ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงปมซื้องานวิจัย เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น 3 ราย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 1 ราย ด้าน อว.จี้อีก 8 ม.เร่งรายงานความคืบหน้า
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากรายงานผลสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อขายผลงานวิจัย หรือการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการของอาจารย์ภายในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศของอาจารย์ในสังกัดของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ว่า มีการกระทำที่เข้าข่ายการผิดจรรยาบรรณ เผยแพร่ผลงานจากการซื้อผลงานตีพิมพ์งานวิจัย โดยได้รับแจ้งจากมหาวิทยาลัยทั้งหมด 33 แห่ง ว่ามีนักวิชาการมีพฤติการเข้าข่าย และอยู่กระบวนการตรวจสอบ 109 ราย มหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ที่กระทำผิดแล้ว 9 ราย และมีนักวิชาการที่ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา 21 ราย ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ลงโทษวินัยร้ายแรงบุคลากร และให้พ้นจากการเป็นบุคลากร 1 ราย ส่วนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้สอบสวน และลงโทษไล่ออกบุคลากร 1 ราย และอยู่ระหว่างสอบสวนวินัย 2 ราย
ม.เกษตรฯ เร่งสอบ อ.เอี่ยวซื้อวิจัย 1 ราย
ความคืบหน้าล่าสุด ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ มก.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดย มก.ได้ตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงขึ้น ซึ่งขณะนี้มีอาจารย์ 1 ราย ที่อยู่ระหว่างถูกตรวจสอบ แต่การดำเนินการอาจไม่ได้รวดเร็วเท่ากรณีของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่มีความชัดเจน แต่ มก.ก็มีกระบวนการตรวจสอบ และได้สืบหาข้อเท็จจริง รวมทั้ง อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะมีวิธีลงโทษทางวินัยที่มากน้อยขนาดไหน เพราะทางมหาวิทยาลัยต้องให้โอกาสอาจารย์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดด้วย ว่ามีเหตุผลอะไร อย่างไร แต่คาดว่าเร็ว ๆ นี้ จะได้ผลสรุปจากการสืบหาข้อเท็จจริง
“ถ้าผลการสอบสวนพบว่าอาจารย์ มก.มีความผิดจริง ก็ต้องยอมรับว่าผิดจริง แต่ผลสรุปยังไม่ออกมา ดังนั้น ต้องให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริง ทำหน้าที่ตรวจสอบ และสอบสวนทางวินัยให้เรียบร้อยก่อน เพื่อความมั่นใจว่ามหาวิทยาลัยลงโทษคนไม่ผิด” ดร.จงรัก กล่าว
ดร.จงรัก กล่าวว่า ทั้งนี้ ถ้าพบว่าอาจารย์ มก.คนไหนก็ตาม ได้ลอกผลงาน หรือซื้อขายงานวิจัย ทางมหาวิทยาลัยคงปล่อยเอาไว้ไม่ได้ เพราะสิ่งนี้คือจรรยาบรรณของความเป็นอาจารย์ และนักวิจัย ถ้าหากยังซื้อผลงานวิจัยอยู่แบบนี้ ก็เหมือนเป็นการส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษา เกิดการทุจริตทางอ้อม และหากพบหลักฐานชัดเจนว่าอาจารย์ซื้อผลงานวิจัย แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นที่จะต้องรับโทษที่ร้ายแรง เพราะทุกมหาวิทยาลัยถือว่าเรื่องนี้เป็นความผิดที่ร้ายแรง และจะปล่อยเอาไว้ไม่ได้
