รองนายกฯ ‘สุพัฒนพงษ์’ ระบุประเทศไทยยังรักษา ‘เสถียรภาพการเงินการคลัง’ เอาไว้ได้ แม้ต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด 2 ปีเต็ม ย้ำเร่งเดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ด้าน ‘รมว.คลัง’ เร่งปฏิรูปโครงสร้างภาษีหารายได้เข้ารัฐ หลังแบกรับภาระเงินกู้ 1.5 ล้านล้าน เยียวยาเศรษฐกิจ ขณะที่ ‘ผู้ว่าฯธปท.’ ชี้มีโอกาส 'น้อยมาก' ที่เศรษฐกิจไทยจะเกิด ‘stagflation’
.................................
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยระหว่างการเสวนาหัวข้อ ‘มองเศรษฐกิจโลก สะท้อนเศรษฐกิจไทย’ ภายในงานประชุมเสวนาออนไลน์ ‘ถามมา ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า-Better THAILAND 2022’ โดยระบุตอนหนึ่ง ว่า วิกฤติโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้จะทำให้คนไทยเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่สุดท้ายก็ผ่านพ้นมาได้ และวันนี้ประเทศไทยยังคงรักษาเสถียรภาพการเงินการคลังเอาไว้ได้
“วันนี้เรามาถึงตรงนี้แล้ว ประเทศไทยเราผ่านโควิด ผ่านวิกฤตมา 2 ปีแล้ว แต่เรายังรักษาเสถียรภาพทางการเงินการคลังได้ ซึ่งวิธีวัดที่ดีที่สุด คือ อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยไม่ได้ลดต่ำลง เรายังอยู่ในอันดับที่ใกล้เคียงหรือเท่ากับก่อนโควิด และแม้ว่าจะมีความขุ่นเคือง มีความยากลำบาก แต่ทุกคนก็ช่วยกัน ผมจึงเชื่อว่าเราจะผ่านไปได้ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป การท่องเที่ยวเราจะดีขึ้นเรื่อยๆ จากตอนนี้ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 1.2 ล้านคน” นายสุพัฒนพงษ์ ระบุ
นายสุพัฒนพงษ์ ยังระบุว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 2 ล้านล้านบาท นั้น จะเริ่มส่งผลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ในขณะที่ในปี 2553-57 ซึ่งประเทศไทยแทบไม่มีการลงทุนใหม่เลย ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจต้องพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูงขึ้น และต้องอาศัยการบริโภคภายในประเทศค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลให้หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้นมาก
นายสุพัฒนพงษ์ ย้ำว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าในเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งตนก็ได้ผลักดันเรื่อง 4D (Digitalization ,Decarbonization ,Decentralization และ D-risk) มาโดยตลอด
“ผมพูดเรื่อง 4D มา สื่อมวลชนก็บอก พูดมา 6 เดือนแล้ว ตั้งฉายาผม เป็นมหาเฉื่อย 4D ไม่เกิดขึ้นซักทีหนึ่ง ไม่เกิดซัก D หนึ่ง ซึ่งเรื่อง Decarbonization จะเป็นนโยบายและเป็นกลยุทธ์อันหนึ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ขณะที่การลดก๊าซเรือนกระจก จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจแบตเตอรี่ และธุรกิจดิจิทัล เพราะดิจิทัลเทคโนโลยีจะมาคู่กับยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ที่มีสัดส่วนความเป็นดิจิทัลที่สูง” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวถึงเหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และสินค้ามีราคาแพง ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออก 10 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่างๆ และขอยืนยันอีกครั้งว่า ราคาน้ำมันขายปลีกของประเทศไทยไม่ได้แพงเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน
“ทุกคนกำลังรอเวลา รอเวลาเปิดประเทศ แล้วจะค่อยๆดีขึ้น คนไทยเราบ่นไป แต่เราปรับตัว เราไม่เคยทิ้งกัน ภาคเอกชนก็ปรับตัว ลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น ไม่พยายามส่งต้นทุนทั้งหมดไปสู่ผู้บริโภค เพื่อรักษากำไรหรือหากำไรเกินควร มีการพึ่งพาตัวเอง ใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น ส่วนประชาชนก็ประหยัดมากขึ้น” นายสุพัฒนพงษ์ระบุ
@‘รมว.คลัง’ขอเลือกเศรษฐกิจโตช้าแต่มั่นคง’-เร่งปฏิรูปภาษี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า วิกฤติโควิด 2 ปีที่ผ่านมา ทุกประเทศ รวมถึงไทย มีการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่ไม่ได้แตกต่างกันนัก โดยนโยบายการเงินจะเข้าไปดูแลเรื่องต้นทุนเงิน การพักชำระหนี้ การเติมเงินใหม่ และหากไม่ไหวก็มีพักทรัพย์พักหนี้ ส่วนนโยบายการคลัง นั้น มีหน้าที่ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะเมื่อคนตกงาน โรงงานปิด รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
“เราไม่ทิ้งกัน เราชนะ คนละครึ่ง โครงการเหล่านี้เป็นต้นทุนของรัฐบาลทั้งนั้น ไม่มีใครมาแบกรับแทน และต้องใช้เงินล่วงหน้า โดยเราได้กู้เงินมาแล้ว 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งในต่างประเทศเอง ธนาคารโลก และ IMF ก็ล้วนออกมาให้ทิศทางนี้ว่า นโยบายการคลังต้องมีบทบาทในช่วงโควิด และให้นโยบายการเงินมีหน้าที่คอยดูแลภาคธุรกิจ ทำกันอย่างนี้ทั่วโลก และจะเห็นได้ว่ากู้ยืมเงินของภาครัฐทุกประเทศพุ่งขึ้นสูงทันที ส่วนของไทยเราก็ไม่ได้สูงที่สุด” นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวว่า สำหรับทิศทางนโยบายการคลังในระยะข้างหน้านั้น เมื่อภาครัฐมีภาระเพิ่มขึ้นเกินปกติในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ 1.ต้องสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งแม้ว่าหลายคนจะมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตช้า แต่ส่วนตัวแล้วเห็นว่า หากเศรษฐกิจโตช้าแต่ว่ามั่นคง ตนขอเลือกความมั่นคง 2.การดำเนินมาตรการการคลัง โดยเฉพาะมาตรการภาษีที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ,การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
3.การสนับสนุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เน้นนโยบายเรื่อง Green Finance (การเงินสีเขียว) หรือการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“ทั้งนี้ 3 เรื่องนี้ จะเป็นเรื่องที่นโยบายการคลังจะเราต้องเข้ามาไปส่งเสริม แต่การส่งเสริมตรงนี้ก็มีต้นทุน ถามว่าต้นทุนจะมาจากไหน โดยสิ่งที่เราพูดในวันนี้ คือ นโยบายการคลังที่ยั่งยืน เวทีรัฐมนตรีคลังอาเซียน รัฐมนตรีคลัง G20 เองก็พูดเรื่องนี้ และถ้าพูดถึงความยั่งยืนทางการคลังแล้ว รัฐคงไม่ได้จ่ายอย่างเดียว แต่ต้องมีรายได้ด้วย โดยรายได้จะมาจากปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ ซึ่งหลายๆประเทศก็ทำกัน แม้แต่ในช่วงโควิดบางประเทศที่ทำ” นายอาคม กล่าว
@แผน 13 มุ่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ-ต้องเห็นผลภายใน 5 ปี
