สภาพัฒน์ฯเผยเศรษฐกิจปี 63 หดตัว -6.1% หดตัวมากที่สุดในรอบ 22 ปี นับจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 41 พร้อมหั่นคาดการณ์จีดีพี ปี 64 เหลือโต 2.5-3.5% เซ่นโควิดระบาดรอบใหม่-นักท่องเที่ยวต่างชาติลด ขณะที่ 'ธปท.' ชี้จีดีพีปี 63 ดีกว่าคาด
..................
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2563 ทั้งปี 2563 และแนวโน้มปี 2564 ว่า เศรษฐกิจไตรมาส 4/2563 หดตัว -4.2% ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งปี 2563 หดตัว -6.1% เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และเป็นระดับการหดตัวที่สูงสุดในรอบ 22 ปี หรือนับตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2541 ซึ่งขณะนั้นเศรษฐกิจไทยหดตัว -7.6%
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยที่หดตัว -6.1% ยังเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 11 ปี นับจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2552 ซึ่งเศรษฐกิจไทยหดตัว -2.3%
“ปัจจัยทางการเมืองในประเทศไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากนัก แต่ปัจจัยหลักเป็นเรื่องโคโรนาไวรัส (โควิด-19) ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเมืองในประเทศ” นายดนุชากล่าว
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% ค่ากลาง 3% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.5% โดยมีสาเหตุจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย และแม้ว่าขณะนี้จะควบคุมการระบาดได้แล้ว แต่เศรษฐกิจไตรมาส 1/2564 ยังคงมีข้อจำกัดอยู่ ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2564 จะลดลงเหลือ 3.2 ล้านคน และสร้างรายได้ 3.2 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน และสร้างรายได้ 4.9 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ สศช.คาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2564 จะขยายตัว 5.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.9% ปริมาณการค้าโลกขยายตัว 7.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 48-58 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ค่าเงินบาทอยู่ที่ 29.5 –30.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐคาดว่าจะขยายตัว 5.8% การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 2% การลงทุนรวมขยายตัว 5.7% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.0-2.0% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของ GDP
“ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจปี 64 มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการค้าโลกที่ขยายตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ อียู และญี่ปุ่น การกระจายวัคซีนในประเทศเศรษฐกิจหลักที่เร็วกว่าที่คาดไว้ การเบิกจ่ายภาครัฐ และการขยายตัวอย่างช้าๆของอุปสงค์ในประเทศ ส่วนปัจจัยเสี่ยง เช่น การระบาดโควิด-19 และประสิทธิภาพในการกระจายวัคซีน ความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ภัยแล้ง และหนี้ครัวเรือน เป็นต้น” นายดนุชากล่าว
สำหรับประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2564 มี 9 ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่
1.การควบคุมการแพร่ระบาดและการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงภายในประเทศ โดยการดำเนินการตามมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง แลการจัดหาและบริหารจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วถึงและเพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อย่างรวดเร็วและจัดลำดับความสำคัญ โดยคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญและการรักษาความต่อเนื่องของการผลิตในพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญขอประเทศ ควบคู่ไปกับการจัดลำดับความสำคัญตามหลักการทางสาธารณสุข
2.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ เพราะการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2564 จะต้องอาศัยเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ซึ่งนอกจากการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศแล้ว จะต้องสนับสนับให้มีเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าให้มากขึ้น ดังนั้น การรักษาบรรยากาศทางการเมืองจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ
3.การดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องซึ่งการฟื้นตัวยังมีข้อจำกัดจากมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ รวมทั้งการพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพิ่มเติม
4.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
5.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเพื่อสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศ โดยการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการระบาดของโรค ,การสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของสินค้าไทยควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการป้องกันการระบาดของโรคในพื้นที่ฐานการผลิตสำคัญอย่างเข้มงวด ,การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าภายใต้กรอบความร่วมมือที่สำคัญ
การให้ความสำคัญกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญๆ ที่อาจถูกหยิบยกเป็นเครื่องมือสำหรับการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า ,การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า ,การลดต้นทุนการผลิตสินค้าที่สำคัญๆ เพื่อลดแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาท และการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน
6.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับ การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561-2563 ให้เกิดการลงทุนจริง ,การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ ,การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกสำหรับนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ,การขับเคลื่อนการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และการขับเคลื่อนมาตรการสร้างศักยภาพ ,การขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง
7.การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
8.การเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งและการดูแลรายได้เกษตรกร
9.การติดตามและเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์สูงและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
นายดนุชา กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศในปี 2564 ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อว่า เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามกันต่อไป เพราะปัจจัยหลักของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมาจากการลงทุนภาคเอกชน การส่งออก และการจับจ่ายใช้สอยของประเทศ ซึ่งปัจจัยการเมืองจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น จึงต้องมีการบริหารจัดการเพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างประเทศ
ด้านน.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2563 หดตัวที่ 4.2% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ทำให้ทั้งปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัว 6.1% ซึ่งเป็นการหดตัวสูงสุดในรอบสองทศวรรษ แต่ยังดีกว่าที่ ธปท. ประเมินไว้ทั้งในรายงานนโยบายการเงินเดือน ธ.ค. 63 และในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน ก.พ 64 ที่ผ่านมา
โดยองค์ประกอบที่ดีกว่าคาดมาจากการสะสมสินค้าคงคลังที่เร่งขึ้นมากตามผลผลิตเกษตรและเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนที่สามารถกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยเนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้าและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ฟื้นตัว
(ชญาวดี ชัยอนันต์)
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้แต่ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในช่วงต้นปี แต่คาดว่าผลกระทบโดยรวมจะน้อยกว่าการแพร่ระบาดในระลอกแรก เนื่องจากมาตรการเข้มงวดน้อยกว่าและบังคับใช้เฉพาะพื้นที่ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ดังกล่าวอาจเป็นการซ้ำเติมบางภาคเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มอื่น ทำให้การฟื้นตัวมีความแตกต่าง ผลกระทบต่อบางกลุ่มธุรกิจและแรงงานจึงควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนอีกมาก ทั้งการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 ดังนั้น โดยรวมเศรษฐกิจไทยจึงยังต้องการมาตรการที่ตรงจุด เพียงพอ และต่อเนื่องเพื่อประคับประคองการฟื้นตัว ทั้งนี้ ธปท. จะมีการประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจและเผยแพร่อีกครั้งในรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนมี.ค.2564
อ่านประกอบ :
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'
ไฟเขียวแบงก์ปันผล! ‘ธปท.’ ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไร-ต้องไม่มากกว่าปี 62
สร้างกันชน-รักษาภูมิคุ้มกันศก.! 'วิรไท' แจงเหตุขอแบงก์ 'งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน'
ช่วยลูกหนี้ระยะสอง! ธปท.ประกาศลดดบ. ‘บัตรเครดิต-พีโลน’ 2-4% พ่วงขยายวงเงินเป็น 2 เท่า
งดจ่ายปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน! ธปท.ให้แบงก์ รักษา 'เงินกองทุน' รองรับความเสี่ยง 1-3 ปี
ห่วงธุรกิจไปไม่รอด-เมินปล่อยกู้! 2 สมาคมฯท้วงธปท.ลดเพดานดบ. ‘พีโลน-จำนำทะเบียนรถ’
รับรู้รายได้ ดบ.ปกติ! เผยวิธีบันทึกงบฯ‘สถาบันการเงิน’ช่วงพักชำระหนี้-ทำให้ฐานะอ่อนแอ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/