัติให้เข้าทําสัญญาก่อน พยานก็ สามารถจะจ่ายเงินตามจํานวนที่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวแจ้งได้ และบริษัทกิจการร่วมค้าพีซีซีฯ มีความสามารถที่จะก่อสร้างได้ประมาณ 10,000 หน่วย ผลจากการประชุมดังกล่าวทําให้ บริษัทกิจการร่วมค้าพีซีซีฯ ได้รับอนุมัติโครงการจากการเคหะแห่งชาติทั้งสิ้น 14,537 หน่วย หากพยานดําเนินการจัดหาที่ดินเองก็ยังต้องจ่ายเงิน 11,000 บาท ตามที่ได้ตกลงในการประชุม แม้นายพิบูลย์ให้การเกี่ยวกับการกระทําของจําเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2550 แตกต่างจาก คําให้การ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 และวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 ก็ตาม แต่คําให้การ ดังกล่าวมีสาระสําคัญสอดคล้องตรงกันว่ามีการเรียกประชุมผู้ประกอบการเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับโครงการ บ้านเอื้ออาทร และมีการเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้ประกอบการเพื่อดําเนินการโครงการบ้านเอื้ออาทร หน่วยละ 11,000 บาท บ่งชี้ว่า มีการเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้ประกอบการเพื่อดําเนินการโครงการ บ้านเอื้ออาทรจริง ที่นายพิบูลย์ระบุในหนังสือขอความเป็นธรรมและแจ้งความให้เจ้าพนักงานตํารวจ ลงบันทึกประจําวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน ตามเอกสารหมาย จ.353 แฟ้มที่ 38 หน้า 751 ถึง 753 ว่า นายพิบูลย์ให้การต่อ คตส. ไปด้วยความสับสน วกวน และมีความกดดันเนื่องจากถูกสอบสวน เป็นเวลานานกว่า 4 ชั่วโมง ประกอบกับมีความเกรงกลัวว่าจะถูกดําเนินคดี เป็นการกล่าวอ้างที่ เลื่อนลอย เชื่อว่ามีเจตนาบ่ายเบี่ยงเพื่อช่วยเหลือจําเลยที่ 1
เมื่อพิจารณาคําให้การของนายพิบูลย์ ประกอบคําให้การและคําเบิกความของนายนิมิตร นายเสวก นายสุวิเชียร และนายจิรวัฒน์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจําเลยที่ 4 อาศัยช่องทางจากการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ตามประกาศฉบับใหม่ เรียกรับเงินจากผู้ประกอบการ
@ ‘เสี่ยไก่’ให้ผู้หญิงปริศนามารับเงินสด 40 ล. จาก บ.ไมวานฯ
ประกอบกับนางชดช้อย ประธานกรรมการบริษัทพีบี พงศ์บุญ อินเตอร์เทรด จํากัด และบริษัทไมวาน (ประเทศไทย) จํากัด เบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2548 จําเลยที่ 10 มาพบพยานที่บริษัทไมวานฯ แจ้งว่ามีที่ดินแปลงสมุทรปราการ (บางนา) เนื้อที่ 106 ไร่ 1 งาน 83 ตารางวา เสนอให้บริษัทไมวานฯ ซื้อในราคาไร่ละ 3,000,000 บาท โดยมีค่าดําเนินการเพื่อให้คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติรับซื้อโครงการบ้านเอื้ออาทรเป็นเงิน 47,610,000 บาท พยานปฏิเสธเนื่องจากบริษัทไมวานฯ อยู่ระหว่างการฟื้นฟูสถานะทางการเงิน จําเลยที่ 10 บอกว่าจะไปคุยกับเจ้าของที่ดินเพื่อขอให้จ่ายเงินค่าดําเนินการแทนบริษัทไมวานฯ ต่อมาพยานพบนางสาวรุ่งทิพย์ จารุทรรศนกุล เจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดิน จึงทราบว่าที่ดินแปลง ดังกล่าวติดภาระหนี้กับสถาบันการเงิน นางสาวรุ่งทิพย์ยินยอมจะจ่ายเงินให้จําเลยที่ 10 เป็นเงิน 47,610,000 บาท จําเลยที่ 10 บอกพยานว่าจะนําเงินจํานวนดังกล่าวไปมอบให้ผู้ใหญ่ที่สามารถให้คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติอนุมัติให้บริษัทไมวานฯ จัดทําบ้านเอื้ออาทรโครงการ สมุทรปราการ (บางนา) ได้ พยานทราบภายหลังว่าเป็นจําเลยที่ 1 เนื่องจากหลังจากที่ การเคหะแห่งชาติรับซื้อโครงการจากบริษัทไมวานฯ และชําระเงินค่าที่ดินแปลงสมุทรปราการ (บางนา) ให้บริษัทไมวานฯ แล้ว จําเลยที่ 1 ติดต่อทางโทรศัพท์ทวงถามเงินค่าตอบแทนที่ให้ คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติอนุมัติซื้อโครงการหลายครั้ง จึงทราบว่าเงินดังกล่าวจะต้องนําไปจ่าย ให้จําเลยที่ 1 โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน และทราบจากจําเลยที่ 10 ว่า เงิน 7,610,000 บาท ต้องจ่ายให้จําเลยที่ 10 ส่วนเงิน 40,000,000 บาท ต้องจ่ายให้จําเลยที่ 1 หลังจากที่ บริษัทไมวานฯ ได้รับเงินค่าที่ดินจากการเคหะแห่งชาติแปลงสมุทรปราการ (บางนา) แล้ว วันที่ 25 มกราคม 2549 จําเลยที่ 10 ติดต่อทางโทรศัพท์แจ้งให้สั่งจ่ายเช็คระบุชื่อ นายทรงศักดิ์ วิโรจน์ถาวรกิจ และนายจุลเกียรติ พงษ์เรืองรอง เป็นเงิน 7,610,000 บาท และสั่งจ่ายเช็คเงินสด 40,000,000 บาท ต่อมาวันที่ 27 มกราคม 2549 จําเลยที่ 1 ติดต่อทางโทรศัพท์ทวงถามเงิน 40,000,000 บาท พยานแจ้งจําเลยที่ 1 ว่าเงินเรียบร้อยแล้ว ให้มารับได้เลย จําเลยที่ 1 บอกว่า จะให้คนมารับเช็คที่บริษัทไมวานฯ ซึ่งได้กําหนดนัดหมายวันเวลาที่มารับเช็ค เมื่อถึงวันกําหนดนัด จําเลยที่ 1 ติดต่อทางโทรศัพท์แจ้งว่า จะให้ผู้หญิงคนหนึ่งมารับเช็ค ต่อมามีผู้หญิงคนหนึ่งมาแสดงตัว ให้ทราบว่าตนได้รับมอบหมายจากจําเลยที่ 1 ให้มารับเช็ค พร้อมทั้งได้ยื่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้พยาน พูดกับจําเลยที่ 1 ด้วย เมื่อพยานพูดกับจําเลยที่ 1 แล้ว จําเลยที่ 1 ได้ยืนยันกับพยาน พยานจึงมอบ เช็คเงินสด 40,000,000 บาท ให้กับผู้หญิงคนดังกล่าวไป โดยพยานไม่ทราบชื่อและชื่อสกุลของ ผู้หญิงคนนั้น เห็นว่า นางชดช้อยเบิกความถึงความเป็นมาในการซื้อที่ดินแปลงสมุทรปราการ (บางนา) โดยมีจําเลยที่ 10 เป็นผู้แนะนําจนมีการนําที่ดินแปลงดังกล่าวไปเสนอโครงการ บ้านเอื้ออาทรต่อการเคหะแห่งชาติและได้รับอนุมัติโครงการ ซึ่งต่อมาเมื่อได้รับเงินค่าที่ดิน จึงสั่งจ่าย เช็คให้นายทรงศักดิ์และนายจุลเกียรติ กับสั่งจ่ายเช็คเงินสด 40,000,000 บาท และมอบให้ผู้หญิง คนหนึ่งตามที่จําเลยที่ 1 แจ้งไว้ ซึ่งคําเบิกความของนางชดช้อยเป็นไปตามลําดับขั้นตอน แม้นางชดช้อยไม่ได้พบจําเลยที่ 1 โดยตรงก็ตาม แต่ผู้หญิงที่มารับเช็คจากนางชดช้อยได้โทรศัพท์ ติดต่อจําเลยที่ 1 ซึ่งหากบุคคลที่นางชดช้อยติดต่อทางโทรศัพท์ไม่ยืนยันว่าเป็นจําเลยที่ 1 ย่อมไม่มี เหตุผลใดที่นางชดช้อยจะมอบเช็คเงินสดจํานวนสูงถึง 40,000,000 บาท ให้บุคคลซึ่งไม่เคยรู้จักกัน มาก่อนรับไป และนางสาวรุ่งทิพย์เจ้าของที่ดินให้การตามบันทึกคําให้การเอกสารหมาย จ.63 แฟ้มที่ 14 หน้า 85 ถึง 99 และเบิกความได้ความว่า พยานขอให้นางชดช้อยดําเนินการเรื่องชําระเงินให้ ผู้ใหญ่เป็นค่าดําเนินการให้คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติอนุมัติซื้อโครงการเป็นเงิน 40,000,000 บาท และค่านายหน้าให้จําเลยที่ 10 ร้อยละ 3 ต่อมาพยานทราบว่านางชดช้อย ชําระเงิน 40,000,000 บาท ให้ผู้ใหญ่และค่านายหน้าให้จําเลยที่ 10 แล้ว คําให้การและ คําเบิกความดังกล่าวสอดคล้องกับคําเบิกความของนางชดช้อย เชื่อว่ามีการเรียกรับเงินเป็นค่าใช้จ่าย ในการดําเนินการโครงการบ้านเอื้ออาทรจากนางชดช้อย
ที่จําเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า เช็คตามเอกสาร หมาย จ.62 แฟ้มที่ 14 หน้า 53 ระบุว่า จ่ายค่านายหน้าที่ดินแทน K.ยี ซึ่งหมายถึง นางรุ่งทิพย์ ทํานองว่าเป็นการจ่ายค่านายหน้าที่ดินซึ่งเป็นสิทธิของจําเลยที่ 10 นั้น เห็นว่า หากเงิน 40,000,000 บาท เป็นค่านายหน้าจริง ก็ไม่จําต้องแยกสั่งจ่ายเช็คเป็นสองฉบับต่างหากจากเงิน จํานวน 7,610,000 บาท ทั้งนางอมลวรรณ สนธิสมบัติ รองผู้จัดการบริการลูกค้า ธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขาประตูน้ำ ให้การต่อ คตส. ตามบันทึกคําให้การเอกสารหมาย จ.111 แฟ้มที่ 18 หน้า 292 ถึง 326 ว่า เช็ค 40,000,000 บาท ถูกนําไปเรียกเก็บเข้าบัญชีของจําเลยที่ 7 และจําเลยที่ 6 รับมอบอํานาจจากจําเลยที่ 7 ทํารายการโอนเงินจากบัญชีดังกล่าวไปเข้าบัญชีของ จําเลยที่ 8 จํานวน 39,999,850 บาท และนางชดช้อยเบิกความตอบทนายจําเลยที่ 4 และที่ 14 ว่า การจ่ายเงินตามเช็คได้บันทึกเข้าบัญชีบริษัททั้งหมด มีการตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบบัญชีได้รับ อนุญาต แล้วนําส่งต่อทางราชการ บริษัทไม่ถูกตรวจสอบหรือดําเนินคดีจากการจ่ายเงินเหล่านี้ จึงเป็นเหตุผลที่มีการระบุไว้ในเอกสารหมาย จ.62 แฟ้มที่ 14 หน้า 53 ว่า จ่ายค่านายหน้าที่ดิน แทน K.ยี เพราะหากระบุว่าเป็นค่าสินบน ย่อมไม่อาจนําไปแสดงเป็นค่าใช้จ่ายในการคํานวณเพื่อ ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีได้ แม้ว่านางชดช้อยได้รับการติดต่อจากจําเลยที่ 10 ก่อนที่จําเลยที่ 1 ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่นางชดช้อย ให้การว่า กิจการร่วมค้าฯ เคยยื่นเสนอโครงการสมุทรปราการ (บางนา) และโครงการลาดกระบัง 2 (ประชาพัฒนา) แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์เป็นจําเลยที่ 1 กิจการร่วมค้าฯ จึงได้รับเล่มโครงการทั้งสองกลับมา ต่อมากิจการร่วมค้าฯ ยื่นข้อเสนอจัดทําโครงการและได้รับการอนุมัติโครงการในขณะที่จําเลยที่ 1 ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ตามบันทึกคําให้การเอกสารหมาย จ.62 แฟ้มที่ 14 หน้า 22 คําเบิกความของนางชดช้อยจึงมีน้ำหนักรับฟัง
@ บ.พาสทิญ่าไทย โทร.แจ้งรอง ผอ.การเคหะฯ 7,500 หน่วย ยันเคลียร์ รัฐมนตรีแล้ว
นอกจากนี้นางปิยะศิริ นาโคศิริ รองผู้อํานวยการฝ่ายวิชาการและพัฒนาที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติ ให้การต่อ คตส. ตามบันทึกคําให้การเอกสารหมาย จ.22 แฟ้มที่ 2 หน้า 420 ว่า นายชาฮ์นน บินยาคอบ ผู้แทนจําเลยที่ 11 โทรศัพท์ติดต่อพยานได้ความว่า เรื่องของจําเลยที่ 11 ที่ยื่นไว้ช่วงเช้ามีการเคลียร์กับจําเลยที่ 1 แล้ว ขอให้เตรียมเอกสารไว้ จําเลยที่ 1 จะประสานมายังจําเลยที่ 2 ประธานคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรอง ต่อมาจําเลยที่ 2 สั่งการด้วยวาจาให้นําเรื่อง เข้าที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองที่ประชุมมีมติอนุมัติกรอบ 7,500 หน่วย ซึ่งนายชาฮ์นนให้การ ตามบันทึกคําให้การเอกสารหมาย จ.61 แฟ้มที่ 14 หน้า 1 ถึง 7 สอดคล้องกับคําให้การของ นางปิยะศิริว่า การประสานงานกับการเคหะแห่งชาติ ติดต่อด้านนโยบายกับนางปิยะศิริ และการประสานงานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบจําเลยที่ 1 กับจําเลยที่ 3 และนางปรารถนา พรประภา ซึ่งทํางานหน้าห้องจําเลยที่ 1 ทําให้คําให้การของนางปิยะศิริที่ได้รับการบอกเล่าจากนายชาฮ์นนรับฟังได้ อันเป็นการบ่งชี้ว่าจําเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติให้ผู้ประกอบการดําเนินการโครงการบ้านเอื้ออาทร
นอกจากนี้ทางไต่สวนยังได้ความจากนายเสวก ประธานกรรมการบริษัทเพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) นายสุรเชษฐ รองประธาน กรรมการฝ่ายการจัดซื้อจัดหาบริษัทเพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) นายสุวิเชียร พนักงาน บริษัท ไชน่าหัวฟง คอนสตรัคชั่น (ไทยแลนด์) จํากัด นายนิมิตร กรรมการกิจการร่วมค้า เอสเอสอี-พี่เจดีซี และนายจิรวัฒน์ ศิริวรรณ กรรมการบริษัทเดวา พร็อพเพอร์ตี้ จํากัด (มหาชน) ว่า การอนุมัติโครงการบ้านเอื้ออาทรได้ติดต่อกับจําเลยที่ 4 และจ่ายเงินเป็นค่าใช้จ่ายให้แก่จําเลยที่ 4 กับพวก
