‘บีทีเอส’ แจงการปรับขึ้นค่าโดยสารเป็นอำนาจ ‘กทม.’ เผยแม้ต้องแบกรับภาระหนี้ค่าจ้างเดินรถ 8 พันล้าน แต่จะเดินรถเป็นปกติ จนกว่าจะมีความชัดเจนจาก ‘ครม.’ ในการต่อสัมปทาน
...................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เผยแพร่คำชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีมีการนำเสนอข่าวว่า “บีทีเอส เตรียมขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าตลอดเส้นทางเป็นจำนวน 158 บาท” ว่า การปรับเพิ่มค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า, ช่วงอ่อนนุช-เคหะ และช่วงหมอชิต-คูคต กำหนดโดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่วน BTSC อยู่ในฐานะผู้รับจ้างการเดินรถในส่วนต่อขยายนี้เท่านั้น
“ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย รวมถึงกทม. มีเป้าหมายในการทำให้ค่าโดยสารมีอัตราที่เหมาะสม โดยจะมีการเก็บค่าโดยสารตามระยะทางเริ่มต้น 15 บาท และรวมตลอดเส้นทางอยู่ในระดับไม่เกิน 65 บาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระและกระทบต่อคุณภาพชีวิตชาวกรุงเทพมหานคร จากค่าโดยสารตลอดเส้นทางที่ศึกษาไว้เดิมสูงสุดถึง 158 บาท จนนำมาสู่ การเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญาสัมปทาน เพื่อให้สามารถจัดเก็บค่าโดยสารตามเป้าหมาย และแก้ไขปัญหาเรื่องภาระหนี้สินของกทม. ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการและกระทรวงมหาดไทยและอยู่ระหว่างการเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)” BTSC ระบุ
BTSC ย้ำว่า แม้ว่าบริษัทฯจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถส่วนต่อขยาย จากหนี้คงค้างของกทม.กว่า 8,000 ล้านบาท แต่บริษัท ให้คำมั่นสัญญาจะรับผิดชอบให้บริการการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส แก่ชาวกทม. และปริมณฑล เป็นปกติเช่นเดิมจนถึงที่สุด รวมถึงร่วมมือกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย และกทม. เพื่อทำให้แผนการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมระยะทาง 68.25 กิโลเมตร มีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด จนกว่าจะมีความชัดเจนอย่างใดอย่างหนึ่งจากที่ประชุม ครม.
ปัจจุบัน BTSC ซึ่งอยู่ในเครือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เป็นผู้บริหารและรับรายได้ค่าโดยสารจากระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส ในส่วนเส้นทางเดิมของสัมปทานจากกรุงเทพมหานคร ตามอายุสัญญา 30 ปี หรือตั้งแต่ ปี 2542–2572 ภายใต้วัตถุประสงค์ เพื่อร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศอย่างยั่งยืน ปัญหาการจราจร และลดมลภาวะในกรุงเทพมหานคร
ขณะที่การกำหนดราคาค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทานเดิม รถไฟฟ้าบีทีเอส ในฐานะผู้รับผิดชอบการบริหารรถไฟฟ้า ระยะทาง 23.5 กม. เส้นทางหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารปัจจุบันในอัตรา 16 ถึง 44 บาท (ตามระยะทาง) ขณะที่ช่วงส่วนต่อขยายทั้งหมด (อ่อนนุช-สำโรง-เคหะฯ วงเวียนใหญ่-บางหว้า หมอชิต-วัดพระศรีฯ) กรุงเทพมหานครเป็นผู้กำหนดค่าโดยสาร
ทั้งนี้ BTSC ในฐานะผู้ลงทุนขบวนรถ ส่วนกทม. ในฐานะผู้ลงทุนงานโยธาและระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ได้ร่วมรับผิดชอบดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงทุนส่วนต่อขยายประกอบด้วยช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-เคหะ และช่วงหมอชิต-คูคต จำนวน 59 สถานี รวมระยะทาง 68.25 กม. เพื่อเชื่อมโยงการเดินทาง 3 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี ,กทม. และสมุทรปราการ และจะเปิดให้บริการครบทั้ง 59 สถานี ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้
อ่านประกอบ :
ขย่ม 4 ปม 'คมนาคม' ค้านต่อสัมปทาน ‘บีทีเอส’ 30 ปี-รอ ‘บิ๊กตู่’ ชี้ชะตาผลประโยชน์ 2 แสนล.
ครม.ยังไม่หารือ! ‘บิ๊กตู่’ สั่งถกเพิ่มต่อสัมปทานรถไฟฟ้า ‘สีเขียว’ ลั่นค่าโดยสารต้องถูก-แก้หนี้
เบรกต่อสัมปทานรถไฟฟ้า 'บีทีเอส’ อีก 30 ปี! ครม.สั่ง ‘มท.-กทม.-คลัง’ ทบทวนให้รอบคอบ
ขวางรัฐต่อสัมปทานรถไฟฟ้า‘บีทีเอส’อีก 40 ปี
ลุ้นครม.ชี้ขาดสัมปทาน 'ทางด่วน-รถไฟฟ้า' แสนล้าน-ส.ส.ซัดกมธ.ทำรายงานเละเทะ
‘สมคิด’ โชว์ รถไฟฟ้า-รถไฟทางคู่-อีอีซี ผลงานศก. เลิกกินบุญเก่าป๋าเปรม 30 ปี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/