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้ช่วงปี 2563-64 รัฐบาลต้องกู้เงินมาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2 ครั้ง เป็นวงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท ขณะที่เม็ดเงินส่วนใหญ่หรือไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาท ถูกใช้ในการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนกว่า 40 ล้านคน และสามารถช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
นายดนุชา ยังกล่าวถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ว่า จะเน้นไปใน 13 เรื่อง ที่ต้องทำให้ได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้มีการปรับสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง และจากวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่มีภูมิต้านทานวิกฤติขนาดใหญ่เพียงพอ และฟื้นตัวได้ช้า เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก และการผลิตสินค้ายังคงเป็นแบบเดิมๆ จึงต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอีกครั้ง
นายดนุชา ระบุว่า สำหรับแผนพัฒนาฯฉบับ 13 จะมุ่งเน้น 4 มิติ คือ 1.การปรับโครงสร้างภาคการผลิตและภาคบริการ เพื่อให้มีสินค้าใหม่ๆและเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรม เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์จะมุ่งไปที่รถยนต์ฟ้า ส่วนสินค้าเกษตรจะเน้นเรื่องการผลิตสารสกัด 2.การลดความเหลื่อมล้ำ โดยสร้างซัพพลายเชนระหว่างบริษัทขนาดใหญ่กับบริษัทขนาดเล็กให้อยู่ด้วยกันได้ กระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปยังพื้นที่นอบนอก และการแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า
3.การดูแลสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ การบริหารจัดการน้ำ และการนำเรื่อง BCG มาจับในระดับชุมชนและวิสาหกิจชุน และ4.การปรับประสิทธิภาพของภาครัฐ เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้เอกชน รวมไปถึงการปฏิรูปการศึกษา
@ธปท.ยันมีโอกาสน้อยที่เศรษฐกิจไทยจะเกิด ‘stagflation’
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วงวิกฤติโควิด-19 หน้าที่แรกของ ธปท. คือ ต้องดูแลให้ภาคการเงิน ระบบธนาคารพาณิชย์ และตลาดการเงินทำงานได้ตามปกติที่สุด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับภาคธุรกิจและประชาชน โดย ธปท.ได้ลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรักษาสภาพคล่องให้อยู่ในระบบ มีการผ่อนปรนเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้กลไกสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทำงานได้ รวมทั้งมีการเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ SME
“ตอนต้นปี 2563 สินเชื่อในระบบมีอยู่ประมาณ 13 ล้านล้าน แต่ล่าสุดสินเชื่อในระบบเพิ่มไปอยู่ที่ 15 ล้านล้าน แม้ว่าในปีแรกเศรษฐกิจเราจะติดลบ 6% และปีถัดมา ถึงจะบวกก็บวกไม่เยอะ โดยสินเชื่อที่เติบโตขึ้นมา 1.5 ล้านล้าน หรือคิดเป็นเติบโตที่ 11% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่าช่วยได้ในระดับหนึ่ง และถ้าเทียบกับเพื่อนบ้าน เราโดนโควิดหนักกว่าเพื่อนบ้าน เศรษฐกิจฟื้นช้ากว่าเพื่อนบ้าน แต่ว่าสินเชื่อเราโตเร็วกว่าชาวบ้าน
