ธปท.เผย ‘หนี้สินครัวเรือน’ ไตรมาส 4/66 แตะ 16.36 ล้านล้านน คิดเป็นสัดส่วน 91.3% ต่อจีดีพี เผย ‘หนี้รถยนต์’ ลดลง ส่วน ‘หนี้บ้าน-หนี้อุปโภคบริโภคฯ’ เพิ่มขึ้น
.........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ข้อมูลสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือหนี้สินครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 4/2566 ปรากฏว่าหนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 16,360,778 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 91.3% ต่อจีดีพี โดยจำนวนหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น 143,332 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.88% เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาส 3/2566 ที่หนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 16,217,446 ล้านบาท หรือ 91% ต่อจีดีพี
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบหนี้สินครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 4/2566 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือสิ้นไตรมาส 4/2565 ที่หนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 15,891,939 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 91.4% ต่อจีดีพี) พบว่า จำนวนหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น 468,839 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.95%
เมื่อพิจารณารายละเอียดเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกตามวัตถุประสงค์ พบว่า ณ สิ้นไตรมาส 4/2566 เงินกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ มีจำนวน 5,541,267 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68,263 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.24% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (3/2566) ที่เงินกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ มีจำนวน 5,473,004 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 227,842 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 4/2565) ที่เงินกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ มีจำนวน 5,313,425 ล้านบาท
ส่วนเงินกู้ซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 1,797,955 ล้านบาท ลดลง 11,649 ล้านบาท หรือลดลง 0.64% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ไตรมาส 3/2566) ที่เงินกู้ซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 1,809,604 ล้านบาท และลดลง 11,388 ล้านบาท หรือลดลง 0.63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 4/2565) ที่เงินกู้ซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 1,809,343 ล้านบาท
สำหรับเงินกู้ยืมเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น มีจำนวน 4,504,037 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 82,184 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.86% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ไตรมาส 3/2566) ที่เงินกู้ยืมเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น มีจำนวน 4,421,853 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 233,618 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 4/2565) ที่เงินกู้ยืมเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น มีจำนวน 4,270,419 ล้านบาท
ขณะที่เงินกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ มีจำนวน 2,911,802 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,179 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.74% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ไตรมาส 3/2566) ที่เงินกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ จำนวน 2,909,623 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 19,478 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 3/2565) ที่เงินกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ จำนวน 2,892,324 ล้านบาท
ข้อมูลระบุด้วยว่า จากข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 4/2566 พบว่าหนี้สินครัวเรือนส่วนใหญ่ หรือ 13.16 ล้านล้านบาท เป็นหนี้สินที่ครัวเรือนกู้ยืมจากสถาบันรับเงินฝาก ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ จำนวน 6.39 ล้านล้านบาท ,สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน จำนวน 4.40 ล้านล้านบาท ,สหกรณ์ออมทรัพย์ จำนวน 2.30 ล้านล้านบาท และสถาบันรับฝากเงินอื่นๆ จำนวน 6.04 หมื่นล้านบาท
ส่วนหนี้สินครัวเรือนที่กู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่น มีจำนวน 2.48 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย บริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล จำนวน 1.96 ล้านล้านบาท , บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต จำนวน 1.83 แสนล้านบาท ,บริษัทหลักทรัพย์ จำนวน 9.74 หมื่นล้านบาท , ธุรกิจบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน จำนวน 9.58 หมื่นล้านบาท ,โรงรับจำนำ จำนวน 8.37 หมื่นล้านบาท และสถาบันการเงินอื่นๆ จำนวน 5.45 หมื่นล้านบาท
อ่านประกอบ :
หนี้บ้านเพิ่ม-สินเชื่อรถหด! ธปท.เผยหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3/66 แตะ 16.19 ล้านล.-90.9%ต่อGDP
เป้า 5 ปีหนี้ต่ำ 80%ต่อGDP! ธปท.จับมือ‘สมาคมแบงก์-ชมรมสินเชื่อฯ’แก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน
'ธปท.'เล็งบังคับเกณฑ์คุม'หนี้ต่อรายได้'ไม่เกิน 60-70% เริ่ม ม.ค.68-ลุยแก้'หนี้เรื้อรัง'
‘ธปท.’เดินหน้า 3 แนวทางแก้‘หนี้ครัวเรือน’-ชี้สินเชื่อรถ‘จัดชั้น SM’แค่ 10% ที่เป็น NPL
หนี้ทะลุ 90.6%ต่อGDP! ธปท.ปรับข้อมูล‘หนี้ครัวเรือน’ใหม่คลุม 4 กลุ่ม ยอดเพิ่ม 7.7 แสนล.
'ธปท.' เล็งออกเกณฑ์คุม 'สินเชื่อใหม่' ไตรมาส 3-ตั้งเป้ากดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ต่ำ 80%
‘ธปท.’เผยหนี้สินครัวเรือนไทยไตรมาส 3/65 แตะ 14.9 ล้านล.-สัดส่วนต่อจีดีพีลดเหลือ 86.8%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กลับสู่ความยั่งยืน!‘ธปท.’เล็งออกมาตรการคุม‘หนี้ครัวเรือน’-ไตรมาส 2 หนี้ทะยาน 14.7 ล้านล.
‘ธปท.’เล็งประกาศแนวนโยบายแก้ปัญหา‘หนี้ครัวเรือน’ หวังกำกับปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพ