‘สศช.’ เผยไตรมาส 1/65 การจ้างงานเพิ่มขึ้น 3% แตะ 38.7 ล้านคน ขณะที่อัตราว่างงานอยู่ที่ 1.53% ต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดโควิด พร้อมระบุปี 64 ครัวเรือนมีหนี้สินเพิ่มขึ้น 25.4% สวนทางรายได้เติบโตเพียง 5.1%
................................
เมื่อวันที่ 23 พ.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2565 ว่า สถานการณ์ด้านแรงงานในช่วงไตรมาส 1/2565 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นทุกด้าน โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนผู้มีงานทำ 38.71 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผู้มีงานทำในภาคเกษตร 11.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3% และผู้มีงานทำนอกภาคเกษตร 27.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3%
“ในส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรนั้น แม้ว่าผู้มีงานทำในสาขาก่อสร้าง และโรงแรง/ภัตตาคาร จะหดตัวลงเล็กน้อยที่ระดับ -1.1% แต่การจ้างงานในภาคขนส่ง/เก็บสินค้า เพิ่มขึ้น 16.2% และสาขาค้าส่ง/ค้าปลีก เพิ่มขึ้น 5.8% ขณะที่สาขาการผลิต เพิ่มขึ้น 2.6%” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาชั่วโมงการทำงาน พบว่าในช่วงไตรมาส 1/2565 แรงงานมีจำนวนชั่วโมงการทำงานในภาพรวมอยู่ที่ 40.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564 แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ส่วนผู้ทำงานล่วงเวลามีจำนวน 5.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่ทำงานไม่เกิน 20-24 ชั่วโมง/สัปดาห์ มีจำนวน 3.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวนผู้เสมือนว่างงาน 2.6 ล้านคน
ทั้งนี้ ผู้เสมือนว่างงานที่มีจำนวน 3.8 ล้านคน นั้น พบว่า 41% อยู่ในภาคเกษตร หรือคิดเป็นจำนวนแรงงาน 1.58 ล้านคน จึงจำเป็นที่ต้องมีการสนับสนุนการสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้เกษตรกรกลุ่มนี้ ในช่วงที่ไม่เข้าสู่ฤดูเพาะปลูก ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานที่อยู่ในภาคบริการที่มีจำนวน 1.36 ล้านคน นั้น ภาครัฐจะต้องมีมาตรการในการเข้าไปช่วยเหลือในภาคบริการมากขึ้นในช่วงเวลาถัดไป
นายดนุชา ระบุว่า ในส่วนอัตราการว่างงานโดยรวม พบว่าในช่วงไตรมาส 1/2565 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.53% ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 เป็นต้นมา โดยมีจำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 6.1 แสนคน ลดลงจากไตรมาส 1/2564 ที่มีจำนวนผู้ว่างงาน 7.6 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานที่ 1.96% ขณะที่จำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานอยู่ที่ 3.05 แสนคน ลดลงจากไตรมาส 1/2564 ที่มีจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 3.45 แสนคน
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจำนวนผู้ว่างงานระยะยาวหรือว่างงานเกิน 1 ปีขึ้นไป มีจำนวน 1.74 แสนคน ขณะที่แรงงานที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.1% หรือคิดเป็นจำนวน 2.25 แสนคน ซึ่งจะต้องเข้าไปดูว่าเป็นเพราะสาเหตุใด และจะต้องมีการ Upskill และ Reskill ทักษะแรงงานกลุ่มนี้ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
สำหรับประเด็นเรื่องแรงงานมีสิ่งที่ต้องติดตาม 3 ประเด็น ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของการจ้างงานในภาคท่องเที่ยว เพราะแม้ว่าช่วงนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น แต่ถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียกับก่อนเกิดโควิด-19 และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามามีการใช้จ่ายไม่มากนัก 2.การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าที่จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของแรงงาน และ3.การหามาตรการแก้ไขปัญหาการว่างงานระยะยาว และการว่างงานของผู้จบการศึกษาใหม่
นายดนุชา กล่าวว่า แม้ว่าการจ้างงานมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น และอัตราการว่างงานปรับลดลง แต่อัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 1% ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโควิดได้เมื่อใดนั้น ยังต้องประเมินกันต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจในระดับโลกที่ยังมีความผันผวนอยู่ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าลุกลามบานปลายไปถึงระดับใด ขณะที่ในภาคการผลิตเริ่มมีปัญหาซัพพลายเชนดิสรัปชั่น
ส่วนสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนนั้น ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 4/2564 พบว่าหนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 14.58 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 1.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2564 โดยสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 90.1% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 89.6% โดยหนี้ส่วนใหญ่หรือ 34.5% เป็นหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ , 27.8% เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค และ18.8% เป็นหนี้เพื่อประกอบธุรกิจ
ด้านคุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน โดยสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่ออยู่ที่ 2.73% หรือมีจำนวนหนี้เสีย 1.4 แสนล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวนหนี้เสีย 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.89%
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง คือ หนี้เสีย (NPL) สินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากในช่วงไตรมาส 4/2564 มีสินเชื่อที่ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (SM) อยู่ที่ 11.08% ของสินเชื่อรถยนต์รวม ซึ่งมีโอกาสผิดนัดและกลายเป็นหนี้เสียได้
นายดนุชา ยังระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ฐานะการเงินของครัวเรือนมีความเปราะบาง มูลค่าการออมของครัวเรือนลดลง และสัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็น 51.5% ในปี 2564 จากปี 2562 ที่สัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้สินอยู่ที่ 45.2% นอกจากนี้ ในขณะที่รายได้ครัวเรือนในปี 2564 เพิ่มขึ้น 5.1% แต่จะพบว่าหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น 25.4% รวมทั้งยังได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย
อ่านประกอบ :
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีปี 64 ขยายตัว 1.6% มองปีนี้โต 3.5-4.5%-นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน
สูงสุดนับตั้งแต่เกิดโควิด!‘สศช.’เผยไตรมาส 3 ตกงานพุ่ง 2.25%-ว่างงานชั่วคราวอีก 9 แสน
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 3 หด 0.3% คาดทั้งปี 64 เติบโต 1.2%-มองปีหน้าขยายตัว 3.5-4.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีสังคมไตรมาส 2 พบ‘ว่างงานสูง-หนี้เพิ่ม-รายได้หด-เงินออมลด-เครียดโควิด’
'สศช.’ หั่นเป้าเศรษฐกิจปี 64 เหลือ 0.7-1.2%-จีดีพีไตรมาส 2 โต 7.5% ส่งออกดี-ฐานต่ำ
จีดีพีไตรมาส 1 ลบ 2.6%! สศช.หั่นเป้าปี 64 โต 1.5-2.5%-คาดคุมโควิดระลอก 3 ได้มิ.ย.นี้
รายได้ลด-หนี้เพิ่ม! สศช.ห่วง 3 ปัจจัยกระทบแรงงาน-เกษียณ 60 ปีต้องมีเงินออม 2.8-4 ล.
เซ่นโควิดรอบใหม่! สศช.หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.5-3.5%-ศก.ปี 63 หดหนักสุดรอบ 22 ปี
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'