‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ ค้าน ครม.พิจารณาต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังได้รับแจ้งจะมีการเสนอเรื่องเข้า ครม. อังคารนี้ ย้ำค่าโดยสารรถไฟฟ้า 65 บาท ‘แพงเกินไป’ พร้อมแจง 25 บาทตลอดสายเป็นไปได้
.......................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค. สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า สภาฯได้รับแจ้งว่านการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 มิ.ย.นี้ จะมีการบรรจุวาระเรื่องการต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยืนยันอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียวที่ 65 บาทตลอดสาย ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินไปและทำให้ประชาชนส่วนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนนี้ได้
ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอคัดค้าน ครม. ที่จะต่อาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวล่วงหน้าดังกล่าว เพราะจะเป็นการสร้างวิกฤตใหม่ซ้ำเติมประชาชน นอกเหนือจากปัญหาวิกฤติโควิด-19 ที่เป็นปัญหาสำคัญ พร้อมทั้งเสนอให้ ครม. คงอัตราค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวไว้ที่ 44 บาทตลอดสายไปจนสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 โดยให้จัดเก็บค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท และหลังสิ้นสุดสัมปทานแล้วให้รัฐบาลเก็บค่าโดยสารไม่เกิน 25 บาทตลอดสาย
สภาองค์กรของผู้บริโภค ย้ำว่า การกำหนดอัตราค่าโดยสารราคาสูงสุดที่ 65 บาทตลอดสายนั้น ไม่อยู่บนข้อเท็จจริงต้นทุน และยังสูงมาก โดยคิดเป็น 39.25% ของรายได้ขั้นต่ำต่อวันของประชาชน รวมถึงยังปล่อยปละละเลยให้ภาคเอกชนทวงหนี้ 30,000 ล้านบาท ต่อสาธารณะ ซึ่งอาจเข้าข่ายการทวงหนี้ผิดกฎหมายด้วย
ขณะที่ผลการศึกษาข้อมูลรายงานประจำปีของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ โดย รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรมศาสตร์ พบว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวมีต้นทุนค่าโดยสารต่อเที่ยวเพียง 19.10 บาท ในปี 2562 , 16.30 บาท ในปี 2561 และ13.50 บาท ในปี 2560 จึงมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะสามารถกำหนดอัตราราคาค่าโดยสาร 25 บาทตลอดสายต่อเที่ยว หากไม่มีการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวล่วงหน้า
นอกจากนี้ หากพิจารณารายได้ของบริษัทในการต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้า ที่กำหนดรายได้ของบริษัทไว้เพียง 30,000 ล้านบาทต่อปี ในระยะเวลา 30 ปี ขณะที่รายได้จริงของบริษัทในปี 2562 สูงถึง 39,931 ล้านบาทต่อปี จึงเป็นการคำนวณรายได้ของบริษัทที่ต่ำกว่าจริงหรือไม่ และอาจจะเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนหรือไม่ รวมถึงราคาดังกล่างจะเป็นการสร้างภาระที่เกินควรให้ผู้บริโภคด้วย
“หากจะพิจารณาราคาค่าโดยสารของกระทรวงคมนาคมที่ให้ความเห็นต่อ ครม. มีราคาสูงสุดเพียง 49.83 บาทตลอดสายเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ระบบสายสีเขียวนี้มีกำไรถึง 380,200 ล้านบาท จนถึงระยะเวลาหมดสัมปทานในปี 2602 หากลดราคาดังกล่าวลงมาเหลือเพียง 50% สามารถมีค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 25 บาท และกรุงเทพมหานครก็ยังคงมีกำไรสูงถึง 23,200 ล้านบาท เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในอีก 38 ปีข้างหน้า” สภาองค์กรของผู้บริโภคระบุ
อ่านประกอบ :
'มูลนิธิผู้บริโภคฯ-ปชช.' ชูป้ายค้านต่อสัมปทาน 'สายสีเขียว'-ชงตั๋วร่วม 25 บาท/เที่ยว
ค่าก่อสร้างแพงกว่าสายสีเขียว 3 เท่า! รฟม.ยันค่าโดยสารรถไฟฟ้า'MRT' 4 สาย เหมาะสมแล้ว
'สภาฯผู้บริโภค' ยื่นหนังสือถึง 'ครม.' ค้านต่อสัมปทาน 'สายสีเขียว'-เปิดปชช.มีส่วนร่วม
แบกหนี้ไม่ไหว! ‘บีทีเอส’ ร่อนจม.แจงปัญหา ‘สายสีเขียว’-'สภาผู้บริโภคฯ'ค้านต่อสัมปทาน
'สายสีเขียว' ต่อคิวเข้าครม.! ‘บิ๊กตู่’ ย้ำค่าโดยสารต้องไม่สูงเกินไป-ขอบีทีเอสร่วมมือ
รอผลตรวจสอบป.ป.ช.! นายกฯเผยครม.ยังพิจารณาต่อสัมปทาน ‘สายสีเขียว’
50 บาทตลอดสาย! ‘คค.’ ชงตั้งกองทุนฯ ‘สายสีเขียว’-สภาผู้บริโภคฯชี้ลดได้อีก 50%
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage