‘วิษณุ’ เผย ‘คมนาคม’ ตั้ง 4 คำถาม ขวางต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ชี้แม้สุดท้าย ‘คมนาคม’ ไม่เอาด้วย ครม.จับโหวตได้ ขณะที่รัฐมนตรีบางคนบ่น มาไม้เดิม ทำวาระไม่ผ่านพิจารณา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพิจารณา วาระขอความเห็นชอบผลการเจรจา และเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า เรื่องนี้ยังไม่ผ่าน ต้องเอาเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งหนึ่ง แต่ถือว่าผ่านการพิจารณาจาก ครม.แต่ว่ายังไม่เสร็จ เนื่องจากกระทรวงคมนาคมเพิ่งตั้งข้อสังเกตถึงการพิจารณาเรื่องดังกล่าว 4 ข้อ ลงวันที่ 7 ก.พ.2565 ซึ่งกระทรวงคมนาคมไม่ได้มานั่งในที่ประชุม และกระทรวงมหาดไทยเพิ่งมาเห็นวันนี้จึงต้องไปหาคำตอบ เสร็จเมื่อไรแล้วค่อยเอาเข้าที่ประชุมต่อให้เสร็จสิ้น จึงถือว่าการพิจารณายังไม่เสร็จสิ้นไม่ได้ถอนออกไป โดยคำตอบดังกล่าวจะมาเมื่อไรนั้น ถ้าได้มาเร็วก็เร็ว ได้มาอาทิตย์หน้าก็อาทิตย์หน้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีวางกรอบให้ดำเนินการโดยเร็ว
เมื่อถามว่าคำถาม 4 ข้อดังกล่าวเป็นประเด็นใหม่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นประเด็นใหม่หรือเก่าเพราะ คำถามดังกล่าวระบุว่า 1.ยังไม่ชัดเจนเรื่องราคา 2.เรื่องการใช้ระบบตั๋วร่วม 3.ปัญหาเรื่องกฎหมายบางประการตรงนี้ไม่รู้ว่าอะไร และ 4.สะพานสองแห่งที่มีการรื้อย้ายที่ ถนนหทัยราษฎร์ และถนนพุทธมณฑลสายสอง
เมื่อถามว่าไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยไม่เข้าร่วมประชุมใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็นี้เป็นคำถามของกระทรวงคมนาคม
เมื่อถามอีกว่าหากกระทรวงคมนาคมไม่เห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาต่อไม่ได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า สามารถโหวตพิจารณาได้ หลายเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องเห็นชอบกัน
แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม. เปิดเผยว่า ครม.ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงครึ่งในการพิจารณาวาระดังกล่าว ก่อนที่ประชุมจะรับทราบระเบียบวาระ แต่ยังไม่ได้มีการลงมติใดๆ เนื่องจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้แจ้งว่า กระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย จัดทำรายละเอียดเพื่อตอบคำถามกระทรวงคมนาคม และให้นำกลับมาให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง
แหล่งข่าวระบุว่า การพิจารณาวาระดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้แจงรายละเอียดว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน สามารถทำได้ตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน ยังมีรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์บางคนสอบถามเรื่องภาระหนี้สินว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ นอกจากนั้นยังมีรัฐมนตรีบางคนถึงกับเอ่ยปากถามว่า หลายครั้งแล้วที่มีการนำวาระดังกล่าวเข้ามาในที่ประชุม ครม. แต่ต้องจบลงแบบนี้ เพราะกระทรวงคมนาคมก็มีคำถามแบบนี้เข้ามาทุกครั้ง ทำให้ยังไม่มีการพิจารณาวาระดังกล่าว
นายกฯ ยันหน่วยงานทำตามคำสั่ง คสช.-ไร้ปัญหา ภท.