โดยล่าสุดไตรมาส 1/65 สินเชื่อเราโต 6.9% อินโดนีเซียโต 6% ฟิลิปปินส์ โต 5% และมาเลเซียโต 4% ซึ่งสะท้อนว่ากลไกการเงินของเรายังทำงานได้ดีระดับหนึ่ง แต่ก็ยังดีไม่พอ ทำให้เราจำเป็นต้องออกมาตรการเสริมในระบบการเงิน เพราะยังมีจุดบกพร่อง ซึ่งก็คือการเติมเงินใหม่ในจุดที่จำเป็น เช่น กลุ่ม SME จึงเป็นที่มาของมาตรการซอฟท์โลน ซึ่งรวม 2 ช็อตปล่อยสินเชื่อไปได้ 3 แสนล้าน ซึ่งคิดเป็น 10% ของสินเชื่อ SME ทั้งระบบที่มี 3 ล้านล้าน” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
ส่วนมาตรการแก้หนี้สินเดิม นั้น ธปท.ได้ออกมาตรการแก้ไขหนี้ที่ตรงจุดและเหมาะกับสถานการณ์ โดยเฟสแรกได้ออกมาตรการพักชำระหนี้แบบปูพรม ซึ่งขณะนั้นมีสินเชื่อที่เข้าร่วมมาตรา 7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของสินเชื่อในระบบ แต่การพักหนี้นานๆเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะดอกเบี้ยยังวิ่งอยู่ แต่ต้องทำเพราะมีการล็อกดาวน์ จากนั้นในในเฟสสอง ธปท.ได้ปรับมาตรการเป็นช่วยเหลือเฉพาะจุด เพราะแต่ละภาคเศรษฐกิจได้รับผลกระทบและมีการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน
ก่อนที่ในเวลาต่อมา ธปท.ได้ปรับมาตรการเฟสที่ 3 โดยออกเป็นมาตรการ 3 ก.ย.2564 ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการฟื้นตัวเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วน รวมทั้งมีมาตรการเสริมต่างๆ เช่น โครงการคลินิกแก้หนี้ และการเข้าไปไกล่เกลี่ยหนี้ที่เป็น NPL ก่อนลูกหนี้จะเข้าสู่กระบวนการของศาลฯ เป็นต้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยให้ลูกหนี้ไม่ต้องติดกับดักหนี้ จากภาระดอกเบี้ยที่สูง
“ทุกประเทศที่เจอวิกฤติ ต้องทำนโยบายที่คล้ายๆกัน และคนที่เป็นพระเอก คือ กระทรวงการคลัง เพราะปัญหาเกิดจากการขาดรายได้ รัฐบาลก็ใช้นโยบายการคลัง มีความจำเป็นต้องขาดดุลงบประมาณ หนี้สาธารณะต้องเพิ่มขึ้น ส่วนฝั่งการเงิน ส่วนมากก็จะดูแลให้มั่นใจว่าภาคการเงินทำงานได้ปกติ แต่ของเรามีสิ่งที่เรียกว่าเป็นนวัตกรรมก็ได้ คือ เรื่องพักทรัพย์พักหนี้ ซึ่งเหมาะกับบริบทของเรา ที่ลูกหนี้หลายรายอยู่ในเซ็กเตอร์ท่องเที่ยวและโรงแรม” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
(เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ)
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า สำหรับโจทย์ของ ธปท.ในตอนนี้ คือ จะอย่างไรที่จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่สะดุด ท่ามกลางตลาดการเงินโลกที่มีความผันผวนสูง และหนี้เสีย (NPL) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่ง ธปท.เองไม่ต้องการให้ NPL เพิ่มขึ้นในลักษณะที่เป็น ‘หน้าผา’ ขณะเดียวกัน ธปท.จะเข้าไปดูแลเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ไม่ให้กลายเป็นปัญหาต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมทั้งยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะเจอภาวะ stagflation น้อยมาก
