"...ในขณะที่บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง ส่งมอบโครงการเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2555 และมีรายได้ค้างรับจากโครงการบ้านเอื้ออาทรก้อนสุดท้ายในปี 2556 เป็นเงิน 6.28 ล้านบาท คิดเป็นรายได้รวมทั้งโครงการ 4,055.30 ล้านบาท ซึ่งยังไม่หักต้นทุนก่อสร้าง แต่ปรากฏว่า บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง มีคดีพิพาทกับ กคช. และศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ บริษัท เทคเนอร์ (บริษัทย่อยของบมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง) ชดใช้ค่าเสียหายไม่น้อยกว่า 568 ล้านบาท..."
.........................
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 24 ก.ย.2563 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร ให้จำคุกนักการเมืองและเอกชน 6 ราย และสั่งให้ริบเงิน 1,323 ล้านบาท ที่เอกชน 11 ราย โอนเป็นค่าตอบแทน (ค่าหัวคิว) ให้แก่ นายอภิชาติ หรือ เสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร ที่ปรึกษานายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งกำกับดูแลการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เจ้าของโครงการ
คำพิพากษาศาลฎีกาฯ ยังระบุด้วยว่า บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด (มหาชน) หรือ PLE ได้มอบเงิน 263.33 ล้านบาท ให้แก่จำเลยในคดี โดยจ่ายเป็นเช็ค 26 ฉบับ ระหว่างวันที่ 11 เม.ย.-10 ส.ค.2549 เพื่อให้จำเลยช่วยผลักดันให้ได้รับอนุมัติจัดสรรโครงการบ้านเอื้ออาทร 40,000 หน่วย มูลค่ารวม 1.68 หมื่นล้านบาท
(อ่านประกอบ : บมจ.เพาเวอร์ไลน์ฯ 263.3 ล้าน ‘หัวคิว’บ้านเอื้ออาทร เช็คเงินสดว่อน 26 ฉบับ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบรายงานประจำปีของ บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง พบว่า บริษัทฯได้แจ้งในรายงานประจำปี 2548 (1 ม.ค.-31 ธ.ค.2548) ว่า บริษัทฯได้รับงานโครงการบ้านเอื้ออาทรของรัฐบาลเมื่อปลายปี 2548 ซึ่งมีมูลค่างานรวม 1.68 หมื่นล้านบาท โดยมีระยะเวลาโครงการจากปี 2549-2552 และจากงานในโครงการนี้จะทำให้บริษัทฯมีงานต่อเนื่องเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี
ขณะเดียวกัน ในเดือน มิ.ย.2548 บริษัทฯได้เข้าถือหุ้น 50% ของทุนจดทะเบียนบริษัท เทคเนอร์ จำกัด เป็นเงิน 5 ล้านบาท (ทุนจดทะเบียนรวม 10 ล้านบาท) เพื่อรับเหมาก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรของ กคช. โดยคาดว่าจะมีมูลค่างานไม่น้อยกว่า 2,200 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการลาดหลุมแก้ว 974 หน่วย 306.81 ล้านบาท 2.โครงการอยุธยา (บางปะอิน) 4,300 หน่วย 1,518.16 ล้านบาท และ3.โครงการอ่างทอง 1,550 หน่วย 589.76 ล้านบาท
"บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง เป็นผู้ค้ำประกันวงเงินสินเชื่อ Letter of Guarantee ให้กับบริษัท เทคเนอร์ 100% ในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท โดยผลประโยชน์ที่บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จะได้รับจะเป็นรายได้ ผลกำไร เงินปันผล ตามสัดส่วนของผู้ถือหุ้น นับจากปี 2548 จนถึงปี 2550" รายงานประจำปี 2548 ของบมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง ระบุ
หลังมีการลงนามสัญญาโครงการบ้านเอื้ออาทร บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง และบริษัท เทคเนอร์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง เริ่มการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรตั้งแต่ปี 2549 และทยอยส่งมอบหน่วยที่สร้างเสร็จแล้วให้ กคช. ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา
แต่ทว่าการรับเหมาก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรของ กลุ่มบมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง ไม่ได้ราบรื่นนัก
โดยในเดือนเม.ย.2551 กคช.มีหนังสือให้ยกเลิกโครงการบ้านเอื้ออาทรของบริษัท เทคเนอร์ จำนวน 2 โครงการ คือ 1.โครงการอยุธยา (บางปะอิน) 4,300 หน่วย และ2.โครงการอ่างทอง 1,550 หน่วย เนื่องจากบริษัท เทคเนอร์ ทำผิดสัญญา เพราะการก่อสร้างไม่มีความคืบหน้า พร้อมกับยึดหนังสือค้ำประกันธนาคาร 2 ฉบับ 280 ล้านบาท และหนังสือค้ำประกันธนาคารไทยธนาคาร (CIMB ในปัจจุบัน) 1 ฉบับ 79 ล้านบาท ส่วนโครงการลาดหลุมแก้ว ส่งมอบแล้วเสร็จในปี 2550 แล้ว
ขณะที่ บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง ได้ถูกกคช.ปรับลดจำนวนหน่วยก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรลงเช่นกัน โดยมีการแจ้งในรายงานประจำปี 2551 ว่า จากสภาพเศรษฐกิจและการเมืองที่ผันผวนของประเทศไทยในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทประสบกับภาวะขาดทุนในช่วงไตรมาส 3-4 ปี 2551 เนื่องจากมีการลดจำนวนหน่วยโครงการบ้านเอื้ออาทรแต่ละโครงการลงเป็นจำนวนมาก จาก 18,000 หน่วย เหลือเพียง 7,513 หน่วย
แม้จะถูกปรับลดจำนวนหน่วยก่อสร้างและยกเลิกบางโครงการ แต่จากรายงานงบการเงินของ บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง พบว่า บริษัทฯมีรายได้จากการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรในช่วงปี 2549-2556 เป็นเงินรวม 4,055.30 ล้านบาท ดังนี้
ปี 2549 รายได้งานบ้านเอื้ออาทร 1,218.51 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้รวมของบริษัทฯ 15.68%
ปี 2550 รายได้งานบ้านเอื้ออาทร 1,034.91 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้รวมของบริษัทฯ 12.53%
ปี 2551 รายได้งานบ้านเอื้ออาทร 1,177.12 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้รวมของบริษัทฯ 13.52%
ปี 2552 รายได้งานบ้านเอื้ออาทร 103.76 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้รวมของบริษัทฯ 1.31%
ปี 2553 รายได้งานบ้านเอื้ออาทร 354.48 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้รวมของบริษัทฯ 4.55%
ปี 2554 รายได้งานบ้านเอื้ออาทร 138.69 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้รวมของบริษัทฯ 1.57%
ปี 2555 รายได้งานบ้านเอื้ออาทร 21.55 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้รวมของบริษัทฯ 0.31%
ปี 2556 รายได้งานบ้านเอื้ออาทร 6.28 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้รวมของบริษัทฯ 0.07%
อย่างไรก็ดี ในขณะที่บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง ส่งมอบโครงการเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2555 และมีรายได้ค้างรับจากโครงการบ้านเอื้ออาทรก้อนสุดท้ายในปี 2556 เป็นเงิน 6.28 ล้านบาท คิดเป็นรายได้รวมทั้งโครงการ 4,055.30 ล้านบาท ซึ่งยังไม่หักต้นทุนก่อสร้าง แต่ปรากฏว่า บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง มีคดีพิพาทกับ กคช. และศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ บริษัท เทคเนอร์ (บริษัทย่อยของบมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง) ชดใช้ค่าเสียหายไม่น้อยกว่า 568 ล้านบาท
โดยคดีพิพาทดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากบริษัท เทคเนอร์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ กคช.คืนหนังสือค้ำประกันธนาคารรวม 3 ฉบับ เป็นเงินรวม 359 ล้านบาท ต่อมาในเดือนพ.ค.2555 ศาลแพ่งส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ศาลปกครองพิจารณา
