‘ผู้ว่าฯธปท.’ ประเมินจีดีพีครึ่งปีแรกเติบโต 2.9-3% พร้อมจับตา ‘อุปสงค์’ ในภาคบริการ กดดัน ‘เงินเฟ้อพื้นฐาน’ สูงต่อเนื่อง พร้อมระบุความผันผวน ‘ตลาดเงินโลก’ ยังไม่จบ
........................................
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายในงาน ‘ผู้ว่าการ ธปท. พบสื่อมวลชน’ ตอนหนึ่งว่า แม้ว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยจะเจอกับ Shock ที่หลากหลายและหนัก แต่ในท้ายที่สุดแล้วเศรษฐกิจก็กลับมาได้ โดยปีนี้ ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.6% จากช่วงแย่ที่สุดในช่วงไตรมาส 2/2563 ที่เศรษฐกิจหดตัว 12.3% ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 จีดีพีได้กลับมาเทียบเท่าระดับก่อนโควิดแล้ว
“เราคิดว่าการท่องเที่ยวปีนี้ฟื้นมาค่อนข้างดี และน่าจะได้เห็นนักท่องเที่ยว 28 ล้านคน ซึ่งล่าสุดเราได้เห็นว่ามีนักท่องเที่ยวที่มาไทยถึง 66,000 คน/วัน เทียบกับในช่วงวิกฤติโควิด ซึ่งในช่วง 12 เดือน มีนักท่องเที่ยวเพียง 31,000 คน ส่วนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานล่าสุดมีจำนวน 2.6 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับในก่อนโควิดที่มีผู้ว่างงานและเสมือนว่างงาน 2.3 ล้านคน ขณะที่ในช่วงหนักสุดเรามีผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานสูงถึง 6.2 ล้านคน” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ยังระบุด้วยว่า ณ วันที่ 12 เม.ย.2566 ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ที่ 2.52 แสนล้านดอลลาร์ ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดที่เงินทุนสำรองฯมีจำนวน 2.59 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนด้านเสถียรภาพระบบการเงิน โดยเฉพาะระบบสถาบันการเงิน นั้น ยังคงเป็นจุดแข็งของไทย โดย ณ เดือน ก.พ.2566 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ 19.2% ส่วนหนี้เสีย (NPL) อยู่ที่ 2.8% ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดที่ NPL อยู่ที่ 3%
“สิ่งที่เรายังคงกังวล คือ เรื่องหนี้ครัวเรือน อันเป็นผลข้างเคียงที่เราได้รับมาจากช่วงโควิด โดยปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น อยู่กับเรามาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด ที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มเร็วไปถึง 80% ต่อจีดีพี แต่พอช่วงโควิด รายได้คนไม่มี จีดีพีหด ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สัดส่วนหนี้ก็พุ่งไปเกิน 90% ในช่วงโควิด และแม้ว่าล่าสุดลงมาอยู่ที่ 86% ต่อจีดีพี แต่ถือว่าอยู่ในระดับสูงและสูงกว่าที่เราอยากเห็น ซึ่งทำให้เรามีความกังวลในเรื่องเสถียรภาพ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า เมื่อมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยในช่วงครึ่งปีแรก ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.9-3% และในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้สูงกว่า 4% ส่วนการส่งออกสินค้า แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกน่าจะติดลบ 7% แต่ในช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกจะกลับมาขยายตัวที่ 4% และมั่นใจว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2566 จะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ คือ 28 ล้านคน
“ในฝั่งรายได้ การฟื้นตัวของรายได้ จะช่วยให้การบริโภคฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยเครื่องยนต์สำคัญที่พยุงเศรษฐกิจเรา คือ การท่องเที่ยวและการบริโภค ที่จะมาช่วยชดเชยปัญหาที่เกิดจากการส่งออกได้พอสมควร ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าการบริโภคจะขยายตัวเกิน 4% ส่วนครึ่งหลังจะขยายตัว 3% กว่าถึง 4% และไม่ได้มาจากการอัดอั้น แต่มาจากการที่คนมีรายได้ต่างๆดีขึ้น โดยเฉพาะรายได้ของแรงงานนอกภาคเกษตรที่จะขยายตัว 7.7% ในช่วงครึ่งปีแรก” นายเศรษฐพุฒิระบุ