“สมัยก่อนไม่เรียกว่าการซื้อผลงานการวิจัย เพราะความสำคัญของการตีพิมพ์ ที่จะเอาไปแข่งขัน หรือได้รับรางวัล หรือการสร้างความโดดเด่น ผ่านผลงานของคนๆ นั้น ยังมีไม่มาก แต่ในช่วงหลังที่เกิดเรื่องนี้ขึ้น น่าจะไม่เกิน 10 ปี หรือ 5 ปีหลัง ที่มีความเข้มข้นในการตีพิมพ์ในวารสารที่มีมาตฐานสูงสุด ไม่ว่าจะกลุ่มที่ 1 หรือว่ากลุ่มที่ 2 ค่อนข้างที่จะได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก จึงทำให้ทุกคนอยากที่จะตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ รวมถึง มหาวิทยาลัยเองอาจจะพยายามสร้างแรงจูงใจ ให้ค่าตอบแทน รวมทั้ง อาจจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยในอนาคต เหตุนี้เองจึงอาจทำให้อาจารย์ทุกคนอยากจะมีชื่อเสียง และเร่งผลิตผลงานให้ออกมาเยอะๆ จึงอยากจะได้ผลงานทางวิชาการ เพื่อชื่อเสียง และเงินทอง” ดร.จงรัก กล่าว
มข.ตั้ง กก.สอบวินัยร้ายแรง 3 อ. ปมซื้องานวิจัย
ทางด้าน นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า ในส่วนของ มข. ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอาจารย์ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวหลายราย แต่พบว่าอาจารย์ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายซื้อผลงานวิจัยจริง และได้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงแล้ว 3 ราย จากนี้ต้องรอข้อสรุปจากคณะกรรมการสอบวินัยฯ หากพบว่ามีความผิดจริง ก็จะต้องถูกลงโทษตามขั้นตอนต่อไป
นพ.ชาญชัย กล่าวยอมรับว่า ปัญหาอาจารย์มีพฤติกรรมซื้อขายงานวิจัย ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ทำให้สังคมเกิดความสงสัย ไม่เชื่อมั่น และอาจจะส่งผลต่องบวิจัยที่จะได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนในอนาคต
ทั้งนี้ อยากบอกว่า มข.มีอาจารย์และนักวิจัยที่มีความรู้ ความสามารถ กว่า 2 พันคน แต่มีเพียงไม่กี่คนที่มีพฤติกรรมทำผิดจรรยาบรรณทางวิชาการ ซึ่งถือว่าน้อยมาก และงานวิจัยที่ซื้อขายส่วนใหญ่จะเป็นสาขาด้านสังคม วรรณกรรม คณิตศาตร์ ที่ไม่ใช่สาขาด้านสุขภาพ หรือสาขาที่ต้องใช้ห้องปฏิบัติการ เป็นช่องว่างในการทุจริตซื้อขายงานวิจัยได้ง่าย เพราะงานวิจัยในสายวิทยาศาสตร์ จะมีขั้นตอนการวิจัยค่อนข้างมาก เช่น บางสาขาต้องมีการทดลองในมนุษย์ หรือสัตว์ที่มีคณะกรรมการควบคุม จึงยากที่จะซื้อขายหรือคัดลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง
นพ.ชาญชัย กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม จากนี้มหาวิทยาลัยจะเข้มงวดเรื่องมาตรการตรวจสอบผลงานวิจัยของอาจารย์มากขึ้น โดยจะต้องดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่จะเป็นการเปิดช่องให้มีการซื้อขายงานวิจัย เพื่อวางมาตรการให้รัดกุมขึ้น และจะต้องมีการทบทวนในเรื่องของการให้รางวัลต่าง ๆ ที่เป็นแรงจูงใจให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทุจริตซื้อขายงานวิจัยขึ้นอีก
อว.จี้มหาวิทยาลัย 8 แห่งส่งความคืบหน้าปมซื้องานวิจัย
นายดนุช ต้นเทิดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ อว.เปิดเผยว่า ความคืบหน้ากรณีที่อาจารย์ และนักวิจัย ซื้อผลงานวิจัยมาใส่ชื่อของตัวเองนั้น ในส่วนผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย ยังไม่มีรายงานว่ามีผู้บริหารคนใดเข้าข่ายซื้อผลงานวิจัย หรือกระทำผิดในเรื่องนี้ แต่มหาวิทยาลัยที่ถูกร้องเรียนในเรื่องนี้มี 30 กว่าแห่ง และมีผู้ที่เข้าข่ายกระทำความผิดมากกว่า 100 ราย
