ธปท.จับตานโยบาย ‘รัฐบาลใหม่’ พร้อมระบุต้องมีการประสานนโยบายระดับหนึ่ง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ส่งสัญญาณ ‘ดอกเบี้ยที่แท้จริง’ ของไทยไม่ควรติดลบ หากเศรษฐกิจเติบโต 3-4%
.......................................
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายในงาน Monetary Policy Forum กรณีที่พรรคการเมืองนำเสนอนโยบายประชานิยมในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งต่ออัตราเงินเฟ้อหรือไม่ ว่า คงต้องติดตามดูว่านโยบายของรัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร แต่โดยหลักแล้วการดำเนินนโยบายต่างๆควรมีการประสานงานกันระดับหนึ่ง เพื่อการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ
“เรื่องนโยบายรัฐบาลใหม่ เรามองในภาพนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินโดยรวม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ช่วงโควิด เห็นชัดว่าเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องได้แรงสนับสนุนจากทั้งภาคการคลังและภาคนโยบายการเงิน เพราะเป็นวิกฤตที่ใหญ่หลวง แต่ ณ จุดนี้ไป เศรษฐกิจไทยมีแรงส่งของตัวเองค่อนข้างดี
จึงเป็นเหตุผลที่คณะกรรมการฯ (กนง.) ค่อยๆถอนคันเร่งของการสนับสนุนเศรษฐกิจ และภาคการคลังเอง ก็ถอนคันเร่งเช่นเดียวกัน จากที่กระตุ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ก็เริ่มลด และปีนี้ก็ลดต่อไป ซึ่งเป็นการประสานนโยบายที่ดี อย่างไรก็ดี คงต้องดูว่านโยบายของรัฐบาลใหม่เป็นอย่างไร แต่หลักในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ก็ควรมีการประสานกันในระดับหนึ่ง” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ยังกล่าวถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) ว่า จากตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่ำกว่าในอดีตพอสมควร และการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบน้อยลง ส่วนคำถามว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงควรอยู่ที่เท่าไหร่ นั้น คงต้องขึ้นอยู่กับบริบทของเศรษฐกิจ
“อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ณ ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจซบเซา การที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะติดลบ ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยและต่างประเทศ ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ถ้าเรามองถึงเศรษฐกิจที่กลับเข้าสู่ดุลยภาพ ศักยภาพ ทุกอย่างอยู่ในจังหวะที่ดี เงินเฟ้ออยู่ในกรอบแล้ว อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง เราก็มองว่ามันควรจะไม่เป็นลบ เมื่อเทียบเคียงกับเศรษฐกิจที่ขยายตัว 3-4% ประเทศไทยไม่ควรเห็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ” นายปิติ กล่าว
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ในภาพใหญ่เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงในด้านต่างประเทศสูงขึ้น จากปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอยู่ โดยประมาณการของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุด คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวที่ 3.6% และปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.8%
“เราปรับประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปีนี้นักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 28 ล้านคน จากปีที่แล้ว 11.2 ล้านคน ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน การจ้างงาน และธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวก็ดีขึ้นตามไปด้วย ส่วนส่งออก เราปรับลดประมาณการเป็นติดลบ 0.7% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกปีนี้จะโตน้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ปี 2567 เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว ขณะที่การท่องเที่ยวยังขยายตัวอยู่ ดังนั้น ในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะโต 3.8%”นายสักกะภพ ระบุ
นายสักกะภพ ระบุด้วยว่า สาเหตุที่ กนง.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือ 3.6% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.7% นั้น เป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2565 ขยายตัวน้อยกว่าที่ ธปท.คาดไว้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจปี 2566 ยังคงได้รับแรงส่งจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ส่วนการส่งออกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว หลังจากที่หดตัวในช่วงไตรมาส 4/2565 และคาดว่าการส่งออกไทยจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2566
ด้าน นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มลดลง แต่ประมาณการเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูงอยู่ โดยล่าสุด กนง. และ ธปท. ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อลงจากครั้งก่อน โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 จะขยายตัว 2.9% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 2.4% ส่วนปี 2567 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัว 2.4% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ 2%
“จากการประมาณการล่วงหน้า 2 ปี จะเห็นว่าเงินเฟ้อทั่วไปลดลง เนื่องจากราคาอาหารสดและราคาพลังงานในปี 2566-67 น่าจะไม่สูงเหมือนปี 2565 ที่ผ่านมา แต่ในส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้น น่าจะมีปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการส่งผ่าน (ต้นทุน) ต่อเนื่อง จึงทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานค่อนข้างทรงตัวอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับในอดีต” นายสุรัช กล่าว
นายสุรัช ย้ำว่า มี 2 ปัจจัย ที่ทำให้เงินเฟ้อมีความเสี่ยงในด้านสูง และ ธปท.จะติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1.แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จากการที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับมาเป็น 28 ล้านคนในปีนี้ และ 35 ล้านคนในปีหน้า รวมถึงการบริโภคที่จะกลับมา และ 2.การส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เพราะแม้ว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะลดลง แต่ต้นทุนของผู้ประกอบการยังอยู่ในระดับสูง จึงมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผ่านต้นทุนในระยะถัดไป
“ข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ แม้ว่าในเดือน มี.ค.2566 เงินเฟ้อพื้นฐานและเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง แต่จะสังเกตเห็นได้ว่าราคาอาหารบริโภคนอกบ้านและในบ้าน รวมถึงเครื่องประกอบอาหารเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบเดือนต่อเดือน (MoM) อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องจับตาต่อไป และจากการสำรวจผู้ประกอบการพบว่า บางอุตสาหกรรมมีการต้นทุนที่อั้นไว้ (ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังไม่ส่งผ่านราคา) ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม” นายสุรัช กล่าว
อ่านประกอบ :
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%สู่ระดับ 1.75% สกัดเงินเฟ้อ-จับตาตลาดการเงินโลกผันผวน
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สกัดเงินเฟ้อ-มองศก.ไทยฟื้นต่อเนื่อง แม้ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%