ส่วนในด้านเงินเฟ้อนั้น เงินเฟ้อจะค่อยๆกลับเข้ามาสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% และน่าจะอยู่ในกรอบต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 3.3% และครึ่งปีหลังน่าจะอยู่ที่ 2.5% อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดในเดือน ก.พ.2566 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ขยายตัว 2.8% นั้น ถือว่าเป็นการกลับเข้ามาอยู่ในกรอบเร็วกว่าที่ ธปท.ได้คาดการณ์ไว้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปดังกล่าวจะอยู่ในระดับสูงกว่าที่เคยเห็นในอดีตก็ตาม
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ ธปท. ยังคงเป็นกังวลเป็นพิเศษ คือ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานในภาคบริการ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ยอมลง และหากมีการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในอัตราค่อนข้างสูง โอกาสที่เงินเฟ้อพื้นฐานจะถูกกดดันจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในภาคท่องเที่ยว จึงทำให้ ธปท.ต้องจับตามอง
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงความเสี่ยงทั้งในประเทศและนอกประเทศที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ว่า ในแง่ของเศรษฐกิจโลกนั้น ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนพอสมควร และเชื่อได้ว่าการที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆดำเนินนโยบาย ทั้งการเหยียบเบรก มีการรัดเข็มขัดในด้านการปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งปัญหาของธนาคารต่างๆ ในท้ายที่สุดแล้วเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง แม้ว่าตอนนี้สัญญาณจะยังไม่ชัดเจนนัก
“เมื่อเป็นอย่างนี้ ทำไมเราเองถึงยังมองว่าส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังยังเติบโตได้ ซึ่งประเด็น คือ แม้เศรษฐกิจทั่วโลกจะชะลอตัวลง แต่ตัวสำคัญที่มีนัยยะกับเรามาก ตอบสั้นๆ คือ จีน Key ก็คือ จีน จีนเพิ่งเปิดประเทศ ถึงแม้เศรษฐกิจฝั่งตะวันตกอาจจะชะลอตัว แต่จีนดูเหมือนว่าจะมีการฟื้นตัวได้อย่างดี” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจจีนที่จะฟื้นตัวได้ดีจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปี แต่ยังมีคำถามว่า ที่ผ่านการส่งออกของไทยและประเทศอื่นๆไปยังจีนยังไม่ค่อยฟื้นเท่าที่ควร นั้น บางฝ่ายบอกว่าเป็นเพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมาจากภาคบริการในสัดส่วนไม่น้อย จึงไม่ดึงดูดการส่งออกของประเทศอื่นๆเข้าไป และมีการตั้งคำถามว่า การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับภูมิภาคเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่
“ในบางเซ็กเตอร์ จีนมีการลงทุน สร้างกำลังการผลิตของเขาเอง จึงเป็นไปได้ว่า ถ้าเขามีศักยภาพ พึ่งพาตัวเองมากขึ้น สร้างอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องนำเข้ามากขึ้นแล้ว เมื่อมองไปข้างหน้า ก็เป็นไปได้ว่าการฟื้นตัวของจีน อาจไม่ส่งอานิสงส์หรือประโยชน์ด้านการส่งออกให้ประเทศไทยและในภูมิภาคมากเหมือนในอดีต แต่บางคนก็วิเคราะห์ว่า ที่จีนไม่ค่อยนำเข้านั้น เป็นเรื่องระยะสั้น ซึ่งตรงนี้ยังเป็นคำถามอยู่” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ส่วนปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะวิกฤติธนาคารในสหรัฐนั้น คงไม่มีใครกล้าฟันธงว่าวิกฤติได้จบลงเบ็ดเสร็จไปแล้ว บอกได้แต่เพียงว่าปัญหาคลี่คลายลง และแน่นอนว่าปัญหาในตลาดเงินโลกยังไม่จบ เพราะการที่ดอกเบี้ยขึ้นมาเร็วและสูงขนาดนี้ จากเดิมที่ดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำมายาวนาน คงจะต้องมีคนอื่นๆอีกนอกจาก Silicon Valley Bank ที่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขึ้นมาสูง เพียงแต่ยังไม่เห็นเท่านั้น
“ความผันผวนจากตลาดการเงินโลกคงยังมีอยู่ ยังไม่จบ แม้ว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐทำมา จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายระดับหนึ่ง และที่บอกว่าไม่จบ เพราะมีข้อน่าสังเกตว่า มาตรการที่ธนาคารกลางสหรัฐทำออกมา ถือว่าจัดเต็มมากในการแก้ปัญหา ออกยาแรงมาก แต่ยาแรงขนาดนี้ ทุกอย่างยังไม่นิ่ง เราต้องคอยติดตามว่า คงมีอะไรที่มีความเสี่ยงอยู่ ส่วนเศรษฐกิจโลกชะลอตัว มีการ Price In ไปเยอะแล้ว และทุกคนรู้” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ส่วนความเสี่ยงในประเทศนั้น นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า สิ่งที่ต้องจับตามองให้ดี คือ การทำนโยบายที่ไปกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ และนำไปสู่ความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจข้างหน้า ส่วนเรื่องดอกเบี้ยขาขึ้นที่ส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆนั้น ธปท.เองใส่ใจในประเด็นนี้ และเป็นที่มาว่าเหตุใดจึงเลือกดำเนินนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าชาวบ้าน รวมทั้งมีความกังวลในเรื่องหนี้สินครัวเรือน
“ในบริบทหนี้ครัวเรือนของไทย สัดส่วน 60% ของหนี้ครัวเรือน เป็นหนี้ที่ค่างวดคงที่ ผลกระทบทันทีและโดยตรงจากดอกเบี้ยที่ขึ้นจึงไม่มากเหมือนกันที่อื่น ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบดอกเบี้ยขาขึ้นต่อภาคส่วนต่างๆ” นายเศรษฐพุฒิระบุ
นายเศรษฐพุฒิ ยังอธิบายว่า ผลกระทบจากปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่ ธปท. เป็นกังวลนั้น เป็นผลกระทบในฝั่งของลูกหนี้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนฝั่งของเจ้าหนี้หรือธนาคารพาณิชย์ ธปท.ไม่ได้มองว่าจะไปมีผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน เพราะสำรองต่างๆมีพอ และการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลงช้า จะเป็นตัวถ่วงให้ทั้งเศรษฐกิจและครัวเรือนฟื้นตัวได้ลำบาก ในขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีนั้น ควรจะอยู่ที่ไม่เกิน 80%
“หนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนกว่า 80% ต่อจีดีพี ไม่ใช่ทั้งหมดที่น่ากังวล แต่มีบางกลุ่มที่เราเป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มที่หนี้โตเร็ว และกลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรัง จ่ายอย่างไรก็ไม่หลุดพ้นจากกับดักหนี้ ทำงานจนเกษียณ จนแก่ จนจะตาย ก็ยังเป็นหนี้ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เราอยากหามาตรการมารองรับ และเนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่กับเรามายาวนาน คงไม่มีอะไรมาเสกให้มันหายไปในเร็ววัน ที่สำคัญต้องแก้ให้ถูกหลักการ แก้ให้ครบวงจร และไม่ผลักภาระให้ลูกหนี้” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
สำหรับมาตรการ ‘พักหนี้’ นั้น เป็นมาตรการที่ไม่ควรใช้อย่างยาวนาน เพราะการพักหนี้นั้น ดอกเบี้ยยังวิ่งอยู่ ซึ่งไม่ได้ทำให้ภาระของลูกหนี้ลดลงเลย ดังนั้น สิ่งที่ ธปท.พยายามเน้น คือ การปรับโครงสร้างหนี้ให้ยั่งยืนและสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ และต้องไม่ทำหรือจูงใจให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า moral hazard โดยคนที่มีความสามารถในการชำระหนี้ ก็ควรชำระหนี้ และไม่ควรทำมาตรการปูพรม ที่ทำให้คนที่มีความสามารถในการจ่ายหนี้ เลิกจ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายมาก
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ชี้นโยบายรัฐบาลใหม่ ต้องช่วยรักษาเสถียรภาพศก.-ส่งสัญญาณ‘ดบ.ที่แท้จริง’ไม่ควรติดลบ
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%สู่ระดับ 1.75% สกัดเงินเฟ้อ-จับตาตลาดการเงินโลกผันผวน
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สกัดเงินเฟ้อ-มองศก.ไทยฟื้นต่อเนื่อง แม้ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%