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรี ถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทยไม่เข้าร่วมประชุม ครม. เพื่อแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า นายกรัฐมนตรี แจงว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร เป็นการดำเนินการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำหนดให้กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร นำผลการเจรจาเสนอให้ ครม.พิจารณา และจากการพิจารณาในวันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบางหน่วย มีข้อสังเกตบางประการ ครม.จึงมอบหมายให้ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกันให้ได้ข้อยุติ ก่อนเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป
สะพัด! 7 รัฐมนตรี'ภูมิใจไทย'ยื่นลาประชุม ครม.ปมขยายสัมปทานรถไฟสายสีเขียว
ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีวาระสำคัญที่กระทรวงมหาดไทย จะเสนอ กระทรวงมหาดไทย เสนอวาระเพื่อพิจารณา ขอความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขยายสัญญาสัมปทานให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บริษัทในเครือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ออกไปอีก 30 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปเป็นปี 2602 แลกกับเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย
ทั้งนี้มีรายงานว่า รัฐมนตรีในสังกัดพรรคภูมิใจไทย จำนวน 7 คน ซึ่งประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข , นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม , นายทรงศักดิ์ ทรงศรี รมช.มหาดไทย , นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา , นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ได้ยื่นหนังสือขอลาการประชุม ครม. เนื่องจากติดภารกิจ และแสดงท่าทีว่าไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าว ประกอบกับมองว่า กระทรวงมหาดไทยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย และ หลักธรรมาภิบาล หากมีการอนุมัติวาระดังกล่าวจะส่งผลทางด้านกฎหมายในอนาคตได้
มีรายงานด้วยว่า กระทรวงคมนาคม ได้แสดงความเห็นคัดค้านต่อการขยายสัญญาสัมปทานมาโดยตลอด พร้อมเสนอความเห็นเพิ่มเติม เข้า ครม. ทุกครั้งที่จะมีการเสนอ โดยเฉพาะใน 4 ประเด็นหลัก คือ
1.ประเด็นความครบถ้วนตามหลักการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
2.ประเด็นการคิดค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการเพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท
3.ประเด็นการใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรพิจารณาให้เกิดความถ่องแท้ถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าไร อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา
4.ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณี กทม.ได้ทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และ ส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดังนั้นจึงสมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยกระทรวงคมนาคมได้ขอให้ กทม.ชี้แจงทั้ง 4 ประเด็นนี้ให้ชัดเจนก่อน
ล่าสุดในการประชุม ครม. วันนี้ทางกระทรวงคมนาคมยังได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมเสนอเข้าไปประกอบด้วย เนื่องจากข้อมูลที่ กทม.จัดทำเพิ่มเติมนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงที่ทำให้การวิเคราะห์ของกระทรวงคมนาคมแตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะในประเด็น 1.การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสิ่งก่อสร้างและที่ดินตลอดแนวโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ช่วงยังคงเป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เนื่องจากยังไม่มีการโอนไปยัง กทม. เนื่องจากยังไม่มีการจ่ายค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้าง 2.การคำนวณค่าโดยสาร และการรองรับระบบตั๋วร่วม รวมถึงความชัดเจนของประเด็นข้อกฎหมาย ที่ทาง กทม.ยืนยันว่าจะเข้าดำเนินการตั๋วร่วมแต่จะไม่ยอมลงทุนเอง
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยไม่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ขณะนี้ยังไม่รับรายงานและไม่มีข้อมูลว่าใครลาประชุมบ้าง และจะทราบเมื่อถึงเวลาการประชุมว่าใครขาดประชุม
เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่าเหตุผลที่ไม่เข้า เนื่องจากไม่เห็นด้วยการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ และ ครม. ส่วนตัวตนยังไม่ทราบเรื่อง
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวจะกระทบกับการพิจารณาต่อสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือไม่ โดยระบุเพียงสั้นๆ ว่า ไม่ทราบ ไม่รู้
ต่อมาเมื่อเวลา 09.30 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทางรัฐบาลยังไม่พิจารณา และกำลังพิจารณาว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป ยังไม่ได้ตกลงใจว่าจะอย่างโน้น อย่างนี้ ก็ต้องพิจารณากันให้รอบคอบ ไม่เช่นนั้นอาจจะผิดมาตรา 157 ได้