แม้ผู้ประกอบการบางราย ยกเว้นบริษัทธนายง จํากัด (มหาชน) ได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้างไปแล้วตั้งแต่วันที่ 17 และ 24 พฤศจิกายน 2549 กับ วันที่ 9 ธันวาคม 2548 ก็ตาม แต่เมื่อจําเลยที่ 1 เปลี่ยนหลักเกณฑ์โครงการบ้านเอื้ออาทร โดยผู้ประกอบการต้องวางหลักประกันมูลค่า ร้อยละ 5 และได้รับเงินล่วงหน้าจากการเคหะแห่งชาติ ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติแล้ว จึงต้องวางหลักประกันก่อนจึงจะได้รับเงินล่วงหน้า ทั้งนางอาภรณ์ให้การต่อ คตส. ตามบันทึกคําให้การ เอกสารหมาย จ.42 แฟ้มที่ 9 หน้า 1 ถึง 29 ว่า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549 จําเลยที่ 3 ส่ง โทรสารเอกสารเกี่ยวกับผู้ประกอบการที่มีจํานวนหน่วย มูลค่างาน เงินเบิก เงินล่วงหน้า จํานวนหน่วยที่ผูกพันตามสัญญาโครงการบ้านเอื้ออาทรรวมกันประมาณ 85 รายให้พยาน เมื่อพยานได้รับโทรสารแล้วได้นําเรียนนางชวนพิศ นางชวนพิศสั่งให้พยานจัดพิมพ์ตารางระบุรายละเอียดการ เบิกเงินล่วงหน้า จํานวนหน่วย จํานวนเงิน เสนอลงนาม เหตุที่พยานพิมพ์ตารางสรุปรายละเอียด รายชื่อผู้ประกอบการในเอกสารดังกล่าว 42 ราย เนื่องจากโทรสารที่สั่งการมานั้น ปรากฏหมายเหตุ ว่าบริษัทที่เหลือนั้นยังขาดหลักประกันกลุ่ม ผู้ประกอบการที่จะลงนามในสัญญารอบที่สอง พยานจึงได้พิมพ์ไปเพียง 42 ราย ตามบันทึกสั่ง พยานส่งเอกสารที่ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติลงนามแล้วทางโทรสารไปยังสํานักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต่อมา วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 จําเลยที่ 3 โทรศัพท์ติดต่อพยานแจ้งให้แก้ไขตัวเลขเงินเบิกล่วงหน้า ในลําดับที่ 21 ชื่อจําเลยที่ 13 (บริษัทพรินซิพเทค ไทย จํากัด) จาก 97,000,000 บาท เป็น 164,000,000 บาท และลําดับที่ 42 ชื่อบริษัทเดวาฯ จาก 427,000,000 บาท เป็น 489,000,000 บาท หลังจากนั้นพยานได้รายงานให้นางชวนพิศทราบ ซึ่งตามตารางการเบิกเงิน ล่วงหน้ามีชื่อจําเลยที่ 11 (บริษัทพาสทิญ่า ไทย จํากัด) จําเลยที่ 13 บริษัทเพาเวอร์ไลน์เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) บริษัทกิจการร่วมค้าพีซีซี จํากัด กิจการร่วมค้าเอสเอสอี-พี่เจดีซี บริษัทไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จํากัด บริษัทไชน่า หัวฟง คอนสตรัคชั่น (ไทยแลนด์) จํากัด กิจการร่วมค้าซินเท็ค-ไมวาน และบริษัทเดวา พร็อพเพอร์ตี้ จํากัด ด้วย
@ เป็นขบวนการ - ‘เสี่ยเปี๋ยง’ ทำคนเดียวไม่ได้ - ‘วัฒนา’ รู้เห็น
เมื่อจําเลย ที่ 3 เป็นเพียงหน้าห้องของจําเลยที่ 1 ย่อมเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่า จําเลยที่ 1 ต้องเป็นผู้สั่งการเกี่ยวกับ การจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่ผู้ประกอบการ และเมื่อจําเลยที่ 1 ให้จําเลยที่ 4 แสดงออกว่าเป็น ที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ ประกอบกับมีการเรียกเงินจํานวนมากจากผู้ประกอบการหลายราย เกี่ยวพันกับโครงการบ้านเอื้ออาทรที่อยู่ในการกํากับดูแลของจําเลยที่ 1 แล้ว ลําพังจําเลยที่ 4 ย่อม ไม่มีอํานาจหน้าที่ดําเนินการได้เอง การกระทําของจําเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 7 จึงมีลักษณะเป็นขบวนการ เชื่อว่าจําเลยที่ 1 ต้องรู้เห็นถึงการกระทําของจําเลยที่ 4 ด้วย
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ เสียงข้างมาก เห็นว่า พยานหลักฐานทางไต่สวนฟังเป็นความจริงได้ว่า จําเลยที่ 1 ร่วมข่มขืนใจหรือ จูงใจแก่ผู้ประกอบการให้นําเงินมอบให้เพื่อตอบแทนที่การเคหะแห่งชาติอนุมัติให้เข้าทําสัญญา ตามฟ้อง การกระทําของจําเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามคําพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง กรณีไม่จําต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ปัญหาอื่นในข้อนี้อีก เพราะไม่ทําให้ผล ของคําวินิจฉัยเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์จําเลยที่ 1 ข้อนี้ ฟังไม่ขึ้น
เรื่องเกี่ยวข้อง:
- ฉบับเต็ม! ศาลฎีกา พิพากษายืน จำคุก 'วัฒนา' 50 ปี ชดใช้เพิ่ม 89 ล้าน อวสานคดีบ้านเอื้อฯ
- ศาลฎีกา พิพากษายืน จำคุก 'วัฒนา' 50 ปี คดีบ้านเอื้ออาทร ชดใช้เพิ่ม 89 ล้าน
- 14 บ.เกี่ยวพัน‘สุภาวิดา-บุญชัย’ คดีได้บัตรปชช.มิชอบ ยังเปิด 5 - เป็น กก. 1 แห่ง
- บ.พรินซิพเทคฯ หัวคิว 50.8 ล. คดีบ้านเอื้อฯ ที่แท้เครือข่ายเดียว ผู้จ่าย 71.5 ล.‘เสี่ยเปี๋ยง’
- เบื้องหลัง‘วัฒนา’ไฟเขียวเงินล่วงหน้า 194 ล.! หัวคิว 50.8 ล้าน บ.พรินซิพเทค คดีบ้านเอื้อฯ
- สถานะล่าสุด 2 บ.ร่วมฯจ่ายหัวคิวบ้านเอื้อฯ 71.5 ล.! ถูกสอบภาษี - กก.ได้บัตร ปชช.โดยมิชอบ
- เช็คเงินสด 2 ฉบับ 71.5 ล้าน! 2 บริษัทร่วม จ่ายหัวคิว 'เสี่ยเปี๋ยง' คดีบ้านเอื้ออาทร
- ลงบัญชี‘รายจ่ายต้องห้าม’! เบื้องหลัง หัวคิว 82.5 ล้าน บ.พาสทิญ่าฯ คดีบ้านเอื้ออาทร
- ซื้อที่ดิน ม.ร.ว.ทรงเทวัญไร่ละ 5.5 แสน ขายการเคหะฯไร่ละ 1 ล. คดีหัวคิวบ้านเอื้อฯ 35.9 ล.
- ต่อรองเหลือยูนิตละ 9,000 บาท! เบื้องหลัง ‘เอสเอสอี-พีเจดีซี’จ่าย 35.9 ล.หัวคิวบ้านเอื้อฯ
- พลิกธุรกิจ ‘ชดช้อย’ ผู้รับโทรศัพท์ ‘เสี่ยไก่’ทวงเงิน 40 ล้าน คดีบ้านเอื้ออาทร
- เบื้องหลัง ‘ซินเทค ไมวาน’ จ่าย 40 ล. คดีบ้านเอื้อฯ ‘อริสมันต์’ เจรจา - ‘วัฒนา’ โทร.ทวง
- อยู่ชั้น 17 ตึกอิตัลไทย! เผยโฉม บ.ไชน่าสเตท จ่ายหัวคิวบ้านเอื้อฯ 301ล.-รอผู้บริหารชี้แจง
- เครือข่ายธุรกิจ ‘ทัศนีย์’ กก.หุ้นใหญ่ บ.ไชน่า สเตทฯ จ่ายหัวคิวบ้านเอื้อฯ 301 ล.
- บ.ไชน่าสเตทฯ จ่ายหัวคิวก้อนโต 301 ล. บ้านเอื้ออาทร เป็นใคร?