โดยทาง อว.ได้สืบค้นอย่างเข้มข้น และอย่างเร่งด่วนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการขออนุมัติตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) และรองศาสตราจารย์ (รศ.) อาจารย์มหาวิทยาลัยจะต้องทำผลงานวิจัยเพื่อยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการเหล่านี้ ซึ่งงานวิจัยไม่ว่าจะซื้อ หรือทำเองก็ตาม อว.จะไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องผ่านสภามหาวิทยาลัย ยกเว้นตำแหน่งวิชาการระดับศาสตราจารย์ (ศ.) ที่ต้องผ่านการพิจารณาของ อว.โดยตรง เพราะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
“เรื่องนี้ต้องใช้เวลา เพราะว่าเหตุเกิดในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่มีอยู่ 100 กว่าแห่ง อาจารย์มีอยู่ทั้งหมด 7 หมื่นคนทั่วประเทศ และอาจารย์ส่วนใหญ่ก็อยากขอตำแหน่งทางวิชาการอยู่แล้ว ฉะนั้น ขณะนี้การสืบหาความจริงยังไม่จบ อว.จะต้องติดตาม ตรวจสอบการทำงานของมหาวิทยาลัย และสภามหาวิทยาลัย ในการอนุมัติตำแหน่งวิชาการว่ารอบคอบแค่ไหน เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต ไม่เช่นนั้นแล้ว อว.ต้องมารับเรื่องร้องเรียนพวกนี้ต่อไป” นายดนุช กล่าว
นายดนุช กล่าวว่า สำหรับมาตรการลงโทษขั้นพื้นฐานที่มหาวิทยาลัย และสถาบันบางแห่งได้ทำแล้ว คือการให้พ้นจากตำแหน่ง และต้องหาถึงต้นสายปลายเหตุของการได้มาของผลงานทางวิชาการ เพราะน่าจะมีคนที่ยังซื้อขายงานวิจัยอยู่ และยังคงมีจำนวนที่เพิ่มเข้ามา โดย อว.อาจจะต้องตรวจงานวิจัยเหล่านั้น ว่าอาจจะไม่เข้าข่ายซื้องานวิจัย หรืออาจจะถูกสงสัยว่าซื้องานวิจัย แต่ อว.ไม่สามารถตัดสินว่าคนนั้นคนนี้ซื้อผลงานวิจัย ดังนั้น จึงต้องให้มหาวิทยาลัยต้นสังกัดรับผิดชอบในการสอบหาข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม อว.จะติดตามเรื่องนี้ต่อไป
“ส่วนที่มีมหาวิทยาลัย 8 แห่ง ยังไม่ได้ส่งข้อมูลความคืบหน้าให้ อว.นั้น อว.ติดตามตลอด ฉะนั้น มหาวิทยาลัยจะไม่ส่งข้อมูลให้ อว.ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะกระบวนการต่างๆ ไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแต่ติดขัดเรื่องอะไร ก็ว่ากันไป เพราะเรื่องนี้อยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชน” นายดนุช กล่าว
นายดนุช กล่าวด้วยว่า ส่วน อว.จะมีมาตรการป้องกัน หรือมาตรการลงโทษมหาวิทยาลัยต้นสังกัดอย่างไรนั้น พูดกันตามตรงว่าเรื่องที่เกิดขึ้น สร้างผลกระทบต่อชื่อเสียงมหาวิทยาลัยถ้าหากปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอีก ดังนั้น มหาวิทยาลัยยิ่งต้องให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิด และ อว.มีหน้าที่ย้ำเตือนให้เห็นถึงคำสั่งของ อว.ที่เคยให้ไว้
“ประเด็นที่มหาวิทยาลัยจะต้องทำผลงานวิชาการ เพื่อกระตุ้นให้ได้งบ ค่าตอบแทน การขยับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยให้สูงขึ้น ทำให้อาจารย์ต้องซื้อผลงานวิจัยนั้น ถือเป็นข้ออ้าง เพราะอาจารย์ต้องคิดได้ว่าไม่ควรซื้อผลงานวิจัย เพราะเป็นจรรยาบรรณของคนที่เป็นครูบาอาจารย์ ขนาดเด็กๆ ก็คิดได้ นักศึกษาปริญญาตรีก็คิดได้ สมมุติว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาแล้วไปทำงานวิจัยด้านวิศวกรรม ก็ผิดแล้ว ฉะนั้น ไม่เกี่ยวกับระยะเวลาในการทำงานวิจัย เพราะเป็นหน้าที่ของคนที่เป็นอาจารย์ ขอแค่ให้งานวิจัยตรงกับมาตราฐานที่จะเผยแพร่ได้เท่านั้น ก็เพียงพอแล้ว” นายดนุช กล่าว
