เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 13 ส.ค. 2562 ที่รัฐสภา เกียกกาย มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน และรถไฟฟ้า(บีทีเอส) สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวีระกร คำประกอบ สส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน ได้เชิญนายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัดกรุงเทพมหานคร ตัวแทนปลัดกทม. ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มาให้ข้อมูลต่อกมธ.
นายคริส โปตระนันทน์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญฯ แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเชื่อว่า การต่อสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอส ไม่น่าจะใช่แนวทางที่ถูกต้องดังต่อไปนี้ 1.คณะกรรมการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานนั้น เกิดจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ตามม.44 ซึ่งมีข้อยกเว้น พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน จึงมีข้อครหาว่า จะเกิดความไม่โปร่งใส่ รวมถึงไม่ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
2.ทางตัวแทนคณะกรรมการฯ ไม่สามารถชี้แจงให้กมธ.เชื่อได้ว่าการต่อสัมปทานจะมีประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศมากที่สุดอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโอนหนี้ของรฟม.ที่จะโอนมาให้เป็นของกทม. หรือการกำหนดราคาค่าโดยสารให้เป็นธรรม หลังจากการต่อสัมปทานออกไป ซึ่งทางกมธ.เห็นว่า ไม่ได้เป็นเหตุผลที่ทำให้ประชาชนได้ใช้รถไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง และไม่ได้ก่อให้เกิดสิ่งที่ม.44 ต้องการ คือเป็นโครงข่ายเดียวกันของรถไฟฟ้าทั้งระบบ
ด้านนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า กมธ.ได้มีมติไม่ให้บีทีเอสต่อสัมปทานการเดินรถออกไปอีก 40 ปี ซึ่งสัมปทานที่เหลืออยู่จะหมดในปี 2572 หรืออีก 10 ปีข้างหน้านั้น ถือเป็นเส้นทางการเดินที่ถือเป็นไข่แดง และเป็นส่วนที่ทำเงินให้กับบีทีเอส มากกว่า 5,000 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อถึงปี 2572 ทุกอย่างจะต้องกลับคืนมาเป็นของรัฐบาล ซึ่งต่อไปจะมีผู้เดินรถทั้งใต้ดินและลอยฟ้าเพียงเจ้าเดียว ซึ่งรัฐบาลโดยรฟม.เป็นผู้ดำเนินการ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า เพราะเมื่อในส่วนที่บีทีเอสได้กำไรมหาศาลกลับมาเป็นของรัฐบาล ก็จะสามารถนำส่วนนี้มาเป็นส่วนลดให้กับค่าโดยสารให้กับประชาชนได้ เพราะถ้าให้เอกชนทำ ไม่มีทางที่เอกชนจะได้ลดค่าโดยสารลง
อย่างไรก็ตาม กมธ.จะนำข้อสรุปที่ได้จัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสภาก่อนส่งไปยังรัฐบาลต่อไป