กระทั่งเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2560 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้บริษัท เทคเนอร์ และธนาคารผู้ค้ำประกัน ชำระค่าเสียหายให้แก่ กคช. เนื่องจากทำผิดสัญญาร่วมดำเนินการโครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการอยุธยา บางประอิน เป็นเงิน 272.1 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 15% ของเงินต้น 203.8 ล้านบาท
และเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2560 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้บริษัท เทคเนอร์ และธนาคารผู้ค้ำประกัน ชำระค่าเสียหายให้แก่ กคช. เนื่องจากทำผิดสัญญาร่วมดำเนินการโครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการอ่างทอง วิเศษชัยชาญ เป็นเงิน 88.4 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 15% ของเงินต้น 66.74 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัท เทคเนอร์ ยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด และอยู่ระหว่างพิจารณาคดี ขณะที่ในรายงานประจำปี 2562 บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง ระบุว่า บริษัทฯได้ตั้งสำรองหนี้จำนวน 517.5 ล้านบาท สำหรับภาระค้ำประกันที่บริษัทฯ ได้ค้ำประกันหนี้ของบริษัท เทคเนอร์ และ ณ วันที่ 31 มี.ค.2562 บริษัทฯประมาณการหนี้สินจากการค้ำประกันตามคำพิพากษาเพิ่มเป็น 568.27 ล้านบาท จากการคำนวณดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
สำนักข่าวอิศรายังพบว่าตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง ได้จัดทำ ‘แนวทางการต่อต้านคอร์รัปชั่น’ โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติ เช่น ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท บริษัทร่วม และบริษัทย่อย ยอมรับหรือให้การสนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม
และบริษัทไม่กระทำหรือสนับสนุนการให้สินบนในทุกรูปแบบ ทุกกิจกรรมที่อยู่ภายใต้การดูแล รวมถึงการควบคุม การบริจาคเพื่อการกุศล การบริจาคให้แก่พรรคการเมือง การให้ของขวัญทางธุรกิจและสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ มีความโปร่งใสและไม่มีเจตนาเพื่อโน้มน้าวให้จ้าหน้าที่ภาครัฐหรือเอกชนดำเนินการที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น
ปัจจุบันโครงการบ้านเอื้ออาทรจะยุติลงสิ้นเชิงแล้ว แต่ก็ทิ้งปมปัญหาไว้สะสางกันอีกมากมาย โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น แม้ว่าจะไม่ต้องรับโทษทางอาญา เนื่องจากถูกกันไว้เป็นพยานในคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร
แต่ในกรณีที่มีการกระทำที่เข้าข่ายว่าเป็นการทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เช่น การลงบัญชีไม่ถูกต้อง ซึ่งไม่ต่างจากการไซฟ่อนเงินออกจากบริษัทฯหรือไม่นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับยังไม่มีการดำเนินการสอบสวนใดๆ หรือแม้กระทั่งการเรียกบริษัทฯที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง
อ่านประกอบ :
โอนเข้าบัญชีร้านแอนนาคาเฟ 130 ล้าน! บมจ.เดวาฯ จ่ายหัวคิว บ้านเอื้ออาทร 180 ล้าน
บมจ.เพาเวอร์ไลน์ฯ 263.3 ล้าน ‘หัวคิว’บ้านเอื้ออาทร เช็คเงินสดว่อน 26 ฉบับ
เปิดงบ ‘บมจ.ธนายง-BTS' รับเหมา ‘บ้านเอื้ออาทร’ ไม่พบรายการเบิกค่าหัวคิว 135 ล้าน
พฤติกรรมจ่ายหัวคิว 135 ล. บมจ.ธนายง คดีบ้านเอื้ออาทร-เช็คเงินสด 7 ฉบับ เข้าบัญชี 5 คน
11 บริษัท จ่ายค่าหัวคิวบ้านเอื้ออาทร ก่อนศาลฎีกาฯสั่งริบ 1.3 พันล.- บมจ.ธนายงด้วย 135 ล.
'วัฒนา'ยื่น 10 ล.! ศาลให้ประกันตัว-อุทธรณ์สู้ต่อหลังโดนคุก 99 ปีคดีบ้านเอื้ออาทร
พลิกธุรกิจ-ทรัพย์สิน-ความเป็นมาคดีบ้านเอื้ออาทร ก่อนศาลฎีกาจำคุก‘วัฒนา’ 99 ปี
พฤติกรรม ‘วัฒนา’ ในคำพิพากษาฉบับเต็มคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage