"....นายอนุทินบอกว่าเรื่องนี้กับ พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) และพล.อ.อนุพงษ์ (เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย) มา 3-4 รอบแล้วว่า ถ้าจะเอาเรื่องนี้เข้าครม.จะต้องหารือกันบอกรอบก่อน แต่ท่านนายกฯ เอาเข้า ครม. เลย โดยอ้างคำสั่งมาตรา 44 ว่า ให้ทำได้ จึงเป็นที่มาของการที่ รมต.จากพรรคภูมิใจไทย 7 คน ลาประชุม ครม. ในวันนี้ (8 ก.พ.)..."
..................................
สร้างแรงกระเพื่อม-สะเทือน ‘ตึกไทยคู่ฟ้า’
เมื่อรัฐมนตรีจาก ‘พรรคภูมิใจไทย’ ทั้ง 7 คน ได้แก่ อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ,ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ,ทรงศักดิ์ ทรงศรี รมช.มหาดไทย ,พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ,มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ
นัดลาประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 8 ก.พ.2565 กันอย่างพร้อมเพียง
ทั้งนี้ ในช่วงเช้า (8 ก.พ.2565) มีกระแสข่าวว่า สาเหตุที่ รมต.จากพรรคภูมิไทยทั้ง 7 คน นัดหมายลาประชุม ครม. เพราะไม่เห็นด้วยกับการที่ ครม. จะพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (อ่านประกอบ : สะพัด! 7 รัฐมนตรี'ภูมิใจไทย'ยื่นลาประชุม ครม.ปมขยายสัมปทานรถไฟสายสีเขียว)
แต่ต่อมามีข้อมูลยืนยันว่า กระแสข่าวดังกล่าว ‘เป็นความจริง’
“ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565ณ ตักสันติไมตรีหลังนอก กระผมขอลาการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันดังกล่าว
อนึ่ง วาระเพื่อพิจารณา ลำดับที่ 3 เรื่องขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้บรรจุในวาระแล้วนั้น ผมมีความเห็นตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ตามหนังสือที่ คค (ปคร) 0208/28 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565
จึงเรียนมาเพื่อโปรดนำเสนอนายกรัฐมนตรีทราบ” หนังสือกระทรวงท่องเที่ยวฯ ด่วนที่สุดที่ กก 0100/692 เรื่อง ขอลาการประชุมคณะรัฐมนตรี (วันอังคารที่ 8 ก.พ.2565) เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2565 ลงนามโดย พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ระบุ
@‘อนุทิน’ ไม่เห็นด้วย ‘กทม.’ ต่อสัมปทานเดินรถสายสีเขียว
ขณะที่หนังสือหนังสือสำนักนายกฯ ด่วนที่สุดที่ นร 0403 (กร 3)/1861 เรื่อง ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เรื่อง ขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565 ลงนามโดย อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ระบุว่า
“ตามที่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งเชิญประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 6/2565 ในวันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดยมีระเบียบวาระการประชุมตามอ้างถึง นั้น
อ้างตามวาระเรื่องเพื่อพิจารณา ลำดับที่ 3 เรื่องขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขอเรียนว่าไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ตามความเห็นและเหตุผลของกระทรวงคมนาคมตามหนังสือกระทรวงคมนาคม ด่วนที่สุด ที่ คค (ปคร) 0208/28 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565”
ส่วน ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ซึ่งทำหนังสือทักท้วงการต่อสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร (กมท.) มาแล้วหลายครั้ง ได้ทำหนังสือลาประชุม ครม. โดยมีเนื้อหาเพียงว่า
“เนื่องจากผมติดภารกิจสำคัญ จึงขอลาการประชุมคณะรัฐนตรี ในวันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565”
