กทม.แถลงกรณีศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนใบแจ้งก่อสร้าง ‘แอชตัน อโศก’ ใช้แนวทางตามมาตรา 40 (3) พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 ให้ ‘อนันดา’ ดำเนินทำใบแจ้งก่อสร้างใหม่ใน 30 วัน จ่อส่งหนังสือแจ้งให้ทราบภายในสัปดาห์นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณีศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 18/2558 ลว. 23 ก.พ.2558 และเลขที่ 69/2558 ลว. 16 ก.ค.2558 และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ.4 เลขที่ 48/2559 ลว. 22 มิ.ย.2559 ฉบับแก้ไข และเลขที่ 129/2560 ลว. 17 พ.ย.2560 ที่ออกให้แก่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เพื่อดำเนินโครงการ ‘แอชตัน อโศก’ คอนโดหรู มูลค่า 6,480 ล้านบาท โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือดังกล่าว
เนื่องจากศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้ว่าฯกทม.) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้อำนวยการสำนักการโยธา) ออกใบรับหนังสือแจ้งเกี่ยวกับอนุญาตก่อสร้างฯ ทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกม.! ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู‘แอชตัน อโศก’
- ความเห็นแย้งคดีแอชตันอโศก (1) 'ตุลาการเสียงข้างน้อย’ชี้ใช้ที่ดิน‘รฟม.’เป็น'ทางเข้า-ออก'ได้
- ความเห็นแย้งคดีแอชตันอโศก(จบ) เหตุผล'หนึ่งเดียว'ตุลาการเสียงข้างน้อย ชี้3ปมยกฟ้อง
- ผลสอบลับ สตง.ส่ง ป.ป.ช.ฟันบอร์ด รฟม.เอื้อคอนโดหรูอโศก-สั่งชดใช้ค่าเสียหายด้วย 86.99 ล.
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. และ นายสุรัช ติระกุล ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมอาคารสำนักงานโยธา ร่วมกันแถลงถึงกรณีดังกล่าวว่า เบื้องต้น กทม.น้อมรับคำสั่งของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ เป็นเรื่องของกฎหมายล้วนๆ ซึ่งมีระบุชัดเจนในกฎหมายควบคุมอาคารเลยว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งสิ่งที่ทางกทม. ทำก็ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับใครทั้งสิ้น ขอย้ำว่าการดำเนินการต้องดำเนินการตามกฎหมายและปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครอง
@กทม.อนุญาตแบบมีเงื่อนไข
ด้านนายวิศณุกล่าวเพิ่มเติมว่า ไทม์ไลน์ของกรณีนี้ต้องแยกเป็น 2 ช่วงเวลาคือ ช่วงยื่นแจ้งอนุญาตก่อสร้าง และช่วงเปิดใช้อาคาร โดยทางอนันดา ยื่นแจ้งการก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งทาง กทม. ได้มีหนังสือทักท้วงเป็นระยะๆจำนวน 4 ครั้ง คือช่วงเดือน พ.ค. 2558, ต.ค. 2558, ส.ค. 2559 และ พ.ย. 2560 ซึ่งในระหว่างที่ยื่นแจ้งก่อสร้างนี้ ทางสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นฟ้องศาลปกครองเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2559 และสยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ยื่น ฟ้อง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 450/2560เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2560
โดยการยื่นขออนุญาตก่อสร้างทั่วไปมี 2 แบบ คือ การขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (อ.1) โดยยื่นพร้อมแบบให้พิจารณาอนุญาตก่อสร้างจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 21พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 และอีกแบบคือ การแจ้งก่อสร้างตามใบ ยพ. 4 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามตามมาตรา 39 ทวิ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 โดยทางอนันดาดำเนินการตามแนวทางที่ 2
หลังจากนั้น กทม.ได้มีหนังสือท้วงในการแจ้งทักท้วงใบแจ้งการก่อสร้างของอนันดาครั้งที่ 3 และ 4 และในที่สุดเมื่อได้ออกใบรับรองให้ ก็ได้ใส่เงื่อนไขไว้ว่า
“การใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตามที่่ยื่นแจ้งนั้น ผู้แจ้งจะก่อสร้างได้แค่ไหน เพียงใด ปัญหาทางแพ่งที่ผู้แจ้งต้องพิจารณาและรับผิดชอบต่อผู้มีประโยชนเ์กี่ยวข้องเอง และหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ตามข้อสงวนสืทธิ์ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ผู้แจ้งหรือผู้ครอบครองอาคารในภายหน้า จะต้องยื่นขออนุญาตหรือยื่นแจ้งดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องตามกฎกระทรวง ข้อบัญ ญติท้องถิ่นที่ออกตามความในพระราชบัญัญัติควบคุมอาคาร 2522 ตอไป”
เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ขั้นตอนต่อไปจะต้องขอใบรับรองการดัดแปลงอาคาร หรือ แบบ อ.6 (ใบรับรองการก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือเคลื่อนย้ายอาคาร) ซึ่งอนันดายื่นมาตั้งแต่ปี 2560 โดยตอนแรก กทม.ยังไม่ออกใบอนุญาตนี้ให้ เพราะมองว่า ยังมีประเด็นฟ้องร้องกันอยู่ อนันดาจึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ฯ ซึ่งคณะกรรมการอุทธรณ์มีความเห็นว่า การไม่ออกใบรับรองจากการอ้างว่า มีการฟ้องร้องคดีที่ศาลปกครอง เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้เพิกถอนหนังสือที่ไม่อนุญาตตอนแรกออก และให้ดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป โดยให้ออกใบรับรองให้
ซึ่งกทม.ก็ออกใบรับรองให้ แต่เป็นการออกให้แบบมีเงื่อนไข โดยระบุเงื่อนไขว่า ที่ดินที่ตั้งโครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ที่มีผู้ฟ้องคดีกรณีใช้ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผ่านข้าออกโครงการสู่ซ.สุขุมวิท 21 (ถ.อโศกมนตรี) นั้น หากศาลมีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุดแล้ว ผลการพิจารณาทำให้อาคารของโครงการขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ผู้ได้รับใบรับรองจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งต้องดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารต่อไป
@สั่ง อนันดา ทำใบแจ้งก่อสร้างมาใหม่ เตรียมแจ้งเป็นทางการในสัปดาห์นี้
นายวิศณุกล่าวต่อว่า ดังนั้น กทม.จะพิจารณาให้อนันดาดำเนินการแก้ไขใบแจ้งการก่อสร้างอาคาร (ยผ.4) ให้ถูกต้องตามมาตรา 40 (3) พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 ที่ว่า
“ในกรณีที่มีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง หรือข้อบัญญัติท่องถิ่นที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นอำนาจดำเนินการ
(3) พิจารณามีคำสั่งตามมาตรา 41 หรือ 42 แล้วแต่กรณีภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้มีคำสั่ง”
โดย กทม.จะออกหนังสือแจ้งอนันดาให้ดำเนินการแก้ไขภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งใบรับแจ้งการก่อสร้างตามมาตรา 39 ทวิ ได้ถูกเพิกถอนใบรับแจ้งทั้งหมดไปแล้วตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ทางอนันดาจึงต้องดำเนินการเริ่มกระบวนการดังล่าวใหม่ทั้งหมด
ส่วนการหารือกับ รฟม. นายวิศณุระบุว่า ได้หารืออย่างไม่เป็นทางการแล้ว แต่จะนัดหมายเมื่อไหร่ ยังอยู่ระหว่างนัดหมาย
@อนันดา ร่อนแถลงการณ์ทางออก 3 ข้อ
ขณะที่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด บริษัทลูกบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) ผู้พัฒนาโครงการ แอชตัน อโศก มูลค่า 6,481 ล้านบาท ได้ออกแถลงการณ์ ระบุถึงแนวทางการแก้ปัญหา 3 ข้อ ประกอบด้วย
1.แนวทางแก้ไขกรณีใบอนุญาตก่อสร้าง บริษัทฯ กำลังเร่งพิจารณาหาแนวทางแก้ไขซึ่งมีอยู่หลายแนวทางที่มีความเป็นไปได้ ดังต่อไปนี้
1.1 ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ โดยการซื้อ หรือหาที่ดินเพิ่มเติม
1.2เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่าน สำนักการโยธากรุงเทพมหานครไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไปยังคณะรัฐมนตรี
1.3 เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่าน รฟม. เสนอผ่านกระทรวงคมนาคม ไปยังคณะรัฐมนตรี
1.4 ประสานเจ้าของเดิม ให้ยื่นทบทวนสิทธิ์ที่ดินทางเข้า-ออกจาก รฟม. ให้ทบทวนสิทธิที่ดินเดิมก่อนเวนคืน ควรให้สิทธิ์ทางเข้า-ออกอย่างน้อย 12-13 เมตร เพื่อให้สามารถขึ้นอาคารสูงและขนาดใหญ่พิเศษได้
1.5 ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่ ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป
2. แนวทางช่วยเหลือ เรื่องการผ่อนชำระสินเชื่อของท่านเจ้าของร่วมที่มีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เร่งประสานงานกับสถาบันการเงินหลายแห่ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการผ่อนชำระสินเชื่อของท่านเจ้าของร่วมที่ยังมีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน โดยบริษัทฯ ได้เชิญสถาบันการเงินต่างๆ เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนในการผ่อนชำระของท่านเจ้าของร่วม ดังนี้
2.1 บริษัทฯ ขอให้สถาบันการเงินพิจารณาแนวทางด้านการผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
2.2 บริษัทฯ ขอให้สถาบันการเงินพิจารณาแนวทางสำหรับมาตรการลดภาระในการผ่อนชำระอื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลพิจารณาจากสถาบันการเงิน ซึ่งเมื่อได้รับความคืบหน้าประการใด บริษัทฯ จะแจ้งให้ท่านเจ้าของร่วมทราบโดยเร็ว
3. ประเด็นชี้แจงอื่นๆ เพิ่มเติม
3.1 การออกใบอนุญาตเปิดใช้อาคารแบบมีเงื่อนไข ประเด็นเรื่องข้อสงวนที่ กทม. กำหนดว่าบริษัทฯ จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบริษัทฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง หากผลการพิจารณาของศาลปกครองเป็นที่สุดว่าโครงการดำเนินการขัดต่อกฎหมายควบคุมอาคาร ข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฎอยู่เพียงในใบรับรองการก่อสร้าง (อ.6) ซึ่งเอกสารดังกล่าว กทม.ออกให้บริษัทฯ หลังจากที่โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและได้มีการขายให้กับลูกค้าแล้ว นอกจากนี้ ในใบอนุญาตอื่น ที่กทม. ออกให้แก่บริษัทฯ ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีข้อความทำนองนี้ปรากฎอยู่ในใบอนุญาตแต่อย่างใด และบริษัทฯ มีความตั้งใจที่จะร่วมแก้ปัญหาไปพร้อมกับ กทม. ต่อไป
3.2 เงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์ และรับทราบสถานะคดี บริษัทฯ ได้แจ้งเรื่องของคดีที่อยู่ในศาลปกครอง นับแต่ที่ลูกค้าได้ทำการซื้อขายห้องชุด กับบริษัทฯ ตามลำดับดังนี้
- ในช่วงแรก ที่บริษัทฯ ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาจะซื้อจะขาย บริษัทฯ ได้ขอขยายระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ โดยแจ้งเรื่องคดีของโครงการให้ลูกค้าทราบ พร้อมทั้งเสนอแนวทาง 3 ข้อให้ลูกค้าพิจารณา คือ (1) การยกเลิกสัญญา และคืนเงิน (2) การย้ายโครงการตามที่บริษัทฯ กำหนดไว้ (3) หากถือสัญญาไว้ต่อจนถึงครบกำหนดการขยายระยะเวลา (26 มีนาคม 2562) จะได้รับส่วนลด ณ วันโอน ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินที่ชำระมาแล้วทั้งหมด โดยสำหรับลูกค้าที่เลือกรับโอนกรรมสิทธิ์ บริษัทฯ ได้ส่งหนังสือขอบคุณ พร้อมทั้งแจ้งสถานะเกี่ยวกับคดีของโครงการให้รับทราบด้วย (จากลูกค้าจองทั้งหมด 766 ราย มีลูกค้ายกเลิกสัญญาทั้งหมด 244 ราย, ย้ายโครงการ 4 ราย และ อยู่รอโอนกรรมสิทธิ์ 518 ราย หลังจากที่บริษัทฯ ได้มีการแจ้งให้ลูกค้าทราบทั้ง 3 แนวทาง)
- ในเวลาต่อมา บริษัทฯ ได้จัดส่งเอกสารแจ้งสถานะคดีของโครงการ ในหนังสือนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด ไปยังลูกค้าทุกราย ซึ่งได้รับการลงนามการตอบรับมาเป็นส่วนใหญ่
- สำหรับลูกค้าที่ซื้อและทำสัญญาจะซื้อจะขาย ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ได้รับทราบสถานะคดี ตามที่บริษัทฯ ได้แจ้งไว้ในบันทึกแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด
ดังนั้น ลูกค้าของโครงการจึงรับทราบสถานะของคดีมาโดยตลอด
ทั้งนี้ บริษัทฯ ใคร่ขอยืนยันว่า บริษัทฯ จะร่วมเคียงข้างเจ้าของร่วมทุกท่าน และกำลังเร่งดำเนินการแสวงหาทางออกอย่างสุดความสามารถ โดยจะแจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานต่างๆ ให้ท่านเจ้าของร่วมทราบโดยเร็ว
อ่านประกอบ
พลิกปูมอาณาจักร'อนันดาฯ' บ.ย่อย 76 แห่ง ทุน 3.2 หมื่นล. ก่อนศาลฯสั่งคดี'แอชตัน อโศก'
ชี้เป้าโยธา กทม.- รฟม.! 'ศรีสุวรรณ' ตามเอาผิด ขรก.อนุญาตสร้างคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’
'ศาลปกครอง' สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’ 50 ชั้น-'อนันดาฯ'ยื่นอุทธรณ์
เมื่อแอชตัน คอนโด 50 ชั้น อโศก เสร็จแล้ว แต่โอนไม่ได้
แนะชงครม.แก้ปัญหาแอชตันคอนโด! ต่อตระกูล ยันผู้ว่าฯรฟม.ไม่มีอำนาจให้สิทธิ์ทำทางเข้า-ออก
สตง.สอบพบ รฟม. ให้สิทธิเอกชนใช้ปย.ที่ดินทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอความเห็นชอบ 'ครม.'
ปูดผู้บริหารฯอุบเงียบผลสอบ! เผยเบื้องหลัง รฟม.ให้สิทธิบ.ใช้ที่ทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
โยนรฟม.แจงเอง!บมจ.อนันดาฯยันทำถูกต้องปมสตง.สอบใช้ปย.ที่ดินเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.