‘ศาลปกครองกลาง’ สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างฯ คอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’ 50 ชั้น หลังพบไม่มีพื้นที่ด้านใดติดกับถนนสาธารณะที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร
......................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ และมาตรา 39 ตรี แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 รวม 4 ฉบับ ที่ออกให้แก่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือทุกฉบับในกรณีดังกล่าว
เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารโครงการแอชตัน อโศก ไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
“การที่ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ทำการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารโครงการแอชตัน อโศก ที่ถนนสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงสมควรที่ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับแจ้งการก่อสร้างอาคารพิพาททุกฉบับโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อมิให้คำสั่งดังกล่าวมีผลในระบบกฎหมายต่อไป” เอกสารสรุปคำพิพากษาระบุ
ทั้งนี้ หนังสือฯทั้ง 4 ฉบับ ที่ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอน ได้แก่
1.ใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 18/2558 ลงวันที่ 23 ก.พ.2558
2.ใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม. 6 เลขที่ 69/2558 ลงวันที่ 16 ก.ค.2558
3.ใบแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ. 4 เลขที่ 48/2559 ลงวันที่ 22 มิ.ย.2559
4.ใบแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ. 4 เลขที่ 129/2560 ลงวันที่ 17 พ.ย.2560
ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องทั้ง 16 ขอให้ศาลฯวินิจฉัยว่า การที่ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ออกประกาศ รฟม. เรื่อง กำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านลงวันที่ 26 ก.ย.2556 และประกาศ รฟม. เรื่อง กำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 นั้น เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 16 ไม่ใช่ผู้ที่มีที่ดินและที่อยู่อาศัยตามแนวสายทางโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. ที่ขออนุญาตใช้ที่ดิน รฟม.เป็นทางผ่านเข้า-ออกสู่ทางสาธารณะ (ถนนอโศกมนตรี) ผู้ฟ้องคดีทั้ง 16 มิใช่ผู้อยู่ในบังคับของประกาศ เรื่อง กำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านลงวันที่ 26 ก.ย.2556 และประกาศ รฟม. เรื่อง กำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 จึงไม่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากประกาศดังกล่าว
ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้ง 16 จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนประกาศ รฟม. ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ศาลจึงไม่จำต้องวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของประกาศพิพาทดังกล่าว
ขณะเดียวกัน กรณีที่ผู้ฟ้องทั้ง 16 ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า การที่ผู้ว่าการ รฟม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นทางผ่าน เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557 ให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด รวมถึงนิติกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง นั้น เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เนื่องจากผู้ฟ้องคดี มิได้มีนิติสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งกับผู้ว่าการ รฟม. และบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ผู้ฟ้องคดีทั้ง 16 จึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ผู้ว่าการ รฟม.ออกใบอนุญาตดังกล่าวให้แก่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้ง 16 จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นทางผ่าน เลขที่ รฟม 012/1135 ลงวันที่ 4 ก.ค.2557
สำหรับคดีนี้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวก รวม 16 คน ฟ้องว่า ผู้อำนวยการเขตวัฒนาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 5 คน ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
กรณีร่วมกันออกคำสั่งอนุมัติหรืออนุญาตให้ผู้ประกอบการเอกชนก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ ชื่อโครงการ 'แอซตัน อโศก' ขึ้นในซอยสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร อันเป็นการขัดต่อกฎหมาย ละเมิดสิทธิชุมชนและละเมิดสิทธิความเป็นอยู่ส่วนบุคคลของชาวบ้านโดยรอบพื้นที่โครงการดังกล่าว โดยปล่อยให้มีการปิดกั้นหรือใช้ประโยชน์ถนนสาธารณะนอกขอบวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า โครงการ แอชตัน อโศก (ASHTON ASOKE) หรือชื่อเดิม IDEO ASOKE เป็นอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 21 (ถนนอโศกมนตรี) ประกอบด้วย อาคารชุดพักอาศัยสูง 50 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 อาคาร มีห้องพัก 783 ห้อง โดยผู้อำนวยการสำนักงานการโยธา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
ได้ออกรับใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ แบบ กทม.6 เลขที่ 69/2558 ลงวันที่ 16 ก.ค.2558 และหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้องอีก 3 ฉบับ อนุญาตให้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด (บริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซี อินเวสเม้นท์ ไฟว์ ไพรเวท ลิมิเต็ด (บริษัทในกลุ่มของบริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด)) ดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าว และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2560
ขณะที่ผู้ว่าการ รฟม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) เป็นผู้อนุญาตให้ผู้ประกอบการโครงการ แอชตัน อโศก ใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ รฟม. เวนคืนมาจากประชาชนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตเวนคืนที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชนฯ พ.ศ.2546 เป็นเส้นทางเข้า-ออกโครงการสู่ถนนอโศกมนตรี กว้าง 13 เมตร เนื่องจากที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการไม่ติดกับถนนสาธารณะที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร
ด้าน บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ออกเอกสารข่าวชี้แจงว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ของโครงการ แอชตัน อโศก ที่ดำเนินการโดยบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัดนั้น
บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในนามผู้บริหารโครงการและผู้ถือหุ้นขอเรียนว่า เป็นเพียงคำตัดสินของศาลปกครองกลางเท่านั้น และบริษัทฯ ในฐานะผู้บริหารโครงการยังมีความเห็นแตกต่างจากคำพิพากษาดังกล่าวในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่สำคัญ จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปยังศาลปกครองสูงสุด
ดังนั้น คำพิพากษาศาลปกครองกลางซึ่งเป็นศาลชั้นต้นยังไม่มีผลบังคับจนกว่าจะมีคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด จึงยังไม่มีผลกระทบต่อการอยู่อาศัยของเจ้าของร่วมแต่อย่างใด
กรณีพิพาทดังกล่าว บริษัทฯ ผู้บริหารโครงการขอยืนยันว่าบริษัทฯได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ โดยผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนดังที่เคยแจ้งต่อสาธารณชนมาก่อนหน้านี้แล้ว
บริษัทฯขอให้ความมั่นใจว่า บริษัทฯในฐานะผู้บริหารโครงการจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์แก่ลูกค้าและเจ้าของร่วมอย่างเต็มกำลังความสามารถ และจะมีการแจ้งให้เจ้าของร่วมและผู้เกี่ยวข้องทุกท่านได้ทราบถึงความคืบหน้าต่อไป
อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม https://bit.ly/2UVkb8Z
อ่านประกอบ :
เมื่อแอชตัน คอนโด 50 ชั้น อโศก เสร็จแล้ว แต่โอนไม่ได้
แนะชงครม.แก้ปัญหาแอชตันคอนโด! ต่อตระกูล ยันผู้ว่าฯรฟม.ไม่มีอำนาจให้สิทธิ์ทำทางเข้า-ออก
สตง.สอบพบ รฟม. ให้สิทธิเอกชนใช้ปย.ที่ดินทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอความเห็นชอบ 'ครม.'
ปูดผู้บริหารฯอุบเงียบผลสอบ! เผยเบื้องหลัง รฟม.ให้สิทธิบ.ใช้ที่ทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
โยนรฟม.แจงเอง!บมจ.อนันดาฯยันทำถูกต้องปมสตง.สอบใช้ปย.ที่ดินเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/