- ก้อนโตสุด 301 ล้าน! พฤติกรรม บ.ไชน่า สเตทฯ จ่ายเช็คเงินสด 8 ฉบับ หัวคิวบ้านเอื้ออาทร
- ตามหา 'สุวิเชียร' คนเจรจา ‘เสี่ยเปี๋ยง’ จ่ายหัวคิวบ้านเอื้อฯ 13.4 ล.-รอเจ้าตัวชี้แจง
- ที่ปรึกษา บ.ไชน่าหัวฟงฯ-คนเจรจา‘เสี่ยเปี๋ยง’จ่ายหัวคิว 13.4 ล. ถือหุ้น 3 บ.รับเหมาบ้านเอื้อฯ
- บ.ไชน่าหัวฟงฯ ผู้จ่ายหัวคิว 13.4 ล. บ้านเอื้ออาทร นักธุรกิจไทยร่วมหุ้น-ตอนนี้ล้มละลาย
- พฤติกรรม บ.ไชน่า หัวฟงฯ เช็ค 11 ฉบับ‘หัวคิว’บ้านเอื้อฯ 13.4 ล. -อีก 89 ล. เอาผิดไม่ได้
- รับโอนค่าหัวคิว 130 ล.บ้านเอื้ออาทร! 'ร้านแอนนา คาเฟ่' แจ้งงบการเงิน รายได้ 4.3 ล้าน
- แกะรอย บ.ไพรนิคฯ หุ้นใหญ่ ‘ร้านแอนนา คาเฟ่’ รับโอน 130 ล. หัวคิวบ้านเอื้ออาทร
- ตามหา 'ร้านแอนนาคาเฟ่' ผู้รับโอนเงิน ‘หัวคิว’บ้านเอื้ออาทร 130 ล้าน
- ‘ร้านแอนนา คาเฟ่’ ผู้รับโอนเงิน‘หัวคิว’บ้านเอื้ออาทร 130 ล้าน เป็นใคร?
- เปิดปูม บ.พีซีซีฯจ่ายหัวคิว 149.4 ล.บ้านเอื้อฯ รายได้ 3 พันล. - ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลคดีโรงพักร้าง
- นอกปมหัวคิว 180 ล.! บ.เดวาฯเบิกเงินล่วงหน้า 365.5 ล. ได้ซากบ้าน 2 หลัง โครงการโรจนะ
- พลิกโครงการฉาว บ้านเอื้อฯร่มเกล้า ที่มาหัวคิว 180 ล้าน บมจ.เดวาฯ-เสี่ยเปี๋ยง
- ผู้จ่าย‘หัวคิว’ บ้านเอื้ออาทร 180 ล. สถานะตอนนี้ บ.เดวาฯ ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
- 149.4 ล. ‘หัวคิว’บ้านเอื้ออาทร กิจการร่วมค้าพีซีซี - ซัด‘วัฒนา’ เรียก 11,000 บาท/หลัง
- รายได้บ้านเอื้อฯ 4 พันล.!เจาะงบ ‘เพาเวอร์ไลน์ฯ’ พัวพันหัวคิว-ศาลปค.สั่งชดใช้กคช.อีก 568 ล.
- โอนเข้าบัญชีร้านแอนนาคาเฟ 130 ล้าน! บมจ.เดวาฯ จ่ายหัวคิว บ้านเอื้ออาทร 180 ล้าน
- บมจ.เพาเวอร์ไลน์ฯ 263.3 ล้าน ‘หัวคิว’บ้านเอื้ออาทร เช็คเงินสดว่อน 26 ฉบับ
- เปิดงบ ‘บมจ.ธนายง-BTS' รับเหมา ‘บ้านเอื้ออาทร’ ไม่พบรายการเบิกค่าหัวคิว 135 ล้าน
- พฤติกรรมจ่ายหัวคิว 135 ล. บมจ.ธนายง คดีบ้านเอื้ออาทร-เช็คเงินสด 7 ฉบับ เข้าบัญชี 5 คน
- 11 บริษัท จ่ายค่าหัวคิวบ้านเอื้ออาทร ก่อนศาลฎีกาฯสั่งริบ 1.3 พันล.- บมจ.ธนายงด้วย 135 ล
- พฤติกรรม‘วัฒนา’ ในคำพิพากษาฉบับเต็มคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร
- 'วัฒนา'ยื่น 10 ล.! ศาลให้ประกันตัว-อุทธรณ์สู้ต่อหลังโดนคุก 99 ปีคดีบ้านเอื้ออาทร
- พลิกธุรกิจ-ทรัพย์สิน-ความเป็นมาคดีบ้านเอื้ออาทร ก่อนศาลฎีกาจำคุก‘วัฒนา’ 99 ปี
- ฉากหลัง คดีบ้านเอื้ออาทร ผล ปย.ทับซ้อน-หัวคิวหลังละหมื่น