“นายอนุทินบอกเรื่องนี้กับ พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) และพล.อ.อนุพงษ์ (เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย) มา 3-4 รอบแล้ว ว่า ถ้าจะเอาเรื่องนี้เข้าครม. จะต้องหารือกันนอกรอบก่อน
แต่ท่านนายกฯ เอาเข้า ครม. เลย โดยอ้างคำสั่งมาตรา 44 (คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว) ว่า ให้ทำได้ จึงเป็นที่มาของการที่ รมต.จากพรรคภูมิใจไทย 7 คน ลาประชุม ครม. ในวันนี้ (8 ก.พ.)” แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
@ ‘ภูมิใจไทย’ ค้านต่อสัมปทานสายสีเขียวเป็นครั้งที่ 4
หากจะว่าไปแล้ว การที่ 7 รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยออกมาเคลื่อนไหว ‘คัดค้าน’ การต่ออายุสัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่าง กรุงเทพมหานคร และบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC ในเครือ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS ออกไปอีก 30 ปี หรือเป็นสิ้นสุดในปี 2602 ในครั้งนี้ นั้น
นับเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 1 ปี 6 เดือน ที่กระทรวงคมนาคม คัดค้านกรณีที่กระทรวงมหาดไทยเสนอที่ประชุม ครม. ให้พิจารณาต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ‘ล่วงหน้า’ 7 ปี ก่อนที่สัญญาปัจจุบันจะหมดอายุลงในปี 2572
ครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2563 กระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแล กทม. เสนอเรื่องการต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ ครม. พิจารณา ตามผลการเจรจาของ 'คณะเจรจา' ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
โดยมีเงื่อนไขว่า ให้ BTSC จะรับภาะหนี้สินและดอกเบี้ยที่เกิดจากการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วง ได้แก่ ส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เป็นเงินกว่าแสนล้านบาท และให้ BTSC คิดค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย
แต่ ครม. มีมติเพียง ‘รับทราบ’ ข้อเสนอ และให้กระทรวงมหาดไทยนำเรื่องกลับไปพิจารณาใหม่
ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 กระทรวงมหาดไทย เสนอให้ ครม. พิจารณาเรื่องการต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เสนอผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว)
แต่ปรากฏว่ากระทรวงคมนาคม มีหนังสือด่วนที่สุด ที่คค (ปคร) 0202/401 ลงวันที่ 16 พ.ย.2563 ซึ่งมีความเห็นในทำนอง ‘โต้แย้ง’ กรณีการต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวใน 4 ประเด็น (อ่านประกอบ : ขย่ม 4 ปม 'คมนาคม' ค้านต่อสัมปทาน ‘บีทีเอส’ 30 ปี-รอ ‘บิ๊กตู่’ ชี้ชะตาผลประโยชน์ 2 แสนล.)
ส่งผลให้ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 ครม.ยังไม่มีมติ ‘เห็นชอบ’ การต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 กระทรวงมหาดไทย เสนอที่ประชุม ครม. ให้พิจารณาเรื่องต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีกรอบ แต่สุดท้ายกระทรวงมหาดไทยได้ถอนเรื่องออกไปอีก เนื่องจากมีข้อทักท้วงจากกระทรวงคมนาคม (อ่านประกอบ : เบื้องหลัง!'คมนาคม'งัด 2 ปม สกัดต่อสัมปทานสายสีเขียว-'ศักดิ์สยาม’ปัดขัดแย้งเจ้าสัว BTS)
ขณะที่หนังสือกระทรวงคมนาคมที่ คค 0208/7684 เรื่อง ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เรื่อง ขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2564 ลงนามโดย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ความยาว 6 หน้ากระดาษ ที่เสนอต่อ ครม.เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 นั้น
กระทรวงคมนาคมมีการตั้งข้อสังเกต 8 ประเด็น ที่ทำให้ ‘ไม่อาจเห็นชอบกับข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย (กทม.) ได้’ ประกอบด้วย
@‘คมนาคม’ ตั้ง 8 ปมคัดค้านต่อสัมปทานเดินรถสายสีเขียว
ประเด็นเดิม 4 ประเด็น
1.ประเด็นความครบถ้วนตามหลักการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
2.ประเด็นการคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการที่สมควรกำหนดให้ค่าโดยสารมีอัตราค่าบริการที่ถูกที่สุดสำหรับประชาชนที่ใช้บริการ เพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการรวมทั้งโครงการรถฟฟ้าสายสีเขียวสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท
3.ประเด็นการใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่ควรพิจารณาให้เกิดความชัดเจนถ่องแท้ถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าใดอย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา
4.ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณี กทม. ได้ทำสัญญาจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี พ.ศ. 2565 และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จึงสมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความชัดเจน
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมอีก 4 ประเด็น ได้แก่
1.การดำเนินการของ กทม. ยังไม่มีความครบถ้วนตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561
เช่น การเจรจาต่อขยายสัญญาทั้งสัญญาหลัก และการใช้สิทธิในส่วนของส่วนต่อขยายสัญญาร่วมลงทุนแบบ สิทธิประโยชน์ของโครงการตกไปสู่เอกชน ไปจนถึง ปี พ.ศ.2602 อาจไม่สอดคล้องกับข้อกฎหมายและมติครม. 26 พ.ย.2561
โดยเฉพาะมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561 ได้ให้กระทรวงคนนาคม และ กทม. บูรณาการการเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าแรกเข้า และอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม และไม่ก่อให้เกิดภาระต่อประชาชนผู้ใช้บริการมากเกินไป
อีกทั้งในปัจจุบัน กทม. ยังไม่ได้ชำระบรรดาภาระทางการเงินของส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต แต่อย่างใด ดังนั้น การโอนสิทธิ์ดังกล่าว จึงยังไม่มีการดำเนินการ ระหว่าง รฟม. โอนไปยัง กทม. และขณะนี้ข้อตกลงที่ว่าทั้งสองฝ่ายจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณารายละเอียดด้านการเงินการคลังอีกครั้งหนึ่ง
แต่ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด เนื่องจากฝ่าย กทม. เอง ยังไม่ยอมรับภาระทางการเงิน และยังไม่ได้ตั้งงบประมาณชำระคืน
“ข้อสั่งการของคณะรัฐมนตรีในเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบูรณาการการเชื่อมต่อโครงการรถฟฟ้าระหว่างสาย การพิจารณาลดอัตราค่าแรกเข้า หรือข้อสั่งการที่มอบหมาย กทม. ไปดำเนินการ ทั้งในส่วนของการให้ตั้งงบประมาณ กทม. ชำระหนี้และการบริหารสัญญาเพื่อให้เอกชนเข้ามาประมูลเพื่อให้เอกชนรายใหม่เข้ามาแข่งขัน ยังไม่ปรากฎว่า กทม.ได้ดำเนินการในข้อคำสั่งคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด” กระทรวงคมนาคมระบุ
2.ทรัพย์สินส่วนต่อขยาย ยังไม่ได้โอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ปัจจุบัน รฟม. ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือออกหนังสือการโอนกรรมสิทธิ์จากการจำหน่ายให้แก่ กทม. แต่อย่างใด ดังนั้น กรณีการที่ กทม. จะเข้าครอบครองและใช้สิทธิ์ในการต่อสัญญาการเดินรถ จึงเป็นประเด็นที่มิอาจกระทำได้ โดยชอบทางกฎหมาย
3.รฟม. ยังคงรับภาระชดใช้ภาระหนี้ต้นเงินกู้ และดอกเบี้ยเงินกู้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ
ปัจจุบัน รฟม. ยังต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี สำหรับเงินกู้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งในส่วนของต้นเงินกู้ และดอกเบี้ยเงินกู้ โดยได้มีการขอรับการจัดสรรงบประมาณจาก พ.ร.บ.งบประมาณฯ
ดังนั้น ในขณะนี้ รฟม. ยังคงรับภาระและเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสองช่วง กรณีการดำเนินการเพื่อให้เอกชนกระทำการเดินรถหรือการต่อขยายสัญญาสัมปทานในโครงข่ายดังกล่าวจึงมิอาจกระทำได้
4.การดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ยังไม่สมบูรณ์ การว่าจ้างผู้รับสัมปทานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและว่าจ้างเดินรถเข้าข่ายเป็นการดำเนินการมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย 3 ประเด็น คือ
ประเด็นที่ 1 ยังดำเนินการไม่ครบถ้วนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561
ประเด็นที่ 2 การดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ยังไม่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ประเด็นที่ 3 รฟม. ยังคงถือกรรมสิทธิ์โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ
ดังนั้น จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า การว่าจ้างเอกชนติดตั้งระบบไฟฟ้าและการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 และว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าต่อไปถึงปี 2585 ในปี 2559 ซึ่งเป็นการดำเนินการก่อนที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ให้ รฟม. จำหน่ายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ กทม. เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561 จึงเห็นว่ากทม. ไม่มีอำนาจในการดำเนินการดังกล่าว และเข้าข่ายมิชอบด้วยกฎหมาย
@เสนอทางออก 4 ประเด็นเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคมได้มีข้อเสนอแนะไปยัง กทม. เกี่ยบกับโครงการสายสีเขียว ใน 4 ประเด็น ได้แก่
1.หากกรุงเทพมหานครดำเนินการต่อขยายสัญญาสัมปทานในช่วงที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในโครงการสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้งสองช่วง เห็นสมควรที่จะได้มีการชำระหนี้สินให้แก่ รฟม. ให้สอดคล้องกับข้อตกลงและมติคณะรัฐมนตรีให้ครบถ้วน เป็นไปตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้เรียบร้อยเสียก่อน จึงจะดำเนินการเริ่มกระบวนการจัดหาผู้ให้บริการในโครงข่ายสายสีเขียวส่วนต่อขยายต่อไป
2.หากกรุงเทพมหานครไม่มีความประสงค์จะดำเนินการในการให้บริการโครงการสายสีเขียวส่วนต่อขยายต่อไป ด้วยการยังไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561 กระทรวงคมนาคมเห็นควรให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2561 และมอบหมายให้ ฟม. ดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อบูรณาการโครงข่ายในภาพรวมอันเกิดประโยชน์แก่ประชาชน ต่อไป
3.หากมีการดำเนินการเจรจาการต่อขยายสัญญาสัมปทาน เห็นสมควรต้องดำเนินการให้สอดคล้องตามสัญญาหลักในปี 2535 ที่กระทำโดย กทม. และบริษัทผู้รับสัญญาสัมปทาน ในข้อ 27.1 ที่ระบุว่า “หากบริษัทประสงค์จะขอให้ กทม. พิจารณาขยายอายุสัญญา บริษัทจะต้องแจ้งความประสงค์ไปยัง กทม. ในเวลาไม่มากกว่า 5 ปี และไม่น้อยกว่า 3 ปี ก่อนวันสิ้นสุดสัญญา”
ซึ่งเหตุผลที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการต้องจัดทำแนวทางการดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุนก่อนสัญญาครบกำหนด 5 ปี เนื่องจากจะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะต้องนำมาพิจารณาความคุ้มค่าของโครงการร่วมลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งอัตราเงินเฟ้อและดัชนีผู้บริโภค เพื่อให้ประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากบริการที่ดีรวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่อไป
4.สำหรับกรณีที่ กทม. มีภาระหนี้จากการว่าจ้างเอกชนติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้าและว่าจ้างการเดินรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยายทั้งสองส่วน ซึ่งได้กระทำขึ้นเมื่อปี 2559 นั้น สมควรมีการตรวจสอบถึงพันธะตามสัญญาดังกล่าวว่า มีความชอบด้วยกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล หรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อมูลหนี้ดังกล่าวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ต่อไป
“กระทรวงคมนาคม จึงยืนยันตามความเห็นเดิมตามหนังสือกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 5 ต.ค.2564 โดยไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย และขอให้กรุงเทพมหานครดำเนินการเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าการดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรีตามหลักธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้องต่อไป” หนังสือกระทรวงคมนาคมที่ คค 0208/7684 เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2564 ย้ำ
@เปิดหนังสือ ‘ศักดิ์สยาม’ ระบุ ‘กทม.’ ยังชี้แจงข้อมูลไม่ชัดเจน
กระทั่งล่าสุด กระทรวงคมนาคม มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ คค (ปคร) 0208/28 วันที่ 7 ก.พ.2565 คัดค้านการต่ออายุสัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังจากมีการบรรจุวาระ 'ขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว' ให้ ครม.พิจารณาเป็น 'ครั้งที่ 4' เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565
ที่สำคัญหนังสือของ ศักดิ์สยาม ที่ส่งไปให้ ครม. พิจารณาฉบับนี้ นับเป็นหนังสือ 'ฉบับที่ 8' ที่กระทรวงคมนาคมมีความเห็น 'คัดค้าน' การต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่าง กทม. และกลุ่ม BTS
ขณะที่หนังสือฉบับดังกล่าว ได้ระบุถึงเหตุผลที่ทำให้กระทรวงคมนาคม ต้องคัดค้านการต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีก 30 ปี ว่า เนื่องจากข้อมูลที่กระทรวงคมนาคมขอเพิ่มเติมจาก กทม. นั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงที่ทำให้การวิเคราะห์ของกระทรวงคมนาคมต่างไปจากเดิม
เช่น ประเด็นของการคำนวณอัตราค่าโดยสาร การรองรับระบบตั๋วร่วม และความชัดเจนของประเด็นข้อกฎหมาย รวมถึงการโอนกรรมสิทธิ์รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปให้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังไม่สมบูรณ์ เป็นต้น
“กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมของกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้ว ขอยืนยันตามความเห็นเดิมว่า ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กทม. เนื่องจากข้อมูลที่ กทม. จัดทำเพิ่มเพิ่มนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงที่ทำให้การวิเคราะห์ของกระทรวงคมนาคมแตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะในประเด็นของการคำนวณอัตราค่าโดยสาร การรองรับระบบตั๋วร่วม และความชัดเจนของประเด็นข้อกฎหมาย
นอกจากนี้ ปัจจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังคงเป็นหน่วยงานเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสิ่งก่อสร้างและที่ดินตลอดแนวโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ช่วง อันเป็นสาระสำคัญที่ไม่อาจเห็นด้วยต่อแนวทางการดำเนินการตามข้อเสนอของกระกรวงมหาดไทย...