อ่านประกอบ:
- มช.ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนักวิชาการ ปมซื้องานวิจัยใส่ชื่อตัวเอง (1)
- ไม่ใช่แค่ มช.! ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สั่งสอบปมซื้องานวิจัย อ.เจ้าตัวยันบริสุทธิ์ (2)
- ไม่มีซื้อขาย! เปิดตัว อ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไขข้อสงสัยแต่ละปีมีผลงานพิมพ์ได้หลายเรื่อง (3)
- ดร.ทัศนา บุญทอง :แจง’ปมตีพิมพ์งานวิจัย’อาจารย์พยาบาลฯ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (4)
- ส่องฐานข้อมูลวิจัย ตปท.! ดูผลงาน 2 อาจารย์ไทย ก่อนเคลียร์ปมร้อนไม่เคยจ่ายเงิน 'ซื้อ' (5)
- ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ปม อ.พยาบาลซื้อ-แปะชื่องานวิจัย (6)
- ทปอ.ออกแถลงไม่เห็นด้วยปมซื้อผลงานวิจัย อว.จี้ทุกมหาวิทยาลัยตรวจสอบคนในสังกัด (7)
- 'มข.-ราชภัฎ-ราชมงคล'แถลงจุดยืน ตั้ง กก.สอบงานวิจัยทั้งหมด หลังกระแสมี อ.ซื้อ-แปะชื่อ (8)
- พบอีก 2 ราย อ.ราชภัฏพิบูลฯเข้าข่ายซื้องานวิจัย อธิการบดีเผยมาทำงานปกติ-ตั้ง กก.สอบแล้ว (9)
- จี้ทุก ม.เร่งสอบงานวิจัย ขีดเส้นรายงานผล 15 ก.พ.-'เอนก'ยันไม่เกี่ยวข้อง อ.มหา’ลัยเอกชน (10)
- ถึงคิว! มรภ.พิบูลฯ' ตามส่องฐานข้อมูลวิจัย ตปท. 2 อ.เอี่ยวซื้อขายงานวิชาการจริงหรือ? (11)
- 'มอ.-ม.สุรนารีฯ-ศิลปากร'ประกาศยึดมั่นในจรรยาบรรณ-จริยธรรมของการวิจัย เร่งสอบทุกผลงาน (12)
- ขมวดปม'ซื้องานวิจัย-บายพาสชื่อใส่'เขย่าวงวิชาการไทย 11 อ.+โค้ชวิจัยดัง เผชิญข้อครหา? (13)
- อย่างน้อย 2 ราย! มข.ยัน อ.คณิตเอี่ยวปมซื้อวิจัย หยุดจ่ายค่าผลงานตั้งแต่ปายปีที่แล้ว (14)
- มากกว่า 2 รายจริง! ตามไปดูงานวิจัย อ.มข. ก่อนถูกสอบปมซื้อ - เจอชื่อหลายคนเอี่ยว? (15)
- คราวนี้ระดับผู้บริหาร! ม.ทักษิณ สั่งสอบคณบดีปมซื้องานวิจัย-เจ้าตัวขอลาออกตำแหน่งแล้ว (16)
- แกะรอยงานวิจัย อดีตคณบดี ม.ทักษิณ ก่อนถูกสอบปมซื้อ? 2 ปี 10 เรื่อง เฉพาะ ieeexplore (17)
- มช.สอบกรณีอื่นเพิ่ม! ปมอาจารย์ซื้องานวิจัย เผยเคสเดิมดำเนินการตามกฎหมายแล้ว (18)
- ม.ทักษิณ เผยผลสอบปมซื้อ-แปะชื่อวิจัย พบตีพิมพ์ผลงานผิดปกติ เจ้าตัวยันไม่ได้ซื้อ (19)
- ผลสอบซื้อ-แปะชื่องานวิจัย 34 มหาวิทยาลัย พบเข้าข่ายผิดจรรยาบรรณฯ 33 รายจาก 8 แห่ง (20)
- อว.พบ 52 นักวิจัยเสี่ยงผิดจริยธรรมงานวิจัย เผยมีอีก 160 รายเข้าข่าย (21)
- ทำผิดจริยธรรมร้ายแรง! ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เร่งพิจารณาโทษตาม กม.ปม อ.พยาบาลซื้อวิจัย (22)
- มีเอเจนซี่ดูแล! อว.สอบคู่ขนานซื้อ-แปะชื่องานวิจัย เข้าข่ายผิด160คน-ส่งตรวจอีกครึ่งร้อย (23)
- อว.เอาจริง! ส่งหนังสือถึงทุกมหาวิทยาลัย สั่งดำเนินคดีรับจ้างทำวิจัย-วิทยานิพนธ์ (24)
- พ้นสภาพทันที! ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ลงโทษทางวินัยร้ายแรง ปม อ.พยาบาลซื้อวิจัย (25)
- มช.ไล่ออก 1 สอบวินัย 2 ปมซื้อแปะชื่องานวิจัย-อว.จ่อแจ้งความเพจรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ (26)