“เงินเฟ้อ ถามว่าเพิ่มหรือเปล่า แน่นอนว่าเพิ่มขึ้นชัดเจน แต่ถ้าถามเรื่อง stagflation มันมี 2 องค์ประกอบ คือ 1.เรื่องเงินเฟ้อ และ2.การชะลอตัวของเศรษฐกิจในวงกว้าง ถ้าตอบสั้นๆ โอกาสที่ประเทศไทยจะเจอภาวะ stagflation น้อย เพราะแม้ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่ม อย่างปีนี้ที่เราดูไว้ก็ 4.9% ส่วนปีหน้าลงมาอยู่ที่ 1.7% แต่ต้องดูด้วยว่า เศรษฐกิจชะลอตัวในวงกว้างหรือไม่ ซึ่งปีที่แล้วเศรษฐกิจเราโต 1.6% และปีนี้ที่เรามองไว้ 3.2% ส่วนสภาพัฒน์มองไว้ที่ 2.5-3.5%
ถ้าปีที่แล้ว 1.6% แล้วปีนี้เศรษฐกิจโต 3% จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไม่ได้ชะลอลง แต่ถ้าถามว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจจะโตน้อยกว่า 3% หรือไม่ เรื่องนี้ถ้ามองไปข้างหน้า จะพบว่าเป็นเรื่องคณิตศาสตร์ เพราะฐานปีแล้วเรามันต่ำ โอกาสที่เศรษฐกิจปีนี้จะโตต่ำกว่าปีที่แล้วมันน้อยมากๆ และถ้าเราจะเห็นเศรษฐกิจปีนี้โตไม่ถึง 2% อันแรกเลยนักท่องเที่ยวต้องมาน้อยมาก คือมาเพียง 3 ล้านคน ซึ่งมีค่อนข้างน้อย เพราะตั้งแต่ต้นปีก็เข้ามาแล้ว 1.2 ล้านคน
หรือการส่งออกต้องลดลงอย่างมหันต์ แต่การส่งออกไตรมาสแรกก็ยังดีอยู่ และแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงบ้าง แต่ก็ไม่มีอะไรที่สื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะตกอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวง โอกาสที่จะได้เห็นเศรษฐกิจปีนี้โตช้ากว่าปีก่อน จึงเป็นไปได้น้อยมากที่จะ จึงไม่เห็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และไม่น่าจะเข้าข่ายว่าเป็น stagflation แม้ว่าเราจะเห็นเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นก็ตาม” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวด้วยว่า โลกข้างหน้ามีหลายกระแสซึ่งมาเร็วและแรง เช่น กระแสดิจิทัลและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งตนเห็นว่าการสร้างระบบนิเวศให้ทุกภาคส่วนเดินต่อได้ แข่งขันได้ เป็นสิ่งที่สำคัญ ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของไทยไม่ได้ล้าหลัง ส่วนเรื่องกรีน ถือเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจใหม่ๆ หรือการลงทุนใหม่เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญด้านนี้มากขึ้น
นอกจากนี้ จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ทำให้เราต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านอาหารและพลังงานมากขึ้น ซึ่งไทยถือว่ามีจุดแข็งด้านอาหารอยู่แล้วและจะเป็นโอกาสให้กับธุรกิจด้านนี้ อีกทั้งไทยสามารถใช้ประโยชน์ในการปรับตัวจากการที่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน เพราะไทยอยู่ตำแหน่งที่่มีความเชื่อมโยงค่อนข้างมากกับหลายประเทศในภูมิภาค ทั้งการส่งออก การลงทุน แรงงาน และการขนส่ง
@EIC ชี้เศรษฐกิจไทยโตช้า-ต้องทบทวนแบบจำลองการพัฒนา
นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม งาน Economic Intelligence Center (EIC) กล่าวว่า แม้ว่าใน 2 ปีที่ผ่านมา ไทยจะเจอกับวิกฤติโควิด แต่ในภาพกว้างแล้ว เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับการปฏิวัติอุสาหกรรมจากการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี (technology disruption) และเมื่อผ่านพ้นวิกฤติโควิดไปแล้ว จะพบว่าประเทศไทยอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก
“สิ่งที่ทำมา เป็นการเยียวยาผลของโควิดให้หายไป แต่ท้ายที่สุด เมื่อเราออกไปจากประตูห้องโควิดแล้ว โลกมันจะเปลี่ยนไปเยอะมาก และถ้ามองกันจริงๆ โควิด หรือสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นเรื่องความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น แต่ technology disruption ที่จะทำให้สินค้าและบริการเปลี่ยนไป หากเราอยู่ในห่วงโซ่อุปทานนั้น เมื่อโควิดหมดไป แล้วเราไม่ดีขึ้น เราก็มาโทษสภาพเศรษฐกิจ ทั้งๆที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ทำให้คนไม่ใช้สินค้านั้นๆแล้ว” นายสมประวิณ ระบุ
นายสมประวิณ กล่าวว่า ความท้าท้ายจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง อันเนื่องมาจาก technology disruption จะเป็นโอกาสของภาคเอกชนและผู้ประกอบการได้ หากเข้าใจบริบทและวางแผนปรับตัวได้ถูกต้อง ส่วนภาครัฐเอง ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา ต้องถือว่าการพัฒนาประเทศทำได้ดี โดยนำประเทศไทยเข้าไปเชื่อมสายพานการผลิตของโลกได้ แต่จากข้อมูลเศรษฐกิจจะพบว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยโตช้าลง ดังนั้น รัฐบาลต้องปรับแบบจำลองการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย
“ถ้าเราไปดูข้อมูลเศรษฐกิจจะพบว่าเราโตช้าลง โดยถ้าเทียบวันนั้นของเกาหลี คือ เมื่อปี 1986 กับวันนี้ของไทย เราโตช้ากว่าเขา และมีงานวิชาการที่บอกว่า การพัฒนาประเทศจะต้องมีแบบจำลองที่เปลี่ยนไปตามแต่ละขั้นของการพัฒนา ช่วงแรกดีที่สุด คือ outside in ใช้คนข้างนอกมาขับเคลื่อน ดึงเข้ามา มาเรียนรู้เทคโนโลยี แต่พอถึงระดับหนึ่งจะโตต่อยากแล้ว มันต้องให้คนอื่นโตบ้าง คือ inside out เอาการมีส่วนร่วมของคนอื่นๆเข้ามา” นายสมประวิณ กล่าว
นายสมประวิณ ระบุว่า ท่ามกลางสถานการณ์ technology disruption ตนเห็นว่า ในส่วนของภาคเศรษฐกิจจริงนั้น จะต้องแบ่งบทบาทที่มีความเกื้อกูลกันระหว่างบริษัทข้ามชาติ กับบริษัทขนาดเล็ก โดยบริษัทข้ามชาติมีหน้าที่เชื่อมตลาดหรือการหานวัตกรรม แล้วนำกลับมาเชื่อมกับบริษัทขนาดเล็ก และเมื่อบริษัทขนาดเล็กมีรายได้ บริษัทขนาดใหญ่ก็จะขายสินค้าได้
อ่านประกอบ :
‘สศช.’ เผยจีดีพีไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2%-หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีเหลือโต 2.5-3.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีปี 64 ขยายตัว 1.6% มองปีนี้โต 3.5-4.5%-นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน
สูงสุดนับตั้งแต่เกิดโควิด!‘สศช.’เผยไตรมาส 3 ตกงานพุ่ง 2.25%-ว่างงานชั่วคราวอีก 9 แสน
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 3 หด 0.3% คาดทั้งปี 64 เติบโต 1.2%-มองปีหน้าขยายตัว 3.5-4.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีสังคมไตรมาส 2 พบ‘ว่างงานสูง-หนี้เพิ่ม-รายได้หด-เงินออมลด-เครียดโควิด’
'สศช.’ หั่นเป้าเศรษฐกิจปี 64 เหลือ 0.7-1.2%-จีดีพีไตรมาส 2 โต 7.5% ส่งออกดี-ฐานต่ำ
จีดีพีไตรมาส 1 ลบ 2.6%! สศช.หั่นเป้าปี 64 โต 1.5-2.5%-คาดคุมโควิดระลอก 3 ได้มิ.ย.นี้
รายได้ลด-หนี้เพิ่ม! สศช.ห่วง 3 ปัจจัยกระทบแรงงาน-เกษียณ 60 ปีต้องมีเงินออม 2.8-4 ล.
เซ่นโควิดรอบใหม่! สศช.หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.5-3.5%-ศก.ปี 63 หดหนักสุดรอบ 22 ปี
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'