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมขอให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม กรณีที่ กทม. รายงานว่า การโอนกรรมสิทธิ์ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจาก รฟม. ยังไม่สรุปรายละเอียดด้านการเงินช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ทำให้ไม่สามารถรับโอนโครงการได้ นั้น
กระทรวงคมนาคมขอรายงานข้อเท็จจริงว่า กทม. รฟท. สำนักงบประมาณ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมเพื่อหารือสรุปรายละเอียดค่าใช้จ่ายโครงการ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ร่วมกันเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563
แต่ยังมีประเด็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการตามเงื่อนไขการอนุญาตให้เข้าพื้นที่ กรณีการติดตั้งสะพานเหล็กแยกหทัยราษฎร์และแยกพุทธมณฑลสาย 2 ซึ่งรอคำยืนยันจาก กทม. เนื่องจากการพิจารณากรอบวงเงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะได้ข้อสรุปมีความจำเป็นต้องทราบความชัดเจนของแนวทางการติดตั้งสะพานเหล็กทั้ง 2 แห่ง
เพื่อประกอบการจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายของโครงการ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 และวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 6-7 ขอทราบผลการพิจารณาของ กทม. และปัจจุบัน กทม. ยังไม่ได้แจ้งผลการพิจารณาให้กระทรวงคมนาคมทราบ” หนังสือกระทรวงคมนาคม ด่วนที่สุด ที่ คค (ปคร) 0208/28 วันที่ 7 ก.พ.2565 ระบุ
จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า บทสรุปการต่ออายุสัญญาเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะเป็นอย่างไร หลังจากล่าสุดที่ประชุม ครม. ได้ให้กระทรวงมหาดไทย นำเรื่องการต่อสัมปทานฯกลับ 'ทบทวน' เป็น 'ครั้งที่ 4'
ในขณะที่ปรากฎการณ์ 7 รัฐมนตรี นัดลาประชุม ครม. เพื่อคัดค้านการต่ออายุสัญญาเดินรถไฟฟ้าสายสีเขยวในครั้งนี้ นับว่าเป็นการส่งสัญญาณที่รุนแรงทางการเมืองของ 'พรรคภูมิใจไทย' ที่ส่งตรงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนจะถึงขั้นแตกหักหรือไม่ อย่างไร นั้น เป็นสิ่งที่น่าจับตามมองอย่างยิ่ง
อ่านประกอบ :
เปิดหนังสือ'อนุทิน'ค้าน ครม.ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว'ศักดิ์สยาม'ติดภารกิจ ขอลาประชุม
สะพัด! 7 รัฐมนตรี'ภูมิใจไทย'ยื่นลาประชุม ครม.ปมขยายสัมปทานรถไฟสายสีเขียว
เบื้องหลัง!'คมนาคม'งัด 2 ปม สกัดต่อสัมปทานสายสีเขียว-'ศักดิ์สยาม’ปัดขัดแย้งเจ้าสัว BTS
'วิษณุ' แจง 'อนุพงษ์' ถอนวาระต่ออายุรถไฟฟ้าสายสีเขียว เหตุ 'คมนาคม'
‘สภาผู้บริโภคฯ’ ค้าน ครม. ลักไก่ต่อสัมปทาน ‘สายสีเขียว’-แจงตั๋ว 25 บาทเป็นไปได้
'มูลนิธิผู้บริโภคฯ-ปชช.' ชูป้ายค้านต่อสัมปทาน 'สายสีเขียว'-ชงตั๋วร่วม 25 บาท/เที่ยว
ค่าก่อสร้างแพงกว่าสายสีเขียว 3 เท่า! รฟม.ยันค่าโดยสารรถไฟฟ้า'MRT' 4 สาย เหมาะสมแล้ว
'สภาฯผู้บริโภค' ยื่นหนังสือถึง 'ครม.' ค้านต่อสัมปทาน 'สายสีเขียว'-เปิดปชช.มีส่วนร่วม
แบกหนี้ไม่ไหว! ‘บีทีเอส’ ร่อนจม.แจงปัญหา ‘สายสีเขียว’-'สภาผู้บริโภคฯ'ค้านต่อสัมปทาน
'สายสีเขียว' ต่อคิวเข้าครม.! ‘บิ๊กตู่’ ย้ำค่าโดยสารต้องไม่สูงเกินไป-ขอบีทีเอสร่วมมือ
รอผลตรวจสอบป.ป.ช.! นายกฯเผยครม.ยังพิจารณาต่อสัมปทาน ‘สายสีเขียว’
50 บาทตลอดสาย! ‘คค.’ ชงตั้งกองทุนฯ ‘สายสีเขียว’-สภาผู้บริโภคฯชี้ลดได้อีก 50%
ขย่ม 4 ปม 'คมนาคม' ค้านต่อสัมปทาน ‘บีทีเอส’ 30 ปี-รอ ‘บิ๊กตู่’ ชี้ชะตาผลประโยชน์ 2 แสนล.
เบรกต่อสัมปทานรถไฟฟ้า 'บีทีเอส’ อีก 30 ปี! ครม.สั่ง ‘มท.-กทม.-คลัง’ ทบทวนให้รอบคอบ